Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ การรับน้องกำลังคึกคัก หลายๆมหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในช่วงรับน้อง บทความนี้จัดทำขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว และจากการรับฟังเรื่องราวต่างๆ ของเพื่อนที่ไม่ยอมรับระบบโซตัส (Sotus) และได้รับผลกระทบจากระบบโซตัส (Sotus) โดยกลุ่มคนเหล่านั้น มาแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวให้ผู้เขียนได้รับฟังตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของการเป็นนักศึกษาปี1 แม้ว่าส่วนตัวจะอยู่ในระบบโซตัส (Sotus)เพียง 1 เทอม แต่ได้รับประสบการณ์ที่เป็นบทเรียนสำคัญในการแบ่งปันเรื่องราวสู่คนที่จะถูกรับน้อง

เมื่อทราบว่า Sotus ในคณะสายสังคม เป็นการสร้างคนเข้าสู่ระบบราชการ ผ่านการใช้วิธีต่างๆ คล้ายคลึงกับการฝึกทหาร แทนที่นักศึกษาผู้เป็นปัญญาชนจะสามารถก้าวออกจากการอยู่ภายใต้ผู้อื่นตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียน นักศึกษาไทย จะต้องตกอยู่ภายใต้แนวคิดของผู้ใหญ่ตลอดเวลาซึ่งการเชื่อฟังเป็นสิ่งที่ดี แต่บางสิ่งก็ควรจะต้องฝึกคิดเองทำเอง โดยอายุของนักศึกษาคือช่วงที่ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่  แต่กลับเชื่อฟังคนที่เรียกตัวเองว่า “พี่” แล้วออกกฎนานับประการมาใช้กับนักศึกษาใหม่ อย่างไร้จริยธรรม และไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความเป็นคน แทนที่จะพัฒนาทักษะทางวิชาการ การทำกิจกรรมให้กับสังคม หรือเป็นประโยชน์ มากกว่าการรักษาวัฒนธรรมเดิมๆที่ไม่ได้นำไปพัฒนาสังคมได้จริง แต่กลับฝึกให้คนชินชา กับการอยู่ภายใต้ผู้อื่นตลอดเวลา

วัฒนธรรม (Culture) คือสิ่งที่เป็นพฤติกรรมหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยรูปแบบกิจกรรมของมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ ซึ่ง โซตัส (Sotus) ในมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งถูกเรียกว่าเป็น วัฒนธรรม และมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามการพลวัต (Dynamic) ของสังคม แท้จริงแล้วหากได้สัมผัสกับ โซตัส (Sotus)  จะรู้ได้ว่าการพลวัตนั้น น้อยมาก หากมีการตรวจสอบจากองค์กรภายนอก หรือองค์กรนักศึกษาเอง ก็จะมีการสร้างภาพอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา จากประสบการณ์โดยตรงและการเก็บข้อมูลพบว่า องค์กรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เข้าไปตรวจสอบระบบโซตัส (Sotus)นั้น แจ้งกับทางคณะล่วงหน้าทำให้การตรวจสอบไม่เกิดประโยชน์ แล้วสิ่งที่หลายๆคณะมีความพยายามบอกว่า ปรับเปลี่ยนให้เบาลงซึ่งความเป็นจริงจะไม่รู้สึกว่าปรับเปลี่ยนอะไรเนื่องจากคนที่จะต้องเข้าในระบบนั้นไม่ได้ออกแบบระบบเอง  

บอกเล่าเรื่องราวที่ได้พบเจอกับการรับน้อง คือ ระบบโซตัส (Sotus)มีกฎระเบียบที่มาก เช่น การแต่งกาย การห้อยป้าย การไหว้พี่ ห้องเชียร์คือห้องว้าก นัดทำกิจกรรมบ่อยถ้าแบ่งเวลาไม่ดีกระทบการเรียน ใช้หลักจิตวิทยาในการกล่อมเกลาเก่ง “พี่บริการเป็นอย่างดีทุกอย่าง จัดเตรียมขนม น้ำหวาน มาแจกน้องๆ ตะโกนเรียกน้องในห้องเพราะถึงเวลาพัก พาน้องเข้าห้องน้ำ เฝ้ารอแล้วก็พาน้องกลับมารอนั่งที่ห้อง มีการให้ความบันเทิงดูแลเป็นอย่างดี ทำกิจกรรมร่วมกัน สนุกสนาน ทุกคนประทับใจ ความผูกพันกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้น”

วันเสาร์ที่ทุกคนไม่ได้เรียนแต่เราพี่น้องร่วมคณะมาทำกิจกรรมกัน พี่ดูแลน้องทำความรู้จักกับน้อง พี่รหัสน้องรหัสไว้ดูแลกัน เมื่อได้พี่รหัสรู้สายตระกูลแล้ว พี่ก็ซื้อของมาให้น้อง พาน้องไปเลี้ยงอาหาร ปี 1 จะหลงระเริงในการที่พี่ดูแล ซื้อของให้ พาไปเลี้ยงอาหารที่มักจะเรียกว่า “เปย์” ซึ่งเปรียบดั่ง ลัทธิกุมารทอง คือการเลี้ยงดูแลเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้น้องออกจากตระกูล และคำว่า “รุ่น”ปรากฏขึ้น 

จนกระทั่งวันหนึ่งมีการไปสาบานตนกับรูปปั้นบางสิ่ง มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า นี้คือการนำวิธีทางความเชื่อมาใช้กับคนดั่งเช่นสมัยอยุธยาที่เขาสัตย์สาบานตนกัน   มีการสาบานจะไม่ทรยศเพื่อนทรยศพี่ อีกหรอทั้งๆที่เรา มีจิตสำนึกได้ด้วยตนเองการกระทำด้วยการสาบานเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก

“ห่วย ระเบียบเชียร์ไปดิ ง่วงก็ไปนอน ใส่ใจหน่อย ไม่พอใจก็คืนของเลย” ของที่ว่านั้นก็คือเนคไทด์ กับติ่ง และหัวเข็มขัด ผู้ชายที่รูปร่างลักษณ์เหมือนโจร ไว้หนวดเครา ตะโกนตะคอกใส่ ปี1 อย่างไร้มนุษยธรรม และนำอำนาจมาใช้ในทางลบ การแสดงละครหลังเลิกเรียนเกิดขึ้นทุกวันระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือน ห้องผู้คนที่เรียกตนเองว่า พี่ มาแสดงพฤติกรรมอันป่าเถื่อน ที่ปัญญาชน หรืออนาคตของชาติไม่ควรทำแม้ว่าอดีตที่ผ่านมามีการใช้ระบบนี้ เรียกว่า โซตัส ทั้งๆที่เป็นการสร้างอำนาจนิยมให้กับนักศึกษาที่กำลังจะก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดีตามระบอบประชาธิปไตย แต่โชคดีปัจจุบันหลายๆ แห่งไม่มีระบบเลวทรามต่ำช้านี้ ที่ไม่เคารพในสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน ใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่หลายๆยังคงอนุรักษ์ 

แท้จริงแล้วอาจารย์หลายๆท่านไม่เห็นด้วยแต่ทำไมยังคงอยู่? คำถามนี้น่าสนใจตรงที่อาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยกลับเพิกเฉยนั้น เกิดความรู้สึกที่ว่าพยายามจะเปลี่ยนแปลงหลายครั้งแต่มันก็ยังคงมีอยู่ รวมไปถึงปัจจัยด้านอื่นๆเข้ามา เช่นกลุ่มอาจารย์บางคนที่ต้องการคงระบบ โซตัสไว้ มีความพยายามอยู่เบื้องหลังการดำเนินกิจกรรม และ ศิษย์เก่าเองที่เคยผ่านระบบเหล่านี้มารู้สึกว่าระบบนี้ต้องอยู่สืบต่อไปทำให้การใช้อำนาจที่เหล่าพี่ๆมีมาทำลายสิทธิเสรีภาพของคนยังคงอยู่ในชื่อ การรับน้อง ในทางตรงกันข้ามก็มีกลุ่มอาจารย์ที่เห็นว่าระบบดังกล่าวไม่ควรอยู่และผลักดันมันให้ออกไป จนบางคณะประสบความสำเร็จในการยกเลิกระบบนี้ 

หากไม่มี Sotus แล้วจะใช้ระบบอะไรมารองรับ? ส่วนตัวเป็นคนทำกิจกรรมมาเกือบ10 ปีรูปแบบกิจกรรมที่จะจัดหากมีความน่าสนใจและดึงดูด คนก็จะสามารถมาร่วมกิจกรรมได้มากขึ้น หรือไม่หากคนอยากทำกิจกรรมหรือเรียกร้องหากิจกรรมคนเหล่านั้นก็จะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อหางบประมาณในการทำกิจกรรมอย่างแน่นอน บางค่ายที่เข้าร่วมเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วทำไมเรายังรู้สึกผูกพันกับคนๆนั้น หรือค่าย 5วันขึ้นไป เราสามารถจดจำเพื่อนจากต่างถิ่นได้จนวันนี้ ยกตัวอย่าง ประเพณีฟุตบอล จุฬา-ธรรมศาสตร์ ทำไมคนสนใจที่จะเข้าร่วมหรือซื้อเสื้อที่ผลิตขึ้นจาก2มหาวิทยาลัยนี้ในแต่ละปี หรือกิจกรรมรับน้องรถไฟ มช.นักศึกษาไม่ได้รู้จักกันมาก่อนแต่ทำไมกิจกรรมนี้ดึงดูดคนให้เข้าร่วมมาก อีกสิ่งที่น่าคิด คือมีคนกลุ่มหนึ่ง พยายามบอกว่า “มาเรียนไม่ได้มาทำกิจกรรม” คำพูดเหล่านี้อาจจะต้องทบทวนกันหน่อยว่า ความเป็นจริงแล้วการทำกิจกรรมและการมีประสบการณ์สำคัญแค่ไหนกับชีวิต

หลังจากได้สัมผัสกับห้องเชียร์มาระยะหนึ่ง เกิดคำถามมากมายในหัว “ทำไมเราต้องใส่เสื้อผ้าตัวใหญ่ ทำไมต้องสาบาน ทำไมต้องทำตามที่พี่บอก การแต่งกายถูกระเบียบเราทำได้ด้วยจิตสำนึก พี่ยังแต่งตัวเหมือนโจร บางคนก็กระโปรงสั้นไม่ถูกกาลเทศะ  ที่สำคัญทำไมเราต้องใส่ป้ายเหมือนเข้าค่ายตลอดเวลา” ทำให้ไม่รู้สึกว่าตนเองต้องการประโยชน์อะไรจาก ระบบโซตัส 

ในส่วนของค่ายอาสา ชมรมกีฬาที่มีการบังคับน้องเข้ามีการมอมเมาทั้งเหล้าเบียร์และปลูกฝังอำนาจนิยมให้น้องคิดว่าระบบนี้มันดี พี่น้องจะช่วยเหลือกันตอนทำงานได้ ความเป็นจริงแล้วสังคมในอนาคตต้องการอะไรจากคนรุ่นใหม่หากระบบนี้อยู่และคนยังอยู่ในระบบจำนวนมาก ประเทศก็จะใช้คำว่า กำลังพัฒนาสืบต่อไป

สิ่งเหล่านี้และอีกมากมายเกิดขึ้นจากเรื่องจริง จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น เมื่อมีคนส่วนน้อยเห็นต่างกับสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ก็จะถูกการกลั่นแกล้ง(BULLY) ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์(การเหยียดแบ่งแยกว่าไม่เอารุ่นคิดต่าง) ซึ่งสามารถอธิบายถึงความขัดแย้งที่จะนำเสนอเป็นรูปแบบของแผนภาพได้ดังนี้โดยทฤษฏี Conflict Mapping ของ ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส 
 



1. แผ่นภาพนี้เกิดขึ้นจากอะไร เมื่อไหร่ และจากมุมมองไหน เกิดจากสถานการณ์จริงของนักศึกษา 2 กลุ่มของคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง   คือ การไม่ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มคนที่ไม่เอารุ่นไม่ยอมรับระบบโซตัสและคัดค้าน มีความขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบโซตัสทั้งยอมรับระบบและไม่ยอมรับระบบโซตัส โดยกลุ่มที่คัดค้านมีการแสดงออกคัดค้านการมีอยู่ของโซตัสที่มีการจัดกิจกรรมบนพื้นฐานของการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล  โดยกลุ่มคัดค้านมีการนำเสนอเป็นบทความวิชาการหรือทัศนคติ(Attitude) ในมุมมองใหม่ของคนรุ่นใหม่ ในปีการศึกษา 2560 กับวัฒนธรรมโซตัสแบบเดิม

แต่ฝั่งตรงข้ามกลับมองว่าคนที่คัดค้านนี้บ่อนทำลายระบบและมีความพยายามในการยกเลิกระบบทำลายชื่อเสียงของคณะ หมิ่นคณะ หมิ่นมหาวิทยาลัย ทั้งที่ระบบถูกออกแบบให้เข้ากับยุคกับสมัยแล้วทำไมคนคัดค้านถึงรับไม่ได้ จนนำมาสู่ความขัดแย้งทางช่องทางออนไลน์ (Cyber bully) มีการโต้ตอบกันทาง เฟซบุ๊ค  ทวิตเตอร์และ อินสตราแกรม จนถึงปัจจุบัน

2. ความพลวัต ของสถานการณ์ สถานการณ์การต่อว่าด่าทอของทั้ง2ฝ่ายค่อนข้างที่จะยาวนานตามกระแสของกิจกรรมในช่วงนั้นระยะเวลา1 เทอม โดยที่ไม่มีการไกล่เกลี่ยหรือมีตัวกลางในการเจรจาแต่ปัญหานี้ยังไม่มีจุดจบ ซึ่งคิดว่าสิ่งที่ทำได้คือการหันหน้าคุยกันและลดเลิกอคติ ต่างฝ่ายต่างยอมรับซึ่งกันและกัน อาจจะมีการปรับรูปแบบกิจกรรม โซตัส ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้และต่างฝ่ายต่างยอมรับในความคิดเห็นและพยายามใช้เหตุผล ตรรกะมาโต้แย้งมากกว่าอารมณ์ 

3. มิติของกลุ่มและความสัมพันธ์ตามแผนภาพสามารถระบุเป็นประเด็น (issues) ได้ดังนี้

1. คนเอารุ่นไม่เห็นด้วยกับระบบโซตัส ไม่ต่อต้าน คนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเป็นแนวร่วมกับคนที่เอารุ่นเอาระบบและต้องการให้ระบบยังคงอยู่ ความน่าสนใจอยู่ที่คนกลุ่มนี้ไม่ชอบการถูกบังคับแต่ว่า มองเห็นประโยชน์ (Interest) เช่นการได้มาซึ่งตำแหน่งต่างๆ การมีพี่รหัสที่ดูแลเลี้ยงอาหารซื้อของให้  และได้รับสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น เสื้อ หัวเข็มขัด หากคนกลุ่มนี้ไม่ยอมอยู่ในรุ่นแล้วสิ่งที่พวกเขาจะได้ก็จะไม่ได้ อีกอย่างมีความรู้สึกที่ไม่อยากมีปัญหากับใครหรือแสดงความแตกต่างออกมาชัดเจน ดังนั้นจึงอยู่แบบฝืนทน

2. คนเอารุ่นยอมรับระบบโซตัสอยากสานต่อโซตัส กลุ่มนี้เป็นแนวร่วมกับคนกลุ่มที่1 และมีความขัดแย้งที่รุนแรงกับกลุ่มคนที่ไม่เอารุ่น ไม่เอาระบบโซตัส และคัดค้าน ทำเกิดการโต้ตอบทางออนไลน์ ในเชิงรุนแรง ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ดูถูก เหยียดหยาม และคนกลุ่มที่2นี้เป็นแนวร่วมที่แตกแยกกับกลุ่มเอารุ่นไม่ยอมรับโซตัสและต่อต้านเพราะมีความแตกต่างกันในการยอมรับระบบโซตัส คนกลุ่มนี้จะไม่ชอบการพยายามยกเลิกโซตัส 

3. กลุ่มคนเอารุ่นไม่ยอมรับโซตัสและต่อต้าน คนกลุ่มนี้เป็นแนวร่วมกับคนไม่เอารุ่นทั้งต่อต้านและไม่ต่อต้าน  โดยคนกลุ่มนี้สามารถมองได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่พยายามจะเป็นจากข้างใน และอีกมุมมองได้ว่าคนกลุ่มนี้ยังคงกลัวการถูกมองแตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ จึงต้องการที่จะได้รุ่นแต่แท้จริงแล้วไม่ชอบระบบและอยากเปลี่ยนแปลง 

4. ไม่เอารุ่นไม่เอาระบบโซตัส ไม่ต่อต้าน กลุ่มนี้ไม่ชอบการโดนถูกละเมิด เลยออกจากระบบไป ไม่เห็นด้วยแต่ไม่ได้แสดงออกว่าต่อต้านกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกกลุ่มแต่ จะถูกกลุ่มเอารุ่นเอาระบบ สืบสานโซตัส เหมารวมว่าบ่อนทำลายเนื่องจากไม่เอารุ่น

5.  ไม่เอารุ่นไม่เอาระบบต่อต้าน   คนกลุ่มนี้ได้ยินชื่อโซตัสก็จะต่อต้านแบบสุดตัวแสดงออกชัดเจนว่าต่อต้าน ซึ่งการเป็นคนกลุ่มนี้แบ่งได้2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ 1.อาจจะมาจากพื้นฐานเดิมเคยมีประสบการณ์มากและคิดว่าระบบนี้ไม่ควรอยู่ต่อ คิดว่าตนเองค่อนข้างมีศักยภาพมากพอในการใช้ชีวิตโดยไม่อยู่ภายใต้ใคร 2.กลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากโซตัสจนไม่สามารถรับได้และมีความเข้มแข็งพอที่จะต่อต้านอย่างเปิดเผย  กลุ่ม5 มีความขัดแย้งกับกลุ่มสานต่อโซตัสอย่างชัดเจนมากที่สุด แต่ก็เป็นแนวร่วมกับคนที่เอารุ่นไม่เอาระบบ คัดค้านโซตัส และมีความขัดแย้งเล็กๆกับกลุ่มที่เอารุ่นเอาระบบไม่ต่อต้าน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีค่อนข้างน้อยมาก ทำให้ไม่มีแรงจะทำให้อีกฝ่ายรับฟังได้ด้วยเหตุผล ตรรกะ หรือแนวคิดที่แปลกไปจากวัฒนธรรมเดิม

จากการวิเคราะห์ความขัดแย้งข้างต้นมองว่าโซตัส เป็นปัญหาใหญ่และยังมีปัญหาย่อยๆตามมาอีกมากมายดังเช่นตัวอย่าง ซึ่งปัญหานี้ควรจะได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของกระทรวงศึกษาที่จะต้องมีบทบาทสำคัญหากมีการบังคับใช้จริงกับทุกมหาวิทยาลัยแม้ว่าหลายๆมหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบจริง ตัวมหาวิทยาลัยที่มีโซตัส หลงเหลืออยู่ต้องมีความพยายามในการมอบนโยบายให้แต่ละคณะสาขาเลิกการบังคับไม่ว่าจะผ่านการเช็คชื่อ หรือกิจกรรมใดๆที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลให้หมดไปและเมื่อเกิดปัญหาขึ้นอาจจะต้องมีตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาเหล่านั้นให้ทุกคนหาจุดตรงกลางได้
 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net