Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ขอ ประยุทธ์ และกรรมการวัตถุอันตราย สั่งยกเลิกการใช้พาราควอตในการประชุมวันที่ 23 พ.ค. นี้ หลังยืดเยื้อมากว่าปี ชี้ข้อมูลจากนักวิชาการระบุชัดถึงอันตรายทั้งพิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง และการตกค้างในสิ่งแวดล้อมรวมถึงสัตว์และคน 

18 พ.ค.2561 สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจาก ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการพบการปนเปื้อนสารพาราควอตใน กบหนอง ปูนา หอยกาบน้ำจืด และปลากะมัง มีค่ามากกว่าระดับสูงสุดที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จำกัดให้มีในอาหาร (เนื้อสัตว์) ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยปริมาณที่พบในปูนา อยู่ระหว่าง 24 – 56 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6 – 1,233.8 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1 – 12.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5 – 7.7 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อีกทั้งยังพบในอาหารแปรรูปอย่างน้ำปู๋ (น้ำปู) ซึ่งโดยกระบวนการผลิตต้องผ่านความร้อนที่สูงมาก ยังพบว่าปริมาณการตรวจพบพาราควอตไม่ได้ลดลงกว่าปูนา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย “ปริมาณที่พบไม่ได้เกินน้อย ๆ นะ มันเกินไปจนกว่า 200 เท่าในบางรายการ เห็นค่าการตกค้างแบบนี้ยังอยู่เฉยกันได้อีกหรือ?” “เมื่อก่อนนี้เรามีไร่มีนา เราสามารถจับสัตว์ในไร่นากินได้ เห็นค่าการตกค้างแบบนี้แล้ว ใครจะกล้าเอาของในไร่ในนาหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติใกล้ไร่นามากิน ข้อมูลมันชัดมากว่าไม่ใช่แค่ผู้ใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยง คนทุกคนมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน ตอนนี้เป็นปัญหาความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารด้วย”

บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจากการตรวจพบในสิ่งแวดล้อมแล้ว นักวิจัย (ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์) เขายังมีข้อมูลว่ามีการตกค้างในร่างกายคน สารกำจัดวัชพืชมันส่งต่อจากแม่ไปสู่ลูกได้ มีการตกค้างของพาราควอตในซีรัมเด็กแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20 % เขายังบอกอีกว่าคนท้องที่ทำเกษตรช่วง 6-9 เดือนของการตั้งครรภ์ พบพาราควอตตกค้างมากกว่าคนท้องที่ไม่ได้ทำงานถึง 5.4 เท่าและตรวจพบพาราควอตในขี้เทาเด็กแรกเกิดสูงถึง 54.7% “มันเกือบครึ่งหรือเกินครึ่งนะ เด็ก 2 คนที่เกิดในพื้นที่เกษตร อาจจะมี 1 คนที่ได้สารอันตรายแถมมาโดยที่เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” “ทำไมต้องเพิ่มความเสี่ยงให้กับเด็กที่จะเกิดมา” อีกทั้งข้อมูลจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังบอกว่า พาราควอตเป็นพิษในระยะยาว และก่อให้เกิดโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และอาจจะเกี่ยวกันกับมะเร็ง ยิ่งไปกว่านั้นนี้ยังมีข้อมูลว่า 50 กว่าประเทศมีการยกเลิกหรือประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตแล้ว รวมถึงประเทศที่เป็นผู้ผลิตอย่างอังกฤษ จีน และสวิสเซอร์แลนด์ อีกทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนอย่าง ลาว เขมร และเวียดนาม เขาก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย “ประเทศนี้ความรู้ทางเกษตรสู้ประเทศอื่นที่เขายกเลิกการใช้ไม่ได้ใช่ไหม เราบอกว่าเราเป็นผู้นำของอาเซียนในเรื่องเกษตรกรรม พูดแบบนี้มานาน ทีเรื่องการผลิตอย่างปลอดภัยกลับอยากเป็นผู้ตาม” “เราจะปล่อยให้ประเทศเราเป็นผู้รับสารเคมีอันตรายของต่างงประเทศหรือ”

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้อยากเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นแก่ความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค เห็นแก่สุขภาพของคนทั้งประเทศขอให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต ในการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 23 พ.ค. นี้

สารี กล่าวต่อว่า ขอเชิญชวนประชาชนและสื่อมวลชนที่สนใจร่วมเวทีความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอต ในวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ค. 61 ระหว่างเวลา 9.30 น. – 13.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพ

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net