Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชน ‘ฟอรัม เอเชีย’ จัดทำรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียนเผย ทำกิจกรรมเยอะแต่ไม่กระแทกปัญหาสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอย่างจริงจัง นิ่งเฉยกับประเด็นใหญ่ๆ อย่างสงครามยาเสพติด โรฮิงญา กระบวนการได้มาของผู้แทนประเทศไม่โปร่งใส หลายประเทศเข้าข้างรัฐชัด แนะ มุ่งปกป้องสิทธิฯ มากขึ้น ปรับปรุงด้านการจัดการ ความโปร่งใส ทำตัวให้ดึงดูดพื้นที่สื่อ

ภาพในเวทีการรายงานผลการดำเนินงาน

เมื่อ 3 พ.ย. 2561 ที่เวทีอาเซียนภาคประชาชน/ประชาสังคม (APF/ACSC) ที่ประเทศสิงคโปร์ มีการนำเสนอรายงานการประเมินผลการทำงานของคณะกรรมาธิระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) จัดทำโดยสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (FORUM-Asia) และเครือข่ายสมานฉันท์ของเอเชียเพื่อการรณรงค์ของประชาชน (SAPA)

AICHR เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนให้มีการร่วมมือกันระหว่างชาติสมาชิกในด้านสิทธิมนุษยชนในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียนที่มีขึ้นในปี 2552 หลังที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียนได้เห็นชอบกับหลักการอำนาจและหน้าที่องค์กร

รายงานระบุว่า ในปี 2560 AICHR ได้มีกิจกรรมหลายอย่างโดยเฉพาะการจัดอบรม จัดพื้นที่พูดคุยถกเถียง กิจกรรมส่วนมากเป็นเรื่องกิจกรรมด้านการศึกษาและการร่วมมือทางกฎหมายต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ในปี 2560 AICHR ทำกิจกรรมไปทั้งสิ้น 12 กิจกรรม นอกจากนั้นยังจัดการประชุมโต๊ะกลมระหว่าง AICHR และภาคประชาสังคมที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดกิจกรรมในลักษณะที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

แม้กระนั้น AICHR ยังถูกตั้งคำถามเรื่องประสิทธิภาพของกิจกรรมที่ทำว่ามีแรงกระเพื่อมต่อขอบเขตงานที่หรือไม่ นอกจากนั้น กิจกรรมทั้งหลายที่ทำไปนั้น ไม่มีกิจกรรมใดเลยที่เป็นความพยายามแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างใหญ่หลวงในภูมิภาค ทั้งๆ ที่ประชาคมนานาชาติต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไปก่อนแล้ว เช่น สงครามยาเสพติดในฟิลิปปินส์ การโต้ตอบ เอาคืนกับนักปกป้องสิทธิฯ และกลุ่มเปราะบางที่เกิดทั่วภูมิภาค และวิกฤติโรฮิงญาในพม่า  ทาง AICHR ไม่มีแถลงการณ์ใดๆ ออกมาในประเด็นดังกล่าวเลย จนกระทั่งปี 2561 ที่สมาชิก AICHR จากมาเลเซียและอินโดนีเซียออกแถลงการณ์ร่วมในประเด็นโรฮิงญา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องมีการเดินหน้าต่อไปอีก

อาเซียนไม่ใช่ของเรา #1: รัฐแสดงนำ ภาคประชาชนที่ไม่มีส่วนร่วม และเอ็นจีโอปลอม

อาเซียนไม่ใช่ของเรา#2: อธิปไตย กติกาภูมิภาคกับสิทธิมนุษยชนในฐานะเสือกระดาษหลับ

ภาพชาวโรฮิงญา (ที่มา: Amnesty International)

ด้านเอ็ดมุนด์ บอน ไท ซูน ผู้แทนสมาชิก AICHR จากประเทศมาเลเซียกล่าวหลังจบการรายงานว่า ทีมมาเลเซียได้มีข้อเสนอกระบวนการร้องเรียนเมื่อปี 2560 ขณะนี้มีการเจรจาระหว่างกันในหน่วยงานแล้วแต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ข้อเสนอของกระบวนการร้องเรียนนั้นจะให้ผู้ร้องเรียน ไปร้องเรียนผ่านประชาสังคมในประเทศ จากนั้นประชาสังคมจะส่งต่อไปยังประธาน AICHR จากนั้นจะส่งต่อไปที่ผู้แทนแต่ละประเทศเพื่อพิจารณาว่าจะรับเรื่องหรือไม่ ถ้ารับเรื่องก็จะดำเนินการสืบสวน แต่ถ้าไม่รับก็หยุดตรงนั้น วิธีนี้มีความเสี่ยงว่าจะเป็นการเปิดเผยตัวต่อประชาสังคมและผู้แทนซึ่งอาจเป็นตัวแทน หรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

ในส่วนข้อท้าทายของ AICHR นั้นมีอยู่สี่ประการ ดังนี้

  1. หลักการของอาเซียนและ AICHR ที่ต้องตัดสินใจกันบนหลักฉันทามติ และหลักการไม่แทรกแซงกิจการในประเทศของสมาชิกอื่น ทำให้การแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ด้านสิทธิฯ ทำได้ลำบาก ในขณะที่ประเทศสมาชิกก็เลือกใช้หลักการข้างต้นเป็นเรื่องๆ ไม่มีปัญหากับการใช้นโยบายในประเทศหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่กลับใช้จำกัดการพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนหลักๆ ในพื้นที่
  2. ขาดความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตัวแทนประเทศไปเป็นสมาชิก AICHR ที่ผ่านมามีแค่ประเทศไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ (ปัจจุบันยกเลิก) ที่ใช้ระบบเลือกตั้งเข้าไป ต่อมามีมาเลเซีย ประชาสังคมเองก็มีส่วนร่วมน้อยในการเลือกคนเข้าไป จึงมีความเสี่ยงที่ตัวแทนประเทศที่เข้าไปจะเข้าข้างฝ่ายรัฐมากกว่าประชาชน ปัจจุบัน ตัวแทน AICHR ที่เข้าไปนั้นส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่รัรฐ หรือไม่ก็แต่งตั้งโดยรัฐ ตัวแทนจากกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนามหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้ถูกมองว่าคนเหล่านี้ถูกแต่งตั้งมาเพื่อปกป้องรัฐบาลตนเองต่อการถูกวิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชน และคัดค้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหน้าที่ของ AICHR
  3. แนวทางแบบอาเซียนทำให้การทำงานตามกรอบสิทธิมนุษยชนในระดับมาตรฐานสากลเป็นปัญหา อำนาจหน้าที่ของ AICHR มักถูกเน้นไปในด้านรณรงค์ ไม่ใช่ปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และไม่มีอำนาจในการบังคับใช้อำนาจตามขอบเขต รวมไปถึงการลงพื้นที่เพื่อสืบสวนค้นหาความจริง
  4. จากการสัมภาษณ์ภาคประชาสังคมมาพบว่า AICHR ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ได้เท่าที่ควร  ไม่มีการอภิปรายการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เมื่อประชาสังคมไปถามก็จะบอกว่า “เรามีการพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง” แต่ที่จริงแล้ว การอภิปรายดังกล่าวไม่เป็นทางการ เป็นการพูดคุยแบบส่วนบุคคลหรือไม่ก็ระหว่างการพักผ่อนเท่านั้น

ทางผู้จัดทำรายงานเสนอว่า AICHR ควรกำหนดยุทธศาสตร์ ให้มีการร่วมงานกับกลไกอาเซียนอื่นๆ ในแบบข้ามภาคส่วนและข้ามเสามากขึ้น (เสาหลักอาเซียนเรื่องการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม) และควรเพิ่มการปรากฏตัวบนพื้นที่สื่อให้มากขึ้นเพื่อใ้หข้อมูลกับสาธารณะ ทั้งนี้ การคู่ควรแก่การปรากฏบนหน้าสื่อนั้น ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การทำหน้าที่งานด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน

ข้อเสนอแนะของทีมผู้จัดทำมีดังนี้

  1. ตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนให้ทันท่วงทีและอย่างเพียงพอ
  2. จัดการประชุมที่นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาให้บ่อยขึ้น โดยไม่ต้องเป็นวาระพิเศษ
  3. เปิดเผยกระบวนการ แผนการทำงาน งบประมาณและเรื่องสำคัญต่างๆ ต่อสาธารณชน
  4. ตรวจสอบ สังเกตการณ์ ให้ข้อเสนอแนะและแนะนำการแก้ไขปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเซียน
  5. จัดตั้งกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนการตอบสนองอย่างการรับเรื่อง ขอข้อมูล ลงพื้นที่ทำการสืบสวนสอบสวน
  6. จัดทำระบบสังเกตการณ์และการประเมินผลการทำงานของ AICHR
  7. พิจารณาบทบาท การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่มีกับ AICHR ให้เกิดประสิทธิภาพและนับรวมทุกคน
  8. ทำหน้าที่ตามขอบเขตอำนาจ หน้าที่เรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน
  9. ทำให้กระบวนการการคัดเลือกผู้แทน AICHR เปิดกว้างและโปร่งใส
  10. สร้างองค์ความรู้เรื่องการจัดการ และให้กลไกอาเซียนรวมถึงประชาสังคมอื่นๆ เข้าถึงได้เพื่อทำให้องค์กรมีการจดจำแนวทางการทำงานที่ดี
  11. สร้างยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกับกลไกสิทธิ และกลไกอื่นๆ ในอาเซียนให้มากไปกว่าการเชิญมาร่วมงานหรือร่วมประชุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net