Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึก 4 ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลัง 30 มิ.ย.61 

13 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลัง 30 มิ.ย.2561 จำนวน 4 ประเด็น 1. รัฐบาลควรออกมาแถลงว่าเหตุใดตัวเลขที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติถึงไม่ตรงกัน และควรมีทีมสำรวจข้อมูลการหายไปของแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้เบื้องต้นมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแล้ว

2. เปิดพื้นที่ให้แรงงานที่หายไปจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติเข้าสู่กระบวนการแสดงตนอีกครั้ง เพื่อสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่อาจจะมีข้อมูลสภาพปัญหาอยู่แล้ว 3. ใช้เครื่องมือทางกฎหมายหรือนโยบายที่รัฐมีอยู่แล้ว เช่น พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 หรือฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงานข้ามชาติ ที่ได้บัญญัติการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ได้กลายเป็นผู้ไม่มีเอกสารแสดงตนโดยไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขา ในการบริหารจัดการสภาพปัญหาของแรงงานที่พบ แทนการปราบปรามโดยการจับกุมและส่งกลับ
 
4. ในระยะยาว เห็นว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรพิจารณาใช้กลไกตาม  พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีกลไกคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เป็นกลไกสำคัญในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และมาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับการจัดการในอนาคต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการ

จดหมายเปิดผนึก

วันที่ 7 กรกฎาคม 2561
 
เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลัง 30 มิถุนายน 2561
 
เรียน นายกรัฐมนตรี
 
ตามที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อพัฒนาสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทุกคนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อถือเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ชั่วคราว มาตั้งแต่ปี 2557 และให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี โดยข้อมูลจากการแถลงข่าว ระบุว่า มีแรงงานจำนวน 1,999,240 ล้านคน ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2560 และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ให้ขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติออกไปจนถึง 30 มิถุนายน 2561 โดยมีการแถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการทำให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติอยู่เป็นระยะๆ
 
อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้ติดตามความคืบหน้าด้านการดำเนินการของรัฐในการนำแรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ พบว่า รัฐบาลมีการเสนอตัวเลขแรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพิสูจน์สัญชาติที่ไม่ตรงกันและรัฐบาลไม่สามารถยืนยันได้ว่ากลุ่มเป้าของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติจริงๆ เป็นจำนวนเท่าไหร่ เช่น เดือนธันวาคม 2560 รัฐบาลระบุว่ามีแรงงานที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ 1.9 ล้านคน และในเดือนต่อมามีการรายงานตัวเลขของแรงงานที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติลดลงไปเรื่อยๆ เป็น 1.6 ล้าน และ 1.3 ล้าน  (แถลงข่าวของกระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติจำนวน 1.3 ล้านคนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันให้แรงงานมาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ มีแรงงานที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 132,232 คน[1])
 
ความไม่ชัดเจนของการนำเสนอตัวเลขของรัฐบาล เครือข่ายฯเห็นว่า อาจจะมีแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้มากถึง 811,437 คน หากพิจารณาจากตัวเลขเป้าหมายเดิม 1.9 ล้านคนตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2561 มิใช่จำนวน 132,232 คน ตามที่เป็นข่าวหลังการปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ  นอกจากนั้นแล้วรัฐได้แถลงยืนยันว่าจะดำเนินการจับกุม ดำเนินคดีและส่งกลับกลุ่มแรงงานที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ตามกำหนด และเริ่มมีข่าวด้านการกวาดล้างจับกุมแรงงานมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 โดยมิได้ตรวจสอบสาเหตุของการของการที่แรงงานไม่สามารถเข้าถึงระบบการพิสูจน์สัญชาติได้ตามที่นโยบายได้ขีดเส้นตายไว้ ดังนั้น เครือข่าย จึงมีความเห็นว่า
 
1.       รัฐบาลควรออกมาแถลงว่าเหตุใดตัวเลขที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติถึงไม่ตรงกัน และควรมีทีมสำรวจข้อมูลการหายไปของแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้เบื้องต้นมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแล้ว
 
2.       เปิดพื้นที่ให้แรงงานที่หายไปจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติเข้าสู่กระบวนการแสดงตนอีกครั้ง เพื่อสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่อาจจะมีข้อมูลสภาพปัญหาอยู่แล้ว เช่น ที่เป็นกลุ่มแรงงานมุสลิมที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง เป็นแรงงานที่ถูกกล่าวหาว่าใช้เอกสารปลอม หรือกลุ่มแรงงานที่นายจ้างไม่นำไปเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดความเป็นจริง เป็นต้น
 
3.       ใช้เครื่องมือทางกฎหมายหรือนโยบายที่รัฐมีอยู่แล้ว เช่น พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 หรือฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงานข้ามชาติ (ASEAN Consensus on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers) ที่ได้บัญญัติการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ได้กลายเป็นผู้ไม่มีเอกสารแสดงตนโดยไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขา (บทที่ 1 หลักการทั่วไป ย่อหน้าที่ 15) ในการบริหารจัดการสภาพปัญหาของแรงงานที่พบในข้อที่ 1 และ 2 แทนการปราบปรามโดยการจับกุมและส่งกลับ
 
4.       ในระยะยาว เห็นว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรพิจารณาใช้กลไกตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีกลไกคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เป็นกลไกสำคัญในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และมาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับการจัดการในอนาคต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการ
 
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net