Skip to main content
sharethis

ทีมข่าวอิศรา


โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


 


ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง "ชาวโรฮิงญา" ยังคงรุมเร้ารัฐบาลไทย ล่าสุดมีกระแสเรียกร้องให้ตั้ง "ศูนย์อพยพ" เพื่อรองรับชาวโรฮิงญาที่ทะลักเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวนมาก แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวจากรัฐบาล ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง


 


ขณะที่คนไทยเองและประชาคมโลกต่างให้ความสนใจกับปัญหาโรฮิงญา ตลอดจนท่าทีของรัฐบาลที่จะจัดการกับปัญหาอันยุ่งยากและกระทบต่อความมั่นคงนี้


 


"สถาบันอิศรา" เจาะข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาโรฮิงญา เป็นเอกสารที่ฝ่ายความมั่นคงไทยรายงานถึงรัฐบาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสลับซับซ้อนของปัญหา มุมมองของฝ่ายความมั่นคงไทยที่มีต่อชนกลุ่มน้อยชาวพม่ากลุ่มนี้ รวมถึงวิธีการจัดการปัญหาบนพื้นฐานของการป้องกันภัยคุกคามด้านความมั่นคง และบทสรุปที่ว่า "ชาวโรฮิงญา" ไม่น่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ !


 


 


สภาพปัญหา ณ ปัจจุบัน


ปัญหาหลักของโรฮิงญา คือการถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นประชากรของพม่าหรือบังกลาเทศ และมีแนวโน้มว่าหากไม่มีการวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าไทยของชาวโรฮิงญาอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังแล้ว ในปี 2552 จะต้องเกิดการลักลอบเข้าไทยของคนกลุ่มนี้อีกในลักษณะ "ทวีคูณ" อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม


 


วิธีการลักลอบเข้าไทย


กลุ่มโรฮิงญาจะรวมตัวกันจัดหาเรือประมงขนาดเล็กที่อยู่ในสภาพเก่า เพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทาง โดยอาศัยแผนที่และเข็มทิศมุ่งหน้ามายังเกาะนิโคบา แล้วจึงพยายามเข้าไทยด้าน จ.ระนอง ซึ่งจะใช้ห้วงเวลาเดินทางในทะเลประมาณ 15 วัน ระยะทางประมาณ 780 ไมล์ทะเล หรือ 1,400 กิโลเมตร


 


อย่างไรก็ดี ในระยะหลังเนื่องจากมีกลุ่มโรฮิงญาที่ต้องการอพยพและย้ายถิ่นเพื่อมาหางานทำมากขึ้นในลักษณะทวีคูณ ทำให้เกิดขบวนการลักลอบนำพากลุ่มคนเหล่านี้เข้าไทยและมาเลเซีย โดยจะมีการเรียกเก็บเงินคนละ 20,000-50,000 จั๊ต (ประมาณ 1,000 บาท) เพื่อจัดซื้อเรือพร้อมอาหารและน้ำดื่มในระหว่างการเดินทาง ส่วนเครือข่ายขบวนการจะได้รับผลประโยชน์จากการขายชาวโรฮิงญาให้กับนายจ้างปลายทางในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยจะมีราคาระหว่าง 50,000-100,000 บาทต่อคน อายุระหว่าง 12-25 ปี ลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายการค้ามนุษย์


 


เส้นทางการเดินทางที่สำคัญ


การเดินทางของชาวโรฮิงญามีอยู่ 2 ลักษณะ กล่าวคือ


1.จากชายแดนจังหวัดค๊อกซีสบาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ อ้อมหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย มุ่งหน้าไปทางเกาะนิโคบา ใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ส่วนมากเป็นเรือขนาดใหญ่ และเดินทางต่อไปในทิศตะวันออก เข้าน่านน้ำไทยที่ จ.ระนอง และพังงา


2.จากชายแดนอำเภอมองดอ จังหวัดซิตต่วย รัฐอาระกัน ของพม่า ผ่านน่านน้ำพม่า ภาคอิรวดี เกาะโกโก้ รัฐมอญ ภาคตะนาวศรี เข้าเขตน่านน้ำไทยด้าน จ.ระนอง หากทหารเรือพม่าตรวจพบจะได้รับความช่วยเหลืออาหารและน้ำดื่ม และชี้เส้นทางเดินทางโดยไม่ยอมให้ขึ้นฝั่งพม่า


 


สำหรับเป้าหมายหลักที่แท้จริงซึ่งกลุ่มโรฮิงญาต้องการเดินทางไปคือประเทศที่สาม โดยเฉพาะมาเลเซีย เนื่องจากรายได้ดี มีงานมาก ประกอบกับมีแนวคิดว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ประจำมาเลเซีย มีความอ่อนตัวในการดำเนินการต่อชาวโรฮิงญา เนื่องจากเป็นมุสลิมเหมือนกัน จึงน่าจะผลักดันให้การรับรองสถานภาพ "ผู้ลี้ภัย" ง่ายกว่าประเทศไทย ประกอบกับประเทศในแถบตะวันออกกลางเองก็มีความนิยมใช้แรงงานซึ่งเป็นมุสลิมมากกว่า ทำให้นายหน้าค้าแรงงานซึ่งอยู่ในมาเลเซีย ทั้งที่อยู่ในขบวนการค้าแรงงานหรือในรูปแบบของสมาคมของกลุ่มประเทศอาหรับมีการบริจาคเงิน และดูแลให้ความช่วยเหลือที่ดีกับชาวโรฮิงญามากกว่าแรงงานต่างด้าวกลุ่มอื่น


 


การดำเนินการของฝ่ายไทย


1.ห้วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ห้วงปี 2549-2551 การดำเนินการของไทยจะเป็นมาตรการสกัดกั้นใน 2 ลักษณะคือ


- กรณีชาวโรฮิงญาสามารถเข้าถึงแนวชายฝั่ง จะดำเนินการจับกุมโดยใช้กำลังประชาชน นำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ กำลังป้องกันชายแดน ทหารเรือ และตำรวจน้ำ ส่งมอบให้ ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่) ดำเนินคดี และผลักดันตามมติคณะรัฐมนตรี


- กรณีสามารถจับกุมได้ขณะยังไม่ขึ้นฝั่ง จะใช้วิธีการผลักดันออกไป


 


อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ให้ข้อสรุปตรงกัน โดยยืนยันว่าการดำเนินการสกัดกั้นที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้สาเหตุเนื่องจาก


- ไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพอย่างแท้จริง


- ทางการพม่าไม่ยอมรับและไม่ได้ช่วยสกัดกั้นในทะเลอาณาเขตของตน ซ้ำบางครั้งยังได้มอบอาหารและชี้เส้นทางในการเดินทางเข้าไทยให้แก่ชาวโรฮิงญาระหว่างที่ประสบเหตุในทะเลด้วย


- เมื่อผลักดันออกไปแล้ว กลุ่มดังกล่าวจะสามารถลักลอบกลับเข้าไทยได้อีก เพราะมีขบวนการค้ามนุษย์ที่สามารถนำพาโรฮิงญากลับเข้าเขตไทย และพาเข้าพื้นที่ตอนใน


- ชาวโรฮิงญาที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยสามารถจัดตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า "BRAT" หรือ Burmese Rohingya Association in Thailand ซึ่งสมาคมดังกล่าวได้พยายามผลักดันให้มีการดำเนินการต่อชาวโรฮิงญาให้ได้รับสถานะเช่นเดียวกับ "ผู้หนีภัยการสู้รบชาวพม่า" ได้รับ


 


2.จากความล้มเหลวข้างต้น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงได้ปรับแผนจากเดิม กำหนดให้กองทัพเรือรับผิดชอบลาดตระเวนในน่านน้ำเพื่อสกัดกั้นการขึ้นฝั่ง จ.ระนอง ควบคุม กำกับดูแล และประสานตำรวจเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านคดี และกระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับประเทศต้นปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีผลคืบหน้าในการสกัดกั้นและแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญา จึงได้มอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งในการนี้ กอ.รมน.ได้ดำเนินการโดยจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า "ศูนย์ประสานงานปฏิบัติการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา" หรือ ศปป.ร.ญ. เพื่อรับผิดชอบอย่างเป็นเอกภาพ


 


แนวทางการแก้ไขปัญหาในภาพรวม


1.โดยสาเหตุที่ทางการไทยได้เคยนำปัญหาชาวโรฮิงญาหารือกับทางการพม่า ผ่านกลไกรัฐ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย-พม่า หรือ อาร์บีซี เพื่อให้รับกลับกลุ่มโรฮิงญาภายหลังที่ทางการไทยจับกุมได้ และต้องการผลักดันกลับ แต่ทางการพม่าปฏิเสธ พร้อมระบุว่ากลุ่มคนเหล่านั้นไม่ใช่ประชากรของพม่า


 


ดังนั้นหนทางที่ควรปฏิบัติคือ ควรจะมีการคัดแยกและสืบสวนให้ได้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางมาจากภูมิลำเนาใด ด้วยวิธีการใด จึงจะทำให้ทางการไทยสามารถเจรจากับประเทศที่ต้องรับประชากรของตนกลับภูมิลำเนาได้ อาทิ พม่า หรือบังกลาเทศ และทำให้ประเทศดังกล่าวไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้


 


2.เพื่อให้เกิดการยอมรับจากประเทศต้นปัญหาและเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาคมนานาชาติ รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบควรยืนยันบนหลักการว่า กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็น "ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย" ที่มิใช่ "ผู้หนีภัยจากการสู้รบ" (Displaced person from fighting) และมิใช่เป็น "ผู้อพยพลี้ภัย" (Refugee) ตามที่สื่อประชาคมนานาชาติระบุ


 


ดังนั้นทางการไทยจึงมีความชอบธรรมในการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายของไทยต่อชาวโรฮิงญาเช่นเดียวกับผู้หลบหนีเข้าเมืองจากประเทศอื่นๆ พร้อมทั้งส่งกลับตามเส้นทางที่กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางเข้ามา ในการนี้ทางการไทยต้องมีการประกาศความชัดเจนของนโยบาย เพื่อให้เกิดการยอมรับว่า ปัญหาชาวโรฮิงญามิใช่เป็นปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งต้องรับภาระ แต่เป็นปัญหาที่ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา


 


3.ที่ผ่านมาจากผลการสอบสวนชาวโรฮิงญา และการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของชาวโรฮิงญา ปัจจัยหลักคือเกิดจาก "ขบวนการนำพา" กลุ่มใหญ่ที่ประกอบไปด้วยชาวบังกลาเทศ ชาวพม่ามุสลิมในรัฐอาระกัน จ.เกาะสอง ภาคตะนาวศรี และชาวมุสลิมในพื้นที่ จ.ระนอง และจังหวัดใกล้เคียง


 


หนทางการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลโดยทันทีและอยู่ภายใต้อำนาจของไทยคือการทำลาย "ขบวนการนำพา" ในไทยอย่างเด็ดขาด ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่ของไทยบางรายเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าว ด้วยการใช้อำนาจหน้าที่เอื้ออำนวยกับการทำงานของขบวนการด้วย


4.ต่อกรณีข้อห่วงใยว่า กลุ่มคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายหรือถูกแสวงประโยชน์จากกลุ่มก่อการร้ายเพื่อให้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น กรณีนี้มีข้อน่าสังเกตว่า กลุ่มโรฮิงญาที่จะถูกนำไปใช้ในกิจการดังกล่าว มีรูปแบบการปฏิบัติว่า จะต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการก่อการร้ายอย่างดี


 


ดังนั้นการเดินทางโดยเรือเข้าประเทศไทยค่อนข้างไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการสูญเสียบุคลาการที่ผ่านการเพาะบ่มมาแล้ว จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าไทย ทั้งเพื่ออำพรางตนอยู่หางานในไทย และใช้ไทยเป็นฐานเดินทางต่อไปในประเทศมุสลิมอื่นเพื่อกิจการการก่อการร้าย น่าจะไม่ใช้วิธีการลักลอบเข้าเมืองด้วยวิธีดังกล่าว


 


5.หากทางการไทยไม่เร่งวางมาตรการและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความจริงจัง มีแนวโน้มว่าในปี 2552 จำนวนชาวโรฮิงญาหลบหนีเข้าเมืองทางทะเลจะมีจำนวนมากยิ่งขึ้น ทั้งเนื่องจากปัจจัยประชากรล้นประเทศของบังกลาเทศ และกรณีทางการพม่าเริ่มโยกย้ายชาวโรฮิงญาในรัฐอาระกันออกจากแนววางท่อก๊าซในรัฐอาระกัน


 


ทั้งนี้ สถิติการจับกุมชาวโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2549 มีจำนวนชาวโรฮิงญาที่ถูกจับจำนวน 1,225 คน ปี 2550 จำนวน 2,763 คน และปี 2551 มีจำนวนเพิ่มถึง 5,299 คน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net