Skip to main content
sharethis

กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัดฝุ่นโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรัง จ.สงขลา ชาวบ้านบ้านจี้สำนักงานชลประทานที่ 16 เลิกสร้าง

 

4 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 10.00 น. ตัวชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้และคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรัง หมู่ที่ 1 ต.คลองกวาง อ.นาทวี จ.สงขลา กว่า 70 คนเดินทางมายังสำนักงานชลประทานที่ 16 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยถือป้าย “ชาวนาปรังไม่ต้องการอ่างเก็บน้ำ” “โปรดช่วยกันรักษาอุทยานเขาน้ำค้าง” เพื่อร้องเรียนกรณีที่บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด ได้ลงพื้นที่สำรวจและออกแบบการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนาปรัง จ.สงขลา และมีพฤติกรรมในลักษณะข่มขู่ชาวบ้าน หลังจากที่ชาวบ้านปฏิเสธไม่ยินยอมให้สำรวจ

โครงการดังกล่าวชาวบ้านได้เคยคัดค้าน จนกระทั่งต้องระงับโครงการไปตั้งแต่ปี 2549 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปฏิเสธว่า ไม่มีการยกเลิกโครงการ และท้าทายชาวบ้านว่า หากระงับจริงให้เอาเอกสารมายืนยัน ทางกลุ่มจึงเดินทางมาขอความชัดเจนกับทางกรมชลประทานและมายืนยันว่าชาวบ้านไม่ต้องการโครงการ

ทั้งนี้ นายจิระเกียรติ ธรรมพิทักษ์ ผอ.ส่วนจัดการน้ำ นายวิรัชต์ สุกิจมงคลกุล ผอ.ปฏิบัติการ และนายเสริมชัย เสริมศิรฺถาวร ผอ.โครงการก่อสร้าง 2 รับผิดชอบพื้นที่ สงขลา – สตุล มารับฟังและตอบคำถามชาวบ้าน ซึ่งทั้ง 3 คนชี้แจงว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่จะสั่งระงับโครงการ แต่จะทำเรื่องเสนอไปยังกรมชลประทานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการโครงการดังกล่าว

นายกุณฑล เสนะพันธุ์ สจ.เขต อ.นาทวี กล่าวว่า วันนี้ชาวบ้านมา เพราะชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จริง เพราะบริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง ซึ่งเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ เป็นที่ทำกินที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน หากสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน ที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่โครงการนี้กลับอ้างว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งหากสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 1,250 ไร่จริงหรือไม่ และจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจว่าจะมีไม่การสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวจริงๆ

ด้านตัวชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้และคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรังกล่าวว่า ชาวบ้านกว่า 400 ครอบครัวในพื้นที่จะได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่เป็นทรัพย์สิน ที่ทำกิน สวนยางพารา ที่อยู่อาศัย ถนน สะพานฯลฯ หากใช้พื้นที่ดังกล่าวในการทำโครงการชาวบ้านจะไม่มีที่ทำกิน และไม่มีที่ทำกินถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะต้องมีการอพยพชาวบ้าน ชุมชนนาปรังถือเป็นชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญมีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนจนเข้มแข็ง มีทั้งกลุ่มรับซื้อน้ำยาง สหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งมีเงินกว่า 67 ล้านบาท โครงการเกิดขึ้นหากสิ่งที่ชุมชนทำมาก็พังไปด้วย ที่สำคัญ อ.นาทวียังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลาในเวลานี้

นายจิระเกียรติ ธรรมพิทักษ์ ผอ.ส่วนจัดการน้ำ ชี้แจงว่า ชาวบ้านกำลังสับสนข้อมูล ข้อมูลที่รับรู้มาไม่เป็นความจริง เพราะขณะนี้เพียงอยู่ขั้นตอนของการศึกษาออกแบบ ยังไม่มีการทำสัญญาก่อสร้าง และยังไม่มีการดำเนินการคำนวณพื้นที่ที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด ส่วนพื้นที่พื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 1,250 ไร่ นั้นยังไม่มีข้อมูลว่าจะมีพื้นที่น้ำท่วมจริงๆ กี่ไร่

นายเสริมชัย เสริมศิรฺถาวร ผอ.โครงการก่อสร้าง 2โครงการนี้เป็นการศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำเทพา-นาทวี ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตอนนี้ยังไม่มีแผนจะสร้างโครงการดังกล่าว โครงการดังกล่าวถูกระงับไปตั้งแต่ปี 2549 หากจะดำเนินการชาวบ้านต้องยินยอม ขั้นตอนนี้แค่ศึกษาออกแบบเพื่อคำนวณทางวิศวกรเท่านั้น

ด้านนางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี ชาวบ้านจากพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขุดลอกขยายขนาดของคลองตั้งแต่ อ.นาทวี ถึงอ.จะนะ กล่าวว่า ทราบมาว่านอกจากการสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวแล้ว ยังมีโครงการขุดลอกคลองอีก 11 สาย ซึ่งเชื่อว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการรองรับกัน และการที่ทางตัวแทนสำนักงานชลประทานทั้งสามท่านย้ำว่า ไม่มีโครงการดังกล่าวในแผน แต่หากไม่มีในแผนจริงๆ ทำไมกรมชลประทานต้องเสียงบประมาณในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และทำการสำรวจออกแบบก่อสร้าง การสร้างเขื่อนเปรียบเสมือนการจะสร้างบ้าน หากไม่ตั้งใจจะสร้างบ้าน จะทำการออกแบบไว้ทำไมกัน จึงเชื่อว่า การที่ทางกรมชลประทานต้องการผลักดันโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นเพื่อมารองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลามากกว่า ไม่ว่าโครงการโรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้าจะนะ ท่าเรือที่นาทับและอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น

นายจิระเกียรติ ธรรมพิทักษ์ และนายเสริมชัย เสริมศิรถาวร กล่าวชี้แจงอีกว่า สำนักงานชลประทานที่ 16 ไม่มีอำนาจตัดสินใจ และไม่ทราบว่ารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านการอนุมัติจาก สผ.หรือยัง เพราะเป็นเรื่องของกรมชลประทาน แต่จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการทำหนังสือและบันทึกรายงานวันนี้ถึงทางกรมชลประทานพร้อมแนบรายชื่อผู้ที่เดินทางมาร้องเรียนวันนี้ให้กับทางกรมชลประทาน เพื่อยืนยันว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรัง พร้อมทั้งจะส่งสำเนามาให้ทางกลุ่ม จนกระทั่งเวลา 12.00 น.ทางกลุ่มจึงเดินทางกลับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net