Skip to main content
sharethis
รองโฆษกประชาธิปัตย์ชี้ให้ มท. จัดเลือกตั้งขัดกับร่าง รธน. 'จาตุรนต์' หวั่นไม่เป็นกลางแนะ คสช.วางตัวเป็นกลางเขียนกฎหมายลูกไม่เน้นเปิดทางให้ได้นายกคนนอกได้ง่ายเกิน 'จตุพร' แนะ ปฏิรูป กกต. ดีกว่าให้ มท.คุมเลือกตั้ง ด้าน 'สดศรี' จัดเลือกตั้งแทน กกต. เพราะ มท. มีเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากรอยู่เป็นจำนวนมาก
 
4 ก.ย. 2559 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ด้านการเมือง ที่เสนอให้กระทรวงมหาดไทย จัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รวมถึงให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีส่วนร่วมในการควมคุมการเลือกตั้ง ว่า ตนเชื่อว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคสช. คงไม่เอาด้วย โดยตนขอพูดในมุมกฎหมายที่ชัดเจนว่าการร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ กรธ. จะต้องยึดหลักตามในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ ดังนั้นการร่างกฎหมายลูก จะมาอธิบายรายละเอียดที่ขัดแย้งกับบทหลักไม่ได้ ซึ่งอาจารย์กฎหมายระดับมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. น่าจะรู้ดี 
 
ส่วนข้อเสนอนายวันชัย สอนศิริ สปท. และนายเสรี สุวรรณภานนท์ สปท. ที่ให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งนั้น ที่จริงแล้วมาตรา 224 ในร่างรัฐธรรมนูญ ได้ระบุหลักการชัดเจนว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดหรือดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนั้นข้อเสนอของ สปท. ที่จะให้ร่างกฎหมายลูก แตกต่างไปจากมาตรานี้จะเป็นไปได้
 
'จาตุรนต์' หวั่นเสี่ยงไม่เป็นกลางแนะ คสช.วางตัวเป็นกลางเขียนกฎหมายลูกไม่เน้นเปิดทางให้ได้นายกคนนอกได้ง่ายเกิน
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) จัดการเลือกตั้งและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูแลความเรียบร้อยในช่วงเลือกตั้งว่า มันย้อนยุคไปไกลก่อนจะมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกิดขึ้น ที่ในยุคโน้นให้ มท.เป็นฝ่ายจัดการเลือกตั้ง ถ้ามีปัญหาใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ คือ ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งต่อมาพบว่ามีปัญหาความไม่เป็นกลางได้ง่าย เพราะข้าราชการก็จะฟังผู้บังคับบัญชาที่เป็นรัฐบาลอยู่ หรือผู้มีแนวโน้มจะมาเป็นรัฐบาล จึงให้มี กกต.ขึ้น โดยให้ กกต.เป็นองค์กรอิสระ ส่วนการลงโทษผู้กระทำความผิด ก็พบว่าการใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ โดยสถิติจะพบว่า มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายได้น้อยมาก จึงมาใช้กลไก กกต.ซึ่งมีอำนาจให้ใบเหลือง โดยให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ต้องมีหลักฐาน ไม่ต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ชัดเจนให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ ก็พบว่ามีปัญหาไปอีกแบบหนึ่ง
 
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ข้อเสนอให้กลับไปให้ มท.จัดการเลือกตั้ง น่าจะมีปัญหาความไม่เป็นกลางสูงมาก และยังไม่รู้ว่ากระทรวงมหาดไทย จะไปใช้ครู ก ครู ข และ ครู ค ชี้แจงการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ และยิ่งให้คสช.มาคุมการเลือกตั้งด้วย ก็ยิ่งมีความไม่เป็นกลางสูงขึ้นอีก และกลายเป็นการเกิดใช้อำนาจให้คุณให้โทษแก่นักการเมืองได้มากที่สุด
 
“แต่การเสนอความเห็นอย่างนี้ มีอยู่ 2 ส่วน การให้ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปจนกว่ามีรัฐบาลใหม่ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้กติกาที่ไม่ปกติ มีโอกาสที่การเลือกตั้งจะไม่มีเสรี และไม่เป็นธรรมได้มาก โดยเฉพาะถ้าให้ คสช.สามารถใช้อำนาจในการควบคุมการเลือกตั้ง และอีกส่วนคือ ปัญหาจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนนอกได้ ซึ่งเคยมีการตั้งข้อสังเกตจากประวัติศาสตร์ของเราเองมาแล้วว่า เมื่อกำหนดให้นายกฯเป็นคนนอกได้ ก็จะเกิดความพยายามต่างๆ นานา เพื่อให้ได้นายกฯคนนอกจริงๆ พยายามใช้อำนาจต่างๆ เข้ามาให้คุณให้โทษในการเลือกตั้ง เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้นายกฯคนนอก ตามที่เป็นจุดมุ่งหมายแต่ต้นในการร่างรัฐธรรมนูญ” นายจาตุรนต์กล่าว
 
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ทางที่ดีควรให้เป็นอำนาจขององค์อิสระอย่าง กกต.แต่ก็ต้องมีระบบตรวจสอบ กกต.เพื่อคานอำนาจ กกต.เพราะที่ผ่านมา มักมีการพูดกันอยู่เสมอว่ามีการซื้อเสียงกันทั้งบ้านทั้งเมือง และเรามี กกต.ซึ่งเป็นอิสระ ในการเลือกตั้งครั้งหลังๆ ก็ไม่ปรากฏว่า การเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ กกต.ได้ แต่ก็มีปัญหาน่าคิดว่า เหตุใด กกต.ให้ใบเหลือง ใบแดง น้อยมาก ทั้งที่สังคมและคนทั่วไปเชื่อว่ามีการซื้อเสียงกันมาก ถ้าการที่ไม่มีการจับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ เป็นปัญหาความบกพร่อง ความอ่อนแอของ กกต.หรือเกิดจากการที่ กกต.ทุจริตเสียเอง ก็ต้องหาวิธีแก้ แต่ทั้งนี้การปัญหาได้ถูกจุดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจคือ คสช.และตัวกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะออกกันมาก ที่พูดอย่างนี้เพราะตามบทเฉพาะกาล กกต.ไม่ค่อยได้อิสระที่แท้จริง คสช.ยังมีอำนาจเหนือทุกองค์กร รวมทั้ง กกต.ด้วย ถ้า คสช.ใช้อำนาจของตัวเองเข้ามาแทรกแซง กกต.เมื่อนั้น กกต.ก็หมดสภาพความเป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง แล้วจะไม่มีเป็นอิสระอีกต่อไป
 
“ปัญหาตอนนี้คือระบบตามรัฐธรรมนูญมีปัญหามาก แต่ถ้าปัญหาอาจลดลงได้บ้าง ถ้า คสช.วางตัวเป็นกลาง และในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่เน้นทำให้เกิดนายกฯคนนอกมากจนเกินไป” นายจาตุรนต์กล่าว
 
'จตุพร' แนะ ปฏิรูป 'กกต.' ดีกว่าให้ มท.คุมเลือกตั้ง
 
VoiceTV รายงานว่านายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ว่า พวกเชียร์อำนาจเผด็จการเสนอให้เซทซีโร่พรรคการเมืองหลากหลายรูปแบบนั้น เป็นเพียงผู้แสดงแบบแนวคิด ด้านได้ อายอด เพราะคนพวกนี้ต้องการเอาใจฝ่ายยึดอำนาจ เพื่อจะได้รับการแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอนาคต
ดังนั้น หากต้องการเซทซีโร่กันจริงควรทำพร้อมกันทุกฝ่ายทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการ ในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี พวกแม่น้ำ 5 สาย ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นต้นมา ไม่ควรมีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เพื่อให้ประเทศได้เริ่มต้นใหม่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
 
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บอกว่ามีแต่นักการเมืองเลวกลัว แต่ข้อเสนอนี้อยู่ใน สปท. ทั้งหมด ซึ่งคนพวกนี้สอพลออำนาจเผด็จการรอแต่ถูกแต่งตั้งเป็น ส.ว. คนพวกนี้ทำตัวเหมือนประเทศเป็นสมบัติส่วนตัว
 
นอกจากนี้ บรรดาผู้ร่วมแสวงหาประโยชน์ให้ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งหน้าที่โดยอาศัยอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามเสนอกลไกเลือกตั้งย้อนยุค ให้กระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คนพวกนี้ไม่เคยทบทวนและยอมรับว่า การดูแลเลือกตั้งของกระทรวงมหาดไทย เคยถูกตำหนิและถูกวิจารณ์กันมากมายว่า รัฐบาลรักษาการตั้งคณะบุคคลเข้าไปเอาเปรียบการเลือกตั้ง จึงทำให้รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มี กกต. มาดูแลการเลือกตั้งแทน ดังนั้น เมื่อถอยหลังไปเลือกตั้งแบบเดิมก็มีปัญหา หากเดินหน้าก็ยังเกิดปัญหาขึ้นเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรต้องปฏิรูป กกต. ดีกว่าการคืนอำนาจกลับไปที่กระทรวงมหาดไทยตามเดิม
 
'สดศรี' หนุนมหาดไทยจัดเลือกตั้งแทน กกต.
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ว่า แต่เดิมกระทรวงมหาดไทยก็เคยทำการเลือกตั้งมานาน ก็ไม่มีความเสียหายถึงขนาดที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ส่วนตัวมองว่า กระทรวงมหาดไทยนั้น มีเครื่องไม้เครื่องมือ บุคลากรอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในการเลือกตั้งทุกครั้ง กกต. ก็ต้องขอข้อมูลทะเบียนราษฎรจากกระทรวงมหาดไทย รวมถึงความช่วยเหลือ ความร่วมมือจากหน่วยอื่น ๆ ทั้งเรื่องหน่วยการออกเสียงเลือกตั้งก็ต้องขอความร่วมมือจากโรงเรียน และกรรมการประจำหน่วยการเลือกตั้ง ทาง กกต. ก็ต้องไปอาศัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยอีกเช่นกัน
       
ส่วนในเรื่องของการสอบสวนสืบสวน และการดูแลความสงบของหน่วยออกเสียง ก็ต้องขอความร่วมมือจากตำรวจ และ ทหาร ซึ่งเมื่อขอความร่วมมือจากทหาร การจัดการดูแลก็ขึ้นอยู่กับ คสช.
       
นอกจากนี้ จะเห็นว่า ตั้งแต่ตอนที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อปี 2550 ท่านก็ได้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาควบคุม กกต. เกี่ยวกับการจัดการการเลือกตั้ง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวเป็นของ คมช. กฎหมายก็ไม่เอื้ออำนวยให้ กกต. มีเครื่องไม้เครื่องมือ เหมือนหน่วยงานอื่น ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ออกมา ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติอะไร ที่ให้อำนาจกับ กกต. ในการทำงาน แต่เดิมจากที่ผ่านมา กกต. ก็ยังต้องอาศัยคนอื่นมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น หากดูจากเหตุและผลเหล่านี้แล้ว ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็ไม่แปลกที่จะปล่อยให้หน่วยงานอื่น เข้ามาทำแทน กกต. ส่วนตัวจึงมองว่าการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนจัดการเลือกตั้งก็เหมาะสมแล้ว เพราะกระทรวงมหาดไทยสามารถทำหน้าที่แทน กกต. ได้อยู่แล้ว
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net