Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 53 เวลา 09.30 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 100 คน ได้รวมตัวกันเพื่อรอยื่นหนังสือกับนายคมสัน เอก ชัย ผู้ว่าราชการจังหวัด ณ ที่ว่าการอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เนื่องในโอกาสที่นายคมสัน ย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าฯ คนใหม่ และได้เดินทางมามอบแนวนโยบายการปฏิบัติราชการแก่ผู้นำ และหัวหน้าส่วนราชการในท้องที่ดังกล่าว

จนกระทั่งเวลา 10.00 น. เศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เดินทางมาถึง ก็ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มชาวบ้านเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือและพูดคุยกันเป็นเวลานานประมาณ 20 นาที ก่อนเข้าห้องประชุมต่อไป

โดยนายทองหล่อ ทิพย์สุวรรณ์ รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เป็นผู้ยื่นหนังสือและกล่าวต่อผู้ว่าฯ ว่า ตั้งแต่ผู้ว่าฯ มารับตำแหน่งใหม่ และช่วงที่มีการลงพื้นที่มาปักหมุด รังวัดเขตเหมืองของเจ้าหน้าที่ กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) จนเกือบมีการปะทะกันของกลุ่มชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รังวัด หลังจากนั้นชาวบ้านเข้าไปหาผู้ว่าฯ ที่จังหวัดหลายครั้งแต่ก็ไม่พบ แต่พอผู้ว่าฯ มาในวันนี้กลุ่มชาวบ้านจึงอยากขอนัดหมายเข้าพบเพื่อพูดคุยชี้แจงให้ข้อมูลในพื้นที่กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช และอยากขอให้ผู้ว่าฯ วางตัวเป็นกลางในเรื่องนี้

“อยากให้พ่อเมืองอุดรคนใหม่ทำตัวเป็นกลาง พร้อมทั้งขอให้ช่วยกำชับผู้นำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ไม่ให้มีพฤติกรรมเข้าข้างบริษัท เพราะพฤติกรรมดังกล่าวเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกกันภายในชุมชนอยู่ทุกวันนี้” นายทองหล่อกล่าว

ทางด้านนายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การที่ตนเป็นผู้ว่าฯ อยู่จังหวัดอื่นมาแล้วหรือย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าฯ อุดร ก็ตาม ตนมีความตั้งใจจริง ที่จะดูแลทุกข์ สุข ให้แก่พี่น้องประชาชน เรื่องอะไรที่จะนำความขัดแย้งแตกแยกมาสู่ชุมชนซึ่งตนไม่ทำอย่างแน่นอน

“ในเรื่องโปแตชผู้ว่าฯ ต้องวางตัวเป็นกลาง และปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งหากฝ่ายชาวบ้านเห็นว่ามันผิดก็สามารถฟ้องร้องได้ เพราะทุกวันนี้ศาลปกครองก็มีแล้ว ส่วนเรื่องวันที่ชาวบ้านนัดหมายจะคุยกับผู้ว่าฯ นั้น เดี๋ยวผู้ว่าฯ จะเช็คดูวันว่าง แล้วจะประสานผ่านมาทางนายอำเภออีกทีก็แล้วกัน” นายคมสันกล่าว

ขณะที่นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นประเด็นระดับชาติที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจ และเป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวอุดรและคนไทยทั้งประเทศ ขณะเดียวกันชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ได้มีการติดตามและผลักดันข้อเสนอมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปี จนเกิดข้อเสนอร่วมกันกับนักวิชาการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ว่าฯ คนก่อน เพื่อเสนอให้มีการจัดทำการศึกษายุทธศาสตร์แร่โปแตชและเกลือหิน หรือที่เรียกว่า SEA ทั้งระบบในภาคอีสาน และจังหวัดอุดรธานีเองด้วย ดังนั้นผู้ว่าฯ คนใหม่มาก็ควรศึกษาให้รอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไปเพราะผลกระทบมันย่อมเกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ ดังที่เห็นแล้วจากการลงปักหมุดรังวัดของ กพร. เมื่อวันที่ 30 ต.ค.-1 พ.ย. ที่ผ่านมา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net