Skip to main content
sharethis

เว็บไซด์ Ambranews ระบุวางปืนใหญ่จำลองที่มัสยิดกรือเซะไม่เคารพศาสนสถาน ไม่ได้ถามคนในพื้นที่ว่าต้องการของจำลองหรือไม่ พร้อมยกประวัติเล่าเรื่องปืนใหญ่เป็น 1 ใน 3 กระบอกที่ร่วมรบจนสุดท้ายถูกยึดไป

เว็บไซด์ Ambranews ซึ่งเชื่อว่าเป็นเว็บไซด์ข่าวที่ใกล้ชิดกับขบวนการบีอาร์เอ็น ได้เขียนรายงานที่พูดถึงพิธีวางปืนใหญ่พญาตานีจำลอง ที่หน้ามัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2556 โดยระบุว่า เป็นการไม่เคารพศาสนสถานและไม่ได้ถามคนในพื้นที่ว่าต้องการปืนใหญ่จำลองจริงหรือไม่ทั้งที่เรียกร้องของจริงมานานแล้ว 
 
อีกทั้งยังได้ยกประวัติศาสตร์ปืนใหญ่กระบอกนี้ว่า เป็น 1 ใน 3 กระบอกที่ร่วมรบกับกองทัพสยามมา 4 ครั้ง สุดท้ายแพ้ให้กองทัพไทย ภายใต้การนำของแม่ทัพพระยากลาโหม และถูกยึดเป็นสินสงคราม ทว่าปืนใหญ่ศรีนาคราได้ตกลงไปในทะเลขณะลำเลียง ส่วนปืนใหญ่มหาเลลาได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย
 
 
สำหรับเนื้อหารายงานชิ้นนี้ ซึ่งพาดหัวว่า Meriam Sri Patani tiruan di Patani (ปืนใหญ่จำลองที่ปาตานี) แปลเป็นภาษาไทยคำต่อคำ ดังนี้
.......
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2556 ได้กลายเป็นปรากฏการณ์กับพิธีการวางปืนใหญ่จำลองที่เสมือนจริงของปืนใหญ่ศรีปาตานี หรือที่คนไทยเรียกว่า พญาตานี ที่ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร
ซึ่งนานมากแล้วที่คนในพื้นที่เรียกร้องให้คืนศรีปาตานีหรือพญาตานีกลับสู่ถิ่นเดิม แต่การเรียกร้องดังกล่าวถูกเพิกเฉย 
 
แต่เมื่อวันนี้ (2 มิถุนายน 2556) ได้คืนกลับมาเพียงปืนใหญ่ศรีปาตานีที่ถูกจำลองขึ้น ถูกนำไปวางบนแท่นรองรับปืนใหญ่บริเวณมัสยิดกรือเซะ และมีการเดินขบวนพาเรดยิ่งใหญ่ในช่วงเที่ยงวันดังกล่าว
ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า ปืนใหญ่ดังกล่าว(ของจริง) ถูกหล่อเมื่อปี ค.ศ.1616 -1624 ในสมัยของรายาบีรู โดยชายชาวจีนที่มารับอิสลาม ณ แผ่นดินปาตานีในสมัยนั้น นามว่า โต๊ะ กายัน หรือลิ่ม โตะ เคี้ยน ซึ่งถูกแต่งตั้งเป็นผู้นำการหล่อปืนในครั้งนั้น เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับข่าวลือว่า สยามจะเข้าโจมตี ปาตานี ในสมัยนั้น
 
ลิ้ม โต เคี้ยม ได้หล่อสำเร็จแล้วสามกระบอก คือ SRI PATANI (พญาตานี) SRI NAGARA (ศรีนครา) และ MAHA LELA (มหาเลลา) ซึ่งมหาเลลา เป็นปืนกระบอกเล็กที่สุดในบรรดาปืนทั้ง 3 กระบอก คือวัดได้เพียง 5 ศอก 1 คืบ ศรีนาคราและศรีปาตานี เป็นปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์
ปืนใหญ่ทั้ง 3 กระบอก ได้ทำหน้าที่ในการป้องกันการรุกรานจากกองทัพสยามมา 4 ครั้ง เมื่อ ค.ศ.1603, 1632, 1634 และ 1638
 
หลังจากล้มสลายของอาณาจักรอยุธยา เมื่อปีค.ศ.1767 เป็นช่วงสมัยที่รัฐปาตานี ปกครองโดย ซุลต่านมูฮัมหมัด (ค.ศ.1776 - 1786) หลังจากที่ได้พยายามปลดปล่อยตัวเองจากการคุกคามของไทย
อย่างไรก็ตาม ในปี 1785 กองทัพไทย ภายใต้การนำของแม่ทัพพระยากลาโหม ประสบความสำเร็จในการทำการรบชนะปาตานี ปืนใหญ่ทั้งสองกระบอก นั้นคือ ศรีนาครา กับ ศรีปาตานีหรือพญาตานี ถูกยึดเป็น “สินสงคราม”
 
ศรีนาคราได้ตกลงไปในทะเล ขณะลำเลียงโดยเรือเพื่อนำไปสู่เมืองหลวง โดยระบุว่า ได้ตกลงในอ่าวปัตตานี และต่อมามหาเลลา ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย
 
เมื่อปี ค.ศ.1787, พระราชา รามาที่ 1 ได้มีกระแสรับสั่งให้หล่อปืนใหญ่ในลักษณะเดียวกันกับ ศรีปาตานี หรือพญาตานี โดยมีขนาดเท่ากัน และตั้งชื่อว่า นารายณ์สังหาร ที่ถูกวางคู่กันหน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานครฯ
(อ้างอิง :อิบรอเฮม ซุกรี ในหนังสือ ประวัติศาสตร์อาณาจักรมลายูปาตานี)
 
ปรากฏการณ์นี้ สร้างความเจ็บปวดแก่ชาวมลายูปาตานี ที่เคยเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิดั่งเดิมของชาวมลายูปาตานี ซึ่งชัดเจนว่า เป็นของคนที่นี้ 
 
แต่ด้วยเหตุผลที่ว่า ขณะนี้ ปืนใหญ่ศรีปาตานี หรือพญาตานี ถูกจัดเป็น “สินสงคราม” ที่ไม่ถูกอนุญาตให้ส่งคืนสู่ถิ่นเดิม แต่ได้สร้างปืนจำลองเสมือนจริง แทน
 
Ambranews ได้ติดตามพิธีดังกล่าวนั้น มองว่า พิธีดังกล่าวมีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องที่อดสู อับอาย เนื่องจากการนำปืนใหญ่ดังกล่าวได้กระทำหน้ามัสยิด ที่เป็นเสมือนบ้านของพระเจ้า 
 
พิธีการดังกล่าวไม่ได้แสดงถึงความเคารพในสถานที่ที่เป็นศาสนสถานของมุสลิม หลังเสร็จสิ้นการวางปืนใหญ่แล้วนั้น ปืนใหญ่ดังกล่าวได้กลายเป็นเพียงของเล่นของเด็กๆ 
 
ฝ่ายรัฐไทยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของชาวมลายูปาตานี ว่าต้องการอะไร ผิดตรงไหนที่ปืนใหญ่ที่เป็นของคนปาตานี จะกลับคืนสู่ถิ่นเดิม 
 
รัฐไทยเคยถามความเห็นคนในพื้นที่หรือไม่ว่า ต้องการ ปืนใหญ่จำลองนี้ มาอยู่บนผืนแผ่นดินปาตานี หรือเปล่า??”
 
ลิงค์บทความต้นฉบับ http://www.ambranews.com/berita-hangat/meriam-sri-patani-tiruan-di-patani/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net