Skip to main content
sharethis

ดึงภาคีปฏิรูป 5 ด้านปรับโฉมประเทศ ยันค่าแรง 300 บาทหนุนบริโภคโตดัน ศก.พ้นหล่ม 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ 'ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงผ่านประเทศไทย' ในการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 3 จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ ร่วมกับเครือมติชน จัดขึ้นที่สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ภายในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ความรู้และทักษะใหม่ มีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นคลื่นลูกที่สี่เข้ามาต่อคลื่นลูกที่สาม ยุคสมัยแห่งปัจเจกชน และเครือข่ายทางสังคมจะแบ่งสันปันส่วนการนำ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัย 3 พลัง คือ พลังทางปัญญา พลังทางสังคม พลังแห่งอำนาจรัฐ จาก 5 ภาคี ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคการเมือง ภาคข้าราชการ ภาคเอกชน และสื่อสารมวลชน โดยผลักดันการกระจายอำนาจ กระจาย ความรู้ กระจายโอกาส กระจายความเจริญ เพื่อให้เกิดการปฏิรูป 5 ด้าน ได้แก่ การเมืองการปกครอง การศึกษา เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และการต่างประเทศ

นอกจากนี้ ไทยจะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ต้องก้าวผ่านเทือกเขาที่เป็นอุปสรรค 2 ด้านคือ ความขัดแย้งโดยอาศัยความอดทน อำนาจ การให้อภัย และต้องก้าวผ่านปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยการเข้าสู่อำนาจที่ถูกต้อง มีระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ บนค่าตอบแทนที่เหมาะสม และมีบทลงโทษยุติธรรม

'กฎของการเปลี่ยนแปลง 3 ข้อคือ ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลง มุ่งไปทิศทางเดียว และจะเกิดขึ้นเมื่อเงื่อนไขพร้อม บนปรัชญาแห่งความสำเร็จคือ ลงจากตำแหน่งในเวลาที่เหมาะสม เพราะไม่มีใครจะเก่ง และทำงานหนักไปได้โดยตลอด สุดท้ายเมื่อถึงเวลา ก็ต้องมีคนเข้ามาทำหน้าที่แทนในเวลาที่เหมาะสมสักวัน' น.พ.สุรพงษ์กล่าว

ด้านนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐ ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ บาท วิกฤต โอกาสแรงงานไทย' ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น วันละ 300 บาทนั้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น 3.6% เท่านั้น แต่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนภาคครัวเรือนที่มีสัดส่วนการบริโภคใน ประเทศ 52% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นตัวแปรหลักของประเทศ โดยเฉพาะในยามที่ไทยต้องประสบวิกฤตต่างๆ การพึ่งพาการบริโภคในประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไปรอด ลดการพึ่งพาการส่งออกที่มีสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพี

'ปี 2554 ไทยมีแรงงาน 38.87 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตร 15.7 ล้านคน นอกภาคเกษตร 23.1 ล้านคน แบ่งเป็นลูกจ้าง 43% เป็นนายจ้าง 2% สะท้อนว่าโครงสร้างสังคมไทยเปลี่ยนจากภาคเกษตรเป็นภาคการค้าเว้นวรรค อุตสาหกรรมและบริการ หรือเป็นทุนนิยมอุตสาหกรรมระดับปานกลาง มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 5,112 เหรียญสหรัฐ/ต่อปี แต่หากทำรายได้เฉลี่ยต่อหัว 12,500 เหรียญสหรัฐ/ต่อปี จะกลายเป็นทุนนิยมระดับสูง' นายณรงค์กล่าว

(ข่าวสด, 5-8-2555)

'​เลขากอศ.' ยันคงอัตราผลิตอาชีวะ สัดส่วน​เดิม 60% ชี้ทุกวันนี้ป้อนภาคอุตฯ​ไม่พออีก 5 ปีตัว​เลขต้อง​การพุ่ง

นายชัยพฤกษ์ ​เสรีรักษ์ ​เลขาธิ​การคณะกรรม​การ​การอาชีวศึกษา (กอศ.) ​เปิด​เผย​ถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรม​การ​การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ​ได้​เปิดร่าง​แผน​การรับนัก​เรียนประจำปี​การศึกษา 2556 ว่าจะมี​การ​เปิดรับนัก​เรียนขึ้นชั้น ม.4 มากขึ้นตาม​ความต้อง​การ ขณะ​เดียวกันจะยก​เลิกจุด​เน้น​การผลิตกำลังคนสายอาชีวศึกษาต้องมากขึ้น 60% ภาย​ในปี​การศึกษา 2556 นั้น ตนมองว่า​เรื่องดังกล่าวอาจ​เป็น​การตั้ง​เป้าหมาย​เอง​และ​ไม่มี​การยก​ เลิกจุด​เน้นอะ​ไร​ทั้งนั้น ​เนื่องจาก​แผน​การผลิตกำลังคน​เป็น​ไปตามมติคณะรัฐมนตรี ​ใน​การ​เห็นชอบ​แผนปฏิรูป​การศึกษา​ในทศวรรษที่ 2 ​ไม่สามารถยก​เลิก​ในหน่วยงาน​ได้​เอง

ทั้งนี้ สำหรับ​แผน​การรับนัก​เรียนนักศึกษาอาชีวะสังกัด สอศ.​ในปี​การศึกษา 2556 นั้น สอศ.ตั้ง​เป้ารับ​เพิ่มกว่าทุกปีที่ผ่านมาอีกประมาณ 3 หมื่นกว่าคนผ่านกลยุทธ์ต่างๆ อาทิ ​เรียนจบมีงาน​ทำ​แน่ อาชีวศึกษาพร้อม​เปิดประชาคมอา​เซียนด้วยขยายผล​การ​เปิดห้อง​เรียนหลักสูตร ภาษาอังกฤษ ​หรืออีพี ​ซึ่งปีนี้​เรา​ได้​เริ่มนำร่อง​แล้ว 32 ห้อง​เรียน ​และยังมี​การ​เปิด​เรียนปริญญาตรีสายปฏิบัติต่อ​เนื่องสำหรับนักศึกษา อาชีวะ​ซึ่งมี 28 สาขาวิชา ​เปิดรับ​เบื้องต้น​ในปี​แรก 1,000 กว่าคน จำกัด 40 คนต่อห้อง​เรียน ​โดยกลยุทธ์​ทั้งหมดนี้คาดว่าจะมีนัก​เรียนสน​ใจ​เรียนอาชีวะมากขึ้น ​และรับ​ได้ตาม​เป้าหมายต่อ​ไป

นอกจากนี้ ​การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ​ได้​เรียกทุกหน่วยงานประชุมหารือ​ถึง​การ ​เตรียม​ความพร้อม​การจัด​ทำยุทธศาสตร์​การ​เป็นประชาคมอา​เซียน ปี พ.ศ.2558 ​ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยาก​ให้ทุกกระทรวง​ได้​เตรียม​ความพร้อม ขณะที่ที่ประชุม​ได้​แสดง​ความ​เป็นห่วง​ถึง​แรงงาน​ไทยกำลังขาด​แคลนค่อน ข้างมาก ​และถามสำนักงานคณะกรรม​การ​การอาชีวศึกษา (สอศ.) จะ​เตรียมรองรับปัญหานี้​ได้อย่าง​ไรบ้าง ตน​ก็​ได้ชี้​แจง​ไปว่า สอศ.​ได้มี​การจัด​ทำ​แผน​เตรียม​ความพร้อมสู่ประชาคมอา​เซียนปี 2558 ​ไว้​แล้ว ​โดย​แผนดังกล่าวจะวิ​เคราะห์จุด​แข็งของอุตสาหกรรม​ไทย​ใน​การ​แข่งขันบน​ เวทีอา​เซียน​และ​เวที​โลก

​เลขาธิ​การ สอศ.กล่าวอีกว่า ​ซึ่ง​ใน​แผนดังกล่าว สอศ.​เตรียมพัฒนากำลังคน 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์​และชิ้นส่วน ​และกลุ่มอุตสาหกรรม​ไฟฟ้าอิ​เล็กทรอนิกส์ มี​เป้าหมาย 3 ระยะ คือ ระยะสั้น กลุ่มพร้อม​เข้า​ทำงาน ​โดย​ทำ​การอบรม​และพัฒนา​เพื่อต่อยอดทักษะระยะกลาง นัก​เรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษา​ในสถานศึกษาอาชีวะ​ให้มี​การฝึกงาน​และจัด​ การ​เรียน​การสอนทวิภาคี​โรง​เรียน​ใน​โรงงาน ​โดยร่วมมือกับสถานประกอบ​การ ​และระยะยาว ​เตรียม​ความพร้อมด้านกำลังคน​ทั้งปริมาณ​และคุณภาพ ​โดยปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยกระดับคุณภาพทัด​เทียมอา​เซียน​และสากล

นอกจาก​การจัด​ทำ​แผนยุทธศาสตร์อา​เซียนของอาชีวศึกษา​แล้ว สอศ.ยัง​ได้มี​การวิ​เคราะห์​ความต้อง​การ​แรงงาน​ในภาคอุตสาหกรรมด้วย พบว่า ​ความต้อง​การ​ในตลาด​แรงงานมีจำนวน​เยอะกว่าจำนวนนัก​เรียนนักศึกษา ปวช.​และ ปวส.ที่จบ​แต่ละปี ​ซึ่ง​ในสาขาวิชาอุตสาหกรรมชิ้นส่วน​และยานยนต์​ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมี​ถึง​ความต้อง​การกว่า 118,200 คน ดังนั้น ​เรา​จึงต้อง​เร่งผลิตกำลังคน​ให้สอดรับกับตลาด​แรงงาน​ให้​ได้มากที่สุด ขณะที่ระดับปริญญาตรีมี​ความต้อง​การ​เพียง 11,824 คน​เท่านั้น ​ซึ่ง​เท่ากับว่า​ในอีก 3 ปีข้างหน้า หาก​เด็กสน​ใจที่จะ​เรียนต่อ​ในสายอาชีวศึกษา ยืนยัน​ได้​เลยว่าทุกคนที่สำ​เร็จ​การศึกษาออกมา​แล้วมีงาน​ทำทุกคน ​เพราะตลาด​แรงงานมี​ความต้อง​การกำลังคนมากกว่า" ​เลขาธิ​การ กอศ.กล่าว.

(ไทยโพสต์, 7-8-2555)

เช่าซื้อ จยย.พุ่งอานิสงส์ค่าแรง 300

นายทวีพล เจริญกิตติคุณไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิลด์ลีส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในเครือธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในช่วงไตรมาส 2 กลับมาฟื้นตัว หลังจากชะลอตัวจากปัญหาน้ำท่วมสิ้นปี 54 โดยการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท และการรับจำนำราคาข้าว ของรัฐบาล สามารถเพิ่มกำลังซื้อในตลาดได้มาก

สินเชื่อรถจักรยานยนต์มีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะตลาดในกรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกสูงกว่า 1 ล้านคัน และทั้งปีนี้เชื่อว่าจะมียอดขายสูงกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งจากการแข่งขันที่รุนแรงการปรับตัวสู้กับคู่แข่งขันด้วยการพัฒนาเครื่อง สมัครสินเชื่อรถจักรยานยนต์ด้วยตัวเอง (SAMM) ใช้เวลาดำเนินการจนถึงอนุมัติสินเชื่อเพียง 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทติดตั้งเครื่อง SAMM 180 เครื่อง ณ ร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตพื้นที่ให้บริการของบริษัท 12 สาขา จำนวน 46 จังหวัดทั่วประเทศ และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนเครื่องเป็น 210 เครื่องภายในสิ้นปีนี้ สำหรับกลยุทธ์การตลาดของบริษัท จะเน้นเจาะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจค้าขายที่ไม่มีเงินเดือนประจำ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ 1-2% ต่อเดือน โดยลูกค้าของบริษัทมีลูกค้าในต่างจังหวัด 90% และอีก 10% เป็นลูกค้าในกรุงเทพมหานคร

นายทวีพลกล่าวอีกว่า ในช่วง 6 เดือนแรก มียอดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ 1,400 ล้านบาท แม้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะเป็นช่วงฤดูฝนหรือช่วงเข้าพรรษา แต่ยอดสินเชื่อยังแรงทำให้มั่นใจว่าตลอดทั้งปีสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ไม่ ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในปีนี้ตั้งเป้าทำกำไรสุทธิไว้ที่ 100 ล้านบาท.

(ไทยรัฐ, 7-8-2555)

พบนายจ้าง 258 แห่งไม่ทำตามขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทใน 7 จังหวัด และปรับขึ้นค่าจ้างร้อยละ 40 ใน 70 จังหวัดที่เหลือว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบันได้ส่งพนักงานตรวจแรงงานของกรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานประกอบการทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นสถานประกอบการใน 70 จังหวัด ที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40 จำนวน 18,415 แห่ง มีลูกจ้างจำนวน 857,403 คน ซึ่งพบว่ามีสถานประกอบการจำนวน 191 แห่ง ปฏิบัติไม่ถูกต้องในเรื่องของการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจำนวน 3,791 คน

ขณะที่กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทใน 7 จังหวัด จากการสุ่มตรวจสถานประกอบการจำนวน 10,379 แห่ง และลูกจ้างจำนวน 515,973 คน พบว่ามีสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 67 แห่ง มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1,833 คน อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการเพื่อปฏิบัติให้ถูก ต้อง ซึ่งขณะนี้พบว่าสถานประกอบการเริ่มปฏิบัติถูกต้องแล้ว

(โลกวันนี้, 8-8-2555)

ครม.อนุมัติปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการทหาร ให้รวมรายได้ 1.5 หมื่นบาท

ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติการปรับอัตราเงินเดือนแลกบรรจุและการเลื่อนชั้นเงินเดือน เพื่อชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบของกระทรวงกลาโหม โดยให้มีการปรับเงินเดือนรวมรายได้ 15,000 บาท โดยให้ยกเลิกบัญชีคุณวุฒิและอัตราเงินเดือนของบุคคลที่ได้รับการบรรจุเข้า รับราชการเป็นข้าราชการทหาร ท้ายกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้า ราชการทหาร และการให้ได้รับเงินเดือน พ.ศ.2555 และกำหนดการได้รับเงินเดือนของบุคคลที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้า ราชการทหาร ให้เป็นไปตามคุณวุฒิและอัตราเงินเดือนตามบัญชีคุณวุฒิและอัตราเงินเดือนของ บุคคล ที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารท้ายกฎกระทรวง ตามตารางอัตราเงินเดือนดังนี้ 1.ตารางอัตราเงินเดือน 1 มกราคม 2556 ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 2.ตารางอัตราเงินเดือน 1 มกราคม 2557 ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-8-2555)

ชี้จบ ป.ตรีตรงตลาดงานแค่ 50% ตกงานปีละกว่าแสน-อังกฤษถดถอย

โรงแรมสยามเคมปินสกี้ 7 ส.ค.55-ผลสำรวจ "แมนเพาเวอร์"ชี้บัณฑิตป.ตรีรุ่นใหม่ตรงความต้องการตลาดแรงงานเพียง 50% ตกงานปีละกว่า 1 แสนคนคิดเป็นร้อยละ 40 จากที่เรียนจบปีละ 2-3 แสนคน จัดโครงการพัฒนานศ.ปริญญาตรีชั้นปีที่ 4-นศ.อาชีวะติวเข้มเทคินิคหางาน สัมภาษณ์ปรับบุคลิกภาพช่วงเดือนส.ค.-พ.ย.

น.ส.สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนเพาเวอร์กรุ๊ป กล่าวในงานแถลงข่าว"โครงการพัฒนาทุนมนุษย์สู่สังคมแห่งอนาคต"ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กทม.ว่า ปัจจุบันความต้องการแรงงานของประเทศกับการผลิตกำลังแรงงานยังไม่สมดุลทั้งใน เชิงวิชาการและคุณภาพเนื่องจากปัจจุบันตลาดแรงงานต้องการแรงงานกึ่งทักษะ ฝีมือระดับม.ปลาย ปวช.และปวส.โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาต้องการถึงปีละประมาณ 100,000 คนจากจำนวนทั้งหมดที่ผลิตออกมาปีละประมาณ 300,000 คน คิดเป็น 33% ของความต้องการกำลังทั้งหมด ซึ่งไม่เคยเพียงพอกับตลาดแรงงานที่เติบโตขึ้นและต้องการแรงงานในสาขาต่างๆ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ขณะที่ระดับปริญญาตรีผลิตออกมาปีละ 200,000-300,000 คน แต่มีผู้ตกงานปีละ 100,000 คน คิดเป็น 40% จากที่ผลิตออกมาในแต่ละปีโดยข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค.2555 มีผู้ว่างงาน 300,000 คนในจำนวนนี้เป็นผู้จบปริญญาตรี 1.52 แสนคน ส่วนสาเหตุที่เด็กไทยเรียนต่อปริญญาตรีกันมากเพราะค่านิยมต้องการได้เงิน เดือนสูงๆ มีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้กู้และการทำตลาดของมหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกันแมนเพาเวอร์กรุ๊ปได้สำรวจข้อมูลในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.2555 10อันดับแรกสวยงามที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและกลุ่มตัวอย่าง 400 บริษัทที่ใช้บริการแมนเพาเวอร์กรุ๊ป ได้แก่ 1.งานผลิต 25% 2.งานการขาย บริการลูกค้า 15% 3.งานเทคนิค 12% 4.งานธุรการทรัพยากรบุคคล 10% 5.งานไอที 9% 6.งานบริการเฉพาะทาง 8% 7.งานการเงิน การธนาคาร และบัญชี 7% 8.งานวิศวกรรม 5% 9.งานขนส่ง 4% และ 10.งานการตลาดและประชาสัมพันธ์ 3% พบว่า บัณฑิตเรียนจบในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเพียง 50% และมีปัญหาเรื่องคุณภาพเช่น ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะอาชีพ มนุษยสัมพันธ์ และบัณฑิตตกงานเพราะเลือกงานมีคุณภาพและทักษะการทำงานไม่ตรงกับความต้องการ ของภาคอุตสาหกรรม

น.ส.สุธิดา กล่าวต่อไปว่า แมนเพาเวอร์กรุ๊ปจึงจัดโครงการพัฒนาทุนมนุษย์สู่สังคมแหง่อนาคต วันที่ 20 ส.ค.-22 พ.ย.นี้โดยเข้าไปจัดอบรมให้ความรู้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในเรื่องการเขียนประวัติเพื่อสมัครงาน เทคนิคการหางาน การสัมภาษณ์งาน การปรับบุคลิกภาพและเคล็ดลับการประสบความสำเร็จ โดยหลักสูตรการอบรมมีตั้งแต่ใช้เวลา 3 ชั่วโมง-1 วัน และจะมีการบันทึกเทปเผยแพร่เรื่องเหล่านี้ผ่านระบบอีเลิร์นนิ่งไปยังสถาบัน อาชีวศึกษากว่า 400 แห่งและสถานประกอบการต่างๆที่ร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคีกับสอศ

(คมชัดลึก, 8-8-2555)

เปิดสอน 6 ภาษาตปท. ติวเข้มแรงงานไทย ก่อนไปทำงานนอก

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่กรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้ลงนามข้อตกลงในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในหลายประเทศ อาทิ สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และอิสราเอล ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า แม้ประเทศไทยจะได้รับโควตาจัดส่งแรงงานเข้าไปทำงานในประเทศต่างๆ จำนวนมาก แต่แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถผ่านการสอบคัดเลือกด้านภาษาต่างประเทศที่ จำเป็นต้องใช้ในการสื่อสารกับนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงานที่แต่ละประเทศกำหนด ได้ ทำให้ประเทศไทยเสียโควตาส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น กกจ.จึงได้บูรณาการร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในการจัด ฝึกอบรมภาษาต่างประเทศให้ผู้ลงทะเบียนไปทำงานในต่างในประเทศ ทั้งหลักสูตรระยะสั้น 60 ชั่วโมง ไปจนถึงหลักสูตรระยะยาว 200 ชั่วโมง รวม 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย กำแพงเพชร อุดรธานี สกลนคร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ หนองคาย หนองบัวลำภู นครปฐม และกรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 660 คน ทั้งนี้จะใช้สถาบัน/ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ เป็นสถานที่ฝึกอบรม ซึ่งจัดอบรมทั้งหมด 6 ภาษา ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ พม่าและกัมพูชา โดยจัดอบรมภาษาใดจะคำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งการฝึกอบรมจะเริ่มในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2555

กกจ.จึงขอเชิญชวนคนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานในประเทศลงทะเบียนเข้ารับ การฝึกอบรมภาษาต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สถาบัน/ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดหรือที่สายด่วนกรมการจัดหา งาน โทร.1694” อธิบดี กกจ.กล่าว

(แนวหน้า, 8-8-2555)

รมว.แรงงานเตรียมหารือ ก.แรงงานมะกันเพื่อขยายตลาดแรงงาน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการหารือกับนางคริสตี้ แอนน์เคนนีย์ อัครทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในเบื้องต้นได้รับปากว่าจะเชิญให้ตนไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สหรัฐอเมริกา

เนื่องจากมองว่าตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกามีแรงงานไทยไปทำงานอยู่จำนวน มาก ซึ่งกระทรวงแรงงานควรจะเข้าไปขยายตลาดแรงงานเพิ่มเติม พร้อมทั้งดูแลแรงงานไทยที่มีอยู่เดิมให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมองว่าสหรัฐอเมริกายังเป็นศูนย์รวมธุรกิจรายใหญ่ที่ต้องการแรงงานจำนวน มาก ตลอดจนธุรกิจร้านอาหารไทย และธุรกิจสปา ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของกิจการเริ่มมีปัญหาการบริการไม่ได้มาตรฐาน อาหารไทยรสชาติเปลี่ยนไปจากต้นตำรับ เนื่องจากนำแรงงานชาติอื่นมาทำแทนแรงงานไทย จึงเตรียมที่จะนำประเด็นเหล่านี้ไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สหรัฐอเมริกา ในการนำแรงงานไทยไปทำงานเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังเตรียมหารือถึงประเด็นที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ต้องเฝ้า ระวังเป็นพิเศษในเรื่องการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ 3 ปี ติดต่อกัน เพื่อชี้แจงให้รับทราบถึงข้อเท็จจริงของปัญหา

(ฐานเศรษฐกิจ, 8-8-2555)

กรมการจัดหางาน สั่งพักใบอนุญาตบริษัทจัดหางานที่ส่งแรงงานไทยอิสราเอลและเรียกเก็บค่าบริการเกินกฎหมายกำหนด

นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการเอาผิดบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ อิสราเอล ซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสูงเกินกว่ากฎหมาย กำหนด ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากนายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ว่า ได้สั่งพักใบอนุญาตบริษัทจัดหางานไปแล้วจำนวน 20 บริษัท จาก 35 บริษัท และจะมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อไป รวมขณะนี้ได้มีการเอาผิดแล้ว 27 บริษัท อย่างไรก็ตาม ได้มีบริษัทจัดหางาน 3 บริษัท จาก 7 บริษัทแรก ที่ถูกกรมการจัดหางานพักใบอนุญาตและแจ้งความเอาผิดก่อนหน้านี้ ได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยให้เหตุผลว่าทางบริษัทได้ปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่บอก ซึ่งทางบริษัทจัดหางานจะต้องไปหาหลักฐานมายืนยัน และยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อจะได้พิจารณาว่าจะให้บริษัทจัดหางานยื่นอุทธรณ์ต่อได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามขณะนี้สิ่งที่เป็นห่วงคือข้าราชการ เพราะไม่ต้องการให้ข้าราชการเดือดร้อน หรือตกเป็นเครื่องมือของผู้หวังผลประโยชน์จากการเรียกรับเงินค่าหัวคิวของ แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ โดยจะแก้ปัญหาด้วยการจัดอบรมให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ ให้เข้าใจถึงข้อกฎหมายและสามารถนำไปชี้แจงกับบริษัทจัดหางานให้ปฏิบัติตาม ข้อกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนบริษัทจัดหางานที่เหลืออีก 8 แห่ง จาก 35 บริษัทที่ยังไม่ได้สั่งพักใบอนุญาตนั้น ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมการจัดหางาน เร่งหาหลักฐานเอาผิดกับบริษัทเหล่านี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเอาผิดกับบริษัททั้ง 35 แห่ง ได้ทั้งหมดในสัปดาห์หน้านี้

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 8-8-2555)

พบหนี้เสียของสำนักงานประกันสังคมกว่า 4 พันล้านบาท

9 ส.ค. 55 - นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิ ว่า สำนักงานประกันสังคม(สปส.) มีหนี้เสียประมาณ 4,000 ล้านบาท จากการปล่อยกู้และการค้างชำระ การที่ผู้ประกอบการค้างนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน สปส.สะสมมาหลายปี และแปลกใจที่ตนไม่ได้รับรายงานจากผู้บริหารประกันสังคม แต่กลับได้รับข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิคนอื่น ที่ไม่ใช่ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ตาม จะเรียกผู้บริหารที่เกี่ยวข้องมาสอบถามว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะหากปล่อยไว้นานเงินจำนวนดังกล่าวอาจกลายเป็นหนี้สูญ ทำให้กองทุนได้รับความเสียหาย

ด้านนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวว่า สปส.ไม่สามารถปล่อยกู้ได้โดยตรง เข้าใจว่าหนี้เสียดังกล่าวเป็นการค้างชำระของผู้ประกอบการที่ต้องนำส่งเงิน สมทบเข้ากองทุน สปส. ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สปส.ที่จะตั้งคณะกรรมการติดตามทวงหนี้ เพื่อไม่ให้เงินจำนวนนี้เป็นหนี้สูญ

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 9-8-2555)

บังคับใช้กฎเหล็กห้ามดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่รถทุกชนิดรวมในพื้นที่โรงงาน

จากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนกฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ 1.การห้ามขายหรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานซึ่งประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน หลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ 7 สิงหาคม 2555 และ 2.เรื่องการห้ามดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ในทางสาธารณะขณะขับขี่หรือโดยสารอยู่บนรถทุกประเภท โดยจะมีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือบังคับใช้วันที่ 8 สิงหาคม 2555

นายจะเด็จ เชาว์นวิไล ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กล่าวว่า ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่เห็นความสำคัญนำมาสู่การแก้ปัญหาที่มาจากเครื่อง ดื่มแอลกอฮอล์โดยทำกฎหมายให้เป็นจริง เครือข่ายฯเชื่อว่าจะช่วยลดสถิติการเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ ในทุกช่วงโดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ในอีกไม่กี่เดือนนี้เพราะที่ผ่านมามีผู้เสีย ชีวิตสูงเฉลี่ยวันละ 60-66 ราย ส่วนวันธรรมดาจะมีประมาณ 30 ราย รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายแสนบาทต่อปี โดยที่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย และที่สำคัญมักพบว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มต้องมาตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นคนพิการ ช่วยเหลือตัวเอง ไม่ได้ หวังว่ากฎหมายนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงของคนไทยและประสิทธิภาพในการผลิตของผู้ใช้แรงงานนายจ้างได้

"เราผลักดันเรื่องนี้นานกว่า 3 ปี มาสำเร็จในรัฐบาลนี้แต่แม้จะมีกฎหมายนี้ แล้ว การบังคับใช้ก็ต้องจริงจังและเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดจุดอ่อน ซึ่งสามารถพิสูจน์ผลงาน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ทางเครือข่ายยังหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก เพื่อลดปัญหา สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน" นายจะเด็จ ย้ำทิ้งท้าย

ทาง นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)กล่าวว่า ต้องขอบคุณและสนับสนุนการทำหน้าที่ของรัฐบาลชุดนี้เพราะกฎหมาย ดังกล่าว ถือเป็นช่องทางในการเข้าถึงและจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยเป็นเกราะปกป้องคนที่ไม่ได้ดื่ม โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้สร้างความสูญเสียเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ ซึ่งกฎหมายนี้ จะเป็นสิ่งจำเป็นสามารถนำมาตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาได้เป็นรูปธรรมแต่ถ้าจะให้ ได้ผลยิ่งขึ้นต้องมีมาตรการเสริมเรื่องการจำกัดการซื้อ การออกใบอนุญาตขายร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายนี้ออกมาแล้ว สิ่งที่ต้องรีบทำคือการสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ให้ กว้างขวางที่สุดเพื่อรับมือกับช่วงปีใหม่ที่จะมาถึง

(แนวหน้า, 9-8-2555)

สมัครประกันสังคม ม.40 กว่า 9 แสนคน

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วย รัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็น ประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบาย ในโครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะแกนนำ เครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ประกันสังคมที่ทำหน้าที่ขยายการขึ้น ทะเบียนประกันสังคม มาตรา 40 ณ ห้องเชียงใหม่ อาคารศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน โดยเริ่มตั้งแต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน การให้ประชาชนทั่วไป ข้าราชการ และผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุเข้ารักษาพยาบาลที่โรง พยาบาลใดก็ได้

ในส่วนแรงงานนอกระบบ รัฐบาล ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เร่งดำเนินการให้ขยายความคุ้มครองประกันสังคมตามมาตรา 40 ทั้ง ในอาชีพเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย และอาชีพอื่นๆ ซึ่งจะ ได้รับเงินทดแทนในสิทธิประโยชน์ตาม ที่กำหนดไว้ โดยตั้งเป้าหมายในเดือน กันยายน 2555 นี้จะให้มีแรงงานนอกระบบสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 รวม 1.20 ล้านคน โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554-30 กรกฎาคม 2555 มีจำนวน ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 947,212 คน หรือร้อยละ 78.93 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้

(แนวหน้า, 9-8-2555)

คาด 10 ปีผู้สูงอายุพุ่ง-หวั่นขาดแคลนแรงงาน

นายนคร ศิลปอาชา รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัมมนาไตรภาคีเรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายการ บริหารจัดการด้านแรงงานเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น กระทรวงแรงงานและหน่วยงานรัฐและเอกชนควรร่วมกันวางแผนเตรียมการรองรับสังคม ผู้สูงอายุทั้งในเรื่องการระบบรักษาพยาบาล สวัสดิการสังคม การออมเงินและการจ้างงานโดยเฉพาะการจ้างงานในต่างประเทศ เช่น อเมริกา ออสเตรเลียมีกฎหมายไม่ให้จำกัดอายุการจ้างงานเพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำและ มีรายได้เพื่อพึ่งพาตนเองได้

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(กคช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2567 ประเทศไทยจะมีประชากรเพิ่มเป็นกว่า 70 ล้านคนโดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุ 65 ปีคิดเป็น 15% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% ของประชากรทั้งหมด และอัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 12% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% และประชากร 1 คนต้องดูแลผู้สูงอายุ 2 คน ทั้งนี้ เมื่อคนไทยเกิดน้อยลงและผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นย่อมมีผลกระทบต่อด้าน เศรษฐกิจ แรงงานและสังคม ซึ่งด้านแรงงานจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก

นางสุวรรณี กล่าวอีกว่า ตนอยากให้กระทรวงแรงงานและทุกหน่วยงานเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุและสตรี และสร้างความมั่นคงในการทำงานและรายได้โดยการขยายอายุเกษียณของข้าราชการและ พนักงานบริษัท สถานประกอบการต่างๆ โดยให้ทำงานที่เหมาะสมกับสุขภาพ ขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทักษะภาษาและไอทีให้แก่ผู้สูงอายุ และควรมีระบบสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ เช่น บ้านพักผู้สูงอายุในหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกระดับควรดำเนินในเรื่องนี้โดยไม่ต้องรอนโยบายจากรัฐบาล นอกจากนี้ จะต้องแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเร่งยกระดับการศึกษาและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้แก่ แรงงานรุ่นใหม่

ที่น่าห่วง คือ สคช.ได้วิเคราะห์ผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุในด้านเศรษฐกิจพบว่า เด็กรุ่นใหม่ใช้เงินในการบริโภคมาก แต่มีเงินออมน้อย ต่างจากอดีตที่คนรุ่นเก่าใช้เงินบริโภคน้อย แต่มีเงินออมมาก ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างกระแสการออมให้มากขึ้น เพราะเหลือเวลาแค่ 10 ปี เท่านั้น ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวนางสุวรรณี กล่าว

(แนวหน้า, 10-8-2555)

อัญมณีวอนรัฐเลื่อนขึ้นค่าแรง

นางประพีร์ สรไกรกิติกูล ประธานคณะกรรมการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ธุรกิจกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับไทย จะได้ประโยชน์มากขึ้น และเป็นโอกาสดีต่อภาพอุตสาหกรรมไทย แต่ยังติดปัญหาในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐจะปรับเพิ่มเป็น 300 บาท ทั่วประเทศในปีหน้า จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนและธุรกิจเอสเอ็มอี อาจต้องปิดตัวลงจำนวนมากกว่าครึ่ง เพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อยากให้รัฐบาลเลื่อนการปรับขึ้นแรงงาน 300 บาท ออกไปก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าวิกฤตหนี้ยุโรปได้รับการแก้ไขแล้ว

(มติชน, 10-8-2555)

ปรับยุทธศาสตร์ส่งคนไทยทำงานนอก ดันไทยเป็นฮับผลิตแรงงาน ภาคบริการและการท่องเที่ยว

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนมีนโยบายที่จะปรับยุทธศาสตร์การส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศในภาค ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ โดยมองไปที่กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่มีสาขาทั่วโลก เช่น แมคโดแนล กลุ่มโรงแรมระดับ 5 ดาว ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ และมีตำแหน่งรองรับจำนวนมาก ซึ่งมองว่าเป็นกลุ่มอาชีพที่คนไทยมีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ แผนพัฒนากำลังคนของกระทรวงแรงงานที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลขแรงงาน 10 ล้านคน ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพัฒนายกระดับทักษะฝีมือ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 โดยจะประสานหาตำแหน่งงานโดยตรงกับภาคธุรกิจการโรงแรมที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ก่อนจะประสานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ผลิตบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม เร่งยกระดับทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทักษะภาษาต่างประเทศและเทคโนโลยีหรือไอที ที่เป็นจุดอ่อนของแรงงานไทย ให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

เราต้องเพิ่มทักษะฝีมือให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการให้มากที่ สุด โดยจะต้องทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเราจะทำให้ประเทศไทยเป็นฮับในการผลิตคนภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เพราะเรามีจุดแข็งในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งคนไทยมีความยืดหยุ่น มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สะท้อนออกมาแบบนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาคนของเราให้ตรงจุดและมีเป้าหมายชัดเจน เราต้องสร้างแบรนด์ของเราเองให้ได้นายเผดิมชัย กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า การปรับยุทธศาสตร์การส่งออกแรงงานไทยในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ ขณะเดียวกันยังจะช่วยลดปัญหาการถูกหลอกลวง โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สวัสดิการที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานโดยระบบนี้ จะเป็นเครือข่ายที่ดีในการให้ข้อมูลว่ากลุ่มธุรกิจโรงแรมใดมีระบบการบริหาร จัดการด้านบุคลากรที่ดี และจะส่งผลให้กระทรวงแรงงานมีเครือข่ายตลาดแรงงานที่ดีมีคุณภาพ หรือธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องการใช้บริการแรงงานไทยก็จะมีการพูดถึงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างแบรนด์ของแรงงานไทยในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ เมื่อมีความต้องการในการจ้างแรงงานในธุรกิจด้านนี้ แรงงานไทยคือเป้าหมายแรกที่นักลงทุนต้องการ

(แนวหน้า, 10-8-2555)

"อิสราเอล-ไต้หวัน" ประเทศสุดฮิตแรงงานไทยในต่างแดน

นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในปีที่ผ่านมาว่า มีจำนวนกว่า 5 แสนคน แต่ส่วนใหญ่จะอาศัยเดินทางไปกลับเป็นประจำ ส่วนประเทศที่แรงงานไทยไปทำงานอยู่มากที่สุดคือไต้หวัน โดยมีแรงงานไทยทำงานอยู่ประมาณ 1 แสนคน รองลงมา ประเทศเกาหลี ซึ่งล่าสุดประเทศที่ได้รับความนิยมคือประเทศอิสราเอล เนื่องจากเดิมต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางประมาณ 3 - 4 แสนบาท แต่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หัวละ 7 หมื่นบาท ทำให้ประชาชนต้องการไปประเทศอิสราเอล ขณะเดียวกัน ยังมีรายได้ดีอีกด้วย

(มติชน, 11-3-2555)

พบแรงงานอีสานถูกหลอกไปนอก-นายหน้าเดินสายลงพื้นที่

นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุถึงสถานการณ์การหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ขณะนี้พบว่า จ.นครราชสีมามีแรงงานที่ถูกหลอกให้ไปทำงานในต่างประเทศแล้วทั้งหมด 9 ราย ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายอยู่ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลระบุว่า มีนายหน้าหาแรงงานไปทำงานต่างประเทศแบบผิดกฎหมายจำนวนมาก และกำลังเดินสายไปยังหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเรียกเงินและชักชวนให้ไปทำงานในต่างประเทศ จึงได้สั่งการไปยังจัดหางานทุกจังหวัดให้มีการประสานงานกับผู้ว่าราชการ จังหวัด เพื่อดำเนินการกับนายหน้าเถื่อนดังกล่าว

(มติชน, 11-3-2555)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net