Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล ออกแถลงการณ์จี้รัฐฯ เร่งแก้ปัญหาผลกระทบ เผยเตรียมชุมนุมบริเวณสันเขื่อนเพื่อขอเจรจากับตัวแทนที่มีอำนาจตัดสินใจ ตั้งแต่ 7 ก.พ.นี้ ไปจนกว่าจะหาข้อยุติได้

 
วันนี้ (25 ม.ค.56) เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 “รัฐต้องแก้ปัญหาผลกระทบโครงการเขื่อนราษีไศล ให้แล้วเสร็จ..!!” ระบุจะร่วมกันออกมาแสดงตัวตนของผู้ได้รับผลกระทบด้วยการ “ชุมนุมอย่างสงบ สันติ” เพื่อขอเจรจากับตัวแทนรัฐบาลที่มีอำนาจการตัดสินใจแก้ปัญหากรณีดังกล่าว ณ บริเวณสันเขื่อนราษีไศล ใน 7 ก.พ.2556 เป็นต้นไป พร้อมตั้งความหวังรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา
 
นายพุฒ บุญเต็ม ผู้ประสานงานสมัชชาคนจนเขื่อนราศีไศลกล่าวว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล 9 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล (สคจ.) 2.สมัชชาชาวนา 2,000 3.สมาพันเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) 4.สมัชชาลุ่มน้ำมูล 5.สมาพันเกษตรกรอีสาน (สพอ.) 6.สมัชชาเกษตรกรอีสาน (สกอ.) 7.สมัชชาเกษตรกรฝายราษีไศล 8.กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน 9.กลุ่มอิสระ ตัดสินใจที่จะชุมนุมโดยสันติที่เขื่อนราษีไศลในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เป็นต้นไป จนกว่าจะหาข้อยุติเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาได้
 
นายพุฒ ระบุด้วยว่า การชุมนุมดังกล่าวเพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่มีความคืบหน้า อาทิ กรณีแปลงที่ดินที่ทางราชการอ้างว่าทัพซ้อนแปลงกระโดด กรณีที่นาที่อยู่เหนือระดับน้ำ +119 ม.รทก. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนราษีไศลแต่ยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนจำนวน 17,000 แปลง กรณียังมีผู้ตกหล่นที่ยังไม่ได้ตรวจสอบทรัพย์สินในปี 2546 จำนวน 4,981 แปลงตามคำร้องที่ราษฎรยื่นไว้ ส่วนสาเหตุที่เลือกชุมนุมที่สันเขื่อนเพราะไม่ต้องการสร้างความหนักใจให้กับสาธารณะชนในกรุงเทพฯ
 
แถลงการณ์ให้ข้อมูลด้วยว่า ผลจากการชุมนุมเรียกร้องของชาวบ้านในนามสมัชชาคนจนและกลุ่มเครือข่าย ฯลฯ ตั้งแต่ปี 2535 ผ่านมาหลายรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา 2 ระดับ คือ 1.คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 2.การดำเนินการตามผลศึกษาผลกระทบด้านสังคม โดยสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว ต่อมาจึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ซึ่งในปัจจุบันยังสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 และ 28 พ.ย.2555 ที่ประชุมอนุกรรมการจังหวัดสุรินทร์และร้อยเอ็ด มีข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหามอบหมายให้กรมชลประทานโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำมูลล่างดำเนินการกักเก็บน้ำเพื่อตรวจสอบพื้นที่ แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อตกลงร่วมกัน เนื่องจากปัญหาทั้งด้านเทคนิคและข้อมูลด้านวิชาการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถดำเนินการได้จริง เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 9 กลุ่ม จึงได้หารือกันและตัดสินใจร่วมกันชุมนุมในวันดังกล่าว
 
 
 
แถลงการณ์ฉบับที่ ๑
เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล
รัฐต้องแก้ปัญหาผลกระทบโครงการเขื่อนราษีไศล ให้แล้วเสร็จ..!!
 
ตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปี ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมรอบริม ๒ ฝั่งแม่น้ำมูนตอนกลาง ทั้ง ๓ จังหวัด คือ ศรีสะเกษ สุรินทร์และร้อยเอ็ด จำนวน ๑๔๑ หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบเขื่อนราษีไศล โดยไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจก่อนดำเนินโครงการ การถูกรัฐละเมิดสิทธิ์ บรรดากลุ่มทุนธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างเขื่อนเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์แล้วจากไป ปล่อยทิ้งปัญหาเอาไว้ให้ชาวบ้านแก้ไขเอง การสูญเสียที่ดินทำกิน/ทรัพย์สิน สูญอาชีพ/โอกาสในการประกอบอาชีพ และที่สำคัญได้เกิดสูญเสีย “ป่าทาม” ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในลุ่มน้ำมูน มีความหลากหลายทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ ปัญหาของพวกเราปรากฏชัดเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีผลการศึกษาวิจัยผลกระทบด้านสังคมของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวชีวัดล้มเหลวของโครงการ
 
เครือข่ายองค์กรชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล จำนวน ๙ กลุ่ม ได้มีความเห็นร่วมกันในการรวมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในแนวทางเดียวกันในระยะยาว ประกอบด้วย ๑)สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล(สคจ) ๒)สมัชชาชาวนา ๒,๐๐๐ ๓)สมาพันเกษตรกรแห่งประเทศไทย(สกท) ๔)สมัชชาลุ่มน้ำมูล ๕)สมาพันเกษตรกรอีสาน (สพอ) ๖)สมัชชาเกษตรกรอีสาน(สกอ) ๗)สมัชชาเกษตรกรฝายราษีไศล ๘)กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ๙)กลุ่มอิสระ ผลจากการชุมนุมเรียกร้องของชาวบ้านในนามสมัชชาคนจนและกลุ่มเครือข่ายฯลฯ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ผ่านมาหลายรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา ๒ ระดับ คือ ๑)คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ๒)การดำเนินการตามผลศึกษาผลกระทบด้านสังคม(สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ) ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว ต่อมาจึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ในประเด็นนี้ปัจจุบันยังสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน
 
ประเด็นปัญหาอุปสรรคในปัจจุบันที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ในขณะนี้ คือ (๑)แปลงที่ดินของราษฎรที่ถูกทางราชการอ้างว่าทับซ้อนแปลงกระโดด (๒)กรณีที่ดินทำกินที่อยู่เหนือระดับการกักเก็บน้ำ + ๑๑๙ ม.รทก. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนราษีไศลแต่ยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนจำนวน ๑๗,๐๐๐ แปลง (๓)กรณีน้ำท่วมขังที่ดินทำกิน (ที่นา) ด้านหลังผนังกั้นน้ำ (ไดร์) กว่า ๕,๐๐๐ ครอบครัว
 
วันที่ ๒๖ และ ๒๘ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ ที่ประชุมอนุกรรมการจังหวัดสุรินทร์และร้อยเอ็ด มีข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหามอบหมายให้กรมชลประทานโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำมูลล่างดำเนินการกักเก็บน้ำเพื่อตรวจสอบพื้นที่ แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อตกลงร่วมกัน เนื่องจากปัญหาทั้งด้านเทคนิคและข้อมูลด้านวิชาการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถดำเนินการได้จริง เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบทั้ง ๙ กลุ่ม ได้หารือกันและตัดสินใจร่วมกันในการออกมาแสดงตัวตนของผู้ได้รับผลกระทบด้วยการ “ชุมนุมอย่างสงบ สันติ” เพื่อขอเจรจากับตัวแทนรัฐบาลที่มีอำนาจการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว ณ บริเวณสันเขื่อนราษีไศล ในวันที่ ๗ กุมภาพันธุ์ ๒๕๕๖ เป็นต้นไป จนกว่าจะหาข้อยุติเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัต (นายกรัฐมนตรี) จะให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
๒๕ มกราคม ๒๕๕๖
เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net