ศาลปกครองสงขลาสั่งสำนักนายกฯ ชดเชย 'รายู ดอคอ' 3 แสน กรณีถูกซ้อมทรมาน-ละเมิด

ศาลปกครองสูงสุดสงขลาพิพากษาคดีให้สำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล กอ.รมน.จ่ายเงินสินไหมทดแทนจำนวน 348,588 บาทแก่ผู้ฟ้องคดีรายู ดอคอ กรณีถูกซ้อมทรมาน-ละเมิด-ทำให้หวาดกลัว ซึ่งขณะเกิดเหตุผู้ฟ้องมีอายุเพียง 18 ปี

19 ต.ค. 2559 ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณี รายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน จากกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กรณีการละเมิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 นำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมและควบคุมตัวน รายู ดอคอ พร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง นำตัวไปแถลงข่าวว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ และแถลงว่ารายู ฆ่าผู้อื่น โดยไม่เป็นความจริง ซึ่งในขณะนั้นผู้ฟ้องคดีมีอายุเพียง 18 ปี

โดยศาลปกครองสูงสุดพิจารณายกฟ้อง กระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 โดยให้สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทั้งหมดให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นจำนวนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 303,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2551 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2553 คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 45,468 บาท รวมเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิ้น 348,588 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 303,120 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งค่าสินไหมชดเชยทั้งหมดมีรายละเอียดดังนี้

  • ค่าเสียหายต่อร่างกายและอนามัย ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัว โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 คดีนี้การที่ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จับกุมและร่วมกันทำร้ายร่างกาย ซ้อมและทรมานผู้ฟ้องคดีที่ขณะนั้นมีอายุเพียง 18 ปี เพื่อบังคับให้รับสารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบฯ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและไม่เห็นชอบด้วยกฎหมาย ทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีจริงในระหว่างควบคุมตัว เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และสภาพความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ กำหนดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เป็นเงิน 100,000 บาท
     
  • ค่าเสียหายจากการได้รับทุกขเวทนาต่อจิตใจ ระหว่างการควบคุมตัวนั้นเจ้าหน้าที่ได้มีการร่วมกันทำร้ายร่างกาย ซ้อมและทรมานผู้ฟ้องคดีเป็นเวลาหลายชั่วโมงทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายแก่กาย มีบาดแผลฟกช้ำที่หน้าอก เอว หลัง ข้อเท้า มีเลือดคั่งที่ซอกเล็บ ปัสสาวะขัด เจ็บบริเวณหน้าอก ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจชันสูตรบาดแผลแพทย์ รพ.ค่ายอิงคยุทธบริหาร และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่ได้โต้แย้งในข้อเท็จจริงตามที่ผู้ฟ้องได้กล่าวอ้าง ประกอบกับยะผา กาเซ็งที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกันกับผู้ฟ้องคดีได้ถูกทำร้ายร่างกายและต่อมานายยะผาถึงแก่ความตายในระหว่างควบคุมตัว ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีความหวาดกลัวต่อชีวิต ทั้งมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ฟ้องคดีที่มีวุฒิภาวะเป็นผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะศาลพิจารณาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เป็นเงิน 50,000 บาท
     
  • ค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิต และร่างกาย ตามมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีถูกควบคุมตัวจนถึงได้รับการปล่อยตัวเป็นจำนวน 26 วัน นั้นเป็นการควบคุมตัวที่เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็นและการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้เยาว์ร่วมกับผู้ใหญ่ ตลอดจนมีการทำร้ายร่างกาย ทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายไร้มนุษยธรรมต่อผู้ฟ้องคดีและบุคคลอื่นที่ควบคุมพร้อมกัน โดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองตลอดจนการจับกุมควบคุมตัวผู้ฟ้องคดี เมื่อเทียบกับความเสียที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญรับรองไว้ เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้มาตรการเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรง ดังนั้นศาลพิจารณาให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท
     
  • สำหรับค่าเสียหายต่อชื่อเสียง เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏชัดแจ้งหรือมีคำพิพากษาของศาลว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดตามที่กล่าวหาจริง แต่การลงข่าวโดยระบุว่าผู้ฟ้องคดีกับพวกที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกันเป็นผู้ต้องสงสัยกลุ่มก่อความไม่สงบ และมีพยานผู้เสียหายชี้ตัวผู้ฟ้องคดีว่าเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงนายธนากร ภูรัตนโรจน์ และสื่อมวลชนนำความดังกล่าวไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันเผยแพร่ไปทั่วประเทศ มีผลต่อสิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ เมื่อผู้ฟ้องคดีถูกปล่อยตัวแล้ว ก็ไม่สามารถกลับไปรับจ้างกับนายจ้างคนเดิมและไม่มีผู้ใดว่าจ้าง ด้วยเหตุที่มีการลงข่าวแพร่หลาย และไม่ปรากฏว่าหลังจากการปล่อยตัวผู้ฟ้องคดี เจ้าหน้าที่ได้มีการแก้ข่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี กรณีนี้ศาลพิจารณาให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 50,000 บาท
     
  • ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะถูกควบคุมตัว ผู้ฟ้องคดีมีอาชีพรับจ้างกรีดยางและรับจ้างทั่วไป รายได้วันละประมาณ 120 บาท นับแต่วันที่ถูกกระทำละเมิดวันที่ 19 มีนาคม 2551 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีถูกจับเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2551 มารดาผู้ฟ้องคดีได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรรือเสาะ ว่าผู้ฟ้องคดีถูกทำร้าย และถูกควบคุมตัวอีกเป็นระยะเวลา 22 วัน รวมระยะเวลาผู้ฟ้องคดีถูกควบคุมตัว 26 วัน ถือเป็นระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ เห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เป็นเงิน 3,120 บาท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท