Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
กสท.ยื่นฟ้อง กทช. ต่อศาลปกครองกลาง ขอเพิกถอนการเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี พร้อมให้คุ้มครองชั่วคราว ขณะที่ ศาลขอเวลาพิจารณา 3-4 วัน ก่อนตัดสินว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ด้าน กทช.ประกาศ 3 บริษัทลูก เอไอเอส-ดีแทค-ทรู ผ่านคุณสมบัติชิงไลเซ่น 3 จี เรียกรายงานตัว 15 ก.ย.นี้
 
เว็บไซต์ไทยรัฐ  รายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายสถาพร เอียดใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายคดี บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากบริษัทฯ ให้มายื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อขอให้ศาลฯ เพิกถอนประกาศร่างหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตระบบ 3จี เนื่องจากเห็นว่า กทช.ชุดปัจจุบันไม่มีอำนาจในการออกประกาศดังกล่าว ขณะที่ศาลปกครองกลางขอเวลา 3-4 วัน พิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ โดยวันนี้เป็นเพียงการรับเรื่อง แต่เชื่อว่าจะรู้ผลก่อนการประมูล 3จี ในวันที่ 20 ก.ย.นี้
 
วันเดียวกัน นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท พร้อมด้วย นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และ นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบกรณี กทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกำหนดเงื่อนไขทำให้หน่วยงานของรัฐเสียสิทธิประโยชน์ และกีดกันการแข่งขัน
 
ประธานสหภาพฯ กสท กล่าวว่า การประมูล 3จี ของ กทช.ทำให้ 2 บริษัท ได้แก่ ทีโอที และ กสท ได้รับความเสียหายถึง 5 กรณี ได้แก่ 1.การประกาศเปิดประมูล 3 จีได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นขอเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตในเวลาที่น้อยเกินไป คือ ระหว่างวันที่ 1-29 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทั้ง 2 บริษัทไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะเป็นหน่วยงานที่ติดระเบียบราชการ การจะลงทุนในกิจการใหม่ ต้องส่งให้กระทรวงการคลังในฐานะต้นสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าร่วมประมูลได้ 2.การกำหนดหลักเกณฑ์ของกทช. ทำให้ทั้ง 2 บริษัทไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะมีการบังคับให้ผู้ให้บริการโครงการระบบ 2จี ต้องเปิดการเชื่อมต่อโครงข่ายให้กับผู้ใช้บริการระบบ 3จี แต่ผู้ใช้ระบบ 2จี ไม่สามารถใช้บริการข้ามเครือข่ายไประบบ 3จี
 
3.การประกาศหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต โดยวิธีประมูลแบบเอ็นลบหนึ่ง (N-1) เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เข้าร่วมประมูลทำการสมยอมราคา หรือ ฮั้วราคาได้ 4.การกำหนดค่าใบอนุญาตใช้งานระบบ 3จี ในอัตรา 6.5% ต่อปี แต่การจ่ายค่าสัมปทานจะจ่ายส่วนแบ่งให้รัฐในอัตรา 25% และ 30%ต่อปี ทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมีต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการในระบบ 2จี และ 5.กทช.ออกหลักเกณฑ์การคงหมายเลขเบอร์เดิม สามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการได้ ซึ่งจะเป็นเหตุจูงใจให้ได้รับใบอนุญาต 3จี ดำเนินการย้ายลูกค้าออกจากระบบ 2จี ไปทำการตลาดในระบบ 3จี ซึ่งถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
 
 
 
3 ค่ายมือถือผ่านเกณฑ์ชิง 3 จี
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในฐานะคณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี กล่าวว่า วานนี้ (13 ก.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทช. ได้เห็นชอบรายชื่อบริษัทที่ประสงค์จะเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่น) 3 จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ตามที่ได้ยื่นเอกสารมา 3 บริษัท คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ก จำกัด บริษัท ดีแทค อินเตอร์เน็ต เซอร์วิส และบริษัท เรียล มูฟ จำกัด โดยทั้ง 3 บริษัทได้ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (พีคิว) แล้ว 
 
ขั้นตอนต่อจากนี้ จะกำหนดให้บริษัทที่ผ่านเกณฑ์พีคิวมารายงานตัววันที่ 15-16 ก.ย. เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประมูล (ปฐมนิเทศ) และให้โอเปอเรเตอร์แต่ละราย ส่งรายชื่อผู้แทนทั้ง 8 คน และสำรอง 2 คน ที่จะเป็นตัวแทนเข้าสู่สถานที่การประมูล และวันที่ 19 ก.ย. เวลา 13.30 น. ผู้แทนจะเดินทางเข้าสู่สถานที่การประมูล และรับไอดี การ์ด และยูสเซอร์เนม สำหรับใช้ประมูลวันที่ 20 ก.ย. 
 
“เข้าใจว่าผู้แทนแต่ละบริษัทที่จะเข้าบ้านมาตัดสินเคาะประมูล ต้องรับผิดชอบมาก จึงให้ระหว่างนี้มีตัวจริงและตัวสำรองได้ ส่วนการเข้าบ้านแต่ละรายจะได้รับยูสเซอร์เนม และรู้ว่าจะได้อยู่บ้านหลังไหนก่อนเวลาประมูลจริงเพียง 10 นาที จากนั้นจะได้รหัสลับสำหรับใช้ในการประมูล ซึ่งอาจจะเป็น Tiger Lion Leo”
 
ผู้แทนโอเปอเรเตอร์ที่จะเข้าร่วมประมูลสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากที่สำรองไว้ 2 คน แต่หลังจากวันรายงานตัวเข้าสถานที่ประมูลจริงแล้ว จะเข้าบ้านได้เพียง 8 คนไม่สามารถเปลี่ยนตัวได้อีก หากมีอุบัติเหตุหรือผู้แทนคนหนึ่งคนใด เจ็บป่วย หรืออยู่ร่วมการประมูลไม่ได้ สามารถออกจากการประมูลได้ทันที แต่จะส่งคนเข้าไปเพิ่มไม่ได้
 
“รายชื่อของผู้ที่จะเข้าประมูลทั้ง 8 คน กทช.ให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของบริษัท เราไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นพนักงานบริษัท แต่จะเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาทางกฎหมาย ตัวแทนกลุ่มทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรในอนาคตก็ได้” พ.อ.นทีกล่าว 
 
ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติพีคิว ตามที่ กทช.ได้ว่าจ้างสถาบันการศึกษา 4 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัตินั้น คณะกรรมการได้รายงานผลมายัง กทช.ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. โดยเห็นให้ทั้ง 3 บริษัทผ่านหลักเกณฑ์ทุกประการ ได้รับหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์แล้วว่าไม่มีลักษณะเป็นต่างด้าว 
 
หลังจากมีผู้ชนะการประมูลได้ไลเซ่นแล้ว กทช.จะออกหนังสือรับรองการเป็นผู้ชนะให้ภายใน 5-7 วัน จากนั้นอีก 45 วัน จะให้ผู้ชนะการประมูลชำระค่าไลเซ่นที่เหลืออีก 50% ของค่าไลเซ่นทั้งหมดที่ประมูลได้ และต้องเสนอแผนการติดตั้งโครงข่าย (Roll out) และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นมหาชนด้วย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net