Skip to main content
sharethis

 ‘คณะนักเขียนแสงสำนึก’ ย้ายงานรอบสาม ไปจัดอนุสรณ์ ‘14 ตุลา’ แทน

15 ก.พ. 55 - สืบเนื่องจากการจัดงาน “แขวนเสรีภาพ” ของคณะนักเขียนแสงสำนึก ในอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเดิมกำหนดสถานที่ไว้เป็น ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ และภายหลังเมื่อไม่ได้รับอนุญาต จึงได้ประกาศว่าย้ายมาจัดที่ตึกเทวาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น

ทาง “วาด รวี” หนึ่งในคณะผู้จัดงานเปิดเผยวันนี้ว่า หลังจากที่ทางตัวแทนของกลุ่มได้ติดต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อขออนุญาตจัดงานอภิปรายทางวิชาการในช่วงเช้าของวันนี้ ทั้งต่อคณะอักษรศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า กลับประสบความติดขัดและได้รับแจ้งว่าไม่ได้รับอนุญาตให้จัดงานอภิปรายทางวิชาการดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ทางคณะผู้จัดงาน จึงตัดสินใจย้ายการจัดงาน “แขวนเสรีภาพ” ไปจัดที่บริเวณอาคารด้านหน้าของอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินแทน 

(ประชาไท, 15-3-2555)

 

ศาลกีฎาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายอำพล หรือ อากงเอสเอ็มเอส ชี้เป็นคดีร้ายแรง หวั่นผู้ต้องหาหลบหนี

15 ก.พ. 55 - นายอานนท์ นำภา ทีมทนายความที่รับผิดชอบคดี นายอำพล หรือคดีอากง เอสเอ็มเอส ได้โพสข้อเกี่ยวกับความคืบหน้าคดีอากง เอสเอ็มเอส ผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ก โดยมีใจความว่า

ผลการยื่นกีฎาขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือคดีอากง เอสเอ็มเอส โดยศาลกีฎาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายอำพล หรือ อากงเอสเอ็มเอส  

เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีและเหตุผลคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้วเห็นว่าเป็นคดีร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุกจำเลยถึง 20ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี

ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เจ็บป่วยนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลจากหน่วยงานของรัฐ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างการอุทธรณ์คดี

ทั้งนี้คดีของนายอำพล หรืออากง เป็นคดีตามความผิดในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากข้อหาว่า อากง ใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวพิมพ์ อันเป็นการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง และส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการส่วนตัวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9,11และ 22พ.ค.53

(VoiceTV, 15-3-2555)

 

ศาลไม่อนุญาตประกันตัวดาตอร์ปิโดคดีหมิ่น

16 ก.พ. 55 - ศาลอาญารัชดา อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์เรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 15 ปี โดยญาติของ น.ส.ดารณี ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นจำนวน 1,440,000 บาท เพื่อขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 15 ปี จำเลยเคยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ต่อศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ มาแล้วหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาต จำเลยมายื่นคำร้องในครั้งนี้อีก ทั้งพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับ พยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้น ได้มีการพิจารณามาแล้ว รับว่าร้ายแรง หากให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยอาจหลบหนีได้ ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุผลการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยทราบโดยเร็ว

(ไอเอ็นเอ็น, 16-3-2555)

 

'สุรพงษ์' ยืนยันรัฐไม่ละเลยคนจาบจ้วงสถาบัน

19 มี.ค. 55 - เมื่อเวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ด่วนเรื่องการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศ โดยนายประสงค์ นุรักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียกว่า 1,500 คน ว่า ขณะนี้น่ากังวลอย่างยิ่ง มีคนไทยในต่างประเทศดำเนินการหลายรูปแบบ และกระทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นการทำร้าย ทำลายสถาบันและองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งที่เป็นคนไทยแท้ๆ แต่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศบางกลุ่มให้ร้ายรุนแรง ทั้งการเขียน การเจรจาสื่อสาร และการใช้ภาพที่เป็นการจาบจ้วง รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อบุคคลและกลุ่มบุคคลดังกล่าวที่ทำผิดกฎหมาย ฐานบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการให้นโยบายแก่เจ้าหน้าที่ไทยในต่างประเทศอย่างไร รวมถึงมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ต่างชาติและคนไทยในต่างประเทศด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมามีการใช้ช่องว่างกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทยแต่เปลี่ยนเป็นสัญชาติอเมริกัน ใช้พาสปอร์ตอเมริกันเดินทางเข้ามาในไทย กระทำการต่างๆ ตนอยากให้หน่วยงานรัฐของไทยใช้เครื่องตรวจสอบลายนิ้วมือแบบที่ทางสหรัฐอเมริกาใช้ จะรู้ทันทีว่าบุคคลเหล่านี้เป็นใคร แม้จะเปลี่ยนสัญชาติไปแล้ว และตนยินดีที่จะช่วยรัฐบาลหากกระทรวงการต่างประเทศยินยอมทำหนังสือมอบหมายให้ตนไปไล่สอบในเมืองต่างๆ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ยืนยันว่าตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยึดมั่นทำตามนโยบายที่แถลงไว้จริงจัง โดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อเทิดทูนและพิทักษ์รักษาพระเกียรติของพระมหากษัตริย์และสถาบัน กระทรวงการต่างประเทศได้ติดตาม ชี้แจง ตอบโต้การกระทำหรือรายงานข่าวในต่างประเทศที่คลาดเคลื่อน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือการสร้างความเสียหายต่อสถาบัน หากปรากฏมีบุคคลชาวไทยในต่างประเทศมีพฤติกรรมเข้าข่ายหมิ่นหรือจาบจ้วง ทางสถานเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวร หรือสถานกงสุลใหญ่ ที่มีเขตอาณาครอบคลุมพื้นที่ที่เข้าข่ายสิ่งเหล่านี้ จะตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานให้กระทรวงการต่างประเทศทราบ ส่วนกรณีที่ทำผิดนอกอาณาจักร สำนักงานอัยการสูงสุดจะเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน และเป็นผู้รับผิดชอบคดีตามกฎหมาย เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ถ้ามีความผิดก็ต้องรับโทษไปตามกระบวนการ ส่วนการให้นโยบายแก่เจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ เราใช้แนวทางน้ำดีไล่น้ำเสีย โดยการประสานความร่วมมือทุกหน่วยงาน เผยแพร่ข้อมูลเชิงบวกเกี่ยวกับสถาบันให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแนวทางนี้เราเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ยั่งยืนได้ส่วนการดำเนินการต่อชุมชนไทย ใช้การจัดกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ เพื่อเปิดช่องทางให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างข้าราชการและชุมชนไทย โดยเชื่อว่าจะเป็นวิธีชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนไทยในต่างประเทศได้ดี

(ไทยรัฐ, 19-3-2555)

 

"สุรชัย แซ่ด่าน-ดา ตอร์ปิโด" พร้อม 6 ผู้ต้องขังคดี ม.112 ส่งจม.ถึงนายกฯ ช่วยดำเนินการขออภัยโทษ

20 มี.ค. 55 - เว็บไซต์ข่าวประชาไท รายงานว่า รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ที่คดีเด็ดขาดแล้วรวม 8 คน ร่วมกันเขียนจดหมายจากเรือนจำถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแก่พวกเขา โดยระบุว่า "บัดนี้พวกข้าพเจ้าทั้งหมดรู้สึกสำนึกผิดด้วยความเสียใจยิ่ง ต่อการกระทำที่ผิดพลาด จึงไม่ขอต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพให้ศาลตัดสินใจลงโทษจนคดีถึงที่สุด และใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษ จึงร้องทุกข์ต่อท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือพวกข้าพเจ้าให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานด้วยเถิด”

(ประชาไท, 20-3-2555)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net