Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดยส่วนตัวผมสมาทานปรัชญาศีลธรรมสายคานท์ (Kantian) ตามการตีความของตัวเองในระดับหนึ่ง พอดีเห็นการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่อง “คุณเปรม ติณสูลานนท์” ผู้ล่วงลับในหลายแง่มุม ผมจึงอยากเสนอมุมมองปรัชญาศีลธรรมสายคานท์เพื่อแลกเปลี่ยน

ผมสนใจคุณเปรมในฐานะที่เขาถูกยกย่องเป็น “เสาหลักทางศีลธรรม” ของสังคมไทย และผมก็เห็นด้วยว่าสอดคล้องกับความจริงอยู่มาก เนื่องจากชนชั่นนำร่วมสมัยของเราจะหาใครที่มีบารมีสอนศีลธรรมความดีแก่ประชาชนทั้งประเทศอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมายาวนานเทียบเท่าคุณเปรมไม่มีอีกแล้ว และไม่มีคำสอนทางศีลธรรมใดจะติดหูคนทั้งประเทศเท่ากับ “จงเป็นคนดี” “จงซื่อสัตย์สุจริต” “อย่าเป็นคนโกงชาติบ้านเมือง”  “จงกตัญญูต่อแผ่นดิน” “จงทำความดีเพื่อใช้หนี้แผ่นดิน” “เราเกิดมาเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน” ฯลฯ

ความน่ากังวลก็คือว่า หลังยุคคุณเปรม ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังจะมีใครอีกหนอที่จะ “กล้าสอนศีลธรรม” แก่ประชาชนทั้งประเทศอย่างเชื่อมั่นว่ามีผู้คนใส่ใจสดับฟังตัวเองมากเท่าคุณเปรม เท่าที่เห็นคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พยายามจะสอนศีลธรรมประชาชนอยู่เช่นกัน อย่างที่เคยพูดออกรายการทีวีวันศุกร์ว่า “ขอให้ทุกคนมีหิริโอตตัปปะกันนะครับ (ยกเว้นผม)” เป็นต้น

แต่ “ศีลธรรมคืออะไรกันแน่?” นี่คือคำถามหลักของคานท์ จากคำถามนี้นำไปสู่การทะลุทะลวง “มายา” ของสิ่งที่เราเรียกกันว่าศีลธรรม ความดี ความเป็นคนดีทั้งหลายทั้งปวงว่า แท้จริงแล้วสิ่งพวกนั้นหาได้มีความหมายเป็นศีลธรรมแต่อย่างใดไม่ นอกจากมันจะไม่ใช่ศีลธรรมแล้วมันยังเป็น “ม่านบังตา” ไม่ให้เรามองเห็นหน้าตาที่แท้ของศีลธรรมอีกด้วย หรือหนักกว่านั้นมันยังกลายเป็นสิ่งที่พันธนาการเราจากอิสภาพที่จะกระทำสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรมอีกด้วย

ผมไม่มีข้อกังขาว่าคุณเปรมเป็น “คนดี” ตามกรอบคิดทางศีลธรรมแบบ “เปรมาธิปไตย” แต่คานท์บอกว่า ศีลธรรมไม่เกี่ยวกับการเป็น “คนดี” ในความหมายใดๆ พูดให้ชัดคือ “ศีลธรรมเป็นอิสระจากการเป็นคนดี” ทีนี้หลวงพ่อที่ชอบมาแลกเปลี่ยนในเฟซบุ๊คผมก็จะบอกว่า “เรามีศีลธรรมเพื่อจะมีความสุข ทำบุญเข้าวัดปฏิบัติธรรมแล้วชีวิตจะเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นะจ๊ะ” ฯลฯ แต่คานท์ก็จะบอกอีกว่าศีลธรรมไม่ใช่ “เครืองมือ” ตอบสนองความสุข ความพึงพอใจ ประโยชน์ หรือเป้าหมายใดๆ ที่เราต้องการบรรลุถึง

แปลว่าทั้งความดีแบบคุณเปรม แบบพุทธศาสนา และศาสนาอื่นๆ ก็ไม่ใช่ศีลธรรมเสียแล้ว ทีนี้ “ศีลธรรมของเสาหลักทางศีลธรรมคืออะไร?” นี่ก็กลายเป็นคำถามที่น่าคิด

คานท์ยืนยันว่า ศีลธรรมต้อง “เป็นอิสระ” อยางหมดจดจากเงื่อนไขใดๆ เพราะอะไรที่เป็นศีลธรรมได้มันต้อง “ดีในตัวมันเอง” หรือดีอย่างไม่ขึ้นต่อเงื่อนไขอื่นนอกจากตัวมันเอง เช่นการกระทำที่ถูกต้องทางศีลธรรมไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำของคนดี เพราะคนเลวก็สามารถที่จะทำถูกตามกฎศีลธรรมได้ ขณะที่คนดีก็อาจทำผิดกฎศีลธรรมได้เช่นกัน (เห็นกันชนชินแล้วนี่)

แปลว่าศีลธรรมมีลักษณะเป็นหลักการ หรือ “กฎศีลธรรม” (moral law) ที่ถูกต้องในตัวมันเอง กฎศีลธรรมนี้มันเป็นอิสระจากเงื่อนไขทั้งปวงได้เพราะมันมาจาก “ตัวตนอิสระ” คือ “ความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล เสรีภาพและศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอภาคกัน” ของเราทุกคน ตัวตนนี้คือ “ตัวตนนามธรรม” ของเราทุกคน เราใช้เหตุผลอนุมานว่าตัวตนอิสระเช่นนี้ของเรามีอยู่จริง จากการที่เราสามารถคิดอย่างมีเหตุผล หรือมีแนวโน้มที่จะใช้อิสรภาพในการกำหนดตัวเอง หรือใช้เจตจำนงอิสระของตนเองในการกระทำสิ่งต่างๆ ศีลธรรมคือภาพสะท้อนตัวตนอิสระของเรา หรือพูดอีกอย่างว่า เพราะเรามีตัวตนอิสระ ตัวตนนั้นจึงกำหนดให้เราจำเป็นต้องมีศีลธรรม เนื่องจากตัวตนความเป็นคนของเราเรียกร้องโดยธรรมชาติให้เราต้องเคารพตัวเอง การมีศีลธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะที่มันเป็น “หน้าที่” (duty) ที่เราต้องเคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล เสรีภาพและศักดิ์ศรีในตัวเองของตัวเราเองและทุกคนเสมอกัน

เมื่อศีลธรรมมาจากความเป็นมนุษย์ที่เป็นตัวตนอิสระนามธรรมของเราทุกคนเสมอกัน เราจึงไม่ได้มีศีลธรรมไว้เพื่อเป็นเครื่องมือเชิดชูตัวเองว่าเป็นคนดีเหนือคนอื่นๆ หรือยกใครให้เป็นคนดี คนควรบูชา ไม่ได้มีไว้ใช้ประณามคนเลว และศีลธรรมไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือตอบสนองความต้องการ ความพึงพอใจ ชื่อเสียงเกียรติยศ ความสุข ผลประโยชน์ใดๆ (เพราะโลกมนุษย์เรามีเครื่องมือเยอะแยะเพื่อตอบสนองสิ่งพวกนี้ที่ “มีประสิทธิภาพกว่า” ศีลธรรมอยู่แล้วไง) แต่ศีลธรรมคือความจำเป็นที่เราต้องมีเพื่อดำรงไว้ซึ่งการเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและทุกคนเสมอกัน และเนื่องจากความเป็นมนุษย์ของเราก็คือความเป็นผู้มีเหตุผล เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเอง ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่ไม่เคารพหรือละเมิดเสรีภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์จึง “ผิดศีลธรรม” อย่างถึงราก เพราะมันขัดแย้งกับการดำรงไว้ซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของเราทุกคนโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น เสรีภาพกับศีลธรมจึงแยกขาดจากกันไม่ได้ เรามีเสรีภาพอยู่ก่อนจึงมีศีลธรรมได้ เพราะศีลธรรมเกิดจากใช้มีอิสรภาพกำหนดเจตจำนงของตนเองให้กระทำสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานของการเคารพเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นคนของตนเองและทุกคนเท่าเทียมกัน 

คำถามคือ ความดีตามกรอบคิด “เปรมาธิปไตย” หรือความดี ศีลธรรมในความหมายที่ยกบุญคุณแผ่นดินไว้สูงสุดเหนือเสรีภาพของมนุษย์ มีคุณสมบัติเป็น “ศีลธรรม” ได้หรือไม่ คานท์ยืนยันว่า “ไม่” อย่างแน่นอน

ถึงตรงนี้ปรัชญาศีลธรรมแบบคานท์ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมคุณเปรมจึงยืนยันว่า การทำรัฐประหารเป็นการทำหน้าที่ตอบแทนบุญคุณแผ่นดี เพราะเขามีวิธีคิดในเรื่องศีลธรรมและความถูกต้องชอบธรรมต่างอย่างสิ้นเชิงกับกรอบคิดศีลธรรมแบบเสรีนิยมสายคานท์ (เป็นต้น) ที่ถือว่าเสรีภาพของมนุษย์ศักดิ์สิทธิ์สูงส่งกว่าบุญคุณแผ่นดิน

นอกจากคานท์จะถือว่า เสรีภาพในทางปรัชญาศีลธรรมเป็นสิ่งมีค่าในตัวมันเองแล้ว เขายังยืนยันด้วยว่าในทางปรัชญาการเมืองสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองก็เป็น “สิ่งมีค่าในตัวมันเอง” ด้วย ดังนั้นพลเมืองจึงเป็นเจ้าของสิทธิและเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ สิทธิเสรีภาพของพลเมืองจึงศักดิ์สิทธิ์สูงสุดเหนือสถานะและอำนาจใดๆ ของบุคคลทางการเมือง รัฐและสังคมจะละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลไม่ได้ตราบที่เขายังเคารพหรือไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพในแบบเดียวกันของผู้อื่น 

เสรีภาพทางศีลธรรมเป็น “เสรีภาพภายใน” ที่เราแต่ละคนเรียกร้องความรับผิดชอบจากตัวเองให้กระทำการใดๆ อย่างเคารพเสรีภาพของตัวเองและทุกคนเสมอภาคกัน เสรีภาพทางการเมืองคือ “เสรีภาพภายนอก” หรือเสรีภาพจากการละเมิดโดยคนอื่น เป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนและรัฐต้องร่วมมือป้องกันการละเมิด สำนึกในเสรีภาพทางศีลธรรมในฐานะที่เราเป็นมนุษย์กับสำนึกในเสรีภาพทางการเมืองในฐานะที่เราเป็นพลเมืองจึงมาบรรจบกัน หรือมีนัยสำคัญในเชิงสนับสนุนกัน ด้วยประการฉะนี้

คำถามจากสายคานท์แบบผมก็คือว่า ศีลธรรมของเสาหลักทางศีลธรรมคืออะไร ศีลธรรมเช่นนั้นมีไว้ทำไม? เห็นนักเขียนซีไรท์บางคนบอกว่า “คนไทยเป็นหนี้บุญคุณ” ของคุณเปรม แต่เมื่อคิดจาดจุดยืนศีลธรรมสายคานท์แล้ว พลเมืองไม่เคยติดหนุนบุญคุณใครเลย เพราะพลเมืองและผู้ปกครองคือคนเสมอกัน พลเมืองทุกคนมีสิทธิได้รับเลือกเป็นตัวแทนไปบริหารประเทศภายใต้เจตจำนงพลเมืองทุกคน เราไม่มีความสัมพันธ์ในเชิงบุญคุณต่อกัน เพราะความสัมพันธ์เชิงบุญคุณเป็นเรื่องของสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ไม่ใช่สัมพันธภาพทางการเมือง 

สำหรับผมแล้ว ผมนับถือคุณเปรมในฐานะที่เขามี “ความเป็นมนุษย์” เสมอภาคกับผม แต่ผมจะไม่นับถือสถานะ อำนาจ และบทบาทใดๆ ของเขา ถ้าหากว่าสถานะ อำนาจ และบทบาทนั้นๆ ละเมิดความยุติธรรมบนหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย จึงมีเหตุผลอันสมควรว่า ผมและพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์สถานะ อำนาจ และบทบาททุกอย่างของคุณเปรมทั้งในขณะที่เขายังมีชีวิตยู่และจากโลกนี้ไปแล้ว โดยที่ยังเคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของเขาเสมอไป   

 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net