Skip to main content
sharethis

แคว้นแคชเมียร์ในอินเดียมีเหตุประท้วงต่อต้านอำนาจกองทัพหลังมีคนถูกจับมัดกับรถแห่ประจานรวม จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการสั่งปิดเว็บโซเชียลมีเดีย 22 แห่งโดยอ้างว่าต้องปิดเพราะถูกพวก "ต่อต้านประเทศ" นำมาใช้ แต่ก็มีคนสงสัยว่ารัฐบาลเพียงแค่ต้องการปิดกั้นเรื่องราวมุมมองอื่นๆ ที่มองต่างจากรัฐบาล อีกครั้งการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเช่นนี้ยังขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

ที่มาของภาพประกอบ: Global Voices

3 พ.ค. 2560 กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐในแคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย ที่สั่งบล็อกโซเชียลมีเดีย 22 เว็บ/โปรแกรม เช่น เฟซบุ๊ก, วอตส์แอพ และทวิตเตอร์ ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในช่วงที่มีแคชเมียร์ยังคงมีการประท้วงและเหตุวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ทางการแคชเมียร์อ้างว่าสาเหตุที่พวกเขาสั่งปิดโซเชียลมีเดียในพื้นที่นี้ เนื่องจากมัน "ถูกนำมาใช้ในกลุ่มการต่อต้านประเทศอินเดียและต่อต้านสังคม"

ทางการของแคชเมียร์เปิดเผยอีกว่าพวกเขาสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กเหล่านี้ภายในพื้นที่แตชเมียร์ โกลบอลวอยซ์วิลเลจระบุว่าทางการสั่งห้ามในเรื่องนี้ในช่วงที่มีเหตุความวุ่นวายในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะช่วงหลังจากที่มีคนรู้เรื่องทหารอินเดียจับชาวแคชเมียร์มัดไว้หน้ารถจี๊บทหารแล้วแห่ประจานวนรอบหลายหมู่บ้านในแคชเมียร์ เรื่องนี้ทำให้มีผู้คนกล่าวประณามจำนวนมาก

ในการสั่งปิดโซเชียลมีเดียในครั้งนี้ก็ทำให้ชาวแคชเมียร์และคนในพื้นที่อื่นๆ ของอินเดียจำนวนมากไม่พอใจเช่นกันเนื่องจากเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่มีรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอินเดีย มีหลายคนใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการประท้วงเช่น นักข่าวชื่อ เกาฮาร์ กีลานี โพสต์แสดงความไม่พอใจเรื่องการสั่งแบนโซเชียลมีเดียของรัฐบาลอินเดียผ่านทางทวิตเตอร์

ในช่วงไม่กี่วันหลังจากนั้นการประท้วงของนักศึกษาก็เข้มข้นขึ้นเพื่อต่อต้านการใช้กำลังรุนแรงภายใต้กฎหมายอำนาจพิเศษกองทัพของอินเดีย (AFSPA) ที่เป็นการขยายอำนาจของกองทัพในภูมิภาคต่างๆ อย่างน่าเป็นห่วง รวมถึงมีการที่เจ้าหน้าที่ทางการไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายในบางกรณีภายในพื้นที่ที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ด้วย รวมถึงในบางพื้นที่ของอินเดียก็มีการวางกำลังทัพหนาแน่นถึง 700,000 นาย มากจนกลายเป็นพื้นที่ที่มีทหารปฏิบัติการอยู่หนาแน่นที่สุดในโลก

อังชุกันทา จักราบดี นักเขียนอี-แมกกาซีนระบุว่าการปิดกั้นโซเชียลมีเดียในครั้งนี้น่าจะเป็นความต้องการปิดกั้นเรื่องเล่าของแคชเมียร์จากอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่ใช่มุมมองของรัฐซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าเหตุการณ์ในแคชเมียร์มีความซับซ้อนกว่าและไม่สามารถตัดสินได้ด้วยการยกตนมีจริยธรรมสูงกว่า เรื่องเล่าแบบที่หลากหลายมากขึ้นนี้เองจะเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายรัฐรู้สึกไม่สบายใจ

โซเชียลมีเดียที่ถูกปิดนอกจากเฟซบุ๊ก, วอตส์แอพ และทวิตเตอร์ แล้วยังมีแม้กระทั่งโซเชียลสัญชาติจีนอย่างคิวคิว ไป่ตู้ และวีแชต นอกจากนี้ยังบล็อกแม้กระทั่งยูทูบ สแนปแชต ฟลิกเกอร์ สไกป์ และพีอินเทอร์เรสต์ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลอินเดียจะเคยเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตแะเว็บไซต์บางส่วนในแคชเมียร์มาก่อนในอดีตแต่นี้เป็นครั้งแรกที่มีการบล็อกโซเชียลครั้งใหญ่ รัฐบาลอินเดียยังักจะอ้างใช้โวหารโต้ตอบคนทำภาพยนตร์ นักกิจกรรม หรือเอ็นจีโอ ที่วิจารณ์พวกเขาว่าเป็น "พวกต่อต้านประเทศ"

การบล็อกเว็บในครั้งนี้ยังถือเป็นการกระทำที่เรียกว่า "การชัทดาวน์อินเทอร์เน็ต" ซึ่งหมายถึงการสกัดกั้นอินเทอร์เน็ตหรือเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้หรือทำให้ใช้การไม่ได้ โดยเป็นการสกัดกั้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือจำกัดเฉพาะกลุ่มประชากรจำนวนหนึ่ง เคยมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นกับจัมมูและแคชเมียร์มาแล้ว 28 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งการทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อินเดียเคยให้คำมั่นกับนานาชาติไว้ โดยที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเคยออกมติเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาระบุว่าการชัทดาวน์อินเทอรเน็ตเช่นนี้เป็นเรื่องน่าประณาม

เรียบเรียงจาก

Indian Government Bans 22 Social Media Platforms in Kashmir including Facebook, WhatsApp, Global Voices, 28-04-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net