Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ได้ยินข่าว คุณปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา ลูกชายของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นว่าที่ร้อยตรี รับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตร ทำงานด้านกิจการพลเรือนเพราะจบนิเทศศาสตร์ โดย พล.อ.ปรีชา เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งเอง เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามก็ยอมรับและระบุว่าคนอื่นๆเขาก็ทำกัน

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18เม.ย. ระบุว่าการที่ปลัดกระทรวงกลาโหมลงนามแต่งตั้งบุตรชายเป็นนายทหารเป็นเรื่องปกติ เพราะผู้ได้รับการแต่งตั้งมีคุณสมบัติตามระเบียบของกระทรวง และเหตุที่ไม่ต้องผ่านการสอบเพราะเป็นการแต่งตั้งจากตำแหน่งที่ขาดในการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพ จึงดูแค่คุณสมบัติและประวัติการกระทำผิดทางกฏหมายเท่านั้น

ถ้าว่ากันเรื่องคุณสมบัติ ผมจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยังไม่ทันจะได้รับปริญญา ช่วงนั้น ผมผ่อนผันการเกณฑ์ทหารมาแล้วสองครั้ง และหากผมไม่ผ่านการเกณฑ์ทหารก็จะมีปัญหาในการสมัครงาน เรื่องนี้สังคมไทยทุกคนรู้ดี

ผมตัดสินใจเข้ารับการเกณฑ์ทหารโดยสมัครเป็นทหาร ทั้งที่จุฬายังไม่อนุมัติใบปริญญาให้ผม เเละเนื่องจากผมไม่สามารถรอจนถึงปีหน้าได้ จึงตัดสินใจใช้วุฒิ ม.6 สมัคร เพื่อเข้าเป็นทหารประจำการหนึ่งปี ฟังดูเหมือนบ้า แต่มีปัจจัยหลายอย่างรวมกันในตอนนั้น ทำให้ผมเลือกเดินหน้าที่จะลองเข้าไปอยู่ในค่ายทหาร

ผมผ่านการรับราชการในหน่วยทหาร ซึ่งเป็นหน่วยรบหลักของประเทศ ไม่ต้องพูดถึงความเหนื่อยยากและลำบาก ผมไม่เคยไปอยู่บ้านนาย ทั้งปีอยู่แต่กองพลฯงานพิธีกรรม เยอะมาก จัดโน่นนี่ตลอดเวลาทำงานตั้งแต่ตัดหญ้า ตัดต้นไม้ ทำถนน ช่วยเหลือน้ำท่วม ภัยแล้ง สารพัด หรือแม้แต่การเป็น แคดดี้ในสนามกอร์ฟ ของทหาร ก็ทำมาแล้ว ตลอดเวลาไม่เคยหนีไม่เคยอู้ ระหว่างเป็นทหารก็อ่านงานวิชาการด้านความมั่นคง บทความวิชาการรัฐศาสตร์ที่เขียนเรื่องทหารตลอด กระทั่งครบกำหนดปลดทหาร ได้รับคำชื่นชมจากผู้บังคับบัญชาเป็นอย่างดี

หลังจากปลดจากทหาร ที่ว่ากันว่าเป็นสุดยอดของการรับใช้ชาติ (ยังมิวายถูกเรียกไปบรรจุเป็นกำลังสำรองอีก ระหว่างทำงานก็ต้องไปเข้ารับการฝึกอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย) ผมก้าวเข้าสู่วงการวิชาชีพสื่อสายการเมือง ตั้งแต่สมัยยิ่งลักษณ์ ทำข่าวการประท้วงช่วงม็อบ กปปส. จนถึงช่วงยึดอำนาจ นี่ก็ก้าวเข้าสู่ปีที่สี่แล้ว มีความสัมพันธ์กับสื่อ เอกชน และภาครัฐ ดูท่าทางแล้ว ขอคิดเข้าข้างตัวเองว่าก็คงเหมาะกับงานกิจการพลเรือนทหารไม่น้อย ฉะนั้นถ้าว่ากันด้วยเรื่องคุณสมบัติ ผมว่าผมก็ไม่แพ้ บุตรชายของปลัดกระทรวงกลาโหมเช่นกัน

ถ้าพูดกันเรื่องความอยากและแรงปรารถนาที่จะเป็นทหาร ตอนเป็นทหารก่อนที่ผมจะปลดจากทหารเกณท์ ผมเคยขออนุญาตผู้กองไปสอบเป็นนายทหารสัญญาบัตรเหมือนกันนะครับ ตอนนั้นไม่มีเวลาอ่านหนังสือหรอกครับ ทำแต่งาน แต่ข้อดีคือใช้เป็นข้ออ้างในการออกมาจากค่าย ได้กลับบ้านพักผ่อนเปิดหูเปิดตาบ้าง ก็ไปสอบของกองบัญชาการกองทัพไทย ที่เปิดรับหลายตำแหน่ง

ผมเลือกสมัครสอบเป็นนายทหารด้านการข่าว เพราะมีคุณสมบัติครบถ้วน เปิดรับคนที่จบรัฐศาสตร์ด้วย แต่ ฝันสลายเพราะตอนไปสอบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต มีคนสมัครในตำแหน่งนายทหารข่าวกรองซึ่งรับแค่คนเดียว แต่ดูจากรายชื่อที่ติดบอร์ดแล้วมาสอบกันมากกว่า 2,000 คนครับ หุหุ ยังนึกในใจว่าไอ้คนที่เข้าไปคนนั้นคงเก่งน่าดู

ขณะที่คุณปฏิพัทธ์ เคยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กและมีคนแคปมาแชร์กันเมื่อวันก่อน ในทำนองว่าจริงๆแล้วก็ไม่อยากเป็นทหาร แต่ถูกร้องขอ เรื่องนี้ จริงเท็จแค่ไหน ก็บอกตรงๆว่าไม่รู้ใจเขาหรอก แต่ที่แน่ๆคือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากก็ตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ไปแล้ว

นี่ไงครับ ผมก็อยากเป็น ไปสอบแต่ไม่ติดนะครับ ระบบสอบมันมีข้อดี คืออย่างน้อยมันการันตีได้ว่า คุณจะได้คนเก่งแน่นอน

ถ้าว่ากันด้วยระบบ บุคคลจะได้รับการบรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้นั้น หากเป็นนายทหารชั้นประทวน ก็จะต้องมีการสอบแข่งขันเหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องภายใน ปีหนึ่งมีไม่มากส่วนใหญ่กว่าจะได้เป็นก็อายุมากพอสมควร

อีกวิธี คือหากเป็นบุคคลธรรมดา หรือพลเรือน หรือทหารกองหนุน ก็จะต้องสอบ แบบที่ผมเคยไปสอบข้างต้น โดยหน่วยงานไหนที่ขาดกำลังพล หรือขอเพิ่ม ก็จะต้องทำเรื่องไปยังหน่วยบัญชาการ และเปิดสอบคัดเลือกตามระเบียบของกองทัพ วิธีนี้เอง ที่คนจบปริญญาตรี หรือปริญญาโท ไม่ได้จบรร.นายร้อย จะสามารถบรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้

อีกวิธี คือการบรรจุจากบุคคลพลเรือนภายนอกเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องเปิดสอบ แต่ต้องเป็นกรณีที่กองทัพต้องการบุคลากร ที่จบการศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน สาขาวิชาเฉพาะ หรือสาขาที่กองทัพต้องการเป็นพิเศษ กรณีของคุณปฏิพัทธ์ก็เป็นแบบช่องทางนี้แหละครับ

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ คณะนิเทศศาสตร์- วารสารศาสตร์ ไม่ใช่สาขาที่คาดเเคลน หรือกองทัพไร้คนทำงาน จนต้องรีบบรรจุขนาดนั้น ทุกวันนี้คนจบนิเทศศาสตร์เต็มไปหมด หรือคนที่จะทำงานด้านกิจการพลเรือนได้ ตอนนี้ไม่ใช่คณะนิเทศอย่างเดียวแล้ว คนที่จบสังคมศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ก็ทำได้ หรือหากจะรับบุตรของข้าราชการในกระทรวงกลาโหม หรือกองทัพ ก็ต้องมีบุตรของนายทหารคนอื่นเป็นได้ อยากเป็น จบนิเทศน์ หรือมีคุณสมบัติไม่แพ้คุณปฏิพัทธ์ ไม่นับว่ามีนายทหารชั้นประทวนเก่งๆ มีประสบการณ์สามารถก้าวข้ามมาเป็นนายทหารสัญญาบัตรในตำแหน่งดังกล่าวได้อีกจำนวนมาก

ทำไมคนถึงพูดเรื่องนี้กันเยอะ เพราะนี่ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองแบบที่โฆษกกระทรวงกลาโหมชี้แจงไงครับ แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นเรื่องของความเท่าเทียมทางโอกาสและความเสมอภาค กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมไทยออกมาโวยวาย และวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งบ้านทั้งเมือง มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ยกตัวอย่างตั้งแต่เมื่อครั้งคุณเฉลิม อยู่บำรุง ย้ายลูกชายคนเล็กที่เป็นทหารเป็นตำรวจ หรือกรณีที่สังคมตั้งคำถาม หลัง บชน.กำลังพิจารณาบรรจุ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร เป็นตำรวจยศ ร.ต.ต. ระบุว่ามีความจำเป็น เนื่องจากขาดผู้มีความรู้ความสามารถ ด้านการประสานงานกับต่างประเทศ จนถูกกระแสสังคมกดดัน และตั้งคำถาม ก่อน น.ส.จิตภัสร์ จะขอถอนตัวเพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง

เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการพิจารณาปัญหาบนหลักการและระบบ การคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ ที่ถูกต้อง เราอยู่ในห้วงขณะของสังคมที่รุมประณามด่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่าทุจริต แต่อย่าลืมว่าในระบบเลือกตั้งเราสามารถวิจารณ์นักการเมืองอย่างไรก็ได้ ทั้งยังมีระบบตรวจสอบตามกฏหมาย หรือหากตรวจสอบไม่ได้อย่างเลวร้ายที่สุด นักการเมืองก็ยังถูกจำกัดช่วงเวลาการอยู่ในอำนาจแค่สี่ปี

แต่ข้าราชการ เป็นบุคคลสำคัญมาก เพราะจะต้องเป็นคนที่รับใช้ประชาชน และทำงานกินภาษีประชาชนไปตลอดชีวิต พูดแบบไม่แรงมาก หากคุณถูกตั้งคำถามเรื่องที่มาแล้วจะอยู่ในสังคมในอนาคตอย่างสบายใจได้อย่างไร ทั้งมันยังเป็นการปักหมุดสร้างมาตรฐานการบรรจุคนรับราชการ ในอนาคตไม่กลัวคนจะอ้างทำแบบนี้กันจนเป็นเรื่องปกติหรือครับ ถามว่าแล้วคนที่มาจากการแข่งขันจะรู้สึกอย่างไร

อย่าลืมนะครับ พัฒนาการของสังคมสมัยใหม่ เราคิดค้นและเราถกเถียงจนได้มาซึ่งวิธีการที่ปราศจากอคติมากที่สุดนั่นคือการสอบเข้ารับราชการ ปัญหาซึ่งสังคมไทยทุกสีและทุกขั้วเห็นตรงกันคือเรื่องการใช้อำนาจวิธีพิเศษ โดยเฉพาะปัญหาซึ่งเกิดจากระบบอุปถัมภ์ เรามีโครงการการรณรงค์และการสอนในเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กจนโตให้รังเกียจระบบอุปถัมภ์ และเห็นว่าระบบดังกล่าวจะนำมาซึ่งปัญหา

ฉะนั้นแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งอ้างว่าจะเข้ามาปราบปรามความไม่ถูกต้อง ต่อสู้กับปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ น่าจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหานี้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว สังคมอาจจะตั้งคำถามเรื่องความสง่างามจนอาจเป็นข้ออ้างทางการเมืองอันหนึ่งกลับมาทำลายความชอบธรรมทางอำนาจเอาได้

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: armworawit.wordpress.com
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net