'โสภณ พรโชคชัย' ว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา-โชว์ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โชว์ว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาระบุมีการระบายน้ำเสียลงแม่น้ำ ประชาชนริมฝั่งไม่สามารถใช้น้ำได้ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขคุณภาพน้ำเจ้าพระยา ด้าน 'สุหฤท สยามวาลา' ปล่อยแอพพลิเคชั่น สำหรับใช้ชีวิตใน กทม. ส่วน 'จ่าพิชิตฯ' ติงแคมเปญไวรัล "สุหฤทได้แน่" นอกจากจะไม่ได้ผล-อาจทำให้สุหฤทเป็นตัวตลก

'โสภณ พรโชคชัย' ว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา-แถลงเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อม

โสภณ พรโชคชัย ว่ายน้ำข่ามแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านสะพานพระราม 8 ก่อนจะขึ้นเรือมาแถลงนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมสำหรับแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา (ที่มา: เฟซบุคโสภณ พรโชคชัย)

บรรยากาศหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) นั้น เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. นายโสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 ได้ไปหาเสียงที่เชิงสะพานพระราม 8 และได้จัดกิจกรรม Urban Swim ด้วยการลงไปว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุในคำแถลงว่าเพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกรักษาความสะอาดแม่น้ำลำคลอง

โดยนายโสภณ ได้โพสต์สเตตัสเผยแพร่แถลงการณ์ฉบับที่ 36 "แม่น้ำเจ้าพระยากับการรักษาสิ่งแวดล้อม" ระบุว่า "ผมไปเดินหาเสียงในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำลดลง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบายน้ำเสียจากคูคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำ จะไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคได้ ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นอีกด้วย ที่ผ่านมามีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันทำกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการรักษาคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่คุณภาพน้ำก็ยังลดลง

ในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 จึงมุ่งหวังที่จะช่วยกระตุ้นสำนึกในการรักษาและฟื้นฟูคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปัญหาจากน้ำทิ้งของชุมชน น้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม และน้ำทิ้งจากเกษตรกรรม เช่น การเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงหมู เป็นต้น ทั้งนี้ถือเป็นการทวงคืนทวงคืนและรักษาแม่น้ำให้แก่ประชาชน เพราะปัจจุบันนี้แม่น้ำเจ้าพระยากลายสภาพคล้ายที่ระบายน้ำเสีย หรือถูกใช้เพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์เท่านั้น

สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาควรดำเนินการดังนี้ 

1. กรณีน้ำทิ้งจากชุมชน การขยายจำนวนระบบบำบัดน้ำเสียรวม และเพิ่มประสิทธิภาพระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเข้มงวดให้บ้านเรือนติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียให้มีการจัดการน้ำเสียโดยเฉพาะบ้านเรือนและอาคารที่อยู่ริมน้ำด้วยการติดตั้งถังดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับบ้านเรือนและอาคาร  และให้มีการกำหนดค่าบริการบำบัดน้ำเสียรวมไว้กับค่าน้ำประปาตามปริมาณที่ใช้ไป

2. กรณีน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม ปราบปรามให้เด็ดขาดและต่อเนื่องในกรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมระบายน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำ ส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด รวมทั้งการจับเก็บภาษีมลพิษทางน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ

3. กรณีน้ำทิ้งจากเกษตรกรรม เข้มงวดต่อการปล่อยน้ำทิ้งและให้มีระบบบำบัดที่มีประสิทธิภาพสำหรับกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นต้น

ผมยังขอเสนอให้สร้างถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างละ 2 ช่องทางจราจร รวม 4 ช่องทางจราจร พร้อมลู่วิ่งและช่องทางจักรยานกว้างประมาณ 24 เมตร  โดยให้มีสภาพเป็นเขื่อนกั้นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทะลักท่วมกรุงเทพมหานคร และยังเป็นเขื่อนปิดที่ป้องกันการแอบระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย  ทั้งนี้ในบางช่วงที่มีพื้นที่จำกัด ยังอาจสร้างเป็นทางยกระดับ 2 ชั้น ไป-กลับเพื่อประหยัดพื้นที่

ในการก่อสร้างอาจทำให้กระทบกับประชาชนริมแม่น้ำให้น้อยที่สุด เช่น การก่อสร้างถนนและเขื่อนดังกล่าวล้ำลงในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากทำประชาพิจารณ์แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครไม่เห็นด้วย ก็อาจต้องเวนคืนบ้านเรือนริมสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในนครต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างริมแม่น้ำสายหลัก  

ทั้งนี้การเวนคืนต้องดำเนินการเวนคืนแนวใหม่ คือ การจ่ายค่าทดแทนสูงและเร็ว ไม่ใช่ ต่ำ-ช้า หรือการจ่ายต่ำ ๆ กว่าราคาตลาดและจ่ายช้า ๆ เช่นที่เคยเป็นในอดีต สำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับเงินและย้ายออก กทม. อาจจัดหาที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง โดยก่อสร้างเป็นอาคารชุดที่มีความสูงไม่มากนัก เพื่อผู้อยู่อาศัยไม่ต้องปรับตัวมากนัก และเมื่อก่อสร้างเสร็จจึงค่อยรื้อถอนอาคารออกไป ยิ่งกว่านั้นยังอาจจัดซื้อห้องชุดของภาคเอกชนในการทดแทนที่อยู่อาศัยเดิม เป็นต้น 

และเพื่อเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กทม. พึงจัดกิจกรรม Urban Swim (http://urbanswim.org) หรือ Open Water Swimming (http://en.wikipedia.org/wiki/Open_water_swimming) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงน้ำธรรมชาติอย่างปลอดภัย กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง  เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีที่เคารพในแม่น้ำลำคลองด้วยการลงไปสัมผัสถึงปัญหาและร่วมใจกันแก้ไข

Urban Swim นี้ ยังถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของคนในกรุงเทพมหานคร เพราะปัจจุบันนี้แม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองหลัก ๆ ของกรุงเทพมหานคร มีไว้เพื่อการระบายน้ำ และการขนส่งสินค้าทางน้ำในเชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ  ประชาชนที่อยู่ริมน้ำ และลงว่ายน้ำกลับถูกมองว่าเป็นประชาชนที่ “ไม่มีระดับ” ไม่สามารถซื้อหาบริหารว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสมัยใหม่ได้" แถลงการณ์ของโสภณ ระบุ

แถลงการณ์ยังระบุต่อไปว่า "ในนครนิวยอร์ก หรือมหานครอื่น ๆ มีการจัดกิจกรรม Urban Swim หรือ Open Water Swimming กันอย่างกว้างขวาง แต่มหานครเหล่านี้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถว่ายน้ำได้ตลอดปี เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นต่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือประเทศไทยโดยรวมที่สามารถว่ายน้ำได้ตลอดปี กิจกรรมว่ายน้ำหมู่เช่นนี้จึงควรได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่ควรรณรงค์ให้เกิดขึ้นก็คือ การรณรงค์อาสาสมัครรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา เช่นที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำฮัดสัน นครนิวยอร์ก โดยมีจุดตรวจที่ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ 18 จุด ในกรณีกรุงเทพมหานคร อาจสามารถตรวจและรายงานได้นับร้อยจุดตลอดวัน และหากจุดใดมีการปล่อยน้ำเสีย ก็สามารถแจ้งกับทางราชการและสื่อมวลชนมาตรวจจับได้ทันที

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น กิจกรรมพายเรือในวันหยุดในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือไปตามลำคลองต่าง ๆ เพื่อรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม อาจจะได้ดมกลิ่นน้ำเน่าบ้าง เราจะได้เรียนรู้ ไม่ใช่มาร่วมงานแบบประเดี๋ยวประด๋าว เพราะประชาชนสองฝั่งคลองดมอยู่ตลอดวัน ตลอดปี ตลอดชาติอยู่แล้ว นอกจากนี้สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ยังอาจมาร่วมบริจาคเงินเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือประชาชนที่ขาดน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ห่างไกล เช่น ชาวเขา หรือในพื้นที่กันดารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือไปช่วยเหลือหมู่บ้านกันดารในประเทศอินโดจีนหรือเมียนมาร์ เพื่อการสร้างสมานฉันท์อันดีระหว่างประเทศ

มาร่วมกันทวงคืนแม่น้ำเจ้าพระยา และแสดงความเคารพอย่างแท้จริงต่อแม่น้ำของเรา"

 

สุหฤทปล่อยแอพฯ สำหรับใช้ชีวิตใน กทม. "จ่า Drama Addict" ติงแคมเปญไวรัล "สุหฤทได้แน่"

แอพฯ สำหรับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ โดยสุหฤท สยามวาลา (ที่มา: DJ Suharit Siamwalla)

ขณะเดียวกัน สุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครหมายเลข 17 เมื่อวานนี้ ได้โพสต์นโยบาย "แอพฯสำหรับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ" โดยโพสต์ว่า "คงจะดีไม่น้อยถ้าได้ความรู้สึกใหม่ในการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาให้ข้อมูลและวางแผนชีวิตชีวิตได้ คงจะดีไม่น้อยถ้าไปติดต่อหน่วยงานในกรุงเทพฯแล้วสามารถใช้มือถือบอกได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง นัดคิวติดต่องาน เรามี smartphone ในกรุงเทพฯ ร่วมสองล้านเครื่องและในอีกสี่ปีคงเพิ่มอีกเท่าตัว มาเปลี่ยนชีวิตในกรุงเทพฯกันครับ"

นอกจากนี้สุหฤทยังได้โพสต์ม็อตโต้ "สุหฤทได้แน่" โดยหวังให้เป็นไวรัลแคมเปญ ให้มีการแชร์และบอกต่อกันไปมากๆ ทั้งนี้หลังการโพสต์ได้มีคนกดไลค์ และแชร์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม "จ่าพิชิต ขจัดพาลชน" แอดมินเพจ Drama Addict ซึ่งเคยประกาศเป็นผู้สนับสนุนสุหฤท ได้โพสต์สเตตัส เตือนว่า "ขอเตือนกลุ่มคนที่คิดจะใช้แคมเปญไวรัล "สุหฤทได้แน่เลยว่ะ" หาเสียงให้สุหฤทสยามวาลาการที่ประโยคๆนึงจะกลายเป็นไวรัลได้นั้น มันไม่ใช่ว่าคนจำนวนนึงพูดถึงคำนั้นแล้วจะกลายเป็นไวรัลขึ้นมา มันต้องมีเนื้อเรื่องที่กระแทกใจคนอยู่เบื้องหลัง มีประโยคที่โดนใจโดยธรรมชาติ เป็นเรื่องราวที่ตลกขำขัน น่าเสียดสี น่าบอกต่อด้วยตัวเอง การที่คนกลุ่มนึงคิดแคมเปญนี้ขึ้นมาเพื่อให้สุหฤทสยามวาลาข้ามฟากจากโซเชี่ยลเน็ทเวิร์คไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงนั้น นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังจะทำให้สุหฤทสยามวาลากลายเป็นตัวตลกไปในทันที กลับไปคิดแคมเปญมาใหม่เหอะ ไปปรึกษามาร์เก็ตติ้งหรือคนที่รู้จริงเรื่องไวรัล อย่าไปฟังคำพูดของพวกมือสมัครเล่น มีแต่จะพากันไปตายหมู่เปล่าๆ"

 

"นิด้าโพล" ระบุความนิยมคุณชายตีตื้นพงศพัศ

นอกจากนี้ เดลินิวส์ ได้รายงานผลการสำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง “คนกรุงฯ  กับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. โค้งที่ 5” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 18-19 ก.พ. จาก 1,485 หน่วยตัวอย่าง กับคำถามว่า “หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่า กทม.”  โดยพบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 26.80 ระบุว่าจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ว่าฯ กทม. รองลงมา ร้อยละ 25.86 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 4.58 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวศ ร้อยละ 1.62 จะเลือก นายสุหฤท  สยามวาลา ร้อยละ 0.67 จะเลือก นายโฆษิต สุวินิจจิต ร้อยละ 0.34 จะเลือกผู้สมัครอิสระ อื่นๆ เช่น นายณัฐดนัย  ภูเบศร์อรรถวิช นายสมิตร สมิทธินันท์ ร้อยละ 36.84 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 3.30 ระบุว่าไม่ลงคะแนนเสียง

โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้สัมภาษณ์เดลินิวส์ว่า คะแนนของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร เริ่มไล่กระชั้นคะแนนของ พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ จากเดิมห่างกันประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคะแนนของผู้สมัครรายอื่นไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่จำนวนผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเริ่มมีจำนวนลดลง โดยผู้ที่เลือก ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนผู้ที่เลือก พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท