Skip to main content
sharethis

พรรคประชาธิปัตย์แถลงไม่ยอมรับข้อเสนอสภาปฏิรูปของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะไม่ตรงประเด็น แถมขาดความชอบธรรม ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเรื่องนี้ โดย ปชป. จะร่วมเคลื่อนไหวทั่วประเทศแก้ปัญหาทุจริต ชูเลือกตั้งสุจริต ยืนยันพรรคไม่ลงเลือกตั้ง แต่จะเน้นปฏิรูป

ที่มา: เพจ Abhisit Vejjajiva

 

27 ธ.ค. 2556 - เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงข้อสรุปการประชุมกรรมการบริหารพรรค โดยระบุว่า:

"ประเด็นที่ได้มีการประชุมกันเป็นเรื่องหลักก็คือการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย โดยมีการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้มีการพิจารณาถึงคำประกาศของนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้และได้พูดถึงการดำเนินการของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป

ประเด็นแรกก็อยากจะเรียนว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ตามที่ทางรัฐบาลได้แถลงเกี่ยวกับเรื่องของความพยายามที่จะจัดตั้งสภาปฏิรูปโดยการออกระเบียบ หรือคำสั่งของนายกรัฐมนตรีก่อนสิ้นปี และอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามข้อเสนอขององค์กรต่างๆ โดยเฉพาะ 7 องค์กรที่ได้มีการรวมตัวกัน เพื่อที่จะหาทางออกให้กับประเทศไทย สิ่งแรกที่อยากจะเน้นย้ำก็คือว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่นายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อวานนี้ยังไม่ตรงกับทั้งเจตนารมณ์ และข้อเสนอของหลายองค์กรที่ทำงานทางด้านนี้ ความหมายก็คือว่าในแง่ของเจตนารมณ์นั้น องค์กรต่างๆ เหล่านี้ต้องการที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อเป็นทางออกของประเทศที่เผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน

แต่เห็นได้ชัดว่า ในขณะที่รัฐบาลประกาศว่าจะตั้งสภาปฏิรูปนี้ ยังปราศจากคำตอบในแง่ของการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่รัฐบาลยืนยันว่าจะต้องจัดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และไม่มีคำตอบใดๆ ที่เกี่ยวข้องว่ากระบวนการการปฏิรูปนี้ที่จะคู่ขนานไปกับการเลือกตั้งนั้น ในที่สุดเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะตอบโจทย์การปฏิรูปได้จริง มีคำถามมากมายทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย มีคำถามมากมายทั้งในเรื่องของการผูกมัดให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งนั้นมาดำเนินการตามนี้ ตลอดจนมีการตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่าคณะกรรมการที่จะมาทำหน้าที่ในการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนั้น ในที่สุดแล้วจะได้บุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ผู้ที่ผลักดันการปฏิรูปทั้งหลายต้องการหรือไม่ เพราะยังมีลักษณะของความผูกพัน หรือเกี่ยวพันกับรัฐบาลอยู่ อันนี้ก็คือข้อสังเกตข้อที่ 1

ข้อสังเกตข้อที่ 2 ที่พรรคได้วิเคราะห์และยืนยันก็คือว่าตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะมาเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ เมื่อวานนี้คุณยิ่งลักษณ์พยายามจะพูดว่า รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่กลับเป็นผู้กำหนดกรรมการสรรหาสภาปฏิรูปเสียเอง แต่ที่เรายืนยันว่าคุณยิ่งลักษณ์ขาดความชอบธรรมในเรื่องนี้ ไม่ได้เกิดจากการคาดการณ์ของเรา แต่ดูจากประวัติของคุณยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีท่าทีไม่สนับสนุนการปฏิรูปมาตลอดในอดีตที่ผ่านมา

ผมลำดับให้เห็นครับ วันที่รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์เข้ามาสู่ตำแหน่ง วันนั้นมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เรื่องกรรมการปฏิรูป ซึ่งออกโดยรัฐบาลชุดก่อน มีท่านนายกฯ อานันท์ ทำหน้าที่เป็นประธานจนกระทั่งถึงวันที่ยุบสภา ท่านนายกฯ อานันท์ ได้ส่งมอบรายงานข้อเสนอการปฏิรูป และได้ลาออก เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งก็คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์นี้ หาบุคคลมาขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ

1. รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีการตั้งบุคคลใดๆ มาสานงานต่อจากกรรมการชุดนี้ คือไม่ได้ตั้งทั้งท่านนายกฯ อานันท์ และไม่ได้ตั้งคนเข้ามาแทน ทั้งๆ ที่มีระเบียบสำนักนายกฯ ที่ให้มีการสานต่อการปฏิรูปข้ามรัฐบาลนั่นเอง และข้อเสนอของคณะกรรมการของท่านนายกฯ อานันท์ในบางเรื่องที่รัฐบาลที่แล้วได้เริ่มต้นผลักดันแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยการกระจายการถือครองที่ดิน มีการเสนอกฎหมายเช่น กฎหมายภาษีที่ดิน และทรัพย์สิน ก็เป็นกฎหมายที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ยืนยันและส่งผลให้ตกไป

กรรมการชุดที่ 2 ครับ สมัชชาปฏิรูป ซึ่งคุณหมอประเวศเป็นประธาน ทำงานต่อเนื่องมาจนวาระของรัฐบาลชุดนี้ จนถึงวันนี้ยังไม่มีการขับเคลื่อนใดๆ ของรัฐบาลในการที่จะมารองรับงานต่างๆ ของสมัชชาปฏิรูปที่แต่งตั้งขึ้นโดยคุณหมอประเวศ

ชุดที่ 3 ครับ คอป. ซึ่งมี อ.คณิต เป็นประธาน ชุดนี้รัฐบาลหาเสียงว่าจะให้การสนับสนุนการทำงาน จะยอมรับการทำงานอย่างชัดแจ้ง แต่สุดท้ายเมื่อรายงานออกมาผลไม่ถูกใจตนเอง โดยเฉพาะมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่ามีชายชุดดำ พรรคเพื่อไทยก็ฉีกรายงานของ อ.คณิตทิ้ง ไม่ใช่แค่ไม่ปฏิบัติตาม ฉีกจริงๆ เลย เอารายงานมาฉีกให้เห็นหน้าพรรคเพื่อไทย

เพราะฉะนั้นประสบการณ์ในอดีตของการมีคณะกรรมการที่บอกว่า จะผูกมัดรัฐบาลชุดต่อไป ทำโดยระเบียบสำนักนายกฯ รัฐบาลนี้ทำให้เห็นมาแล้วว่าไม่ปฏิบัติตามใดๆ ทั้งสิ้น นี่คือตัวอย่างแรกของประสบการณ์ว่าทำไมเราจึงไม่เชื่อ

ประการที่ 2 ก็คือว่า เวลามีคณะกรรมการอิสระทำงานเรื่องใดก็ตาม รัฐบาลยิ่งลักษณ์พิสูจน์ตัวเองมาโดยตลอดว่าจะใช้วิธีการตั้งคนของตัวเองมาลดทอนน้ำหนัก มาแปลงสารข้อเสนอต่างๆ อย่างชัดเจน มี คอป. รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็จะต้องตั้ง ปคอป. ข้อเสนอไหนเป็นประโยชน์กับพวกตัวเอง ทำ ทำมากกว่าที่เขาเสนออีก ข้อเสนอไหนที่คิดว่าไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง ไม่ทำ โดยอาศัยคณะกรรมการที่ตัวเองตั้งขึ้น รัฐธรรมนูญบอกให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย รัฐบาลก็ต้องไปตั้ง คอ.นธ. ที่มีคุณอุกฤษเป็นประธาน เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะมาลดทอนน้ำหนักของคณะกรรมการใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะของความเป็นอิสระ แม้เวลาที่มีองค์กรที่มีสถานะอิสระจากรัฐบาลมาทำงานในบางเรื่องเช่น กรณีสถาบันพระปกเกล้าฯ พยายามเข้ามาทำเรื่องปรองดอง ก็พยายามใช้ประโยชน์จากงานของเขา แต่ไม่ให้เขาทำงานจริง เช่นสุดท้ายก็คือเมื่อเข้าไปสู่ขั้นตอนของการสานเสวนา ก็เอากระทรวงมหาดไทยไปทำ ไม่ให้ทางสถาบันพระปกเกล้าฯ ไปทำ แล้วก็มีปัญหาอย่างที่ตามมา

และในแง่ของประสบการณ์ 2 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายนี้ก็คือ กรณีของสภาปฏิรูปที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็เพิ่งตั้งขึ้นมา ไม่กี่เดือนมาก่อนหน้านี้ หรือกรรมการปฏิรูปที่ให้คุณบรรหารเป็นประธาน ไม่มีความคืบหน้าใดๆ และในที่สุดก็ไม่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคงจำได้ว่า พยายามเชิญชวนฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านเพียงแต่ขอว่า คุณหยุดกฎหมายนิรโทษกรรมก่อน กรรมการหลายท่าน ผู้อาวุโสบางท่านก็เสนอเรื่องเดียวกัน และต่อมาก็ต้องลาออก ก็เป็นการชี้ให้เห็นว่า ถึงจุดที่จะต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการปฏิรูป คุณยิ่งลักษณ์กลับเลือกที่จะเดินหน้าสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง และครอบครัว คือกฎหมายนิรโทษกรรมมากกว่า

เพราะฉะนั้น 1. เราเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลประกาศเมื่อวานนี้ ไม่ตรงทั้งตามเจตนารมณ์ และสาระของการนำเสนอ

2. ประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล ขาดความชอบธรรม ไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ และ

3. ก็คือการดำเนินการในขณะนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ใช้ประเด็นเหล่านี้ชิงความได้เปรียบทางการเมือง หรือเบี่ยงเบนกระแสต่อต้านสิ่งที่ตัวเองทำไว้ เพื่อที่จะเดินไปสู่เป้าหมายของตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง

ไม่ต่างจากวันที่พยายามเสนอกรรมการ หรือสภาปฏิรูป ตอนที่มีคนต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม วันนี้พอมีกระแสการคัดค้าน อยากจะเห็นรัฐบาลนั้นมาทบทวนดูว่าการเดินเข้าไปสู่การเลือกตั้ง แล้วมันสร้างปัญหาให้กับประเทศ รัฐบาลก็หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ยังมีการใส่ประเด็นเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อะไรต่างๆ เข้าไป โดยที่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เป็นประเด็นหลักที่เป็นข้อเรียกร้องของผู้ที่มีการเสนอทางด้านการปฏิรูป

สุดท้ายครับ นอกจากพฤติกรรมในอดีตแล้ว ในปัจจุบัน สิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปมากที่สุดคือ

1. ขจัดคอร์รัปชั่น
2. ต้องการเห็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรม

พฤติกรรมของรัฐบาลจนถึงขณะนี้ ก็ยังเป็นพฤติกรรมที่ไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่จัดการกับปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินกู้ น้ำท่วม หรือจำนำข้าว อย่างที่ท่านเลขาธิการเมื่อวานนี้ก็ได้มีการเรียกร้องไป

และ 2. ก็คือพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่รักษาการ ก็ยังใช้สถานะของความเป็นนายกรัฐมนตรีทำกิจกรรมที่อ้างว่าเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เห็นได้ชัดว่ามุ่งไปสู่การสร้างความได้เปรียบ หรือคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง ในอดีตที่ผ่านมา เวลามีการเลือกตั้ง กิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับมวลชนนั้นเขาจะกำชับว่าต้องหลีกเลี่ยง เพราะเป็นการสร้างความได้เปรียบ เสียเปรียบโดยการถืออำนาจรัฐอยู่ มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกอะไรต่างๆ มากมาย แต่วันนี้ รัฐบาลนี้ นายกรัฐมนตรีคนนี้ทำตรงกันข้าม ยุบสภาเสร็จ มุ่งกิจกรรมมวลชนเป็นหลัก ลงพื้นที่อย่างเดียว แล้วก็เห็นว่ามีทั้งเจ้าหน้าที่ มีทั้งประชาชน ซึ่งเข้ามาแสดงการสนับสนุนไม่ใช่รัฐบาลด้วย แต่พรรคการเมือง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งที่ไม่ต้องการให้มีการใช้อำนาจไปเพื่อประโยชน์ของความได้เปรียบ

และนี่คือที่มาของการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปว่าการเลือกตั้งมันต้องสุจริต เที่ยงธรรม ไม่นับสิ่งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษยังเดินหน้าในการที่จะยัดเยียดความผิดต่างๆ หรือไปสร้างปัญหาให้กับบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐบาล เพราะฉะนั้นวันนี้ที่ประชุมก็ชัดเจนว่า กระบวนการปฏิรูปที่นายกรัฐมนตรีประกาศนั้นมันไม่ใช่เป็นการปฏิรูปที่แท้จริง และก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะเบี่ยงเบนประเด็น ลดกระแส หรือชิงความได้เปรียบทางการเมือง เพื่อมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเดิมของตนเอง ไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับประเทศ

สำหรับในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เราก็จึงได้ตกลงว่า บทบาทของเรายังต้องเดินหน้าในการสนับสนุนการปฏิรูป และสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญก็คือว่า เรามองเห็นว่าขณะนี้มีการพูดถึงการปฏิรูปมาก และมีการถกเถียงกันในเรื่ององค์กรที่จะมาทำหน้าที่ในการปฏิรูปมาก แต่เรากลับไม่ค่อยได้ยินเรื่องของเนื้อหาสาระของการปฏิรูปที่จะต้องมีการผลักดัน ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นหลังปีใหม่ เราก็จะเดินหน้าทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระของการปฏิรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือจะทำใน  2 ระดับ

1. คือการเชื่อมโยงกับบรรดากลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่สนใจในเรื่องของการปฏิรูป จะไปแลกเปลี่ยนความคิด ข้อมูล รับฟังความคิดเห็น และ

2. จะมีการเคลื่อนไหวในทั่วประเทศ ทุกภาค โดยการจัดกิจกรรมกับมวลชนด้วย หัวข้อที่เราคิดว่าจะเริ่มต้นก่อนนั้นจะเป็นเรื่องของปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น กับการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม อันนี้ก็จะเป็นงานที่พรรคประชาธิปัตย์ก็จะเดินหน้าทำไป เพราะเราก็ได้ตัดสินใจแล้วว่า ครั้งนี้เราไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เราไม่ไปแข่งขันช่วงชิงอำนาจใดๆ แต่เราจะใช้เวลาของเราทำงานเรื่องการปฏิรูปกับประชาชน ซึ่งจะต้องเริ่มต้นขึ้นหลังจากปีใหม่เป็นต้นไป นี่คือเนื้อหาสาระของการประชุม และข้อสรุปของการประชุมของกรรมการบริหารพรรคในวันนี้ "

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net