Skip to main content
sharethis

30 ก.ค.52 วันสุดท้ายของการประชุมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคอาเซียน (The Next Wave of ASEAN Consumer Protection in Telecommunications) ผู้แทนจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจาก 8 ประเทศ ได้ร่วมกันประกาศ ปฏิญญาเชียงรายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดโดยสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ร่วมกับสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน (Southeast Asian Consumer Council – SEACC) สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumer International) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มีผู้เข้าร่วมจาก 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ สเปน และไทย จัดขึ้นระว่าง 28-30 ก.ค. คู่ขนานกับการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ครั้งที่ 15 ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ของไทยเป็นเจ้าภาพ

สารี อ๋องสมหวัง ตัวแทนจากประเทศไทยระบุถึงเนื้อหาสำคัญของปฏิญญาว่า ที่ประชุมเห็นว่า 1) โทรคมนาคมควรเป็นบริการพื้นฐานสำหรับทุกคน 2) จะมีการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองผู้บริโภคว่าเป็นอย่างไร โดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในอาเซียนจะทำงานร่วมกันภายในกลไกเดิม ไม่ว่า SEACC หรือ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลโดยกำหนดด้านโทรคมนาคมขึ้นมาเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ 4) จะมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบระเบียบ และการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ของอาเซียน โดยประเทศออสเตรเลียรับเป็นเจ้าภาพดำเนินการ 5) กำหนดให้เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมพบปะกันเป็นประจำทุกปีเพื่อติดตามสถานการณ์ ความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน 6) เรียกร้องให้ กทช. ของไทยและของประเทศต่างๆ ในอาเซียนสนับสนุนกิจกรรม หรือการริเริ่มการทำงานด้านนี้ 7) เรียกร้องให้ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นธุรกิจข้ามชาติจำนวนมาก ใช้มาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศ และแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR อย่างแท้จริง

สารี กล่าวด้วยว่า ในการพบปะกันของเครือข่ายผู้บริโภคอาเซียนในปีหน้า จะมีการนำผลการศึกษาเปรียบเทียบความรับผิดชอบของบริษัทด้านโทรคมนาคมต่างๆ มาจัดอันดับและเผยแพร่ต่อสาธารณะด้วย เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้บริการกับบริษัทที่มีมาตรฐานดี ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค

เซียะ เซียง ชุน ตัวแทนจากประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพื่อรับมือกับการเปิดเสรีการค้าและบริการของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นการทำอาเซียนให้เป็นตลาดเดียวและกำลังจะเริ่มขึ้นในปีหน้า เนื่องจากรัฐบาลมักมุ่งเน้นในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ขาดมิติของการคุ้มครองผู้บริโภค การรวมตัวของเครือข่ายผู้บริโภคในอาเซียนจึงเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อจัดตั้งกลไกและสะสมความเข้มแข็งไว้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคในอาเซียน

ปฏิญญาเชียงรายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (ประเทศไทย)

30 กรกฎาคม 2552

การบริการการสื่อสารเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับทุกคน และควรมีมาตรการปกป้องผู้บริโภค รวมถึงการส่งเสริมประโยชน์สาธารณะในฐานะที่เป็นสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญจำ เป็นสำหรับทุกคนในยุคปัจจุบัน

ใน ASEAN Economic Community Blueprint ซึ่งรัฐบาลของประเทศสมาชิกได้ลงนามรับรองในปี 2550 ได้ตกลงร่วมกันที่จะให้การคุ้มครองผู้บริโภคนั้นได้รับการจัดการแบบมี ประชาชนเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมนั้นยังห่างไกลคำว่าประชาชนเป็นศูนย์ กลางอยู่มาก

เรา ในนามขององค์กรผู้บริโภคจากสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงองค์กรผู้บริโภคจากออสเตรเลีย ฮ่องกง ซึ่งได้ร่วมกันจัดการประชุมเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทร คมนาคม (The Next Wave of ASEAN Consumer Protection in Telecommunications) และมีความตระหนักร่วมกันถึงปัญหาที่ผู้บริโภคเผชิญ เช่น การเข้าถึงถ้วนหน้า ความโปร่งใส มาตรฐานด้านราคาที่เอื้อให้ทุกคนเข้าถึงได้ การตรวจสอบได้ของผู้ประกอบการ ความยั่งยืน และผลกระทบด้านสุขภาพ

เราเห็นพ้องร่วมกันและขอประกาศว่า

1.จะต้องสร้างมาตรฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค ในบริการโทรคมนาคมร่วมกัน
2.บริการโทรคมนาคมจะต้องได้รับการดูแลในฐานะบริการจำเป็นพื้นฐานและเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้

ด้วยเหตุนี้เราจึงตกลงที่จะทำงานร่วมกันในมิติต่างๆ ต่อไปนี้
1.จะจัดให้มีการประชุมทุกๆปีพร้อมกับการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทร คมนาคมอาเซียน (ATRC) เพื่อที่จะเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ ระหว่างประเทศสมาชิก
2.จัดตั้งคณะทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ โทรคมนาคม และเชื่อมโยงการทำงานกับองค์กรผู้บริโภคที่มีอยู่ เช่น สภาองค์กรผู้บริโภคสากล (Southeast Asian Consumer Council) และสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International)

เราขอเรียกร้องให้
1.องค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ในกลุ่มประเทศอาเซียน ให้การสนับสนุนแนวคิดริเริ่มต่างๆ ที่ได้ประกาศไว้ในปฏิญญานี้
2.ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net