Skip to main content
sharethis
ประชุมสมัชสุขภาพแห่งชาติปี 57 หนุนปฏิรูปประเทศไทยด้วยพลังพลเมือง เน้นกระจายสู่ท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรม ระบุไทยวิกฤติเพราะอำนาจกระจุกอยู่ส่วนกลาง
 
28 ก.พ. 2557 “การกระจายอำนาจในประเทศไทยนั้นเป็นการกระจายอำนาจแบบแยกส่วน ทำให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจ โดยอำนาจร้อยละ 70 อยู่ที่ส่วนกลาง และอีกร้อยละ 30 อยู่ในส่วนท้องถิ่น ซ้ำร้ายในร้อยละ 30 นี้ยังมีความซ้ำซ้อนในแง่ของกฎหมายที่จะส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง  ซึ่งหากเราไม่เร่งปฏิรูปและจัดการให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ ปัญหาทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ก็ยังคงวนเวียนอยู่เช่นเดิม” นี่คือข้อคิดเห็นเพียงบางส่วนจากภาคประชาชนที่เข้าร่วมเวทีสาธารณะจากปฏิรูประบบสุขภาพ สู่ปฏิรูปประเทศไทย พิจารณาข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพ สนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย ที่จัดขึ้นโดย สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) และองค์กรภาคีเครือข่าย ณ ห้องประชุมแซฟไฟซ์ อิมแพค เมืองทองธานี
 
ในการประชุมครั้งนี้เป้าหมายหลักที่ทุกฝ่ายต้องการร่วมกันคือการปฏิรูปประเทศไทย ให้ประชาชาชนมีสุขภาวะทีดี และมีสวัสดิการในการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งมีการหารือใน 7 ประเด็นย่อย คือ 1.พิจารณาให้ข้อเสนอเกี่ยวกับกลไกและกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่เชื่อมโยง/หนุนเสริมการปฏิรูปประเทศไทย 2.พิจารณาให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย 3. พิจารณาให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขของประเทศ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย 4.พิจารณาให้ข้อเสนอเกี่ยวกับระบบการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ 5.พิจารณาให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการอภิบาลระบบสุขภาพและระบบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 6.พิจารณาเกี่ยวกับทิศทางแนวทางการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ  และการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูประเทศไทย และ 7.พิจารณาระบบสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของพลังพลเมืองสู่การปฏิรูปประเทศไทย
 
สำหรับประเด็นการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ นางสาวศิริพร ปัญญาเสน  คณะกรรมการสุขภาพจังหวัดลำปาง  ได้มีข้อหารือถึงช่องว่างที่ไม่สามารถทำให้การกระจายอำนาจด้านสุขภาพและการจัดการตนเองด้านสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นลงไปถึงท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงเป็นเพราะอำนาจในท้องถิ่นถูกแยกออกเป็น 3 ส่วน โดยในแต่ละอำเภอจะเข้ามามีบทบาทและชี้นำท้องถิ่นมาก จึงทำให้กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ จะขึ้นอยู่กับระดับอำเภอเพียงอย่างเดียว อำนาจไม่ได้ถูกกระจายไปด้วยความชอบธรรม นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลก็ทำให้นโยบายของท้องถิ่นต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทำให้การพัฒนาสะดุดและเกิดการชะงักงัน จึงทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สวัสดิการ และที่สำคัญคือปัญหาด้านสุขภาพ  ซึ่งข้อเสนอของการแก้ปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมเห็นว่า ควรนำร่างพระราชบัญญัติจัดการตนเองมาหารือให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยต้องมีการเพิ่มอำนาจให้พลเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการตนเองได้ และจะต้องมีการจัดตั้งธรรมนูญชุมชนและสภาหมุ่บ้านให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยสร้างโครงสร้างในการตรวจสอบโดยสภาประชาชน เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการบริหารจัดการตนเอง  นอกจากนี้หากจะมีการปฏิรูปควรจะนำพื้นที่ที่จะปฏิรูปมาเป็นตัวตั้ง เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
 
ขณะที่ นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์  คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและรองประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพฯครั้งที่6 ได้พูดถึงการพิจารณาระบบสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของพลังพลเมืองสู่การปฏิรูปประเทศไทย ว่าการจะทำให้ภาคพลเมืองเข้มแข็ง เราจะต้องปรับระบบความสัมพันธ์และวิธีคิดจากบนลงล่าง โดยใช้ทุนทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งที่ขาดและทำให้บ้านเมืองมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือเราขาดเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม เรื่องนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กแต่หากเราสามารถปฏิรูปและจัดการเรื่องนี้ให้เห็นผลอย่างแท้จริงก็จะทำให้ปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองน้อยกว่านี้  นอกจากนี้สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ที่ทำให้ภาคพลเมืองไม่เข้มแข็ง คือระบบอุปถัมภ์ที่ยังเกาะรากลึกอยู่ในสังคมไทย ดังนั้นการจะปฏิรูปพลังพลเมืองจึงจำเป็นจะต้องให้ความรู้ ให้การศึกษา เพื่อให้ประชาชนรู้ศักยภาพของตนเองและสามารถดึงศักยภาพมาใช้ได้อย่างถูกต้อง และนำไปสู่การสร้างพลังพลเมืองที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง
 
นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องการพิจารณาให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย นั้น นพ.เรืองศิลป์ เถื่อนนาดี ผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 10 ระบุว่า ขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยมีหลายกองทุน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน ฯลฯ ทำให้การบริหารจัดการไม่เป็นหนึ่งเดียว  ดังนั้นหากเราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้เราจะต้องเริ่มจากการรวมกองทุนต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวและแบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งรัฐกับประชาสังคมจะต้องเข้ามาช่วยกันคิดและบริหารจัดการในทุกส่วนร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้การแก้ปัญหาจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่คำนึงถึงผลประโยชน์ความคุ้มทุนในแง่ธุรกิจ หรือมุ่งหวังหาผลประโยชน์จากเงินกองทุนเหล่านี้ ซึ่งหากมีการปฏิรูประบบกองทุนดังกล่าว จะส่งผลให้ประชาชนได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทำให้กลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพมาพัฒนาประเทศต่อไป
 
สิ่งที่สำคัญที่สุดในภาวะบ้านเมืองวิกฤตขณะนี้คือ การมีจุดยืนและเป้าหมายที่เข้มแข็ง โดยเน้นผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ซึ่งกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นหนึ่งในกระบวนการย่อยที่จะไปสนับสนุนและหนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาประเทศ ในรูปแบบและกลไกที่เห็นผล  โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรภาคีเครือข่าย จะร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสังเคราะห์การทำงานในแต่ละประเด็น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยต่อไป
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net