Skip to main content
sharethis

หมอประเวศ ชี้รัฐต้องมีนโยบายเกี่ยวกับบทบาท รพ.เอกชนที่ชัดเจน แม้สร้างรายได้และชื่อเสียงให้ประเทศ แต่ก็สร้างความเหลื่อมล้ำในระบบบริการภายในประเทศด้วย 

นพ.ประเวศ วะสี ปาฐกถาในหัวข้อ  “ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า” 

20 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งว่า วานนี้ (19 ก.ย.60) สช. จัดให้มีเวที 10 ปี สช. “สานพลังปัญญา สร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ” ณ ศูนย์การประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร  โดยมี นพ.ประเวศ วะสี ปาฐกถาในหัวข้อ  “ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า” ว่า ช่วงเวลา 10 ปีจากนี้ มีความสำคัญมากที่จะเห็นรูปธรรมของการพัฒนาระบบสุขภาพ หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และมี สช. เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนงาน โดยก้าวต่อไปยังคงต้องยึดจุดหมายไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพให้มีความทั่วถึงเป็นธรรม (Equity) คุณภาพดี (Quality) และมีประสิทธิภาพ (Efficiency) ภายใต้แนวทาง “สร้างนำซ่อม” โดยยังมีหลายเรื่องที่ต้องก้าวต่อไปเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในทศวรรษที่ 21

นพ.ประเวศ เสนอให้แก้ปัญหาโรงพยาบาลรัฐผู้ป่วยแน่น แพทย์พยาบาลภาระงานหนัก สุขภาพไม่ดีพอ โรงพยาบาลได้งบประมาณไม่พอ จนนำไปสู่ความขัดแย้ง ด้วย 3 แนวทางคือ (1) ต้องเน้นการสร้างสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเจ็บป่วยน้อยลง ทั้งนี้ปัจจัยกำหนดสุขภาพร้อยละ 80 อยู่นอกแวดวงสาธารณสุข เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อมฯ ระบบสุขภาพจึงเป็นเรื่องซับซ้อนและมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา (2) ต้องทำให้ฐานของระบบบริการกว้างและเข้มแข็ง จึงควรเน้นการส่งเสริมระบบสุขภาพชุมชน โดยการจับมือกันของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) สร้างบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ให้คนไทยทุกคนมีหมอประดุจญาติประจำครอบครัว  โดยเสนอให้มีทีมนักสุขภาพครอบครัว มีพยาบาลของชุมชน 1 คนต่อ 2 หมู่บ้าน ผู้ช่วยพยาบาล 1 คนต่อ 1 หมู่บ้าน จ้างโดยใช้เงินจากกองทุนสุขภาพตำบล  องค์กรบริหารส่วนตำบล และสถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบล (3) ปรับระบบบริหารโรงพยาบาลและการเงิน โดยปรับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข จากเดิมที่เน้นเป็นผู้กำกับดูแลโรงพยาบาล ให้เป็น “องค์กรนโยบาย” เน้นการกระจายอำนาจสู่ชุมชน อปท. และองค์กรเช่น โรงพยาบาล โรงเรียน โดยกระทรวงสาธารณุขสนับสนุนทางนโยบายและวิชาการ

“เรื่องสำคัญประการหนึ่งคือ รัฐต้องมีนโยบายเกี่ยวกับบทบาทของโรงพยาบาลเอกชนที่ชัดเจน เพราะขณะที่โรงพยาบาลเอกชนสร้างรายได้และชื่อเสียงให้ประเทศ แต่ก็สร้างความเหลื่อมล้ำในระบบบริการภายในประเทศด้วย ดังนั้น คงต้องพิจารณาข้อเสนอที่โรงพยาบาลเอกชนต้องการผลิตแพทย์ใช้เองและเหลือป้อนให้สถานพยาบาลภาครัฐว่าสามารถเป็นจริงหรือไม่ และจะมีผลกระทบอะไรแค่ไหน ขณะเดียวกันโรงพยาบาลของรัฐควรปรับตัวไปบริหารแบบเอกชน หรือทำให้เกิดโรงพยาบาลเอกชนของรัฐประมาณ 1,000 แห่ง ซึ่งนอกจากลดการขาดทุนได้แล้ว ยังมีกำไร ทำให้เกิดศักยภาพในการจัดหาเครื่องมือบริการประชาชนได้เพิ่มด้วย ยกตัวอย่าง รพ.บ้านแพ้ว ที่มีระบบบริการที่พร้อมเสนอ” นพ.ประเวศ กล่าว

สำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า นพ.ประเวศ เสนอให้ สช. ในฐานะกลไกหลักตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ต้องทำหน้าที่เพิ่มเติมในการสร้าง หน่วยสัมฤทธิ์ศาสตร์ทางนโยบายสาธารณะ (Public Policies Delivery Unit) เพื่อเสนอนโยบายสาธารณะที่สำคัญในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง ซึ่งภาคการเมืองจะให้ความสำค้ญกับทางเลือกนโยบาย โดยอาจดึงธนาคารโลกมาร่วมมือด้วย พร้อมกันนี้ยังได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจัดตั้ง สถาบันนโยบายสุขภาพแห่งชาติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เพื่อเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์ กรรมการสภาวิชาชีพ หรือหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจนโยบายเชิงระบบมากขึ้น โดยสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เหมือนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) นอกจากนี้ ยังต้องช่วยกันสร้างนักคิดเชิงระบบให้มากขึ้นด้วย

ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีการเสวนา หัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต บนเส้นทางสร้างนำซ่อม”  โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มาช่วยแก้ปัญหาในระบบสุขภาพปัจจุบัน แต่มีสิ่งที่ต้องทำให้มากขึ้นคือการให้ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และการลงมือปฏิบัติ เพื่อทำให้ปัญหาถูกแก้ไขโดยชุมชนและให้ชุมชนเป็นแนวรับใหม่

“การก้าวเดินที่ผ่านมานั้นมาถูกทิศทางแล้ว คือยืนบนหลักร่วมคิดร่วมทำ และต้องทำต่อไป ตามหลักการที่เรายึดมาตลอด คือ All for Health to Health for All นอกจากนี้เราจะไปคนเดียว ไม่ได้ต้องดึงประเทศเพื่อนบ้านเดินไปกับเราด้วย การปฏิรูประบบสุขภาพของไทยนั้นเป็นที่ชื่นชมและยอมรับของสากลมาก ดังนั้น ต้องรุกทำงานทางวิชาการและถอดบทเรียนเพื่อเผยแพร่ไปสู่ต่างประเทศด้วย” นพ.อำพล กล่าว

ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่า เครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ทั้งธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ได้จริง และสามารถใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ ที่ชุมชนมีอยู่ได้อีกด้วย การทำงานจึงต้องเน้นที่การเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ และเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสจะเกิดทางเลือกนโยบายหรือเส้นทางใหม่ เช่น HIA ที่เดิมเป็นเครื่องมือของคู่ขัดแย้ง ปัจจุบันก็พัฒนามาสู่การทำงานแบบเป็นเพื่อนร่วมคิดหรือ HIA เชิงสร้างสรรค์มากขึ้น 

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ “คลิกมุมคิด พินิจอนาคต” ว่าบทบาทของ สช. หลังจากนี้ คงเป็นเรื่องหลักๆ 4 เรื่องหลัก ประการแรก คือ สช.ต้องพัฒนานโยบายและประเด็นใหม่ๆ กล้าพัฒนานโยบายที่เคยกลัวว่าจะขัดแย้งกัน เช่น นโยบายเกี่ยวกับโรงพยาบาลเอกชน และการอพยพแรงงานต่างชาติ ซึ่งนโยบายนี้เกี่ยวพันทั้งเรื่องสุขภาพ ความมั่นคง และสังคม ฯลฯ สองคือ การขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ ที่ควรขับเคลื่อนให้เกิดนโยบาย “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” มีพยาบาล ผช.พยาบาล ที่ชุมชนว่าจ้างเอง ปรับฐานบริการสุขภาพให้ฐานข้างล่างแข็งแรง ประการที่สาม การสนับสนุนกระแสการปฏิรูป ที่ทำมานับ 10 ปี มีกลไกคณะกรรมการชุดต่างๆ สช. และหน่วยงานตระกูล ส. ควรมีศูนย์สนับสนุนส่งเสริมการปฏิรูป และมี Public Policies Delivery Unit  เป็นปัจจัยบวกในการขับเคลื่อน  และประการสุดท้าย คือ การให้ข้อเสนอแนะ สนับสนุนบทบาท ความร่วมมือ ผนึกกำลัง หน่วยงานต่างๆ เท่าที่จะทำได้ โดย สช.เป็นผู้เชื่อมประสานทั้งกระทรวงสาธารณสุข องค์กรด้านสุขภาพ และหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net