Skip to main content
sharethis

คุยกับอรรถพล อนันตวรสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาถึงประเด็นร้อนเรื่องการจัดตั้ง Public School โรงเรียนรัฐที่การจัดการแบบเอกชน สะท้อนความพยายามปฏิรูปการศึกษาที่วนอยู่ในอ่าง ระบุ มติมีปัญหาเพราะตัดสินใจรีบเร่ง ไม่ชัดเจน ไม่ถามความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยกตัวอย่างสหรัฐฯ ทำโรงเรียนกึ่งรัฐ-เอกชนสุดท้ายการศึกษาเหลื่อมล้ำกว่าเดิม

ภาพจากเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ

Public School คือชื่อที่คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Public School เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบาย THAILAND 4.0 ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีมติยกมาเป็นชื่อโรงเรียนแบบใหม่ที่มีลักษณะกึ่งโรงเรียนรัฐกึ่งเอกชน คือเป็นโรงเรียนรัฐแต่นำการบริหารจัดการของเอกชนมาใช้ โดยจะมีการจัดตั้งโรงเรียนแบบดังกล่าวใน 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ จากเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ Public School มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • Public School จะบริหารจัดการโดยคณะกรรมการสถานศึกษา (จากนี้จะเรียกซูเปอร์บอร์ด) ประกอบด้วยตัวแทนจาก 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีคณะครุศาสตร์เท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้คณะอื่น ๆ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย

  • ซูเปอร์บอร์ดมีอำนาจคัดเลือกหรือเปลี่ยนแปลงผู้อำนวยการ (ผอ.) ได้ การสรรหา ผอ. สามารถหามาได้ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนอาจารย์คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์

  • ซูเปอร์บอร์ดคัดเลือกครูได้ทั้งจากข้าราชกาครูหรือผู้มีความรู้ในสาขาวิชาที่ขาดแคลน (ครูอัตราจ้าง) กำหนดเงินเดือนได้เอง จัดสรรเงินพิเศษเพิ่มเติม (ท็อปอัพ) แก่ครูที่เป็นข้าราชการได้ด้วย

  • โรงเรียนในรูปแบบ Public School จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ในเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบขยายไปยังโรงเรียนอื่นต่อไป

      มติดังกล่าวนำมาสู่คำถามมากมายเพราะตอนนี้รายละเอียดยังไม่ออกมา คำว่า Public School จริงๆ คืออะไร โรงเรียนรัฐตอนนี้ไม่ใช่ Public School หรอกหรือ อะไรที่ทำให้เร่งรีบบังคับใช้ขนาดนี้ ความเป็นไปได้เรื่องผลกระทบคืออะไร

      ประชาไทคุยกับ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ถึงปัญหาที่เป็นใจความสำคัญของมติดังกล่าว ความคลุมเครือตั้งแต่การใช้ชื่อ Public School ตัวอย่างที่ผิดพลาดจากประเทศสหรัฐฯ ทั้งนี้ การพูดคุยสะท้อนถึงความพยายามปฏิรูปการศึกษาที่สุดท้ายก็ถูกชี้ชะตาด้วยคนไม่กี่คน โดยไม่ได้ถามความเห็นของคนที่ทำงานในระบบ เด็ก และผู้ปกครอง

      อรรถพล อนันตวรสกุล

      “จริงๆ ทุกวันนี้โรงเรียนรัฐคือ Public school คือโรงเรียนที่ดำเนินการบนฐานการไม่แสวงหากำไร แต่เขาต้องการอ้างให้มันต่างว่ามีโรงเรียนที่ทำให้มีอิสระในการจัดการตัวเองมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เป็นโรงเรียนเอกชน พอเขาไปตั้งชื่อว่า Public school มันก็เป็นการทำให้สับสน” อรรถพลกล่าว

      “ประกาศที่เขาออกมาคือการทำให้โรงเรียนที่เดิมเป็นของรัฐ มีคณะกรรมการโรงเรียนที่ประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนในการบริหารโรงเรียน มีอำนาจในการตัดสินใจ ในขณะที่รัฐยังจ้างครูอยู่ แต่โรงเรียนเหล่านั้นสามารถจัดหาครูเพิ่มเติมตามความต้องการตัวเอง ทำหลักสูตรของตัวเองได้ ไม่ต้องขึ้นตรงกับส่วนกลาง แต่ตอนนี้คำสั่งมันยังไม่มีแนวปฏิบัติ เลยไม่รู้ว่ามีอิสระแค่ไหน ถึงขนาดที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ลงหรือเปล่า บริหารความโปร่งใสอย่างไร ในประกาศไม่ได้พูดถึงรายละเอียดเหล่านี้ ระหว่างที่มีการทำประกาศดังกล่าวก็มีแนวคิดเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนนิติบุคคล คือทำให้โรงเรียนเป็นองค์กรอิสระ ไม่ต้องรอคำสั่งจากรัฐ ทำธุรกรรมเองได้ จัดการตัวเองไปเลย ก็มีคณะกรรมการชึ้นมาพิจารณาแต่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่สิ่งที่ออกมาคือโรงเรียนรัฐที่มีความยืดหยุ่น มีคณะบริหารที่เป็นคนนอก จัดหา ผอ. จ้างครูและบริหารครูเองได้ แต่คำถามก็เต็มไปหมดว่าจะเอาเงินจากไหนมาบริหารจัดการ ใครตั้งกติกา ถ้าจะจ้างครูหรือ ผอ. เองจะหาเงินจากไหนมาโปะ เพราะรัฐก็มีเงินรายหัวเด็กกับค่าตอบแทนครูที่เป็นข้าราชการ ถ้าจะเปิดช่องให้ทำธุรกิจขึ้นมา ด้วยความที่ประกาศบอกว่าโรงเรียนทำหลักสูตรได้เอง แปลว่าโรงเรียนก็ซื้อหลักสูตรจากต่างประเทศแล้วมาเก็บเงินกับพ่อแม่ได้ใช่ไหม

      “นอกจากนั้น พอประกาศใช้แล้วก็ระบุว่าต้องใช้ในอีกสองเดือน คำถามคือทำไมต้องเร่งรีบขนาดนี้ แล้วมาประกาศตอนนี้ที่อีกไม่นานโรงเรียนก็ปิดภาคเรียนแล้ว ก็ไม่รู้ว่าประกาศแบบนี้เขามีธงอะไรในใจแล้วหรือยัง มีโรงเรียนเป้าหมายที่จะทำเป็นตัวอย่างแล้วหรือเปล่า แล้วครู ผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าวเขารู้ตัวแล้วหรือยัง

      “ประเด็นที่ต้องคำนึงคือรายละเอียด เพราะถ้าคุณไฟเขียวให้เป็นโรงเรียนกึ่งรัฐกึ่งเอกชนไปแล้ว ซูเปอร์บอร์ดมีอำนาจแค่ไหน ถ้ามีคนไม่ตรงไปตรงมาเข้าไปอยู่ในบอร์ดเยอะมันก็กลายเป็นดาบสองคมที่อาจจะกลายเป็นพื้นที่แสวงหาประโยชน์เพื่อทำธุรกิจจากการศึกษา”

      อรรถพลยังชี้ประเด็นที่สำคัญอีกเรื่องที่อาจเป็นแรงจูงใจให้เกิดสถานศึกษาลักษณะนี้ขึ้นมา คือความพยายามปฏิรูปการศึกษาที่หนีไม่พ้นวังวนของระบบสั่งการจากบนลงล่าง แต่ยังคงย้ำว่าต้องจับตามองรายละเอียดของวิธีปฏิบัติต่างๆ เนื่องจากมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโครงการที่จะมีผลกระทบกับโรงเรียนอื่นและเป็นภาพสะท้อนคุณภาพของสถานศึกษาที่จะถูกแปรสภาพไปจากเดิม

      “ทุกคนตระหนักดีอยู่ว่าปัญหาการจัดการศึกษาในบ้านเราตอนนี้คืออำนาจมันรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ทุกคนก็อยากเห็นการกระจายอำนาจ การจัดการตนเอง แต่การแปลงสภาพจากรัฐมาเป็นกึ่งรัฐกึ่งเอกชนมันไม่ใช่การกระจายอำนาจที่แท้จริง มันคือการเปลี่ยนคนคุมอำนาจไปที่บอร์ดโรงเรียน ที่นิวซีแลนด์ก็มีซูเปอร์บอร์ดของโรงเรียน แต่เขามีระบบธรรมาภิบาลที่ทำให้คนตรวจสอบได้ ไม่ใช่ว่าพอเงินเข้าซูเปอร์บอร์ดไปแล้วตรวจสอบไม่ได้ แต่ประกาศที่ออกมาของเราไม่มีอะไรอธิบายเลย เวลารัฐให้จัดการตัวเอง บางโรงเรียนก็มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล การคอร์รัปชัน ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมโรงเรียนในการรับมือการเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนรัฐเป็นโรงเรียนกึ่งรัฐ

      “ผมเข้าใจว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาจากความหวังดี คืออยากปฏิรูปการศึกษาแต่สุดท้ายก็ไม่เวิร์คเพราะสุดท้ายก็รวมศูนย์ที่รัฐจากบนลงล่างอยู่ดี เลยจะให้โรงเรียนบริหารจัดการตัวเองได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันจริงหรือเปล่า หรืออำนาจมันไปอยู่ที่ซูเปอร์บอร์ดของโรงเรียน มีระบบกำกับติดตามหรือเปล่า ถ้าจะออกประกาศก็ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน มีการสื่อสารกับสังคม แล้วอีกสองเดือนบางโรงเรียนก็เปิดเทอมแล้ว โรงเรียนนำร่องมีความพร้อมแค่ไหน ถูกเลือกมาอย่างไร มันมีการให้ข่าวตามหลังว่าเขาจะไม่แตะโรงเรียนใหญ่ที่มีชื่อเสียง มากลายเป็นโรงเรียนกลางๆ โรงเรียนประถม ก็น่าติดตามดูและอาจจะเป็นผลดีก็ได้

      “จะเข้าไปบริหารโรงเรียนอย่างไร มีระบบที่ทำให้ผู้ปกครองมั่นใจเรื่องคุณภาพไหม เพราะทุกวันนี้โรงเรียนที่มีโครงการภาษาอังกฤษ (English Program-EP) โรงเรียนก็ต้องมีเกณฑ์ว่าครูที่จะมาสอนต้องผ่านการอบรม ถ้าไม่มีการคุย ก็มีความน่ากังวลว่าผลลัพธ์จะออกมาหน้าตาแบบไหน ไม่ใช่แค่อยากจะทำแล้วทำให้เสร็จๆ มันก็ไม่ได้ เพราะคุณกำลังจะทำสิ่งที่กระทบกับโรงเรียนอื่นด้วย ถ้าโรงเรียนกลางๆ มาเป็นแบบนี้แล้วมีครูเก่งๆ นักเรียนเก่งๆ มาเรียนที่โรงเรียนดังกล่าว โรงเรียนอื่นก็จะได้รับผลกระทบ

      “มันไม่ใช่แค่เรื่องหลักสูตร แต่การทำให้โรงเรียนของรัฐกลายเป็นของทุกคน ยอมรับว่ารัฐไม่ได้บริหารโรงเรียนได้ดี มันมีปัญหาอยู่ แต่การเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้ามาเป็นบอร์ดของโรงเรียน พวกเขาก็ต้องเป็นคนที่ทำให้ผู้ปกครองไว้ใจว่าจะพาโรงเรียนไปในทิศทางที่ถูก”

      อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ยกตัวอย่างการเกิดขึ้นของโรงเรียนกึ่งรัฐกึ่งเอกชนในสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Charter School เป็นสถานศึกษาที่รัฐยังสนับสนุน แต่โรงเรียนจ้างครูเอง เก็บเงินเพิ่มจากพ่อแม่ได้ สุดท้ายทำให้โรงเรียนรัฐกลายเป็นแหล่งรวมของพลเมืองชั้นสอง ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่าวกว้างออกไปอีก และกังวลว่าไทยอาจจะเดินตามรอยสหรัฐฯ ทั้งนี้ การพูดคุยเรื่องใหญ่ขนาดที่จะแปรรูปสถานศึกษาไม่ควรถูกกำหนดขึ้นโดยคนไม่กี่คน แต่ต้องผ่านการรวบรวมความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อน เพราะสุดท้ายแล้วสถานศึกษาเป็นของประชาชน และประชาชนคือผู้ได้รับดอกผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการศึกษาโดยตรง

      “ถ้าเกิดในกรณีที่แย่ที่สุดคือเหมือนกับในสหรัฐฯ ที่มีการทำ Charter School คือการทำให้โรงเรียนของรัฐกลายเป็นโรงเรียนเอกชนไปเลย ให้โรงเรียนเก็บเงินเพิ่มเติมได้ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐตามปรกติ มีโปรแกรมพิเศษ มีการจ้างครู เทรนครูเอง เก็บเงินพ่อแม่เพิ่ม ทีนี้พ่อแม่ที่มีเงินจ่ายก็เอาลูกไปเข้าที่ Charter School โรงเรียน Public School ก็ถดถอย กลายเป็นแหล่งรวมพลเมืองชั้นสองหรืออาจจะยากจนหน่อย สหรัฐฯ ก็ยังแก้ปัญหาไม่ตกอยู่ ถ้าไทยเดินตามแบบนี้ก็น่ากลัวอยู่

      “แล้วของเราจะเดินตาม Charter school หรือเปล่า อยู่ๆ มาคุยเรื่องใหญ่ขนาดนี้ อย่าลืมว่าโรงเรียนมันไม่ใช่ของคณะกรรมการคนใดคนหนึ่ง แต่มันเป็นของประชาชน แต่คุณไม่ถามครู ไม่ถามผู้บริหารสถานศึกษา ไม่ถามเด็ก ไม่ถามผู้ปกครองเลยมันก็ไม่ได้ไง ทำไมต้องเร่งรีบทำให้ทันปีการศึกษาใหม่ ในเมื่อเดี๋ยวก็จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แล้วถ้ารัฐบาลเลือกตั้งไม่เอาแนวทางนี้จะทำอย่างไร นอกจากนั้น มันมีผลกระทบกับคนทำงานในระบบ กับผู้ปกครอง กับเด็กอย่างไร ถ้าเขาจะคิดให้รอบคอบก็ต้องฟังเสียงคน ไม่ใช่เรื่องที่จะปิดประตูห้องคุยกันเฉพาะคณะกรรมการที่จะเออออกันแล้วก็ลุยเลย” อรรถพลกล่าว

      ประชาไทชวนผู้อ่านตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนคนเดินดินมีสิทธิอะไรบ้างในการกำหนดอนาคตทางการศึกษาของพวกเราและบุตรหลานถ้าแม้แต่การแปรสภาพโรงเรียนยังไม่มีการรับฟังความเห็นจากครูและผู้ปกครอง หรือหนึ่งในสาเหตุที่นโยบายด้านการศึกษาขาดห้วง ไร้ความต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชนชั้นนำที่กำหนดนโยบายพากันคิดเองเออเองกันทั้งนั้น

      ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

      ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net