Skip to main content
sharethis

คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  เดินสายเก็บข้อมูลสิทธิมนุษยชนในไทย ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ชี้ผลกระทบทุนข้ามแดน แนะสร้างกลไกติดตามทุนไทยในเพื่อนบ้าน

กลุ่ม ETOs Watch ได้ยื่นจดหมายและแถลงการณ์ให้แก่คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภายหลังจากการหารือ

28 มี.ค.2561 มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน รายงานว่า ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยว่า เมื่อค่ำวานนี้ (27 มี.ค.61) ตนและคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน (กลุ่ม ETOs Watch) ได้เข้าประชุมร่วมกับ ดานเต้ เพซซี (Dante Pesce) และ ศ.สุรยา เทวา (Surya Deva) คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ห้องประชุมสหประชาชาติ ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.- 4 เม.ย.นี้

ส.รัตนมณี กล่าวว่ากลุ่ม ETOs Watch ได้นำเสนอในที่ประชุมว่าภาคประชาสังคม ได้ปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่เกิดจากการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยดำเนินการวิจัยและการรณรงค์เชิงนโยบายเพื่อเพิ่มความรับผิดชอบของนักลงทุนไทยในการลงทุนข้ามพรมแดน เป้าหมายคือ การทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรมต่อปัจเจกบุคคล และชุมชนที่ถูกละเมิดจากการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โครงการเหมืองถ่านหินบานชอง โครงการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา และโครงการเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวิน ในประเทศเมียนมา โครงการสัมปทานที่ทางเศรษฐกิจเพื่อการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาลที่เกาะกง โครงการสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจเพื่อการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาลที่โอดอร์เมียนเจย ในประเทศกัมพูชา และโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินหงสา ในประเทศลาว เป็นต้น

ส.รัตนมณี กล่าวต่อว่า จากการรวบรวมหลักฐานอย่างเข้มข้น และการสังเกตการณ์และการสืบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทยใน 8 กรณีศึกษา จึงได้มีข้อเสนอต่อคณะทำงานของสหประชาชาติ ว่า 1. มีประชาชนกว่า 100,000 คน ภายใต้การลงทุนของไทยใน 8 กรณีศึกษา ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยในกัมพูชา ลาว เมียนมา และไทย ชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้ต่อสู้เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยา ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีกฎหมายในประเทศไทยที่จะสามารถทำให้แน่ใจได้ว่านักลงทุนไทยจะมีความรับผิดชอบข้ามพรมแดนได้ 2. การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย ซึ่งได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทย โดยการละเมิดเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการไล่รื้อที่ดิน การขับไล่เชิงบังคับ และการละเลยต่อกฎหมายของประเทศที่รับการลงทุนและกฎหมายระหว่างประเทศ 3. ต้องมีการจัดตั้งกลไกการติดตามและกำกับดูแลนักลงทุนไทยอย่างเป็นระบบ โดยกลไกลดังกล่าวจะต้องมีกลไกที่รับการร้องทุกข์จากผู้ที่ได้รับผลกระทบในการระดมความกังวลและข้อร้องเรียนเพื่อแสวงหาความยุติธรรมและการเยียวยา

 ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า กลุ่ม ETOs Watch มีข้อสังเกตว่าขณะนี้ ประเทศไทยไม่มีขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมในการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลผูกพันต่อนักลงทุนไทย ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศผ่านแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) หรือมาตรการอื่น ๆ แต่อย่างใด เราทำงานผลักดันเชิงนโยบายกับผู้มีส่วนได้เสียในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแผนปฏิบัติการระดับชาติฯ จะบรรจุกฎระเบียบที่กำกับดูแลการลงทุนข้ามพรมแดนของนักลงทุนไทย ตลอดจนระบุถึงสิทธิชุมชนที่ได้รับการเยียวยาจากการลงทุนที่สร้างผลกระทบให้กับพวกเขา เรามองว่าช่องว่างและช่องโหว่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะมาตรการในการเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบซึ่งเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากนักลงทุนไทย

“เราประสงค์ที่จะให้ข้อมูลและคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนในทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทยเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงความรับผิดชอบในการลงทุนต่างประเทศของไทยที่ในปัจจุบันมีความเข้มข้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเราขอเสนอข้อชี้แนะที่เกี่ยวกับข้อคิดเห็นทั่วไป ข้อ 24 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม(ICESCR) หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และข้อปฏิบัติอื่น ๆ ในระดับสากล รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนข้ามพรมแดน 2 ฉบับ คือ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ที่มีเนื้อหาระบุว่ารัฐบาลไทยและหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ) ควรกำหนดกรอบหรือกลไกในการติดตามและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการลงทุนของไทยในต่างประเทศ และให้มีการบังคับใช้กลไกดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจได้ว่านักลงทุนและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทยดำเนินการอย่างรอบคอบและเปิดเผยข้อค้นพบต่อสาธารณะ และรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีควรมีการอภิปรายและถกเถียงเกี่ยวกับการเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุน หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทยที่วางแผนจะเข้าไปลงในกลุ่มประเทศอาเซียน จะต้องเคารพต่อสิทธิชุมชนและดำเนินการประเมินผลด้านสิทธิมนุษยชนโดยให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือต่อธุรกิจของผู้ลงทุนเอง” ส.รัตนมณี กล่าว

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ภายหลังจากการหารือ กลุ่ม ETOs Watch ได้ยื่นจดหมายและแถลงการณ์ให้แก่คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

อนึ่ง คณะทำงานแห่งสหประชาชาติฯ เป็นหนึ่งในกลไกผู้รายงานพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอิสระ 5 ท่าน ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2554 มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการดำเนินการตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ โดยหลักการชี้แนะฯ ซึ่งถูกรับรองโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในปี พ.ศ.2554 อธิบายถึงมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลที่มีอยู่และกลไกปฏิบัติ ภาระผูกพันและอำนาจหน้าของภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในระหว่างการเยือน คณะทำงานฯ จะตรวจสอบประเด็นภาคธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยคณะทำงานฯ จะประชุมร่วมกับภาคประชาสังคมในกรุงเทพมหานคร สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น และสมุทรสาคร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net