Skip to main content
sharethis

คณะทำงานผลักดันฯ ILO 87,98 นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แถลงเตรียมชุมนุมยืดเยื้อหน้าทำเนียบ 7 ต.ค.นี้ จนกว่ารัฐบาลจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว รวมทั้งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 

ภาพจาก voicelabour.org

2 ต.ค. 56 ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ราชเทวี  คณะทำงานผลักดันนโยบายอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ฯลฯ ร่วมกันแถลงข่าว “หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน ถึงเวลารัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98”

โดย ชาลี ลอยสูง ประธานคณะทำงานฯ เป็นผู้แทนในการอ่านแถลงการณ์ ระบุว่า อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ.2491 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ.2492 คือ 2 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ที่ทั่วโลกถือกันว่าเป็นอนุสัญญาที่สำคัญที่สุด ที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงาน และประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้ให้ความยอมรับโดยให้สัตยาบันและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมักอ้างเสมอว่าเป็น 1 ใน 45 ประเทศผู้ก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว

ในวันกรรมกรสากลของทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ขบวนการแรงงานในประเทศไทยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ข้อเรียกร้องนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อเนื่องกันมาทุกปี ขณะนี้เป็นเวลากว่า 21 ปีแล้ว แต่ทุกรัฐบาลต่างบ่ายเบี่ยงและเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว การที่รัฐบาลเพิกเฉยและบ่ายเบี่ยงที่จะให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ คือ การปฏิเสธไม่ยอมรับไม่ให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยได้มีสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม เป็นความจงใจและสมรู้ร่วมคิดเพื่อที่จะให้มีการละเมิดสิทธิและเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศเป็นประเทศที่ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงสิทธิการรวมตัวน้อยมาก คือ ราว 1.5 % ของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ซึ่งถือเป็นลำดับท้าย ๆ ของโลกเลยทีเดียว การไร้ซึ่งสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย มีผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอยู่ในอัตราที่สูงมากระดับต้นๆของโลก

ชาลี กล่าวว่า ผลจากโครงสร้างและกฎหมายด้านแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ไม่มีกลไกที่จะทำให้แรงงานสามารถต่อสู้เพื่อเข้าถึงสิทธิแรงงานด้วยตัวของเขาเองได้ การอ้างความมั่นคงของชาติกลับกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการที่จะไปละเมิดกฎหมายซึ่งให้การคุ้มครองหรือการประกันสิทธิต่างๆของแรงงาน

พวกเราตระหนักดีว่ารัฐบาลไทยมีความพยายามในการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างไรก็ตามบทบาทของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นชัดว่า รัฐบาลยังขาดความจริงจังในการสร้างบรรยากาศเพื่อเอื้ออำนวยแก่การระดมความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ดีของคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานร่วมกัน การเจรจาต่อรองเพื่อสร้างความร่วมมือในการผลักดันให้รับรองอนุสัญญากลายเป็นเพียงเรื่องของวิวาทะแบบโต้วาที คือ รับฟังแต่ไม่ดำเนินการ เจรจาเพื่อให้แบบผ่านไปวันๆและมองเห็นเพียงคู่ขัดแย้งขั้วตรงข้ามที่เห็นเพียง “ทุน” และ “แรงงาน” เท่านั้น การมองที่พยายามตีขลุมโดยผลักคู่ตรงข้ามให้กลายเป็น “คนผิด” ยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ที่จะเชื่อมต่อในอนาคต “ขาดสะบั้น” แบบง่ายดาย ดังนั้นไม่มีเหตุผลใดๆอีกแล้วที่รัฐบาลจะไม่รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 การเพิกเฉยใส่เกียร์ว่างต่อกระแสเพรียกหาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน ถือได้ว่าเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศไทยที่สวนทางกับกระแสที่ยึดเอาปัญหาของประชาชนระดับล่าง และสิทธิมนุษยชนเป็นหนทางนำ

วันนี้พวกเราเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งได้ก่อตั้งและดำเนินการรณรงค์เรียกร้องในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องนับแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา จึงเห็นร่วมว่าหมดเวลาแล้วที่รัฐบาลจักบิดพลิ้วและโยกโย้ทอดเวลาการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ชาลี กล่าวด้วยว่า ขอยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนกับเครือข่ายองค์กรแรงงานในวันที่ 7 ต.ค. 56 ซึ่งเป็นวันงานที่มีคุณค่าที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกออกมารณรงค์เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน โดยมีการดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบในหลักการเรื่องการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ภายในเดือน พ.ค.57 เพื่อเป็นของขวัญสำหรับผู้ใช้แรงงาน เนื่องในวันกรรมกรสากล ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลยังคงไม่มีรูปธรรมการตัดสินใจชัดเจนในวันที่ 7 ต.ค. 56 คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 มีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ให้มีการชุมนุมยืดเยื้อของผู้ใช้แรงงานที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไปจนกว่ารัฐบาลจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนต่อไป

21 ปีของการเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

สำหรับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับรองมาแล้วกว่า 21 ปี โดยศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา เคยแลกเปลี่ยนเสมอมาในเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่า “องค์กรแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเนื่องในวันกรรมกรสากลมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว แต่ไม่เคยได้รับการขานรับจากรัฐ”  ช่วงฮึกเหิมสุดของการเรียกร้องกล่าวได้ว่า เกิดขึ้นในช่วงปี 52 เมื่อองค์กรแรงงานระดับชาติส่วนใหญ่ได้ร่วมมือกันก่อตั้ง “คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87และ 98” โดยมีคุณชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเป็นประธานคณะทำงาน และช่วยกันรณรงค์อย่างจริงจังในปี 52-53 จนกระทรวงแรงงานได้จัดตั้ง “คณะทำงานประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98” ซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (อ่านรายละเอียดที่ 21ปี ข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล : การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87, 98)

 

 

 

เรียบเรียงจาก voicelabour.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net