Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


เมื่อพูดถึงการ “นั่งเทียน” ที่เป็นสำนวนอันหมายถึงการคาดการณ์ คาดเดา คาดคะเน การสร้างจินตภาพ หรือจินตนาการแล้ว ตั้งแต่เด็กจนโต หรือในช่วงวัยของการศึกษา หลายๆคนคงจะเคยได้ยินคำบอกเล่า หรือโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นคำสอนของผู้ใหญ่หลายๆท่าน ทำนองว่า เวลาทำการบ้าน เขียนรายงาน เขียนรีพอร์ท ทำเปเปอร์ ทำข้อสอบ ฯลฯ

การ “นั่งเทียน” กลายเป็นสิ่งที่ต้องห้าม เป็นพฤติกรรมด้านลบ และไม่พึงประสงค์เป็นอย่างที่สุดภายในกลุ่มกิจกรรมดังที่กล่าวถึงไว้ข้างต้น เพราะมันดูไม่น่าเชื่อถือ เหมือนการพูดหรือกล่าวสิ่งใดไปอย่างเรื่อยเปื่อย ไร้ที่มา ไร้สาเหตุ ไร้มูลเหตุ เหมือนการจุดเทียนแล้วนั่งทำนายอนาคต ซึ่งเป็นกระบวนวิธีที่มันดูล้าสมัยและไม่ถูกจริตกับโลกแห่งวิทยาศาสตร์เช่นปัจจุบันนี้ แต่แท้จริงแล้ว การนั่งเทียนไม่ใช่สิ่งที่แย่หรือเลวร้ายขนาดนั้น การนั่งเทียนมิใช่วิธีที่ล้มเหลว ไร้ค่าเสียดังคำของผู้เฒ่าผู้แก่ และคุณครูผู้สอนสั่งเสียเสมอไป

เพราะการนั่งเทียนนั้นสามารถที่จะมีโอกาสในการเชื่อมโยงถึงในแง่มุมของความเป็นวิชาการ (academic) และใช้ปฏิบัติการได้จริงภายในชีวิต ทั้งการเรียน ศึกษา และทำงาน ได้จริง (practicability) แต่การนั่งเทียน ที่จะมีประสิทธิภาพได้ ผู้ที่จะนั่งเทียนนั้น จำเป็นที่จะต้องรู้จักซึ่งวิธีในการใช้ตรรกะและกลไกของเหตุผล (logic and reasoning) อย่างมีไหวพริบ หาสามารถทำได้ สิ่งที่จะเขียนหรือพูดออกมานั้น ก็จะสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้จริง แม้เรื่องเหล่านั้นจะ (ยัง) ไม่ใช่เรื่องที่เกิด หรือ ปรากฏขึ้นออกมาเป็นความจริงก็ตาม

ทุกๆการนั่งเทียน จำเป็นจะต้องอาศัยการประกอบเข้ากันของการใช้ตรรกะที่มีเหตุผล ผนวกกับปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆที่สำคัญ ที่ผู้นั่งเทียนจะดึงหรือหยิบยกขึ้นมาช่วยเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม เพื่อให้ได้มาซึ่งคำอธิบาย หรือคำทำนายที่น่าเชื่อ และประยุกต์ใช้ได้ เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า นักคิด นักปรัชญา หรือนักอะไรก็ตามที่เคยสร้างองค์ความรู้เชิงนามธรรมเอาไว้ในสมัยโบราณ และยุคก่อนสมัยใหม่ (ที่นักเรียนนักศึกษาหลายๆคนจำเป็นต้องนั่งเรียนในทุกวันนี้) หลายๆคนก็นั่งเทียนคิด นั่งเทียนเขียนด้วยกันทั้งนั้น เช่น Socrates และ Plato (แต่สาเหตุที่ในสมัยนั้นไม่เรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็น “การนั่งเทียน” เพราะนักคิด นักทฤษฎี และนักปรัชญาสมัยก่อนนั้นไม่ใช่คนไทย และไม่รู้ภาษาไทย จึงไม่มีอำนาจถึงขั้นที่จะสามารถใช้ภาษาไทยในการบัญญัติคำว่า นั่งเทียน ให้เป็นคำในเชิงบวกได้)

โดยพฤติกรรม กรรมวิธี หรือ เทคนิควิธีดังกล่าวนั้นเรียกว่า การทดลองค้นหาความจริงผ่านจินตภาพ (thought experiment) ที่หมายถึง ทำการทดลองแบบลอยๆ และเป็นนามธรรม อยู่ภายในห้วงแห่งจินตนาการของผู้คิด หรือผู้นั่งเทียน (imagined scenario) นั้นเอง กล่าวคือ เป็นการนำสถานการณ์ ปรากฏการณ์ หรือ เหตุการณ์หนึ่งๆ เข้าไปสู่ห้องทดลองที่จัดขึ้นภายในห้วงจินตนาการนั้นๆ แล้วอนุญาตให้ผู้นั่งเทียน สามารถกำหนดปัจจัย เงื่อนไข ตัวแปร และสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่จะเข้ามามีผลต่อปรากฏการณ์ เหตุการณ์ หรือ สถานการณ์นั้นๆ อย่างอิสระ เพื่อค้นหาและพยากรณ์ถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือ จุดสิ้นสุดของปรากฏการณ์หนึ่งๆ ผ่านการใช้ตรรกะ และเหตุผล จนได้มาซึ่งข้อเสนอ หรือ ข้อโต้เถียง โต้แย้งที่แข็งแรงในระดับหนึ่ง จนเพียงพอที่จะสามารถป้องกัน แก้ต่าง หรือโต้แย้งให้แก่ข้อคิด ข้อเสนอของตนเองได้

การเขียนข้อสอบ บทความ การบ้าน รายงาน (หรือแม้แต่ในการทำการวิจัยบางครั้ง) ในทางสังคมศาสตร์ที่ไม่สามารถนำปรากฏการณ์ หรือเหตุการณ์สำคัญๆของสังคมและโลก มาปฏิบัติการทดลองภายในห้องทดลอง และ กำหนดขอบเขตปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้ง่ายๆ (เพราะปัจจัยที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์/ปรากฏการณ์หนึ่งๆนั้น สามารถมีได้มากกว่า 100 ปัจจัย) แต่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการค้นหาคำตอบ หรือ วิเคราะห์ทำนายจุดจบ หรือ ความเป็นไปในอนาคตของสถานการณ์ เหตุการณ์ และปรากฏการณ์หนึ่งๆ ทำให้การทดลองค้นหาความจริงผ่านจินตภาพ (หรือ การนั่งเทียนอย่างมีเหตุผลนี้) เป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ศึกษา หรือ ผู้วิจัยนั้นสามารถที่จะวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงผลลัพธ์ หรือความเป็นไปของปรากฏการณ์ต่างๆ (outcomes) ได้อย่างเห็นภาพ พร้อมการกำหนด และทดลองนำปัจจัย ตัวแปรต่างๆ มาเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อสร้างสมมติฐาน คำทำนาย และการหาคำตอบให้กับปัญหา รวมถึงผลลัพธ์ที่จะสามารถออกมาในหลากหลายรูปแบบเท่าที่จะมีความเป็นไปได้ ภายใต้การดีไซน์ ออกแบบการทดลองภายในห้วงจินตนาการนี้

เพราะผลลัพธ์ของเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น มีเพียงครั้งเดียว เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ไม่สามารถทำซ้ำ ทดลองซ้ำได้ ที่สำคัญคือ มีหลายปรากฏการณ์ที่ยังคงดำเนินอยู่โดยยังไม่มีจุดจบ (และต้องไม่ลืมว่า อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้) ทำให้ในหลายๆครั้งการทำงานของนักสังคมศาสตร์ หรือ รัฐศาสตร์ ฯลฯ ยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาการนั่งเทียน เพื่อนำมาสู่การตั้งข้อเสนอ สร้างคำอธิบาย และคำทำนายที่มีเหตุผลชุดต่างๆบนเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น หรือที่เคยปรากฏขึ้นมาแล้วแต่ยังไม่สิ้นสุด แล้วพยายามบรรณาการเป็นคำตอบให้แก่สังคม

วิธีการดังกล่าวนี้เป็นวิธีที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ก่อนยุคแสงสว่างทางปัญญา (the enlightenment) จะเห็นได้ว่าการนั่งเทียนนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว หรือน่ารังเกียจแต่อย่างใด กลับมีประโยชน์เสียอีกในหลายๆสถานการณ์ เพราะจากประสบการณ์แล้ว นักศึกษาหลายๆคนก็เคยนั่งเทียนเขียนข้อสอบกันมาทั้งนั้น แต่ก็เป็นการนั่งเทียน หรือ การคาดเดา ที่ผ่านกระบวนการใช้ตรรกะ เหตุผล หลักการ หรือเทคนิคหลายๆชุดเข้ามาช่วยสนับสนุน ภายในการทดลองจากห้วงแห่งจินตภาพ ก่อนจะคลอดผลผลิตออกมาเป็นคำตอบของคำถาม สมมติฐานที่นำไปสู่งานวิจัยขนาดใหญ่ หรือก่อนจะจรดปากกาลงไปในกระดาษคำตอบของข้อสอบต่อไป

การนั่งเทียนจึงสามารถที่จะนำมาซึ่งคำตอบที่ยิ่งใหญ่ได้ แม้จะไม่ค่อยตรงกับจริตของหลักการแบบวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาที่วิธีคิดแบบปฏิฐานนิยม (positivism) ของวิทยาศาสตร์เฟื่องฟูเช่นนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องทางสังคม ปรากฏการณ์ทางสังคมชุดต่างๆที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เหมือนกันทุกเหตุการณ์ จนสามารถจะทดสอบ ทำซ้ำ จนสามารถที่จะตั้งเป็นคำอธิบายระดับมหภาค ครอบจักรวาล (grand theory) กันได้ง่ายๆ แบบข้อเท็จจริงเชิงวิทยาศาสตร์ที่คำอธิบายนั้นยึดอยู่ในกลุ่มเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่มีแง่มุมของความจริงเพียงด้านเดียว

ฉะนั้น ใครที่เคยนั่งเทียน หรือทำอะไรทำนองนี้มาก็ไม่ต้องไปใส่ใจ ว่ามันจะดูไม่ดี และควรเอาเวลาไปพัฒนาการนั่งเทียนของตนเองให้แข็งแรง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการเรียนรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา หรือสังคมศาสตร์นี้ การจะอยู่รอดให้ได้นั้น ผู้ศึกษาควรจะมีความสามารถที่จะปลดตัวเองออกจากความจริงที่เห็นครอบอยู่เบื้องหน้าแล้ว เข้าสู่ห้วงแห่งจินตภาพชั่วคราว ไปคิดค้น ทดลอง พิจารณา วิเคราะห์ไตร่ตรอง เพื่อทำนายหาผลลัพธ์ของปัญหา และคำถาม ข้อสงสัยต่างๆ อันจะนำไปสู่การสร้างข้อสันนิษฐาน สมมติฐาน และคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างมีเหตุผลอยู่บนพื้นฐานของการใช้ตรรกะ แม้ผลที่คลอดออกมา อาจจะเป็นคำอธิบายที่ดูเป็นนามธรรม หรือ มีลักษณะแปลก แต่หากสามารถยืนยันได้ถึงเหตุผลที่รองรับตามฐานความเป็นไปได้ แล้วจึงนำไปสู่การค้นคว้าที่ถูกต้องตามหลักการทางวิชาการ (academic) ต่อไป เพื่อพัฒนาเสริมข้อเสนอ(อันได้มาจากการนั่งเทียน ทดลองในห้วงแห่งจินตภาพนั้น) ให้มีความเป็นรูปธรรมต่อไป

สุดท้าย จากเหตุผลที่ได้อภิปรายไว้ข้างต้นนี้ จะช่วยทำให้เห็นได้ถึงประโยชน์ และคุณูปการของการนั่งเทียน รวมถึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงในอีกแง่มุมของการนั่งเทียน ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การช่วยเปิดโลกให้แก่ผู้นั่งเทียนในการมีทัศนคติที่กว้างขวางต่อเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ใด ปรากฏการณ์หนึ่งให้รอบด้านมากยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเป็นกลไกและวิธีสำคัญชุดหนึ่งในการที่วงการสังคมศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์จะได้มาซึ่งวิธีคิด คำนิยาม คำอธิบาย หรือ ทฤษฎีที่แปลกใหม่ต่อสิ่ง ต่อปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่งได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องลงทุนในราคาที่สูงมากมายอีกด้วย การนั่งเทียนจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่คนเป็นนักศึกษาสายสังคมศาสตร์พึงมีไว้ร่วมกับทักษะการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อป้องกันตัวเองจากความคิดของตัวเองที่อาจจะยึดติดกับอะไรบางอย่างมากเกินไป จนในบางครั้งอาจมีมุมมองที่แคบต่อการรับมือกับโจทย์ที่ตนเองได้รับ อันจะเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ปิดกั้นไม่ให้นักศึกษาหรือผู้ศึกษา สามารถคิดอะไรที่เป็นเชิงแตกต่าง แหวกแนว หรือ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้

และต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงสำคัญว่า หากไม่มีการนั่งเทียนของ Plato ในวันนั้น ก็คงไม่มีตำราเรียนที่ชื่อว่า “The Republic” ให้เราได้เรียนกันในวันนี้ มากไปกว่านั้น หากไม่มีการนั่งเทียนในวงการสังคมศาสตร์และปรัชญาในอดีตก็คงจะไม่มีสังคมศาสตร์ที่เราเห็นอยู่ในมุมแบบทุกวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net