Skip to main content
sharethis

กลุ่มทนายความสิทธิมนุษยชนรวบรวม "ลายนิ้วมือ" 400 ชุดจากผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวโรฮิงญา เสมือนลายเซ็นจากผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ ซึ่งทางการพม่าเข่นฆ่าญาติมิตรพวกเขาไปต่อหน้า บ้างถูกข่มขืน และไล่ที่ออกจากบ้านเกิดจนต้องอพยพไปสู่บังกลาเทศ พวกเขาส่งลายนิ้วมือเหล่านี้ให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อฟ้องร้องการกระทำของกองทัพพม่า และหวังว่ากระบวนการทางกฎหมายระหว่างประเทศจะเปิดทางให้มีการตีความการกระทำความผิดในแบบที่ข้ามพรมแดน จะอาจจะสามารถเอาผิดกับรัฐบาลพม่าผู้ไม่ได้ลงนามกับ ICC ได้

ภาพประกอบ: ชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังกลาเทศ ภาพถ่ายเมื่อ 13 ตุลาคม 2017 (ที่มา: Seyyed Mahmoud Hosseini/Tasnim News Agency/Wikipedia/CC BY 4.0)

4 มิ.ย. 2561 นิวยอร์กไทม์รายงานเรื่องการร้องเรียนต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) ในกรุงเฮก ให้มีการสืบสวนกรณีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

โดยในเอกสารภาคผนวกจำนวน 20 หน้า มีการพิมพ์ลายนิ้วมือสีม่วง 400 ลายนิ้วมือจากผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เนื่องจากพวกเขาไม่รู้หนังสือ ลายนิ้วมือเหล่านี้จึงนับเป็นสิ่งแทนการลงลายมือชื่อของพวกเธอ

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องหนีตายจากบ้านเกิดเมื่อปีที่แล้วจากการสังหารหมู่โดยน้ำมือของกองทัพพม่าในเหตุการณ์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2560 หนึ่งในผู้ที่ร่วมลงนามด้วยลายนิ้วมือของตัวเองบอกว่า "พวกเรารู้สึกอ่อนแอ พวกเรารู้สึกเศร้าโศก พวกเราไม่สามารถแบกรับความว่างเปล่าจากการสูญเสียสมาชิกครอบครัวของพวกเราได้ ... พวกเรากำลังคาดหวังความยุติธรรมจากสหประชาชาติและศาลอาญาระหว่างประเทศ"

จนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ก่อเหตุคนใดถูกจับมาลงโทษ พยานผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนบอกว่ากองทัพพม่าในเครื่องแบบสังหารและข่มขืนพลเรือนชาวโรฮิงญา

กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มก็มองว่าการที่ไม่มีใครถูกนำตัวมารับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะศาลอาญาระหว่างประเทศถูกตั้งขึ้นเพื่อตัดสินคดีเลวร้ายเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

อย่างไรก็ตามมีอุปสรรคหลายอย่างในการนำตัวผู้ก่อเหตุในรัฐบาลพม่าเข้าสู๋กระบวนการยุติธรรม อุปสรรคประการแรกคือการที่พม่าไม่ได้ลงนามรับรองธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำให้ศาลไม่สามารถดำเนินการทางอาญากับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในพม่าและกระทำโดยชาวพม่าได้ เว้นแต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะอนุมัติให้อำนาจในเรื่องนี้ แต่ผู้สังเกตการณ์ก็บอกว่ามันเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น และอีกปัญหาหนึ่งคือการที่ ICC ไม่มีหน่วยตำรวจของตนเองและต้องอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐบาลในประเทศนั้นๆ จับกุมตัว

นั่นทำให้กลุ่มอัยการและกลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพยายามใช้วิธีการใหม่ๆ เช่นอาศัยการที่ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องถูกบีบให้ไปอยู่ในบังกลาเทศ จึงสามารถฟ้องร้องได้ว่าอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเกิดขึ้นในบังกลาเทศด้วย โดยที่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลบังกลาเทศเองเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ แต่หมายความว่าจะสามารถใช้บังกลาเทศเป็นเส้นทางสู่การขยายขอบเขตอำนาจการพิจารณาคดีได้

กลุ่มที่ดำเนินการในเรื่องนี้มีชื่อว่าชานตีโมหิลา หรือ "ผู้หญิงสันติ" ทนายความของกลุ่มนี้บอกว่าตราบใดที่พม่ายังไม่ยอมให้ชาวโรฮิงญากลับพื้นที่ของตัวเองและถูกบีบให้ต้องอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ นั่นหมายความว่าอาชญากรรมที่กองทัพพม่าเคยก่อไว้ยังไม่จบและกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะในข้อหา "การกีดกันเชื้อชาติ การปราบปรามลงโทษ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" แม้ว่าจะอยู่ภายนอกอาณาเขตของพม่าเอง และถ้าหากว่าศาลยอมรับคำร้องในเรื่องนี้ก็จะถือว่ากฎหมายนานาชาติก้าวกระโดดไปไกลมาก

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฟาตู เบนซูดา หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดเผยหลังจากขอคำแนะนำจากผู้พิพากษาว่า จากจุดยืนเธอแล้วการพิจารณาจะอาศัยเป็นไปตามหลักการที่วางไว้อย่างดี ในแง่่ที่ว่าการบังคับให้เกิดการอพยพนั้นถือเป็นปัญหาที่นานาชาติให้ความสนใจเร่งด่วน พวกเขามีกำหนดการว่าจะจัดพิจารณาคดีภายในแบบปิด ไม่ให้คนภายนอกเข้ารับฟังในวันที่ 20 มิถุนายนที่จะถึงนี้

ซึ่งการพิจารณาคดีแบบปิดนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เช่น เควิน จอน เฮลเลอร์ ศาตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอนวิจารณ์ว่าการพิจารณาคดีเป็นเรื่องประเด็นกฎหมายล้วนๆ ทำไมถึงต้องพิจารณาลับ

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าถ้าหากมีการพิจารณาคดีในครั้งนี้มันอาจจะส่งผลสืบเนื่องไปสู่กรณีการสังหารในซีเรียด้วย เพราะถึงแม้ว่าซีเรียจะไม่ได้ลงนามกับศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ประเทศจอร์แดนที่อยู่ใกล้เคียงกันลงนามเป็นสมาชิกร่วม นั่นทำให้ชาวซีเรียที่ลี้ภัยไปยังจอร์แดนนับแสนคนอาจจะถูกนับรวมเป็นโจทก์ที่สามารถเอาผิดกับรัฐบาลซีเรียได้ และนอกจากนี้ยังอาจจะนำมาใช้กับกรณีความขัดแย้งอื่นๆ ที่มีการกระจายตัวออกไปนอกพรมแดนประเทศได้

นักวิเคราะห์มองว่าเรื่องการพิจารณาคดีด้วยขอบเขตของประเทศที่ผู้ลี้ภัยเข้าไปอาศัยอยู่นั้นยังอยู่ในพื้นที่เทาๆ ประเมินคำตัดสินไม่ได้ แต่มันก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่ ICC จะกู้หน้าให้ตัวเองหลังจากมีกรณีไม่ดำเนินคดีต่อกับ อุฮูรู เคนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา และ ICC ก็กำลังมีปัญหาไม่สามารถเอาผิดกับรัฐบาลประเทศสมาชิกรวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงได้ นักวิเคราะห์ชี้อีกว่ามันอาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่ ICC จะกลายเป็นองค์กรที่ดำเนินคดีในแบบครอบคลุมระดับโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีในจอร์เจีย, อัฟกานิสถาน, ปาเลสไตน์-อิสราเอล และหลายกรณีในแอฟริกา

สำหรับกรณีของโรฮิงญานั้น กลุ่มทนายความเป็นตัวแทนผู้หญิงและเด็กหญิง 400 คนยืนยันว่ารัฐบาลพม่าก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเชิงปราบปรามชนกลุ่มน้อยทั้งในพม่าเองและขยายผลไปสู่บังกลาเทศ และอาชญากรรมนี้ก็ยังคงถือว่าดำเนินต่อไป โดยที่เวย์น จอร์แดช หัวหน้าทนายตวามเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นตัวแทนชาวโรฮิงญากล่าวเปรียบเทียบว่าถ้าหากผู้คนยังคงถูกคุมขังอย่างผิดกฎหมายอาชญากรรมจะยังไม่จบลงจนกว่าบุคคลที่ถูกคุมขังจะได้รับการปล่อยตัว สำหรับกรณีโรฮิงญาก็เช่นกัน พวกเขาถูกวางเงื่อนไขจากรัฐบาลพม่าให้เผชิญกับการทำลายล้างกลุ่มบุคคลให้หายไปโดยสิ้นเชิง หรือไม่เช่นนั้นก็ถูกสกัดกั้นไม่ให้กลับบ้านได้

กลุ่มทนายความและนักสิทธิมนุษยชนต่างก็หวังว่า ICC จะเป็นที่ๆ ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้หญิงเจ้าของลายนิ้วมือทั้ง 400 คนนี้ได้

พารัม-พรีต สิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมนานาชาติจากฮิวแมนไรท์วอทช์บอกว่าทางการพม่าแสดงความไม่ยอมอ่อนข้อมากขึ้นเรื่อยๆ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะยอมตรวจสอบรับผิดชอบตัวเองในเรื่องนี้ ทำให้ช่องทางสู่ความยุติธรรมที่เหลืออยู่ของพวกเขาคือการฝากความหวังไว้กับ ICC

เรียบเรียงจาก

400 Thumbprints: Behind the Push to Prosecute Myanmar for Atrocities, New York Times, 30-05-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net