Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมด้านการเข้าถึงยา ดันหลังกรมทรัพย์สินทางปัญญา อย่าอ่อนข้อต่อผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จนเกินพอดี

 

ตามที่ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม นี้ นายจาเร็ด แรคแลนด์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เดินทางมาประเทศไทยเพื่อพบนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามการทบทวนนอกรอบเพื่อพิจารณาว่าจะยังคงจัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) หรือไม่นั้น

(14 ธ.ค.53) นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ติดตามปัญหาระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยากล่าวว่า อยากสนับสนุนให้กรมทรัพย์สินทางปัญญายึดประโยชน์ของประชาชนคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยไม่ยอมอ่อนข้อต่อข้อเรียกร้องที่ “เกินไป” ของผู้แทนการค้าสหรัฐ

“ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญามีท่าทีดีในหลายเรื่อง เช่นความพยายามแก้ปัญหาการจดสิทธิบัตรไม่มีคุณภาพด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญร่วมทำงานวิจัยประเมินผลกระทบจากสิทธิบัตรแบบ evergreening กับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และพยายามปรับปรุงฐานข้อมูลสิทธิบัตรเพื่อเอื้อให้ผู้ผลิตยาชื่อสามัญสามารถเตรียมการผลิตเมื่อยาใดใกล้หมดสิทธิบัตร แม้จะยังมีความล่าช้าอยู่บ้าง แต่ถือว่า กรมฯเดินมาถูกทางแล้ว จึงอยากให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ระบุว่า จะเห็นได้ว่า ทางผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และบริษัทยาข้ามชาติไม่เคยหยุดที่จะกอบโกย เรียกร้องประโยชน์และเอาเปรียบประเทศพัฒนามาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่สถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.จัดรับฟังความคิดเห็น ทางฟาร์ม่า (PhRMA) สมาคมบริษัทยาข้ามชาติ ก็มีท่าทีแข็งกร้าวต้องการให้ผู้แทนการค้าสหรัฐคงอันดับไทยไว้ที่ประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) โดยนางแนนซี่ อดัม ผู้แทนฟาร์ม่า ไม่พอใจที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาพยายามแก้ปัญหาสิทธิบัตรที่ไม่วันตาย (evergreening patent) โดยอ้างว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรมยาที่จะทำกำไร ต้องการกดดันไทยให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยา และที่สำคัญต้องการให้ขยายนิยามยาปลอมให้ครอบคลุมยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

“กรมทรัพย์สินฯจะต้องไม่ยอมอ่อนข้อ ไม่ควรไปร้องขอกราบกรานให้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯปลดไทยออกจาก PWL โดยเอาอะไรต่อมิอะไรไปแลก เพราะผลเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงต่อสังคมโดยรวม อีกทั้งที่ผ่านมา การติดอยู่ในประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษตั้งแต่ปี 2550 ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกและฐานะทางเศรษฐกิจของไทย ที่มีศักยภาพมากกว่าที่จะพึ่งสิทธิพิเศษที่ต้องแลกด้วยชีวิตผู้คนเยี่ยงนี้ และหากไทยต้องยอมตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ จะทำให้สูญเสียงบประมาณมากกว่า 8 แสนล้านบาทใน 20 ปีข้างหน้า”

ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมไทยได้ทำหนังสือถึงผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ให้ยุติการกดดันประเทศไทยโดยใช้มาตรพิเศษ 301 และขอให้การพิจารณาแผนปฏิบัติการเพื่อการทบทวนการจัดอันดับระหว่างสหรัฐฯและไทยเป็นไปด้วยความโปร่งใส
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net