Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในแต่ละครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ๒๕๕๔ นี้ เจ้าหน้าที่ทุกระดับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงไปจนถึงลูกจ้างชั่วคราวหรืออาสาสมัครฯในระดับล่างสุดต่างก็เหน็ดเหนื่อยกันเป็นพิเศษแทบว่าจะขาดใจเลยก็ว่าได้ ทั้งๆที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าสภาวะน้ำท่วมซ้ำซากของไทยเราที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี นั้น สาเหตุใหญ่ของปัญหาก็คือ การทำลายพื้นที่ป่า การไม่มีมาตรการป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่ดีพอ มีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นคราวๆไป ฯลฯ แต่เราก็ยังคงต้องเหน็ดเหนื่อยกันทุกปีและจะยิ่งเหน็ดเหนื่อยมากขึ้นทุกๆปีไป อย่างไรก็ตามการเหน็ดเหนื่อยต่างๆนี้แทบจะเสียเปล่าไปเลยทีเดียวเมื่อประสบกับปัญหาในการบริหารจัดการที่ซ้ำซ้อน ขัดแย้ง ก้าวก่าย มั่ว ไม่มีทิศทาง เอาแต่สั่งการ เอาแต่สร้างภาพ ทุจริตคอรัปชัน เบียดบังงบประมาณ ฯลฯ ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แม้ว่านายกรัฐมนตรีที่มีเพียงสองแขนสองขาและเวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมงจะสามารถเดินทางชะแว้บไปชะแว้บมาไปเกือบทุกพื้นที่ข่าวที่เป็นจุดสำคัญก็ตาม แต่เมื่อกลไกที่จักรเฟืองสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความซ้ำซ้อน อืดอาดและล่าช้า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในคราวนี้จึงมีแต่การประชุมๆๆๆ สั่งการๆๆๆๆและอนุมัติๆๆๆ เสร็จแล้วก็ออกไปตรวจราชการโดยรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหลายที่แทนที่จะไปช่วยแก้ไขปัญหา แต่กลับไปเพิ่มภาระในการต้อนรับขับสู้ อำนวยความสะดวก รวมถึงการจัดเตรียมผักชีไว้โรยหน้าบ้างพอเป็นธรรมเนียม บางทีก็ปล่อยให้ชาวบ้านรอเป็นชั่วโมงๆเพื่อรอรับถุงยังชีพเพียงถุงเดียว เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยแทนที่จะได้ออกไปช่วยชาวบ้านแต่ต้องกลับมาเสนอหน้ารับคำสั่งที่ไม่มีอำนาจรองรับ เช่น รัฐมนตรีกระทรวงเชยๆกระทรวงหนึ่งสั่งการให้เทศบาลนครเชียงใหม่สร้างพนังกั้นน้ำความยาว ๒๒ กิโลเมตรเพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น สั่งแล้วก็ทิ้ง สั่งแล้วก็ทิ้ง ส่วนกลางสั่งทัองถิ่น ภูมิภาคสั่งท้องถิ่น ทั้งๆที่ท้องถิ่นเขาก็ทำตามตามปกติของเขาอยู่แล้ว ก็ต้องกลับไปเพิ่มงานในการรายงานตัวเลขให้แก่อำเภอ จังหวัด เพื่อรายงานส่วนกลาง กลายเป็นผลงานของอำเภอ จังหวัดไป ทั้งๆที่แทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย ท้องถิ่นทำเสียเกือบทั้งหมดแล้ว ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งล้วนแล้วมีที่มาจากปัญหาในเชิงโครงสร้างของการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้าหลัง แทบจะไม่มีการพัฒนาเลยตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองเมื่อครั้ง พ.ศ.๒๔๓๕ ที่แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ที่เราไปลอกเลียนแบบจากฝรั่งเศสมา ทั้งๆที่ฝรั่งเศสนั้นภาคและจังหวัดกลายเป็นราชการส่วนท้องถิ่นไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕(ค.ศ.๑๙๘๒) แต่ของไทยเรากลับเพิ่มการรวบอำนาจให้ภูมิภาคยิ่งๆขึ้นไปอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง คมช.ที่ผ่านมา เมื่อหันกลับไปดูญี่ปุ่นที่มีพัฒนาการพอๆกับไทยเราเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายการปกครองท้องถิ่นไม่มีการบริหาราชการส่วนภูมิภาค ญี่ปุ่นกลับเจริญเอาๆ และที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอุบัติภัยต่างๆ เช่น ภัยสึนามิจนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่ว ท้องถิ่นมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาโดยไม่มีราชการส่วนภูมิภาคมายุ่มย่ามให้เป็นปัญหาอุปสรรค ญี่ปุ่นก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างดีเยี่ยม ขนาดมีรัฐมนตรีปากพล่อยไปถามหาผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมาจากการเลือกตั้งว่าไปไหน ทำไมไม่มาต้อนรับ ทั้งๆที่ผู้ว่ากำลังออกไปทำงานแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้าน จนรัฐมนตรีปากพล่อยคนนั้นต้องลาออกไป ซึ่งตรงข้ามกับพี่ไทยเราเห็นแต่รถนำขบวนวิ่งเพ่นพ่านเต็มไปหมด ที่น่าเศร้าใจก็คือการแก้ไขปัญหาของพี่ไทยเรานอกจากจะมีแต่การประชุมๆๆๆ สั่งการๆๆๆๆๆ และบางจังหวัดยังมีการฉวยโอกาสเสนอขออนุมัติเพิ่มอัตราอาสาสมัครป้องกันภัยฯให้แก่ราชการส่วนภูมิภาคกันแบบเนียนๆอีกด้วย บางจังหวัดก็มีปัญหากันว่าสิ่งของไหนท้องถิ่นจะเป็นผู้ซื้อ สิ่งของอำเภอจังหวัดเป็นผู้ซื้อ บางทีก็แย่งกันซื้อ บางทีก็มองข้ามไปไม่ซื้อเพราะเบิกยาก เบิกไม่ได้ เกรงจะขัดระเบียบ งบฉุกเฉินก็อยู่ไหนไม่รู้เห็นมีแต่ยอดว่าจังหวัดมีอำนาจอนุมัติครั้งละไม่เกิน ๑๐๐ ล้านบาท แต่ที่ซื้อๆกันนั้นไม่รู้ว่างบไหนเป็นงบไหน จับต้นชนปลายไม่ถูก ซื้อมาแล้วจะเอาไปแจกก็ต้องดูว่ามีชื่อในทะเบียนบ้านหรือเปล่า ข้าวปลาอาหารกว่าจะแจกได้ บางทีก็เหลืออิเหละเขละขละ บูดเน่าไปก็มี บางทีก็ได้ซ้ำซ้อน ได้แล้วได้อีก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถ้ามีหน่วยงานกลางซึ่งก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดกับชาวบ้านที่สุดเป็น ผู้จัดสรรแจกจ่ายตามความต้องการและข้อมูลพื้นฐานที่มีอยู่ก็จะสามารถทำได้ทั่วถึงยิ่งกว่าปัจจุบัน และที่สำคัญคือไม่ต้องมัวไปเสียเวลาทำตัวเลขสถิติตามที่จังหวัด อำเภอสั่งการมาให้รวบรวมเพื่อรายงานเอาหน้าอยู่ที่ที่ว่าการหรือศาลากลางเพราะไม่มีพื้นที่ให้ออกปฏิบัติการ เพราะท้องถิ่นเขาอยู่เต็มพื้นที่แล้ว (แต่ไม่มีงบประมาณเพราะถูกรวบเอาไว้ในส่วนกลางและภูมิภาค - ว่ากันว่างบช่วยเหลืออุทกภัยนครศรีธรรมราช ๒ ปีมาแล้วชาวบ้านยังไม่ได้รับการชดเชยเลยเพราะต้องรออนุมัติจากส่วนกลาง) ปัญหาในด้านโครงสร้างเหล่านี้สามารถได้หากเราสามารถแก้ไขให้ประเทศไทยเรามีแต่เพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นโดยไม่มีราชการส่วนภูมิภาค ดังเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลาย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ(ซึ่งเราไปลอกรูปแบบการปกครองแบบรัฐสภามา ก็ไม่เคยมีราชการส่วนภูมิภาคเลยตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบัน) สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ฯลฯ น้ำท่วมใหญ่คราวนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เชียงใหม่ที่ทำความพินาศให้แก่เศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่เป็นพันๆล้านก็ได้พิสูจน์ถึงความล้มเหลวของการจัดระเบียบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่เทอะทะ งุ่มง่าม และล้าหลัง ถึงเวลาแล้วที่เชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆจะก้าวพ้นจากการบริหารราชการจากใครก็ไม่รู้ ที่ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี ว่าคนท้องถิ่นเขาต้องการอย่างนั้นไม่ต้องการอย่างนี้ ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ.(๒๕๕๕)ที่ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคทั้งจังหวัดเหลือเพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น กำลังรอการรณรงค์เพื่อเสนอชื่อโดยประชาชนเพื่อนำร่องจังหวัดอื่นๆอีก ๔๕ จังหวัดที่พร้อมจะดำเนินการตามรอยของเชียงใหม่จะเป็นบทพิสูจน์ว่าคนท้องถิ่นย่อมรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีที่สุดและแน่นอนว่าย่อมสามารถแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้ดีที่สุดเช่นกัน หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๔

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net