Skip to main content
sharethis

 หลังจากการตัดสินคดีพ.ร.บ. คอมพ์ของผอ. เว็บไซต์ประชาไท มีปฏิกิริยาจากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งรวมถึงนานาชาติอย่างอียู โดยนอกจากจะประณามผลการตัดสินของศาลแล้ว ยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพ์ด้วย 

 สืบเนื่องจากการตัดสินคดีของจีรนุช เปรมชัยพรเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (30 พ.ค. 55) ในมาตรา 14 และ 15 ของพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ที่ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษจำเลย 1 ใน 3 เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท และจำเลยไม่เคยกระทำความผิดให้รอลงอาญา 1 ปีนั้น

คำตัดสินดังกล่าว นำมาซึ่งปฏิกิริยาจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น Freedom House, Human Rights Watch, International Commission of Jurists และ Asian Human Rights Commission ที่ออกแถลงการณ์ต่อกรณีคำพิพากษาดังกล่าวทันที โดยส่วนใหญ่มีจุดยืนแสดงความกังวล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดบรรยากาศของความกลัวในสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่ผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตในเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสารของไทย นอกจากนี้ องค์กรสิทธิบางแห่งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ด้วย

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่าพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มีบทลงโทษที่ไม่สมเหตุผลเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ "บทลงโทษดังกล่าวเสมือนเป็นการข่มขู่ต่อผู้ที่โฮสต์และประกอบการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เพราะพวกเขาอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ซึ่งอาจจะนำไปตีความในทางที่ไม่สมเหตุผล" นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อผู้สื่อข่าวอาวุโสนสพ. เดอะ เนชั่น ประวิตร โรจนพฤกษ์ด้วย

ศูนย์เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและเทคโนโลยี ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า การตัดสินลงโทษจีรนุชนับว่าเป็นการส่งสัญญาณที่น่าสะพรึงกลัวต่อตัวกลางอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยว่า ต่อไปนี้คุณจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ผู้ใช้ของคุณกระทำ โดยซินเธีย วอง ผู้อำนวยการโครงการเสรีภาพอินเทอร์เน็ตสากล กล่าวว่า "การลงโทษเว็บมาสเตอร์เพียงเพราะเนื้อหาจากผู้ใช้ ไม่เพียงแต่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น เนื่องจากเธอเป็นเพียงผู้ส่งสาร แต่ยังเป็นการข่มขู่การแสดงออกของผู้ใช้ เพราะมันจะทำให้เว็บไซต์อื่นๆ ต้องรีบเอาโพสต์ของผู้ใช้ลงถ้ามันมีโอกาสละเมิดกฎหมาย หรืออาจจะไม่เปิดให้มีส่วนการแสดงออกของผู้ใช้เลยก็ได้" 

พันธมิตรสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 15 ในพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพื่อคุ้มครองตัวกลางอินเทอร์เน็ตว่า พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีเหตุมีผล และให้มีการระบุแนวทางการใช้กฎหมายให้ชัดเจนด้วย 

ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรจัดลำดับเสรีภาพสื่อในโลก ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกาชี้ว่า การตัดสินคดีของจีรนุชแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยไม่ให้คุณค่าของการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของพลเมือง และระบุว่า ประเทศไทยต้องทำให้การหมิ่นประมาททั้งออนไลน์และออฟไลน์ไม่เป็นอาชญากรรม เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้เมื่อปี 2539 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยอธิบายเหตุผลของคำพิพากษาดังกล่าว ที่ทำให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ไทยเป็นสมาชิกในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองโดยไม่มีการแทรกแซงหากไม่จำเป็น (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่ ประเทศไทย: คำพิพากษาที่สำคัญอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก)

องค์กรคุ้มครองสิทธินักสิทธิมนุษยชน Front Line Defenders ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ แสดงความยินดีที่จีรนุชไม่ต้องถูกจำคุก แต่ก็แสดงความกังวลถึงการใช้พ.ร.บ. คอมพ์และกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่จะถูกนำไปใช้ปิดปากนักกิจกรรม นักข่าว และนักสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แสดงความหวังว่า ศาลอุทธรณ์ของไทย จะตระหนักถึงข้อปัญหาทางกฎหมายของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่ไม่สอดคล้องต่อหลักสิทธิมนุษยชน และแก้ไขให้ถูกต้องได้ในอนาคต

ด้านตัวแทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้แสดงความกังวลอย่างมากต่อผลการตัดสิน ที่เอาผิดตัวกลางในอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net