Skip to main content
sharethis

1 ธ.ค. 2558 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) สำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศสมอบรางวัล Agence France-Presse Kate Webb ประจำปี 2015 ให้กับ มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าวประชาไท จากการรายงานข่าวคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยในงานมีราเชล มิลเลอร์ น้องสาวของเคท เวบบ์ เข้าร่วมด้วย

สำหรับ รางวัล Agence France-Presse Kate Webb มอบให้แก่ผู้สื่อข่าวที่ทำงานในสถานการณ์ที่ยากลำบากในภูมิภาคเอเชีย โดยชื่อรางวัลตั้งขึ้นตามชื่อของ เคท เวบบ์ ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีที่อุทิศตนทำงานข่าวสงครามและในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ เธอเสียชีวิตเมื่อปี 2550 ขณะอายุ 64 ปี เธอมีชื่อเสียงในฐานะนักข่าวที่มีความกล้าหาญและมีความเป็นอิสระ

มุทิตา กล่าวสุนทรพจน์ในงานรับรางวัลว่า รางวัลเคท เวบบ์ เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในชีวิตการทำงาน แม้ว่าความยากลำบากที่เจอจะเทียบไม่ได้เลยกับบรรดานักข่าวสงคราม และโดยเฉพาะเจ้าของรางวัลนี้ ซึ่งบุกตะลุยทำข่าวในพื้นที่สงครามหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม การที่ได้รับรางวัลนี้สะท้อนถึงความสำคัญของประเด็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นประเด็นที่แยกออกจากใจกลางปัญหาการเมืองไทยได้ยากยิ่ง

มุทิตา ระบุว่าติดตามทำข่าวประเด็นนี้ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กฎหมายนี้เริ่มถูกใช้อย่างจริงจัง บทลงโทษของมันเป็นที่เลื่องลือและยิ่งหนักหน่วงขึ้นในยุคนี้

มุทิตา กล่าวว่า ผู้คนธรรมดาที่ถูกกล่าวหาและลงโทษจากมาตรานี้กลายเป็นปีศาจสำหรับสังคม โดยไม่ต้องถามไถ่ สิ่งที่ตนเองทำก็เพียงแค่สนทนากับบรรดาปีศาจและติดตามกระบวนการของศาลที่ลงโทษพวกเขา แล้วพยายามนำข้อมูลเหล่านี้ออกมาเท่าที่ทำได้ ว่ากันตามตรงมันก็ไม่ได้ใช้ความกล้าหาญอะไรนัก ความมุ่งหวังของการทำแบบนั้นก็เพื่อให้ผู้คนในสังคมได้เห็น ได้เข้าใจมากขึ้นในเรื่องนี้ เพื่อว่าความรุนแรงเช่นนี้อาจมีโอกาสได้รับการแก้ไขทั้งในทางโครงสร้างกฎหมายและในวิธีคิดของผู้คน ทั้งนี้ เชื่อว่า หากวัฒนธรรมการตั้งคำถาม การยอมรับความแตกต่าง การถกเถียง ได้มีโอกาสเติบโตและรับการพัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้น ท้ายที่สุด สถาบันกษัตริย์และสังคมโดยรวมก็น่าจะยั่งยืนยิ่งขึ้น

มุทิตา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ผ่านมาหลายปีจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนความหวังนั้นไม่ประสบความสำเร็จนัก การดำเนินคดียังคงมีอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่ในศาลยุติธรรมแต่ในศาลทหารซึ่งบทลงโทษหนักขึ้นมาก มากจนถึง 50 ปีแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ สิทธิในการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีของผู้ต้องหายังถูกวิจารณ์อย่างหนัก การเข้าถึงผู้ต้องหาถูกปิดกั้นอย่างยิ่ง กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปโดยปิดลับมากขึ้นกว่าเดิมจนแทบไม่เหลือพื้นที่ สำหรับการรับรู้ข้อเท็จจริง ตลอดจนคดีล่าสุดที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง ซึ่งยังคงเป็นปริศนา

มุทิตา กล่าวว่า หากมองในมุมบวก ยังมีคนอีกหลายคน หลายองค์กร ที่ผลักดันในประเด็นนี้ โดยตนเองเป็นเพียงหนึ่งในจิ๊กซอว์เล็กๆ หนึ่งเท่านั้น ท้ายที่สุด ขอแบ่งปันรางวัลนี้กับเพื่อนร่วมงาน เครือข่าย ครอบครัว และที่สำคัญที่สุด คือครอบครัวของผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่เผชิญความทุกข์ทรมานอยู่เงียบๆ และโดดเดี่ยวในสังคมนี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net