Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เสนอให้รัฐยอมรับการเจราเพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธี และยอมรับความจริงว่าคนเสื้อแดงมีผู้สนับสนุนจำนวนมาก พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายความมั่นคงและ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รวมถึงเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบด้วยการลาออก

ขณะเดียวกันเรียกร้องผู้ชุมนุมหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าป้องกันการกระทบกระทั่งและหลีกเลี่ยงการกระทำที่ไม่สงบ สันติ อหิงสา รายละเอียดดังนี้

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
Scholars’ Network for a Just Society

แถลงการณ์ฉบับที่ 3

วันที่  29 เมษายน 2553
เรื่อง การคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองให้เข้าสู่ความสงบสันติ

ตามที่รัฐบาลประกาศใช้ พรก. สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่อาจยุติปัญหาและควบคุมสถานการณ์ได้ กลับทำให้ปัญหาขยายขอบเขตออกไปมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ทั้งยังมีการก่อเหตุความรุนแรงมาโดยตลอดหลายครั้งหลายหน และนายกรัฐมนตรียังมิได้แสดงความรับผิดชอบใด ๆ ต่อผลที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังแสดงท่าที และพยายามใช้กำลังที่มีอาวุธร้ายแรงเข้าสลายการชุมนุมอีก
 
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขอประณามการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเหตุการณ์ในวันที่ 10 และวันที่ 22 เมษายน พร้อมทั้งขอแสดงความเสียใจต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ทหารที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่รุนแรงและความขัดแย้งซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องเร่งสืบสวนหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็ว    

 ทั้งนี้ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรมพร้อมกลุ่มผู้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีจึงขอเรียกร้อง  ดังนี้
             
1. รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรยอมรับความจริงว่ากลุ่มผู้ชุมนุม นปช. และผู้สนับสนุนมีเป็นจำนวนมากและหนทางในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีก็ด้วยวิถีทางการเมืองและกระบวนการเจรจาเท่านั้น หาใช่การใช้กำลังเข้ากดดันหรือการให้ร้ายป้ายสีและใช้สื่อปลุกปั่นสร้างความจงเกลียดจงชังต่อกันและกันไม่

2. รัฐบาลควรตระหนักว่าการใช้กำลังเข้าสลายชุมนุมแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะพกพาอาวุธและกระสุนจริงเพื่อป้องกันตัว แต่วิญญูชนย่อมเล็งเห็นถึงผลแล้วว่าหากเกิดการปะทะกันและเกิดการพลาดพลั้งหรือมีผู้ใช้อาวุธก่อความรุนแรงก็จะทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายอีกและจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย และอาจบานปลายถึงขั้นเกิดการจลาจลขึ้นทั่วประเทศ

3. รัฐบาลควรยกเลิกการบังคับใช้พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในฯ และ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และการใช้กำลังทหาร เพราะการออกประกาศหรือข้อกำหนดที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวและการใช้กำลังทหารจำนวนมากตามที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้เลย เช่น การระเบิดที่สีลมมีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสมือนตกอยู่ในภาวะสงครามหรือการรัฐประหาร

4. นายกรัฐมนตรีควรแสดงความรับผิดชอบของตนเองในคำสั่งให้สลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงจริยธรรมทางการเมือง ซึ่งก่อนมาดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีได้เคยเรียกร้องให้บุคคลอื่นแสดงความรับผิดชอบทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมาทำหน้าที่แก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง ทั้งนี้ ถือได้ว่านายกรัฐมนตรีมิได้กระทำตามการเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ยุบสภาแต่ประการใด

5. รัฐสภาควรทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหาขัดความแย้งที่เกิดขึ้นในชาติ

5.1 เร่งดำเนินการแต่งตั้งกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการสอบสวนกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน และเหตุระเบิดที่บริเวณถนนสีลมเมื่อวันที่ 22 เมษายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีผู้เสียชีวิต เพื่อทราบผู้กระทำผิดที่แท้จริง และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

5.2 หากนายกรัฐมนตรีลาออก สภาผู้แทนราษฎรควรเลือกบุคคลที่สามารถประสานกับทุกฝ่ายได้ มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งดำเนินการเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อนำไปสู่การยุบสภาโดยเร็ว และเพื่อการเลือกตั้งโดยสันติต่อไป

6. พรรคการเมืองแต่ละพรรคควรแถลงจุดยืนต่อสถานการณ์และวิธีการแก้ปัญหาในระยะสั้นและในระยะยาวเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้รับทราบอย่างเป็นทางการ ทั้งควรร่วมกันช่วยคลี่คลายสถานการณ์โดยยินยอมมอบการตัดสินใจทางการเมืองคืนกลับไปสู่ประชาชนทั้งประเทศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

7. กลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ควรหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆนอกเหนือจากการชุมนุมด้วยความสันติอหิงสาและการป้องกันสิทธิของตนตามสมควรแก่เหตุโดยระวังไม่ให้มีการละเมิดสิทธิประชาชนทั่วไป ขยายขอบเขตการชุมนุม ปิดกั้นหรือขัดขวางช่องทางจราจรของรถพยาบาล หรือการให้บริการของรัฐ

8. กลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันกับผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงมิให้กระทบกระทั่งกัน ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาก่อเหตุการณ์แทรกซ้อน

9. ในกรณีที่มีการยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในฯ และ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ  และรัฐบาลยุติการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน นายกรัฐมนตรีลาออกและมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่พร้อมเจรจาแนวทางยุบสภากับกลุ่มผู้ชุมนุมนปช. แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมนปช.ควรประกาศยุติการชุมนุมทันที

นอกจากข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นแล้ว เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรมขอยืนยันข้อความในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ที่ว่า ในระยะยาวทุกฝ่ายรวมถึงประชาคมวิชาการต้องร่วมกันสร้างสรรค์สังคมบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย หลักคุณธรรมจริยธรรม หลักนิติธรรม หลักความเสมอภาค ให้เป็นสังคมที่ปราศจากความอยุติธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง ละเว้นการกระทำการใด ๆ ที่มุ่งสู่ผลโดยมิได้คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมของวิธีการ ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยมีแต่ความสงบสันติสืบไป

ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
ชวลิต  หมื่นนุช                   มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
วรยุทธ  ศรีวรกุล                 คณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เสถียรภาพ  นาหลวง        คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
บัญชา  สกุลดี               มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ชาญ  มายอด                     ศูนย์จริยธรรมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net