Skip to main content
sharethis

อดีตคนงานไทยในสิงคโปร์ 'ศรีคูณ เจียงกระโทก' นำเสนอภาพถ่ายจากกล้องฟิล์ม พาย้อนเวลากลับไปในยุค 1990 ที่คนไทยไปเป็นแรงงานอพยพสร้างตึกสูงในสิงคโปร์ ภาพถ่ายเหล่านี้นำเสนอให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่และมุมมองต่อสิงคโปร์จากสายตาของขุนพลแรงงานเหล่านี้


คนงานกำลังทำงานก่อสร้างบนตึกสูง ที่มา: ศรีคูณ เจียงกระโทก/Work Men on the Move


ศรีคูณ เจียงกระโทก มองเพื่อนคนงานที่กำลังเริ่มก่อสร้างอาคารโรงแรมชั้นที่ 1
ที่มา: ศรีคูณ เจียงกระโทก/Work Men on the Move

งานจัดแสดงผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวมีชื่อว่า "Work Men on the Move" เป็นการจัดแสดงโดยความร่วมมือกับซีมอน เอ เพธ (Simon A. Peth) นักวิจัยด้านการพัฒนาและการอพยพย้ายถิ่นฐานจากมหาวิทยาลัยแห่งบอนน์ประเทศเยอรมนี เพธได้ไอเดียการจัดแสดงในครั้งนี้หลังจากที่เขาได้พบกับศรีคูณในช่วงทำงานวิจัยปริญญาโท ในตอนนั้นศรีคูณกลับมาที่บ้านเกิดทางภาคอีสานของไทยพร้อมกับภาพถ่าย 900 ภาพจากช่วงที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในสิงคโปร์

ศรีคูณกล่าวว่า "ผมถ่ายภาพเหล่านี้เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าการทำงานที่เมืองนอกมันเป็นอย่างไร มันเป็นสิ่งที่ทรหด"

หลังแต่งงานแล้วศรีคูณก็ออกจากหมู่บ้านไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นจึงเดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ในปี 2537  โดยรับงานสร้างโรงแรมริตซ์-คาร์ลตัน ที่นั่นศรีคูณทำงานเป็นนายช่างดูแลลูกน้องคนงาน 15 ชีวิต เพธบอกว่าคนงานอพยพส่วนใหญ่รู้สึกประทับใจทิวทัศน์ตึกสูงในสิงคโปร์ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมาจากชนบทก็ตาม

ภาพถ่ายที่จัดแสดงมีตั้งแต่ภาพถ่ายของคนงานที่กำลังรอเดินทางทางบกไปยังสิงคโปร์ในยุคสมัย 90s ซึ่งในตอนนั้นต้องใช้เวลา 2 วันเพื่อเดินทางจากไทยไปสิงคโปร์ มีเพียงแรงงานมีฝีมือและหัวหน้างานเท่านั้นที่จะได้เดินทางด้วยเครื่องบิน ผิดกับทุกวันนี้ที่คนงานทุกคนเดินทางไปสิงคโปร์โดยเครื่องบิน

ที่พักคนงานไทยในสิงคโปร์ ​​​​​​
ที่มา: ศรีคูณ เจียงกระโทก/Work Men on the Move

ภาพถ่ายของศรีคูณยังมีภาพของลูกสาวตัวเองที่เขาเล่าว่าเขาจะกลับบ้านไปหาครอบครัวปีละ 1 ครั้ง รูปถ่ายอื่นๆ มีการสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตของคนงานไทยในสิงคโปร์ยุค 90s เช่นกรณีที่มีหลายคนต้องนอนแออัดใน "แคมป์พักที่เป็นตู้คอนเทนเนอร์" ซึ่งตู้หนึ่งมีคนอยู่รวมกันถึง 25 คน โดยพวกเขาไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย มีแต่หัวหน้างานเท่านั้นที่จะมีห้องพักเดี่ยวเป็นของตัวเอง

ในแง่สภาพการทำงานนั้นศรีคูณเผยให้เห็นว่าพวกเขาต้องทำงานในรูปแบบที่ยาก เสี่ยงอันตราย และสกปรก มีรูปหนึ่งเผยให้เห็นว่าสีของหมวกนิรภัยที่คนงานสวมใส่จะบอกระดับตำแหน่งและกลุ่มสังกัดของคนงานนั้นๆ โดยที่มักจะนำคนงานที่มาจากประเทศเดียวกันเข้าไปไว้ในกลุ่มสังกัดเดียวกันเพื่อความสะดวกในการสื่อสาร

นอกจากนี้ยังมีรูปภาพเกี่ยวกับการทำงานต่างๆ รูปช่วงพัก รูปของคนที่เข้าเฝือกเพราะบาดเจ็บจากการทำงาน รูปช่วงพากันไปเที่ยวในเมือง รูปของกลุ่มคนงานต่างสัญชาติลดความตึงเครียดระหว่างกันด้วยการดื่มและทานอาหารร่วมกันในช่วงที่เงินเดือนออก

จากข้อมูลงานวิจัยของเพธและจากรูปถ่ายเหล่านี้เผยให้เห็นว่าในที่ทำงานมักจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนงานอย่างโรงอาหาร นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่คนงานจำนวนมากมักจะทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้ค่าจ้างมากขึ้น บางคนทำงานมากถึง 12-14 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้คนงานจำนวนมากยังมักจะรู้สึกคิดถึงบ้าน พวกเขารู้สึกว่าหมู่บ้านที่พวกเขาจากมายังคงมีอะไรดำเนินต่อไปข้างหน้าโดยที่ไม่มีพวกเขา ด้วยความคิดถึงบ้านนี้เองยิ่งทำให้พวกเขาเห็นความสำคัญของการเป็นมิตรกับเพื่อนคนงานชาวไทยคนอื่นๆ มากขึ้น

ผู้ที่สนใจเรื่องราวความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในสิงคโปร์และอยากรู้ว่าความฝันที่จะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจของศรีคูณกลายเป็นความจริงหรือไม่ สามารถเข้าชมได้ที่ http://storyform.co/@speth-2/-734dab35c6bb

เรียบเรียงจาก
Thai migrant worker took more than 900 photos of what it was like building S’pore skyline in the 90s,
Mothership

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net