Skip to main content
sharethis

หนึ่งในทนายคดี 6 ตำรวจกาฬสินธุ์ร่วมกันฆ่าแขวนคอวัยรุ่น 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักรถจักรยานยนต์ช่วงสงครามยาเสพติดที่ศาลฎีกาเพิ่งยกฟ้องไป แนะ นำคำพิพากษาศาลฎีกามาวิเคราะห์ พูดคุยในทางวิชาการ เนื่องจากคำพิพากษายังไม่หักล้างหลักฐานแวดล้อมที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ใช้ตัดสินจำเลยทั้ง 6 ที่หนักหนาถึงขั้นประหารชีวิต

14 ต.ค. 2561 รัษฎา มนูรัษฎา นายความหนึ่งในคณะทำงานคดีฆาตกรรมอำพราง เกียรติศักดื์ ถิตย์บุญครอง ช่วงสงครามยาเสพติด ที่ศาลฎีกาเพิ่งมีคำพิพากษากลับยกฟ้องจำเลยทั้งหก ได้กล่าวกับประชาไทไว้เมื่อ 12 ต.ค. 2561 ว่าควรมีการนำคำพิพากษาศาลฎีกามาวิเคราะห์ พูดคุยในทางวิชาการ เนื่องจากมีหลักฐานแวดล้อมอีกหลายประการที่ถูกพิจารณาจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ศาลฎีกาควรโต้แย้ง หักล้าง เนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกา หยิบยกคำให้การของพยานเพียงแค่ปากเดียวที่เป็นพยานแวดล้อม แล้ววินิจฉัยว่าพยานปากนี้มีข้อพิรุธน่าสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยแล้วยกฟ้อง (อ่านคำพิพากษาศาลทั้งหมดที่นี่)

ฎีกายกฟ้อง กลุ่มตร.กาฬสินธุ์ คดีฆ่าอำพราง หนุ่มวัย 17 ช่วงสงครามยาเสพติด

โดยหลักการ เมื่อพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งให้โทษประหารชีวิตจำเลยสามคน และต่อมาเป็นประหารชีวิตสองคน และจำคุกตลอดชีวิตคนหนึ่ง การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยกลับก็ควรมีเหตุผลให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลก่อนหน้ามีความไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงอย่างไร และศาลฎีกาเห็นว่าอย่างไร แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่มีปรากฏ

“แท้จริงคดีนี้มีการสืบพยานกันมากกว่า 20 ปาก คดีนี้มีทั้งพยานสำคัญที่เป็นย่าของเด็ก ที่ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากผู้ตายว่าให้มารับตัวที่โรงพักด่วน เมื่อไปถึง ย่าเบิกความว่าจะขึ้นบันไดชั้นสองของโรงพักก็มีตำรวจมายืนขวางและพูดบ่ายเบี่ยง จนกระทั่งย่าดันที่จะขึ้นไปชั้นสองได้ก็ไปพบย่ามของหลานแต่ไม่พบตัวหลาน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ปรากฏว่าหลานกลายเป็นศพ”

“พยานแวดล้อมก็มีหลายปาก มีทั้งพยานที่ตรวจพิสูจน์ร่างกายศพที่มีพฤติการณ์ของการถูกฆาตกรรมอำพราง ไม่ใช่ถูกฆ่าแขวนคอ พยานที่มาประกันตัวเด็ก จำเลยที่ 4 ติดต่อให้มาประกันตัวเด็กไปจากศาลโดยญาติไม่รู้เรื่อง โดยที่ไม่ใช่การติดต่อโดยญาติ และไม่ได้เสียค่าตอบแทนอะไรด้วยซ้ำ พอประกันตัวเด็กแล้วมีลงบันทึกรปะจำวันว่าโรงพักมีการปล่อยตัวเด็กไปเมื่อ 16.30 น. สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงในสำนวนคดีที่ศาลต้องวินิจฉัยว่าที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้วเชื่อและลงโทษนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยอย่างไร ต้องมีเหตุผลมาแก้หรือโต้แย้ง”

“อยู่ๆ มีตำรวจติดต่อคนที่ไม่ได้เกี่ยวกับญาติผู้ตายมาประกันตัวเด็ก แล้วทำบันทึกประจำวันปล่อยตัวไป นอกจากนี้คดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำเลยคนหนึ่งที่เป็นดาบตำรวจจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต เป็นเพราะมีคำให้การที่ยอมรับความจริงจากพนักงานสอบสวนของ DSI ว่าผู้กำกับสถานีตำรวจให้เขาให้การว่าไปพบตัวเด็กที่สถานีขนส่งหลังจากที่ปล่อยตัวไปแล้วจึงกลับพาตัวมาโรงพัก จึงเป็นเหตุให้ตั้งรูปคดีกลับมาว่าเด็กมาปรากฏตัวที่โรงพัก เนื่องจากเดิมสร้างเรื่องไว้ว่าปล่อยตัวกลับไปแล้ว ไม่อยู่ในการควบคุมของตำรวจ แต่พอมีพยานมาพูดว่าเมื่อ 19.00 น. เด็กคนนี้ยังยืมโทรศัพท์เขาโทร. ไปหาย่าที่บ้าน มันก็เลยมีการสร้างเรื่องขึ้นมาว่ามีการพบตัวเด็กแล้วนำตัวกลับมาที่โรงพัก สิ่งเหล่านี้เป็นคำให้การที่เขาให้ข้อเท็จจริงกับพนักงานสอบสวน DSI ทำให้มีการลดโทษลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต จำเลยได้ลงชื่อเอาไว้ด้วย ข้อเท็จจริงสำคัญเหล่านี้เป็นหลักฐานแวดล้อมเชื่อมโยงเชื่อได้ที่จะฟังลงโทษ ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าเขาไม่ผิดควรจะมีเหตุผลมาโต้แย้ง หักล้างคำวินิจฉัยความเห็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีองค์คณะศาลละสามคน ก็เป็นหกคน อันนี้เป็นข้อสังเกต”

“สิ่งที่ควรทำต่อไปคือเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาวิเคราะห์ พูดคุยกันในเชิงวิชาการ เปรียบเทียบกับพยาน หลักฐานในสำนวนคดีและคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้ทั้งสองศาล การฟังข้อเท็จจริงในศาลฎีกาต้องมีพื้นฐานที่โยงมาจากฝั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ด้วย คำพิพากษาฏีกาที่จำนวนไม่กี่หน้าจึงยังไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วนในสิ่งที่มันควรจะเป็น” รัษฎากล่าว

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 2547 จำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่า เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปีเศษ ผู้ต้องหาคดีลักรถ จยย. ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนเสียชีวิต ก่อนนำศพไปอำพรางคดีด้วยการแขวนคอ โดยจำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โดยที่ เมื่อวันที่ 6 ก.ย ศาลได้ออกหมายจับ พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ปรับนายประกัน 1 ล้านบาท เนื่องจาก พ.ต.อ.มนตรี ไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2555 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย ส่วนจำเลยที่ 6 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ ขณะที่จำเลยที่ 5 ลงโทษจำคุก 7 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ต่อมาอัยการโจทก์, โจทก์ร่วมและจำเลย ได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และเคลื่อนย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 มีประโยชน์ในการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 50 ปี อีกทั้งพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1ใน3 คงจำคุกจำเลยที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 5-6 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 7 ปีนั้น เห็นว่า หนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 5-6 ไว้คนละ 5 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net