Skip to main content
sharethis
เครือข่ายผู้หญิง ร่วมองค์กรภาคประชาชน เข้าชื่อ 15,636 รายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... ฉบับภาคประชาชน ยื่นประธานสภาวันนี้ รองประธานสภาฯ รับเรื่อง คาดเข้าสู่การพิจารณาสมัยประชุมหน้า
 
วันนี้ (31 ต.ค.55) ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายผู้หญิง ร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอื่นๆ กว่า 100 คน เข้ายื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... ฉบับภาคประชาชน พร้อมเอกสารเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 15,636 รายชื่อ ต่อประธานรัฐสภา
 
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... ฉบับภาคประชาชน ดังกล่าว มีการระดมความเห็นจากกลุ่มผู้หญิงภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งศึกษาแนวทางกฎหมายความเสมอภาคระหว่างเพศในต่างประเทศ ได้แก่ กฎหมายจากประเทศเวียดนาม สเปน และฟิลิปปินส์ และปรับแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน มีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในทุกรูปแบบ โดยครอบคลุมการกีดกันทางเพศ ทั้งการกระทำทางตรงหรือทางอ้อม และส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างแท้จริง ตลอดจนคุ้มครองและป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
 
 
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้รับเรื่องกล่าวกับกลุ่มภาคประชาชนที่มายื่นเสนอกฎหมายว่า ขณะนี้มีร่างกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคระหว่างเพศซึ่งอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา 2 ฉบับ (1.ร่างกฎหมายของรัฐบาลที่เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว 2.ร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร) ส่วนร่างกฎหมายฉบับของประชาชนนี้จะถูกนำเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบรายชื่อซึ่งอาจต้องใช้เวลาและอาจเข้าสู่การพิจารณาไม่ทันปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 28 พ.ย.นี้
 
อย่างไรก็ตาม คาดว่าน่าจะเข้าสู่การพิจารณาทันสมัยประชุมหน้าที่จะมีการเปิดสภาเพื่อพิจารณากฎหมายในวันที่ 21 ธ.ค.55 นอกจากนี้ร่างกฏหมายดังกล่าวยังจะต้องนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีด้วย เนื่องจากเป็นร่างกฏหมายที่เกี่ยวกับการเงินเพราะมีการจัดตั้งกองทุน เมื่อนายกรัฐมนตรีลงนามรับรองแล้วกฎหมายจึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
 
 
ด้านนางอุบล ร่มโพธิ์ทอง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ หนึ่งในผู้เข้ายื่นเสนอกฎหมาย กล่าวว่า ช่วงระหว่างการรอคำตอบจากรัฐสภาทางกลุ่มก็จะจัดการให้การศึกษาภายใน เนื่องจากร่างกฏหมายภาคประชาชนที่ยื่นไปอาจมีการเปลี่ยนแปลงในชั้นต่างๆ ของการพิจารณากฎหมาย และอาจต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการเดินหน้าการเคลื่อนไหวต่อไป นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการทำงานของรัฐสภาด้วย
 
“กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฏหมายเกี่ยวกับผู้หญิงฉบับแรกของประเทศ ถือเป็นความหวังของผู้หญิงทุกคนในเรื่องการเลือกปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิ์” ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบให้ความเห็น
 
ส่วนความแตกต่างของร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนกับฉบับที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา นางอุบลกล่าวว่า ร่างกฎหมายของภาคประชาชนจะคุ้มครองกลุ่มคนที่มีเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด คือเป็นการคุ้มครองคนทุกเพศ และคณะกรรมการมีความเป็นอิสระ โดยมีองค์ประกอบของภาคประชาชนเท่าๆ กับตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐ อีกทั้งมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศที่มีการกำหนดบทลงโทษเอาไว้ด้วย และมีกองทุนส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ที่สนับสนุนงบประมาณโดยรัฐ
 
 
“กฎหมายที่คุ้มครองตัวเรา เราก็ต้องเป็นผู้ร่วมกำหนด” นางธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีกล่าว
 
นางธนพร แสดงความเห็นว่า การร่างกฎหมายที่ผ่านมากลายเป็นปัญหาเนื่องจากเจ้าของปัญหาตัวจริงไม่ได้ร่วมคิดร่วมแก้ด้วย จึงกลายเป็นการเอาปัญหามาสุมขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนกฎหมายฉบับนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิของแรงงานที่เชื่อมโยงกับกฎหมายประกันสังคมและความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำตามที่รัฐบาลเคยบอกไว้ด้วย
 
 
 
 
สรุปสาระสำคัญ ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนเปรียบเทียบกับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับรัฐบาล ที่ยกร่างโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 
ที่มา:โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
http://ilaw.or.th/node/1661
 
1.   ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน ใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมโอกาสและเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ...” ซึ่งเป็นการขยายความหมายของ “ความเท่าเทียม” ให้บังคับใช้ได้ ต่างจากชื่อของร่างกฎหมายหน้าตาคล้ายกันของรัฐบาล ที่ใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ...” 
 
2. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชนห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อม และให้นิยามคำว่า “การเลือกปฏิบัติ” โดยไม่มีข้อยกเว้น ต่างจากร่างฉบับของรัฐบาล ที่ระบุให้สามารถเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศได้ ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ  (มาตรา ๓)
 
3. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน เพิ่มบทบัญญัติห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยรวมถึงห้ามกระทำ ความรุนแรงอันเกิดจากความแตกต่างทางเพศภาวะ รวมถึง ความรุนแรงทางเพศ การคุกคามทางเพศ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้ระบุประเด็นนี้ (มาตรา ๙)
 
4. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน เพิ่มหมวดการคุ้มครองและการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ กำหนดมาตรการส่งเสริมในด้านต่างๆ และกำหนดให้คำนึงถึงกลุ่มผู้ที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษเป็นลำดับแรกเสมอ ได้แก่ หญิงที่อยู่ในภาวะยากลำบาก รวมถึง ผู้ที่ได้รับความรุนแรงเนื่องจากเพศหรือ เพศภาวะและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม เด็กผู้หญิง หญิงพิการ หญิงทุพพลภาพ หญิงวิกลจริต หญิงสูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ต้องเลี้ยงดูบุตรโดยลำพัง หญิงที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือมีการแสดงออกหรือมีเพศภาวะซึ่งแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ในขณะที่ร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้ระบุ (หมาดที่ ๒)
 
5. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการระดับชาติ  โดยเพิ่มคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ในสัดส่วนที่สมดุลกับคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย คณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ ๕ คน ผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ๕ คน และผู้แทนจากองค์กรหรือกลุ่มที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษ จำนวน ๕ คน ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและจากองค์กรเอกชน รวม ๖ คน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้แต่งตั้ง (มาตรา๒๐)
 
6. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน กำหนดที่มาของคณะกรรมการในกลไกรับร้องเรียน คือ คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ  (คณะกรรมการ ว.ล.พ.) มาจากกระบวนการสรรหา  โดยให้ “องค์กรเอกชน” และภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมเสนอชื่อเพื่อให้วุฒิสภาคัดเลือก รวมทั้ง กำหนดสัดส่วนหญิง-ชาย ในคณะกรรมการฯ  ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้แต่งตั้ง  (มาตรา ๒๘)
 
7.  ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนกำหนดให้มี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ เป็นสำนักงานเลขาธิการในการกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ใช้สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (มาตรา๓๒)
 
8. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชนกำหนดสัดส่วนผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่สมดุล ในคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยรวมถึงผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ผู้แทนจากกลุ่มที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้ระบุที่มาชัดเจน (มาตรา ๕๔)
 
9. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนกำหนดให้ผู้เสียหายมี สิทธิขอรับการช่วยเหลือคุ้มครอง การบรรเทาทุกข์ หรือชดเชย ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ใช้คำว่า สิทธิขอรับการสงเคราะห์ (มาตรา ๔๖)
 
10.  ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนกำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และระบุสัดส่วนงบประมาณที่รัฐต้องจัดสรร ทั้งเพื่อการชดเชยบรรเทาทุกข์ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณจากรัฐ (มาตรา ๕๒)
 
 
 
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net