Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในทางปรัชญาการเมืองเราอาจพูดถึงความยุติธรรมได้ทั้งในการปกครองแบบใช้อำนาจเด็จขาด (despotism) และเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) แบบแรก เราพูดถึงความยุติธรรมที่ไม่จำเป็นต้องมีเสรีภาพ แบบหลัง ความยุติธรรมจำเป็นต้องมีเสรีภาพเป็นพื้นฐาน 

อย่างไรก็ตาม “ความยุติธรรม” (justice) มักจะเกี่ยวกับความเสมอภาค (equality) ในบางความหมายเสมอ ถามว่าศาสนาหลักๆ พูดถึงความเสมอภาคหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าพูดถึง แต่อาจไม่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางสังคมและการเมือง

ตัวอย่างเช่น พราหมณ์-ฮินดูมองว่ามนุษย์ทุกคนเสมอภาคกันในฐานะที่เราต่างมี “อัตตา” หรือ “อาตมัน” เป็น “ตัวตนที่แท้” (real self) เหมือนกัน ตัวตนที่แท้ของเราที่ยังมีกิเลสเวียนว่ายในภพภูมิต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลสหรือบรรลุโมกษะ จากนั้นตัวตนของเราก็จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระพรหมหรือพรหมัน ดังนั้น ในแง่ความเป็นนุษย์ทางอภิปรัชญา เรามีความเป็นคนเท่ากันและอยู่ภายใต้กฎยุติธรรมอันเดียวกัน (ที่เรากำหนดเองไม่ได้) คือ “กฎแห่งกรรม” และสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดเดียวกันคือโมกษะ แต่ทว่าความเป็นมุษย์ในทางสังคมและการเมืองของเราหาได้เท่าเทียมกันไม่ เพราะพระพรหมหรือพระเจ้ากำหนดให้มีวรรณะสี่คือ กษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์, ศูทร ที่ทำให้เรามีสถานะและอำนาจหน้าที่ทางสังคมและการเมืองสูง-ต่ำตามชาติกำเนิด

พุทธศาสนามองว่า มนุษย์มีธรรมชาติแห่ง “โพธิปัญญา” หรือ “พุทธภาวะ” เหมือนกัน เมื่อเรายังมีอวิชชาและกิเลสจึงยังเวียนว่ายตายเกิดในภพชาติต่างๆ ตามกฎแห่งกรรม แต่สักวันหนึ่งเมื่อธรรมชาติแห่งโพธิปัญญาหรือพุทธภาวะภายในตัวเราได้รับการพัฒนาเต็มที่เราก็ตรัสรู้เป็นพุทธะได้เสมอกัน ทว่าเมื่อพุทธะยืนยันว่าผู้หญิงมีศักยภาพบรรลุธรรมแสมอภาคกับผู้ชาย แต่เมื่ออนุญาตให้บวชภิกษุณีกลับกำหนดเงื่อนไขต่างๆ (ครุธรรมแปด) ให้ภิกษุณีมีสถานภาพทางสังคมต่ำกว่าภิกษุ

จริงอยู่ พุทธศาสนาปฏิเสธความเชื่อที่ว่าพระพรหมกำหนดให้มีวรรณะสี่ และถือว่าคนเราไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดเช่นไร เราต่างเลือกทำชั่วหรือดีได้ด้วยตนเอง เมื่อทำชั่วหรือทำดีในแบบเดียวกันก็มีความหมายเป็นชั่วหรือดีแบบเดียวกันและได้รับผลตอบแทนตามกฎแห่งกรรมเช่นเดียวกัน แต่นี่ก็เป็นเสรีภาพและความเสมอภาคทางศีลธรรมเท่านั้น พุทธศาสนาไม่ได้เสนอความคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคทางสังคมและการเมือง

ที่ชาวพุทธโปรโมทกันว่า “สังฆะ” ในพุทธศาสนาไม่มีวรรณะ ไม่ว่าคุณจะมาจากวรรณะกษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์, ศูทร เมื่อมาบวชเป็นสมาชิกแห่งสังฆะแล้วก็หมดสถานะทางวรรณะ กลายเป็นภิกษุหรือ “สมณศายกบุตร” ที่เสมอภาคกันตามธรรมวินัยเท่านั้น แท้จริงแล้วเมื่อมองในทางสังคมวิทยา สถานะของภิกษุ นักบวชหรือสังฆะในประวัติศาสตร์และเรื่อยมาถึงปัจจุบันก็คือ “ชนชั้นแบบหนึ่ง” ในโครงสร้างสังคมยุคต่างๆ

พูดอีกอย่างคือ เป็นเรื่องปกติของนักบวชประเภทต่างๆ ในสังคมอินเดียโบราณที่เมื่อคุณเข้ามาบวชแสวงหาความหลุดพ้น คุณต้องอยู่ในระเบียบของกลุ่มนักบวชประเภทนั้นๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทิ้งวรรณะเดิมของตน เช่น คุณมาจากวรรณะกษัตริย์แล้วเปลี่ยนสถานะเป็นภิกษุ, สมณะ, อาชีวก คุณก็หมดสถานะและหน้าที่เดิมของคุณแล้ว คือคุณไม่ได้มีหน้าที่ฝึกตนเองเป็นนักรบหรือผู้ปกครองอีกต่อไป แต่ต้องฝึกตนเองเพื่อความหลุดพ้นตามแนวทางของศาสนานั้นๆ

แต่การเป็นภิกษุ, สมณะ, อาชีวก แม้จะหลุดจากวรรณะสี่ตามความเชื่อแบบศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะคุณสมาทานศาสนาอื่น ทว่าไม่ได้เท่ากับหลุดจากสถานะทางชนชั้นในโครงสร้างสังคมแบบโบราณและยุคกลางที่ถือว่า ชนชั้นสูงคือ กษัตริย์, ขุนนาง และนักบวช ดังในยุคกลางหรือยุคประเพณีภิกษุในพุทธศาสนาจึงถูกสถานปนาเป็น “พระราชาคณะ” ที่มีศักดินาพระชั้นต่างๆ มาจนทุกวันนี้

ดังนั้น ที่พูดกันว่าสังฆะสมัยพุทธกาลเป็นแบบอย่างของสังคมประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ใช้มติเสียงข้างมาก นี่เป็นการตีความใหม่โดยอัมเบดการ์ (เป็นต้น) ที่นำไอเดียเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพแบบตะวันตกมาใช้เป็นกรอบการตีความ แต่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคโบราณและยุคกลางว่า ชุมชนสังฆะเคยใช้ไอเดียเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพเป็นคำสอนหรือข้อเรียกร้องทางสังคมและการเมือง มีเพียงการอ้างคุณธรรมผู้ปกครองตามกรอบคิด “ธรรมราชา” เป็นส่วนใหญ่ที่ไม่เกี่ยวใดๆ กับเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคทางสังคมและการเมือง

ศาสนาคริสต์มองว่า “มนุษย์ทุกคนมีบาปกำเนิดเสมอภาคกัน” ไม่ว่าคุณจะเป็นกษัตริย์ ขุนนาง นักบวช หรือสามัญชน หรือมนุษย์ถูกสร้างในฐานะเป็นจินตภาพหรือฉายาของพระเจ้า แต่ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคทางสังคมและการเมือง เพราะกษัตริย์และพระสันตะปาปาที่ใช้อำนาจ “เทวสิทธิ์” ในนามของพระเจ้า ก็เป็นชนชั้นสูงและมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครอง นักบุญอย่างออกัสตินปฏิเสธการปกครองที่มีเสรีภาพและเสมอภาค แถมยืนยันด้วยว่า การมีระบบทาสเป็นการลงโทษต่อบาปของมนุษย์โดยพระเจ้า

ถามว่าในทางสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ ศาสนาคริสต์มีส่วนทำให้มีเสรีภาพทางสังคมและการเมืองไหม ก็ตอบได้ว่ามีส่วน เช่น การปฏิรูปศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 16  ทำให้สังคมหลุดจากอำนาจศาสนจักรโรมันคาทอลิก เริ่มเกิดความคิดที่บ่งนัยถึงเสรีภาพของมโนธรรม (freedom of conscience) ว่าปัจเจกบุคคลสามารถตีความคำสอนของพระเจ้าในไบเบิลได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องขึ้นกับอำนาจของนักบวชหรือศาสนจักร ทำให้เกิดนิกายโปรเตสแตนท์และแตกออกไปอีกหลายนิกาย เกิดสงครามระหว่างนิกายศาสนา เกิดเสรีภาพทางศาสนาที่แต่ละรัฐเลือกนับถือศาสนานิกายของตนเองได้ และส่งผลต่อมาให้เกิดเสรีภาพทางศาสนาของปัจเจกบุคคล

แต่การมีเสรีภาพทางศาสนาของปัจเจกบุคคล ก็ไม่ได้เป็นเพราะความเชื่อหรือคำสอนทางศาสนาก่อให้เกิดขึ้นโดยตรง แต่เกิดเพราะการปฏิรูปหรือการปฏิวัติอำนาจศาสนจักรและสงครามระหว่างนิกายศาสนา ทำให้อำนาจครอบงำของศาสนจักรอ่อนแอลง จึงเปิดให้ความคิดปรัชญามนุษยนิยม เสรีนิยม วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น เกิดการนิยาม “ความเป็นมนุษย์” (human being) ในความหมายใหม่ที่ไม่ใช่สิ่งสร้างและถูกตีกรอบให้ต้องเดินไปตามแผนการของพระเจ้า แต่เป็นมนุษย์ที่มี “ความเป็นปัจเจกบุคคล” (individuality) ที่เป็นเจ้าของสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจกำหนดตนเองในทางศีลธรรม และการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมือง จนต่อมาเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสและที่อื่นๆ ตามมา เท่ากับว่าเมื่อสังคมและการเมืองหลุดออกมาจากอำนาจครอบงำของศาสนา จึงสามารถที่จะสร้างอุดมการณ์ความยุติธรรมที่มี “เสรีภาพ” เป็นพื้นฐานได้

คำถามคือ ในสังคมไทยปัจจุบัน ศาสนาอยู่ตรงไหนระหว่างอุดมการณ์ความยุติธรรมที่ไม่จำเป็นต้องมีเสรีภาพตามกรอบคิดเผด็จการไทยๆ กับอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยที่ถือว่าความยุติธรรมจำเป็นต้องมีเสรีภาพเป็นพื้นฐาน จากปรากฏการณ์ที่เราเห็นก็ดูเหมือนศาสนาจะอยู่กับฝ่ายแรกมากกว่า

และเมื่อจะถามจากจุดยืนความยุติธรรมที่จำเป็นต้องมีเสรีภาพเป็นพื้นฐานตามหลักการเสรีประชาธิปไตย ก็ต้องถามว่า มันยุติธรรมไหมที่ต้องมีศาสนาประจำชาติ หรือบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์และส่งเสริมศาสนา หรือการบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในโรงเรียน หรือการมีตัวแทนองค์กรศาสนาที่มีที่นั่งในสภา “โดยตำแหน่ง” เป็นต้น คำตอบจากปรากฏการณ์ที่เป็นจริงก็ดูเหมือนว่า สถานะและบทบาทของศาสนาในสังคมไทยขัดหลักความยุติธรรมที่มีเสรีภาพเป็นพื้นฐานชัดเจน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ดีอยู่ดอกที่เราจะตีความหลักความเชื่อพื้นฐาน หรือคำสอนบางอย่างของศาสนาสนับสนุนความเสมอภาคและเสรีภาพ และเราก็ดีใจที่มีนักคิดตะวันตกบางคนตีความหลักศาสนาของเราสนับสนุนสิทธิมนุษยชน แต่แล้วไง ในเมื่อความเป็นจริงระบบความสัมพันธ์ของศาสนากับรัฐยังขัดกับหลักเสรีภาพและความเสมอภาค ศาสนายังทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่ขัดกับหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย โดยที่เราเองไม่รู้ไม่ชี้ หรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อปัญหาสำคัญดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net