Skip to main content
sharethis

นิตยสารเอียงซ้ายสัญชาติอังกฤษ นิวสเตทแมน วิเคราะห์ยุทธวิธีเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองของประชาชนในฮ่องกงตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมาที่มีการใช้คำขวัญจากวาทะดังของนักแสดงกังฟูในตำนานอย่าง บรูซ ลี คือ "จงเป็นดั่งน้ำ" ซึ่งไม่เพียงแค่มีกระบวนการแบบประชาธิปไตยมีส่วนร่วมไร้แกนนำเท่านั้น แต่ยังมีวิธีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร รวมถึงกระบวนท่าที่ใช้รับมือกับการโจมตีของทางการกับความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ

ผู้ชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวนักโทษข้ามแดน เมื่อ 9 มิ.ย. ที่ฮ่องกง (ที่มา: HKFP/Apple Daily)

ในฮ่องกงมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาโดยมีชนวนมาจากการที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนฉบับแก้ไขใหม่ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นการส่งตัวผู้ต้องสงสัยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนให้กับทางการจีนแผ่นดินใหญ่ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงต่อมาการประท้วงก็ยกระดับกลายเป็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ขอให้รัฐบาลมีความโปร่งใสตรวจสอบได้มากขึ้นและขอให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป

แอนโทนี ดาปิรัน ทนายความและนักเขียนในฮ่องกงวิเคราะห์ถึงยุทธวิธีการเคลื่อนไหวในฮ่องกงช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนรุ่นเยาว์ที่ทั้งพัฒนาและปรับยุทธศาสตร์ของตัวเองไปเรื่อยๆ ดาปิรันมองว่าการเคลื่อนไหวในปี 2557 ที่รู้จักกันดีในนาม "ขบวนการร่ม" กลุ่มคนรุ่นเยาว์ในฮ่องกงได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหว "ออคคิวพาย" หรือ "ยึดครองพื้นที่" ในโลกตะวันตกช่วงหลังเกิดวิกฤตทางการเงินปี 2551 พวกเขาปักหลักชุมนุมและขัดขวางระบบเป็นเวลา 79 วันจนกระทั่งมีการเจรจากับรัฐบาลแต่รัฐบาลก็ไม่ยอมถอยทำให้การชุมนุมในครั้งนั้นก็จบลงด้วยความล้มเหลว

อย่างไรก็ตาม การประท้วงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาผู้ชุมนุมในฮ่องกงได้อาศัยแรงบันดาลใจที่ใกล้ตัวกว่านั้น นั่นคือดารากังฟูชื่อดังชาวฮ่องกง บรูซ ลี ผู้ที่มีวาทะโด่งดังที่ว่า "จงเป็นดั่งน้ำ" คนรุ่นเยาว์ในฮ่องกงเริ่มเปลี่ยนจากวิธีการที่ยึดติดและตายตัวให้เป็นยุทธวิธีที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น จากการชุมนุมมาเป็นการเดินขบวน และจากการเดินขบวนที่ไปในทางเดียวกลายมาเป็นการเดินขบวนที่เปลี่ยนไปหลายทิศทางอย่างกระทันหัน มีกลุ่มย่อยๆ ในหมู่ผู้ชุมนุมที่ปฏิบัติการแบบกระทันหันแบบที่เรียกว่า "ปฏิบัติการแมวป่า" (wildcat) โดยการเข้าไปยึดครองพื้นที่อาคารรัฐบาล เมื่อรัฐบาลประกาศสั่งปิดอาคารและสั่งให้พนักงานที่ทำงานในอาคารนั้นหยุดงานชั่วคราวหนึ่งวัน พวกเขาก็เคลื่อนพลไปที่เป้าหมายอื่น เป็นการประท้วงในแบบที่คล้ายกับคำกล่าวของบรูซ ลี ที่ว่า "น้ำนั้นสามารถไหลได้ แล้วก็สามารถสร้างแรงกระทบได้ด้วย"

ทั้งนี้ ดาปิรันยังตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวรอบล่าสุดในฮ่องกงเป็นการเคลื่อนไหวแบบไร้แกนนำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลฮ่องกงมีการปราบปรามแกนนำการประท้วงในอดีตอย่างหนักด้วย แต่การที่ไม่มีศูนย์กลางแกนนำนั้นกลับทำให้ลักษณะการประท้วงมียุทธวิธีเป็นรูปธรรมที่เกิดจากการถกเถียงกันในโลกออนไลน์เช่นในเว็บบอร์ด LIHKG ซึ่งมีระบบการโหวตคล้ายกับ Reddit ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการโหวตว่าจะเอาอย่างไรต่อไปในเรื่องวิธีการชุมนุม เช่น จะอยู่ต่อหรือจะสลายตัว

ในเรื่องนี้ฟรานซิส ลี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยไชนิสแห่งฮ่องกงเรียกว่าเป็น "การประท้วงแบบโอเพนซอร์ส" หรือการประท้วงแบบที่ให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไข โดยที่ถึงแม้ว่าในการประท้วงจะมีคนถือเครื่องขยายเสียงและเครื่องรับส่งวิทยุมือถือเพื่อป่าวประกาศและใช้ในการประสานงานแต่คนเหล่านี้ก็ไม่นับเป็น "แกนนำ" การที่ไม่มีแกนนำนี้กระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในขบวนการ กลายเป็นการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในแบบที่พวกเขาต้องการจะเห็น

ในแง่ของการสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยีนั้น นอกจากเว็บบอร์ดแล้ว ผู้ชุมนุมจำนวนมากยังใช้โปรแกรมแช็ตแบบที่มีการลบทิ้งได้อย่างเทเลแกรม แต่ต่อมาเทเลแกรมโดนโจมตีทางไซเบอร์จนใช้การไม่ได้ซึ่งดาปิรันมองว่าน่าจะมาจากฝีมือของทางการจีน อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เทเลแกรมล่มคือการที่คนใช้งานพร้อมกันจำนวนมากในที่ใกล้ๆ กันจนเกิดการขัดข้องเพราะโครงข่ายรับไม่ไหว 

หลังจากที่เทเลแกรมใช้การไม่ได้พวกเขาก็หันไปใช้ระบบสื่อสารแบบไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่าง Airdrop แทน โดยที่โปรแกรมนี้สามารถส่งข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อของบลูทูธได้โดยตรง ผู้ประท้วงใช้ Airdrop ในการส่งและแพร่กระจายข้อมูลต่างๆ ให้กับคนทั่วไปที่อยู่ในละแวกนั้นได้รับทราบด้วย เช่น คำขวัญของผู้ชุมนุมหรือแผนการชุมนุมครั้งถัดไป ถึงขั้นมีการเตือนในกลุ่มแช็ตว่า "จำไว้ว่าให้เปิด Airdrop เอาไว้" ทั้งนี้ยังมีการส่งข้อความเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การชุมนุมอย่าง "ให้ออกไปพร้อมกันเวลา 7:00" หรือคำขวัญที่ในช่วงท้ายของการประท้วงเมื่อไม่นานนี้มีการส่งต่อๆ กันระบุว่า "จงเป็นดั่งน้ำ"

วลี "จงเป็นดั่งน้ำ" นี้มาจากสารคดีเกี่ยวกับบรูซ ลี ที่ชื่อ Bruce Lee : A Warrior's Journey ออกมาในปี 2543 ในสารคดีนี้มีฉากที่บรูซ ลี ท่องบทตัวละครที่ตัวเองเขียนขึ้นในซีรีส์โทรทัศน์ Longstreet ประโยคเต็มของวลีนี้คือ "อย่ากำหนดตัวเองให้อยู่ในรูปแบบเดียว จงปรับมันและสร้างรูปแบบของตัวเอง ให้มันได้เติบโต จงเป็นดั่งน้ำ ทำใจให้ว่าง ไร้รูปแบบ ไร้รูปทรง เสมือนน้ำ คราวนี้พอคุณเทน้ำลงในถ้วย มันก็จะกลายเป็นถ้วย คุณเทน้ำลงไปในขวดมันก็จะกลายเป็นขวด คุณเทน้ำใส่ในกาน้ำมันก็จะกลายเป็นกาน้ำ พอถึงตอนนี้แล้วน้ำนั้นสามารถไหลได้ แล้วก็สามารถสร้างแรงกระทบได้ด้วย จงเป็นดั่งน้ำเพื่อนเอ๋ย"

แต่การประท้วงก็ไม่ได้มีแค่คำคมพวกเขาต้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ประสบการณ์จากขบวนการร่มและการปะทะกับตำรวจเมื่อไม่นานนี้ก็กลายเป็นบทเรียนว่าผู้ประท้วงแนวหน้าควรจะเตรียมอะไรไปบ้าง เพื่อให้เครื่องมือเหล่านี้ไปถึงมือผู้ประท้วงแนวหน้าได้ง่ายขึ้นพวกเขาจึงพัฒนาระบบภาษามือโดยเฉพาะของพวกเขาเองขึ้นมาเพื่อส่งสัญญาณว่าต้องการเครื่องมืออะไร มีการใช้ภาษามือเหล่านี้ส่งข้อความต่อกันไปเรื่อยๆ ไปจนถึงคลังพัสดุของผู้ชุมนุมเพื่อสื่อสารว่าต้องการอะไรจากนั้นก็จะมีการส่งสิ่งของต่อกันเป็นทอดๆ ในแบบห่วงโซ่มนุษย์ทำให้สามารถส่งเครื่องมือที่ต้องการไปจนถึงแนวหน้าที่กินระยะทางถึงราว 1 กม. ได้ ภาษามือนี้ไม่เพียงแค่ใช้กันในหมู่คนรุ่นเยาว์เท่านั้น กลุ่มผู้ชุมนุมสูงอายุที่เข้าร่วมที่เดินขบวนแสดงการสนับสนุนคนรุ่นเยาว์เหล่านี้ก็เริ่มเรียนรู้ภาษามือไปด้วยเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ดาปิรันนำเสนอคือเรื่องที่ผู้ชุมนุมวางระบบจัดการกับแก๊สน้ำตา หลังจากที่ในการประท้วงหลายครั้งมีการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมบ่อยครั้งจนแทบจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผู้ชุมนุมก็สามารถหาวิธีทำให้แก๊สน้ำตาหมดฤทธิ์ได้ พวกเขาตั้งทีมที่เรียกว่า "ทีมดับเพลิง" อยู่หลังแนวหน้าของผู้ชุมนุม สิ่งที่พวกเขาใช้คุ้มกันกองหน้าของการประท้วงจากแก็สน้ำตาคือกรวยยางจราจร พวกเขาจะนำกรวยยางวิ่งไปครอบแก๊สน้ำตาเอาไว้ทันทีที่มีการยิงออกมาเพื่อให้ควันลอยออกมาจากรูบนยอดเสมือน "ปล่องควัน" จากนั้นก็มีอีกทีมหนึ่งเข้ามาเทน้ำใส่เพื่อทำให้แก็สน้ำตาหมดฤทธิ์ ถ้าหากไม่มีกรวยยางจราจรให้ใช้พวกเขาก็จะใช้ผ้าเปียกหรือน้ำในการจัดการกับแก๊สน้ำตา อีกวิธีหนึ่งคือการให้คนที่มีความคล่องแคล่วสวมถุงมือกันความร้อนจับแก๊สน้ำตาขว้างกลับไปที่ตำรวจหรือไม่ก็ขว้างออกไปให้ห่างฝูงชน

ความเสี่ยงจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตอีกอย่างหนึ่งในการประท้วงคือการชุลมุนเหยียบกัน ในสภาพพื้นที่ของฮ่องกงที่มีการประท้วงกันบนถนนแคบๆ และคดเคี้ยวก็เสี่ยงที่จะเกิดปัญหานี้ การที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาหรือใช้หน่วยตอบโต้เคลื่อนที่เร็วที่เรียกว่า "แร็พเตอร์" เอาไม้กระบองไฟฟ้าไล่ทุบผู้ชุมนุมก็เสี่ยงจะทำให้ฝูงชนแตกตื่นแล้วกลายเป็นการชุลมุนเหยียบกันได้ง่ายๆ แต่ผู้ชุมนุมก็คำนึงถึงเรื่องนี้โดยมีการประสานเสียงร่วมกันว่า "หนึ่ง สอง...หนึ่ง สอง..." ในขณะที่พวกเขาล่าถอยพร้อมทั้งเดินไปตามจังหวะประสานเสียงเพื่อให้การล่าถอยเป็นไปอย่างมีระเบียบและเลี่ยงการเหยียบกัน

กลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงยังมีความต้องการให้นานาชาติหันมาสนใจการต่อสู้เรียกร้องของพวกเขา ผู้ประท้วงพยายามจะใช้พื้นที่การประทชุมผู้นำโลก G20 ในเดือน มิ.ย. ให้เป็นประโยชน์กับพวกเขาแต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงโต๊ะประชุมได้ ทำให้พวกเขาทำการระดมทุนประชาชนทั่วไปแบบที่เรียกว่า crowdfunding เพื่อซื้อโฆษณาเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งสามารุระดมทุนได้ 600,000 ปอนด์ (ราว 22 ล้านบาท)

ภายในเวลาไม่นาน มีอาสาสมัครคอยเป็นผู้ตรวจทานและนำเสนอเป็นภาษาต่างๆ พยายามขอซื้อหน้าหนังสือพิมพ์จากหลายที่ในโลกจนทำให้พวกเขาได้โฆษณาเต็มหน้าสีขาวดำเขียนว่า "ร่วมยืนอยู่ข้างฮ่องกงในการประชุม G20" พวกเขาได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทั่วโลก ทั้ง นิวยอร์กไทม์ (สหรัฐฯ), เดอะการ์เดียน (อังกฤษ), เลอมงด์ (ฝรั่งเศส), ซุดดอยต์เซอ ไซตุง (เยอรมนี), ดิออสเตรเลีย, อาซาฮีชิมบุน (ญี่ปุ่น), เดอะโกลบแอนด์เมล (แคนาดา) และ โซลเดลี (เกาหลีใต้)

เรียบเรียงจาก

“Be Water!”: seven tactics that are winning Hong Kong’s democracy revolution, New Statesman, Aug. 1, 2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikiquote.org/wiki/Bruce_Lee

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net