Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แถลงผิดหวังหลังศาลปกครองยกฟ้องตำรวจปิดกั้นการชุมนุม 'เดินมิตรภาพ' พร้อมเรียกร้องให้ไทยยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเต็มรูปแบบ

1 ต.ค.2561 วันนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อคำพิพากษายกฟ้องของศาลปกครองประเทศไทยในวันศุกร์ที่ผ่านมาในคดีที่มีการฟ้องร้องว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการจำกัดสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบโดยไม่ชอบธรรม นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องอีกครั้งให้มีการยกเลิกข้อจำกัดการชุมนุมทางการเมือง และเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับคำพิพากษาดังกล่าวเกี่ยวกับกรณีที่ศาลปกครองได้พิพากษายกฟ้องคดีที่ผู้จัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ สตช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย เนื่องจากการเดินขบวนในกิจกรรมดังกล่าวถูกปิดกั้นจำกัดเพราะขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 (คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3) ในคำพิพากษานั้น ศาลปกครองได้อ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3 ในการพิจารณาว่าการเดินขบวนดังกล่าวเป็นของการชุมนุมสาธารณะ ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองได้อธิบายว่าศาลพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าวเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

“เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่ผ่านไป 4 ปีนับตั้งแต่การรัฐประหาร แต่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3 และกฎหมาย คำสั่งและประกาศอื่นๆ ที่มีผลในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังมีผลบังคับใช้อยู่” คิงสลี่ย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส ICJ กล่าว

“ศาลปกครองมิได้ใช้โอกาสที่สำคัญนี้ในการให้ความเห็นว่าข้อจำกัดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองควรถูกยกเลิก และกฎหมายคำสั่งและประกาศทั้งหลายที่ขัดกับพันธกรณีทางสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยควรถูกแก้ไขหรือยกเลิกในทันทีเพื่อฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ” แอ๊บบอต กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กิจกรรมเดินมิตรภาพ หรือ We Walk เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยเครือข่าย People Go ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่พัฒนามาจาก 97 องค์กร ที่มีทั้งคณาจารย์ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นิสิต นักศึกษา และองค์กรเครือข่ายชาวบ้านจากทั่วประเทศเข้ามาทำงานร่วมกัน ร่วมกันเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจังหวัดขอนแก่น ระยะทางกว่า 450 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมร้อยประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา สร้างความเข้าใจกัน ยืนยันสิทธิของประชาชนทุกด้านในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ เริ่มต้นเปิดกิจกรรมเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มออกเดินทางเมื่อวันที่ 20 ม.ค. สิ้นสุดกิจกรรมเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

รายละเอียด แถลงการณ์ ICJ มีดังนี้

ประเทศไทย: ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

1 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กรุงเทพ ประเทศไทย --- คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) แสดงความผิดหวังต่อคำพิพากษายกฟ้องของศาลปกครองประเทศไทยในวันศุกร์ที่ผ่านมาในคดีที่มีการฟ้องร้องว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจำกัดสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบอย่างไม่ชอบธรรม นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องอีกครั้งให้มีการยกเลิกข้อจำกัดการชุมนุมทางการเมือง และเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2561 ศาลปกครองได้พิพากษายกฟ้องคดีที่ผู้จัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” (We Walk march) ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย เนื่องจากการเดินขบวนในกิจกรรมดังกล่าวถูกปิดกั้นจำกัดเพราะขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 (คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3)

ในคำพิพากษานั้น ศาลปกครองได้อ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 ในการพิจารณาว่าการเดินขบวนดังกล่าวเป็นของการชุมนุมสาธารณะ ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองได้อธิบายว่าศาลพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าวเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

“เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่ผ่านไป 4 ปีนับตั้งแต่การรัฐประหารแต่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 และกฎหมาย คำสั่งและประกาศอื่นๆที่มีผลในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังมีผลบังคับใช้อยู่” นายคิงสลี่ย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส ICJ กล่าว

“ศาลปกครองมิได้ใช้โอกาสที่สำคัญนี้ในการให้ความเห็นว่าข้อจำกัดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองควรถูกยกเลิก และกฎหมายคำสั่งและประกาศทั้งหลายที่ขัดกับพันธกรณีทางสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยควรถูกแก้ไขหรือยกเลิกในทันทีเพื่อฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ” นายแอ๊บบอต กล่าวเพิ่มเติม

การเดินขบวนดังกล่าว ซึ่งเป็นไปโดยสงบนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ หลักประกันสุขภาพที่จะสามารถดูแลทุกคนในประเทศ นโยบายที่ไม่ทำลายความมั่นคงในอาหาร กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชน – สิทธิชุมชน และรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้าน

ความเป็นมาเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 ห้ามการชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ละเมิด

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 เป็นหนึ่งในคำสั่งหัวหน้าคสช.และคำสั่งคสช.ที่ยังคงบังคับใช้อยู่นับตั้งแต่การรัฐประหารในปีพ.ศ. 2557 และถูกนำมาใช้ในทางที่เป็นการจำกัดสิทธิที่ได้รับการประกันใน ICCPR เช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา กฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดที่มีลักษณะเป็นการสร้างความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

ในเดือนกันยายน พ.ศ.2561  มีรายงานว่าเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกมากล่าวว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะจัดได้อย่างเร็ววันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 และอย่างช้าคือวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2562

ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2561 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 (คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13) เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดบางส่วนสำหรับพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมบางรูปแบบได้

อย่างไรก็ตาม คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13 ยังคงจำกัดกิจกรรมของพรรคการเมือง โดยเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถจำกัดกิจกรรมของพรรคการเมืองที่ "มีลักษณะเป็นการหาเสียง" ที่สามารถถูกตีความได้กว้างขวางและไม่ชัดเจนได้

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่แม้จะมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13แล้วก็ตาม

ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2561 มีรายงานว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คสช.น่าจะมีประชุมกันในเดือนธันวาคมเพื่อพิจารณาปลดล็อกข้อจำกัดเกี่ยวกับกิจกรรมการเมืองทั้งหมด

จากสถิติที่ได้รับการรวบรวมโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2561 มีบุคคล 278 คนถูกดำเนินคดีเพราะละเมิดคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

ความเป็นมาเกี่ยวกับการดำเนินคดีในศาลปกครอง

ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2561 บุคคลประมาณ 100 คนทั้งจากกลุ่มภาคประชาสังคมและบุคคลทั่วไปได้รวมตัวกัน ณ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อเข้าร่วมในกิจกรรม We Walk march

มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ทำการปิดกั้นจำกัดการเดินขบวนดังกล่าวซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 โดยทำการปิดกั้นมิให้ผู้ชุมนุมเดินเท้าออกจากบริเวณมหาวิทยาลัยได้ มีการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่บนเส้นทางการเดินขบวนเพื่อตรวจสอบและถ่ายรูปสำเนาทะเบียนรถกับรูปบัตรประจำตัวประชาชน ตลอดจนซักถามประวัติทุกคน และเรียกผู้เดินขบวนไปสอบปากคำ

ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2561 ผู้จัดการเดินขบวนได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 6 นาย และขอให้มีคำสั่งให้ตำรวจยุติการใดๆที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ขอให้ดูแลอำนวยความสะดวกและคุ้มครองเครือข่ายระหว่างที่ใช้สิทธิเสรีภาพพื้นฐานของตน พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2561 ศาลปกครองได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยระบุว่าการเดินขบวนเป็นการชุมนุมโดยสงบและสั่งให้ตำรวจให้ความคุ้มครองความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้เดินขบวนตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง

ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2561 ศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ผู้จัดกิจกรรมเดินขบวนฟ้องร้องดำเนินคดีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย

ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ICCPR ในปีพ.ศ. 2539 ซึ่งประกันสิทธิที่จะแสดงออกได้โดยเสรี สิทธิในการชุมนุม และสิทธิในการสมาคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net