Skip to main content
sharethis

เวทีมหกรรมประชาชนอาเซียน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ. จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติ (workshop) ขึ้นที่อาคารคณะรัฐศาสตร์ (ตึก 1) เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน และหาทางออกร่วมกัน ภายใต้หัวข้อเรื่อง "เสรีทางการค้าและพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานผู้หญิง-แรงงานนอกระบบ" (Trade Liberalization and the ASEAN Economic Blueprint: Implications to women workers, informal work and social protection) โดยมีนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน ตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายแรงงาน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก


 


ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงภาพรวมถึงสาเหตุของปัญหาที่สำคัญ อันส่งผลกระทบต่อแรงงานผู้หญิงและแรงงานนอกระบบว่า เนื่องมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก และกระตุ้นการลงทุนจากทุนต่างชาติเป็นสำคัญ นโยบายที่ส่งเสริม สนับสนุนความเป็นเสรีทางการเงิน ทางการค้า นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตของจีดีพี การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ตลอดจนนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบ และก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสังคมต่างๆ อาทิ การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิแรงงาน ภาวะการตกงาน คนว่างงานเป็นจำนวนมาก  


 


ไม่เพียงเท่านั้นการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกสินค้า และปัจจัยการผลิตจากภายนอกประเทศนั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาตกต่ำ เศรษฐกิจประเทศในแถบเอเซีย และอาเซียนก็ได้รับผลกระทบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


ส่วนประเด็นแรงงาน ภายใต้กลไกการขับเคลื่อน และแนวนโยบายของกฎบัตรอาเซียน ดร.วรวิทย์ กล่าวต่อเรื่องนี้ว่า อาเซียนมีการพูดถึงตลาดที่เป็นธรรมก็จริง แต่อาเซียนไม่เคย และไม่พูดถึงเรื่องของการให้มีการจัดตั้ง "สหภาพแรงงาน" ไว้เลย ซึ่งสำหรับสหภาพยุโรปแล้วมีการพูดถึงทั้งการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรป และมีการรับรองเรื่องสหภาพแรงงานไว้ แต่อาเซียนกลับยกเว้นเรื่องนี้ ไม่เคยเอ่ยถึง ดังนั้น ปัญหาที่ท้าทายอยู่นี้ แม้ว่ารัฐในแต่ละประเทศ จะพยายามแก้ไขปัญหา มีมาตรการควบคุมตลาด แต่ยังใช้กระบวนทัศน์แบบเดิม คือการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก และการค้าเสรี ไม่ให้ความสนใจต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงาน


 


นอกจากนี้ เพราะการแข่งขันระหว่างประเทศด้านการลงทุน-ส่งออกภายในภูมิภาค ที่ต้องลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำสุด ซึ่งก็อยู่บนฐานของการแรงงานราคาถูก หรือการกระจายตัวของแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน (sub-contract) ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในขณะนี้ แรงงานในระบบซึ่งได้ค่าจ้างในอัตราที่ต่ำ ก็อาจถูกเลิกจ้างได้ ส่วนแรงงานนอกระบบซึ่งได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำตามกฎหมายอยู่แล้ว ก็ยิ่งได้น้อยลงอีก


 


อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสรุปถึงข้อเสนอต่ออาเซียนต่อประเด็นนี้ว่า นอกจากจะให้มีกฎหมายแรงงานรองรับแรงงานนอกระบบแล้ว จะต้องมีการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินด้วย กระจายการกระจุกตัวของทรัพยากร เน้นความยุติธรรมความเสมอภาคในสังคม เสนอให้มีการจัดทำระบบรัฐสวัสดิการ และการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เพื่อลดช่องว่างระหว่างรายได้ของประชาชนด้วย


 


ด้าน ดอรีส ลี (Doris Lee) จาก Asia Monitor Resource Center กล่าวเสริมในประเด็นปัญหา และการขับเคลื่อนกฎหมายแรงงานในประเทศแถบเอเชียว่า เนื่องด้วยโครงสร้าง ระบบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศในเอเชีย ส่งผลให้ระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงานในกฎหมายก็แตกต่างกันไปด้วย อย่างในประเทศจีน ลาว เวียดนาม และมองโกเลียที่มีการปกครองแบบสังคมนิยม ไม่อนุญาตให้จัดตั้งสหภาพแรงงานที่เป็นอิสระจากรัฐได้เลย เป็นต้น แต่กระนั้นก็ตามในประเทศประชาธิปไตย ยังคงเห็นว่าปัญหาแรงงานนอกระบบเป็นปัญหาหนักร่วมกันของทั้งเอเชีย โดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า จำนวนการจ้างงานนอกระบบสัมพันธ์กับปัญหาความยากจนของประชากรในประเทศด้วย เช่นในอินเดีย ที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีช่องว่างทางรายได้สูงมาก มีแรงงานนอกระบบมากที่สุด คิดเป็นกว่าร้อยละ 93 ของแรงงานทั้งประเทศ ลี ย้ำว่า แรงงานนอกระบบจึงต้องมีกฎหมายรับรองคุ้มครอง และมีสวัสดิการด้วย


 


นาติ เบอร์นาดิโอ (Naty Bernardio) จาก International Gender and Trade network - Asia กล่าวถึงสภาพแรงงานหญิงในปัจจุบันว่า แรงงานหญิงถือเป็นแรงงานที่มีสัดส่วนมากที่สุด ยิ่งในกลุ่มแรงงานนอกระบบถือว่าผู้หญิงเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่สร้างรายได้-ผลผลิตทางเศรษฐกิจ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นแรงงานนอกระบบผู้หญิงยิ่งต้องเป็นเรื่องลำดับต้นที่สังคมอาเซียนต้องให้ความสำคัญ เพราะมีผู้หญิงจำนวนมากที่ทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง หรือแม้ได้รับค่าจ้างก็ได้น้อยกว่าแรงงานชาย เมื่อเทียบกับประเภทงานเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น ในลักษณะงานที่แรงงานหญิงต้องรับผิดชอบ ที่ต้องทั้งทำงานบ้าน ดูแลครอบครัว ยังรวมถึงการทำงานนอกระบบ ที่ไร้สวัสดิการ ค่าจ้างน้อย สิ่งนี้เป็นข้อจำกัดทำให้ผู้หญิงไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมทางสังคมหรือทางการเมืองต่างๆ ได้เลย เบอร์นาดิโน กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐต้องสร้างทางเลือกทางสังคม บัญญัติกฎหมายคุ้มครองดูแลแรงงานนอกระบบ แรงงานผู้หญิง เพิ่มการจ้างงานในประเทศ แก้ปัญหาความยากจนด้วย


 


นอกจากนี้ ในเวทีการประชุมยังได้มีการถกประเด็นเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ด้วย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐเป็นผู้กำหนดและออกกฎหมายที่มาเอารัดเอาเปรียบแรงงาน สังคมจึงต้องเป็นประชาธิปไตยซึ่งมีรากฐานมากจากประชาชนระดับล่างด้วย เพราะเมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชน-แรงงานก็จะสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ ทางเศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม ตลอดจนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างหรือบัญญัติกฎหมายที่จะเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อเข้ามาดูแล แก้ไข คุ้มครองสิทธิแรงงานมากยิ่งขึ้นอีกด้วยนั่นเอง.


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net