Skip to main content
sharethis

8 ปีที่แล้วเธอผู้เป็นเจ้าของร้านหนังสือบูคู ปัตตานี ตัดสินใจบอกความจริงกับสามี ครอบครัวและสังคมว่าเธอชอบผู้หญิงแล้วย้ายมาอยู่กับแฟนที่ปัตตานี ฟังคำบอกเล่าของ อันธิฌา ถึงประสบการณ์ตอนเผยตัวตน และสถานการณ์ด้านสิทธิทางเพศใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

8 ปีที่แล้วอันธิฌา แสงชัย ตัดสินใจบอกความจริงกับสามี ครอบครัว และสังคมว่าเธอชอบผู้หญิง แล้วย้ายมาอยู่กับแฟนที่ปัตตานีในเวลาที่สังคมยังไม่เปิดกว้างอย่างในปัจจุบัน จนเธอต้องเผชิญแรงกดดันมากพอสมควร ปัจจุบัน อันธิฌา เป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิทางเพศ และร่วมกับแฟนเปิดร้านหนังสือบูคู ปัตตานี รวมทั้งทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี ที่มีทั้งหญิง ชาย และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จุดประสงค์เพื่อให้ฟุตบอลเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และล่าสุดทีมฟุตบอลบูคู เอฟซีกำลังจะได้รางวัลเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากล (8 มีนาคม)

ประชาไทสัมภาษณ์ อันธิฌา แสงชัย ถึงประสบการณ์ตอนเผยตัวตนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว วันที่สังคมอาจไม่เข้าใจ แต่ 'ไม่ใช่ความผิดไม่ว่าเราเป็นเพศไหน' ชวนคุยเรื่องความสำคัญของการต่อสู้เรื่องสิทธิทางเพศ และสถานการณ์ด้านสิทธิทางเพศใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงอัพเดตแผนที่ของทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี ที่เธอหวังว่าจะได้ก้าวไปแข่งในทัวร์นาเมนต์ที่เป็นทางการมากขึ้น

 

ความรู้สึกตอนเปิดเผยตัวเอง

เราคิดหนักเหมือนกัน เพราะสถานะของเราค่อนข้างซับซ้อน เราแต่งงานแล้ว มีลูกแล้ว ถ้าเรายังโสด คิดว่าคงเป็นเรื่องง่ายกว่านี้มากที่จะตัดสินใจว่าเราจะมีวิถีทางเพศแบบไหน เป็นเรื่องยากที่จะนิยามตัวเองให้คนอื่นรู้ สิ่งที่ซับซ้อนที่สุดของเรา คือในสถานะที่เราเป็นแม่

เราค้นพบว่า สิ่งที่ทำให้เราเป็นกังวลเป็นเพราะเราโดนสอนมาอีกแบบ และสังคมไม่เข้าใจ แต่สุดท้ายเราก็ชัดเจนว่า มันไม่ใช่ความผิดไม่ว่าเราเป็นเพศไหน แต่เป็นเพราะสังคมมีวิธีการบางอย่างที่ตัดสินอย่างคับแคบ ดังนั้นเราไม่มีเหตุผลที่จะต้องรู้สึกแย่กับตัวเอง และเวลาที่สังคมมีปัญหากับเรา เราก็ควรที่จะพูดว่า มันไม่โอเคยังไง เราต้องออกมายืนยันในสิ่งที่เราเป็น ชีวิตที่เราเลือกที่จะเดิน

ตอนย้ายมาอยู่ที่ปัตตานี ครอบครัวก็ไม่ยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแม่ เราเป็นลูกคนสุดท้อง ในบ้านไม่มีลูกคนไหนที่รักเพศเดียวกัน แม่ไม่ได้คุ้นเคยกับเรื่องพวกนี้ จึงคิดว่ามีผลกระทบกับแม่มากที่สุด เขาคงจะกลัวสิ่งที่เราต้องเผชิญต่อไปในชีวิต เขาคงเป็นห่วง เขามองความสุขในชีวิตว่า มันควรจะเป็นแบบหนึ่ง คือแต่งงานมีสามี มีลูก เป็นครอบครัวอบอุ่น แต่เขานึกไม่ออกว่า ถ้าเรามีแฟนเป็นผู้หญิงเราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร

เราก็แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้โดยการใช้เวลาหลายปีเพื่อทำให้แม่เห็นว่า แม้เรามีแฟนเป็นผู้หญิง เราก็มีความสุขมาก เลือกชีวิตที่อยากเป็นและมีชีวิตที่ดีได้ และดีขึ้นด้วยเพราะการยอมรับตัวเอง มันทำให้เรามีความสุขอย่างลึกซึ้งจากข้างใน โดยไม่ต้องรอให้ใครมากำกับว่าเราควรมีความสุขกับอะไร มีความทุกข์กับอะไร

พอแม่เห็นว่าชีวิตเราไม่ได้เป็นแบบที่เขากังวล หรืออย่างที่คนอื่นบอกเขามาตลอด มันก็ค่อยๆ เกิดการยอมรับ เกิดความเข้าใจแบบที่เราไม่ต้องอธิบาย เขาอาจจะพูดเป็นคำออกมาได้ไม่ชัดหรอก เขาแค่รู้สึกลึกๆ ข้างในว่า ก็ไม่เห็นเป็นไร มันก็โอเคดี ถึงจุดหนึ่งมันก็โอเคมาก และเรื่องวิถีทางเพศของเราก็ไม่ได้เป็นปัญหากับความสัมพันธ์ของเขา

ที่สำคัญสังคมเปลี่ยนเร็วมากในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียมีผลมาก มันสามารถสร้างพื้นที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้สื่อสารกันได้มากขึ้น ให้เขามารวมตััวกันได้ ทำให้เราแสดงอัตลักษณ์เรื่องเพศ รสนิยมทางเพศออกมาได้ง่ายขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย และจริงๆ เราก็เจอแฟนในเฟซบุ๊ก

เด็กในวัยนี้ที่โตมากับโซเชียลมีเดีย ทำให้เขาได้รู้ได้เห็นอะไรอย่างกว้างขวาง แล้วก็กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเขา คนเจนเนอเรชั่นก่อนที่ไม่คุ้นเคยกับโซเชียลมีเดียก็อาจจะตามไม่ทัน

 

กังวลว่าลูกจะเข้าใจไหม?

ไม่กังวลเลย ถ้าถามเมื่อสัก 8 ปีก่อนเราคงกังวล ตอนนั้นลูกเราประมาณ 2 ขวบ ก็คิดว่า ตายแล้ว ลูกเราต้องโตมาต้องเผชิญหน้ากับอะไรวะเนี่ย ไปบอกใครว่า แม่มีแฟนเป็นผู้หญิงจะมีปมด้อยไหม แต่ตอนนี้เรารู้สึก โอ้โห ข้อมูลมีเยอะแยะเลย แล้วข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับเขาไม่ใช่ข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ตด้วย มันคือตัวเรานี่แหละที่ทำให้เขาเห็นว่า เราก็เป็นมนุษย์ปุถุชนไม่แตกต่างจากคนอื่น แล้วเราก็มีความรักให้เขาไม่ว่าตัวเราจะเป็นใคร หรือมีวิถีทางเพศแบบไหน ไม่ได้ทำให้ความรักที่เรามีต่อเขามันผิดเพี้ยน แตกต่าง เรารู้สึกว่าเรื่องนี้เขาเข้าใจได้ โดยเฉพาะเขาเป็นเด็กที่กำลังโตมาในช่วงทีสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เขาก็จะเห็นความหลากหลายเหล่านี้เอง

 

การต่อสู้ทางเพศสำคัญอย่างไร?

ความเป็นเพศเป็นอัตลักษณ์ที่กำหนดมนุษย์เราในทุกมิติของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เราถูกสอนให้ทำอะไรเพราะเราเป็นเพศนั้นเพศนี้ เราถูกบอกว่า เรามีคุณค่ามากน้อยแค่ไหนเพราะเราถูกกำกับด้วยเพศ เราถูกบอกแม้กระทั่งว่า เราควรมีความสุขกับเรื่องไหน หรือไม่ควรมีความสุขกับเรื่องไหนเพราะเรื่องเพศ ในที่สุดมันเกี่ยวกับชีวิตเรา ดังนั้นปัญหาเรื่องนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่เป็นไปตามคุณค่า ค่านิยม บรรทัดฐานที่เป็นกระแสหลัก มันจะมีผลกระทบต่อชีวิตเราทันที เราอาจถูกเลือกปฏิบัติ ถูกใช้ความรุนแรง ถูกมองไม่เห็นตัวตน ไม่ได้รับความเป็นธรรม เข้าไม่ถึงโอกาส ฯลฯ ซึ่งมาจากปัจจัยเรื่องเพศ ในระบบวิธีคิดแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ได้รับผลกระทบได้ทั้งนั้น

ผลกระทบที่เกิดกับผู้ชายหรือผู้หญิงก็ไม่เหมือนกัน บางอย่างผู้ชายก็เจอความรุนแรงมากกว่า บางอย่างผู้หญิงก็เจอความรุนแรงมากกว่า เช่น เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เมียตาย ผัวอยู่ เขาก็อาจจะแต่งงานใหม่ หาคนมาดูแลลูกได้ แต่ถ้าผัวตาย เมียอยู่จะต่างกัน แต่งงานใหม่ได้ แต่ก็จะมีเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้เขาไม่ได้มีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีเท่ากับที่ผู้ชายแต่งงานใหม่ ถ้าผู้หญิงซึ่งเป็นแม่ม่าย ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้แต่งงานกับผู้ชายที่โสด อาจจะแต่งงานกับผู้ชายที่มีภรรยาอยู่แล้ว สถานะก็จะต่างกัน หรือผู้หญิงบางคนไม่อยากแต่งงานใหม่ สังคมก็ไม่เชื่อว่าผู้หญิงจะสามารถเลี้ยงดูตัวเอง หรือจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ได้ ก็ถูกบังคับให้แต่งงานใหม่ เพื่อไปหาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลคนใหม่ ทั้งๆ ที่ผู้หญิงบางคนอาจจะพบใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ หรือดูแลตัวเองได้

เรื่องเพศยังเชื่อมโยงกับเรื่องทรัพยากร ความรุนแรง แม้กระทั่งเรื่องสันติภาพก็เกี่ยวโยงกับเรื่องเพศ ขบวนการของผู้หญิงเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์รุนแรง ผู้หญิงเป็นคนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม มีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ทำงานในภาคประชาสังคม เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นสุขภาพ ประเด็นอาชีพ คนเหล่านี้สนใจสังคมอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง คนเหล่านี้ก็ขยับมาทำประเด็นความรุนแรงมากขึ้นด้วย รวมถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงก็ขยับตัวมาทำงานเพื่อสังคม เช่น เคยเป็นคนที่ถูกเยียวยา ก็ลุกขึ้นมาเยียวยาคนอื่น หรือครอบครัวตัวเองเคยถูกฟ้องจากคดีความมั่นคง ก็ลุกขึ้นมาเป็นคนช่วยเหลือด้านกฎหมาย

 

ดังนั้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ การต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิทางเพศจึงน่าจะทำไปพร้อมกับประเด็นเรื่องสันติภาพได้?

จริงๆ มีกลุ่มที่ทำงานด้านนี้โดยตรงเป็นเครือข่ายใหญ่ ทำงานในวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ประกอบไปด้วยผู้หญิงในองค์กร กลุ่มต่างๆ รวมตัวกันประมาณ 23 กลุ่มองค์กรเป็นคณะทำงานชุดหนึ่ง ทำงานขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความรุนแรงใน 3 จังหวัดโดยตรง มีข้อเสนอไปแล้วหลายฉบับ เช่น เรื่องพื้นที่สาธารณะปลอดภัย ตอนนี้ก็ยังทำงานกันอยู่ เครือข่ายก็มีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ

 

การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิใน 3 จังหวัดชายแดนใต้พูดเรื่องสิทธิทางเพศมากขึ้น?

คิดว่ามันถูกพูดถึงมากขึ้น ตื่นตัวกันมากขึ้น อันที่จริงการที่ผู้หญิงเริ่มเข้ามาเคลื่อนไหวเรื่องประเด็นสันติภาพ หลายๆ ครั้งมันไม่ได้เริ่มมาจากการมองเห็นปัญหาในเชิง Gender เพียงแต่เขาเห็นปัญหาเรื่องอื่น เช่น สิ่งแวดล้อม ปากท้อง แล้วเข้ามาสู่การมีมุมมองเรื่อง Gender กันที่หลัง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้หญิงบางคนที่เห็นเรื่อง Gender ตั้งแต่ต้นเลย ซึ่งอาจเกิดจากค่านิยมของชุมชน

 

สิทธิผู้หญิงกับสิทธิของ LGBT ต้องเคลื่อนไปพร้อมกันไหม?

เรามองว่ามันต้องเคลื่อนไปพร้อมกัน แม้ว่าสิทธิสตรีอาจจะเริ่มก่อน แต่จริงๆ แล้วมันกำลังพูดเรื่องเดียวกัน คือความเท่าเทียมทางเพศของทุกเพศ เพราะอย่างเรา เรามองว่าอัตลักษณ์เราคือผู้หญิง แต่รสนิยมทางเพศเราชอบได้ทั้งชายและหญิง เราก็เป็นผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นการเคลื่อนไหวของสิทธิสตรีจึงต้องเคลื่อนไปพร้อมกับสิทธิของ LGBT

 

ภาครัฐกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิสตรีและ LGBT ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ไหม?

ไม่เลย ทั้งภาครัฐ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ คนที่พูดจะเป็นภาคประชาสังคม ช่วง 5-6 ปีที่แล้ว เริ่มมีขบวนการผู้หญิงที่เข้มแข็งมากขึ้น แต่แน่นอนว่าไม่มีในพื้นที่ทางการหรือบทบาทเชิงนโนยาย เช่น เวทีเจรจา ไม่มีผู้หญิงในนั้นเลย แต่ผู้หญิงจะอยู่ในลักษณะภาคประชาสังคมที่สร้างข้อเรียกร้องต่างๆ เข้าไป แน่นอนผู้หญิงพยายามเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง สร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่ผู้หญิงจะอยู่ในพื้นที่ของงานด้านการเยียวยาเยอะ ซึ่งเรามองว่า ในมิติต่างๆ มันก็เกี่ยวกับสันติภาพไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แม้งานด้านอาชีพ ปากท้อง ก็คือการทำงานให้สังคมมีต้นทุนที่ดีขึ้น

 

กิจกรรมหลักๆ ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องสิทธิทางเพศคืออะไรบ้าง?

โดยหลักๆ แล้วก็ทำเรื่องของสิทธิทางเพศ สิทธิมนุษยชน แต่พอมาดูในเนื้องานเราไม่ค่อยได้ทำในเชิงเรียกร้องความเท่าเทียมทางนโยบาย เราทำในเชิงเสริมศักยภาพผู้หญิง กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เยาวชน ทำกลุ่มคุย หรือทำพื้นที่เล็กๆ หรือกิจกรรมต่างๆ ให้เขามาเรียนรู้บางเรื่อง ให้เขาเห็นคุณค่า มั่นใจในตัวเอง เช่น ทีมฟุตบอลบูคู ก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

การเป็นคนนอกของเราเป็นอุปสรรคไหม?

หลักๆ เลยคิดว่า มันง่ายที่จะถูกตีตรา เราเป็นคนนอก นี่เป็นความคิดความเชื่อข้างนอก หรือเราเป็นคนนอกเราไม่เข้าใจความซับซ้อน จารีต ประเพณี วัฒนธรรมของที่นี่หรอก เราเลยมองว่า บางเรื่องเป็นปัญหา เราจะถูกตัดสิน แต่ขณะเดียวกัน พอเราเป็นคนนอก เราก็มีพื้นที่ทำงาน เขาจะไม่ค่อยเข้ามายุ่งอะไรกับเราเท่าไหร่ เขาจะมองว่าเราจะทำอะไรก็ทำไป ไม่ใช่คนที่เขาจะมาควบคุมจัดการ

เราทำงานกับคนในพื้นที่ได้ แล้วแต่ประเด็น ถ้าเรื่องทั่วไป เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ ให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น ก็จะไม่ใช่เรื่องที่เราจะโดนโจมตี เพราะเป็นสิ่งที่ในสังคมเข้าใจได้ บางประเด็นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เขาอาจจะเข้าใจว่าเรากำลังชักจูงคนในพื้นที่ไปในแนวทางที่ผิดจารีต ผิดหลักศาสนา ก็เป็นเรื่องที่เราต้องระวัง ต้องอาศัยช่องทางในการสื่อสาร พยายามสื่อสารมากขึ้น ทำงานในลักษณะที่เป็นกลุ่มเล็กลงหรือกลุ่มปิดมากขึ้น หรือกลุ่มที่เข้าใจตรงกันก่อน

อย่างเวลาเราพูดถึงสิทธิทางเพศนั้นมีหลายเรื่อง เช่น สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การยุติการตั้งครรภ์ บางเรื่องไม่ใช่เรื่องที่เราจะลงไปทำงานได้แบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา เช่น ตอนทำงานกับผู้หญิงที่เป็นวัยผู้ใหญ่ เราทำวงคุย วงที่ให้เขารู้สึกปลอดภัย คุยกันได้อย่างสบายใจ เรื่องความสุขทางเพศ เรื่องความรู้ทั่วๆ ไปเกี่ยวกับ Gender เขาก็จะมีคำถามที่เขาไม่รู้จะไปถามใคร เช่น ช่วยตัวเองผิดไหม เป็นต้น

 

ผู้ใหญ่มีแนวโน้มจะยอมรับได้มากขึ้นไหม?

ถ้าพูดในแง่ครอบครัว ชุมชน คิดว่าเรื่องนี้มีแนวโน้มที่ต่อรองกันได้ เพราะเขาเห็นเด็กคนนี้ตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่บุคลิกภาพทางเพศเขายังไม่ชัดเจน เขาก็มีความรักความผูกพัน แต่ก็แล้วแต่ปัจจัยเงื่อนไข แล้วแต่ว่าครอบครัวเป็นแบบไหน ชุมชนเป็นยังไง ถ้ามีลักษณะการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากๆ ประนีประนอมต่อรองไม่ได้ ก็อาจเผชิญหน้ากับความกดดันกันทุกฝ่าย และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่เด็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางสังคมก็มีสิทธิที่จะโดนบีบบังคับได้เช่นกัน เช่น เด็กติดยาเสพติด เด็กที่ท้องไม่พร้อม

เปรียบเทียบระหว่างผู้ใหญ่กับวัยรุ่นใน 3 จังหวัด เราคิดว่าวัยรุ่นรู้อะไรกว่าที่ผู้ใหญ่คิดเยอะ เพราะเขาเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เขาอาจจะรู้ถูกๆ ผิดๆ บ้าง แต่เขาก็ยังรู้แล้วเอามาถาม อย่างประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าพูดกับผู้ใหญ่เขาจะไม่มีชุดข้อมูล เขาไม่เห็นตัวอย่าง แต่เราคิดว่าเด็กๆ เห็นตัวอย่างจากในโลกโซเชียล เด็กเข้าใจได้มากกว่าผู้ใหญ่ ต่อให้เป็นโรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนศาสนาอิสลาม) หรือแม้กระทั่งในชุมชน เราคิดว่าเด็กยอมรับกันเองได้มากกว่าที่ผู้ใหญ่เข้าใจ เขามีเพื่อนที่มีความหลากหลายทางเพศ เขาเข้าใจเพื่อนในระดับที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ยังเกิดการล้อกัน การแกล้งกัน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเพศ เช่น เรื่องฐานะ รูปร่างหน้าตา สำเนียงภาษา    

 

ศาสนาอิสลามยังมีอิทธิพลที่เข้มงวดกันเรื่องนี้มากกว่าที่อื่น?

ศาสนาอิสลามเป็นชุดคำอธิบายถึงแนวทางการปฏิบัติของชีวิตทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าเป็นมุสลิมก็จะเชื่อมั่นในเรื่องนี้เคร่งครัดกว่าคนพุทธ และยิ่งเป็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็จะยิ่งเข้มข้นในเรื่องนี้ เพราะความเป็นชุมชนยังเข้มแข็งมาก และยิ่งเมื่อมันผูกพันกับเราตั้งแต่เกิดจนตาย ความเชื่อทางศาสนาเลยมีผลกับชีวิตเขาค่อนข้างเยอะ คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้บางคนก็ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมหรือศาสนาอื่นเลย

 

แผนก้าวต่อไปของทีมฟุตบอลบูคู?

แผนตอนนี้คือรอให้ทีมเข้มแข็ง แล้วอยากให้สมาชิกในทีมกำหนดทิศทางของทีมด้วยตัวเขาเอง เพราะเราเป็นแค่คนริเริ่ม แต่คนที่จะสืบสานต่อไป คือคนรุ่นใหม่ๆ ที่เขาลงเล่นในทีม เขาน่าจะสามารถออกแบบได้ว่า เขาอยากให้ทีมนี้ทำอะไร แล้วเราก็จะช่วยกันดูความเป็นไปได้ต่อไป

คร่าวๆ ที่เห็นทิศทาง เราอยากให้ทีมเข้มแข็งขึ้นในลักษณะที่เราสามารถไปแข่งในทัวร์นาเมนต์ที่เป็นทางการกว่านี้ได้ เช่นไปแข่งในทัวนาเมนต์ 14 จังหวัดภาคใต้ อีกส่วนหนึ่งคือเติบโตในลักษณะของการมีโค้ช ผู้ฝึกสอน ทีมเราเกิดมาจากฐานคิดว่า ฟุตบอลเป็นที่ที่เรามาเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และโค้ชเองก็ต้องเทรนด์คนรุ่นใหม่ๆ ในลักษณะของการเทรนด์แบบมี Gender Lens มีมุมมองในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างพิเศษ กีฬาฟุตบอลฮิตมากจนกระทั่งเขาน่าจะอยากมีลีคที่เป็นฟุตบอลหญิง ถ้าเขามีเมื่อไหร่เราก็คงเป็นทีมหนึ่งที่เข้าไปเล่นด้วย สิ่งที่คนไม่ค่อยรู้คือ มันมีทีมฟุตบอลหญิงในพื้นที่นี้มาตั้งนานแล้วแต่ไม่มีพื้นที่ให้พูดถึง ทีมประจำจังหวัดปัตตานีเองก็มีต้นสังกัดกับการกีฬาแห่งประเทศไทยไปแข่ง 14 จังหวัดภาคใต้ ทีมปัตตานีได้ที่ 2 แต่มันไม่ได้ถูกพูดถึง ไม่ได้เป็นที่ยอมรับ พอบูคูมาทำก็อาจทำให้คนพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น

 

แม้ว่าศาสนาอิสลามจะมีกฎว่า ผู้หญิงต้องระวังในการเคลื่อนไหวร่างกาย ระวังเรื่องการเคลื่อนไหวสรีระ แต่เขาก็ยังสามารถตั้งทีมฟุตบอลหญิงประจำจังหวัดได้?

สิ่งที่เป็นตอนนี้คือ คุณจะเล่น ก็เล่นของคุณไป แต่คุณไม่ต้องออกมาพูด คุณจะเคลื่อนไหวร่างกายคุณก็เคลื่อนไหวไปเงียบๆ แล้วคุณก็ไปแข่งของคุณเงียบๆ แต่ทันทีที่คุณเล่นไปด้วยแล้วตะโกนเสียงดังๆ ไปด้วยว่า ผู้หญิงเคลื่อนไหวร่างกายได้นะ อันนั้นคุณจะมีปัญหาเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เขาไม่เห็นด้วย

 

สมาชิกตอนนี้มีกี่คน?

สมาชิกในทีมตอนนี้ที่มีเบอร์ติดเสื้อมีอยู่ 23 คน ทีมเรามีทุกเพศ ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง มีผู้ชาย 5 คน แล้วก็มีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เวลาแข่งเราแข่งเป็นทีมหญิง เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่การตกลงกับอีกทีมตั้งแต่แรก เช่น อาจจะขอให้ผู้ชายเล่นด้วย หรือให้ผู้ชายเป็นประตู หรือผู้ชายก็อาจไม่ได้เล่นเลย แต่ตอนซ้อมในทีม เราซ้อมด้วยกันหมด

เราคิดว่ามันมีคุณค่า มีความสำคัญ ที่เราจะมีผู้ชายกลุ่มหนึ่งที่เติบโตมาโดยที่เขามองว่าผู้หญิงเล่นฟุตบอลเป็นเรื่องปกติ การที่ผู้หญิงผู้ชายเตะบอลกันในสนาม มันสามารถอยู่ในเงื่อนไขบางอย่าง เช่น การไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้สรีระร่างกายของผู้ชายที่อาจได้เปรียบกว่าในการไปเอาเปรียบคนอื่น มันทำให้เขาได้เรียนรู้มิติพวกนี้ เด็กผู้ชายเหล่านี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาก็น่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้เป็นอย่างดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net