Skip to main content
sharethis

รายงานสถานการณ์คัดค้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง วิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเข้ามาของรัฐบาลจีนในฐานะทุนนิยมระบบราชการ นำไปสู่ประเด็นการต่อต้านทางเชื้อชาติ เสี่ยงขัดแย้งระหว่าง ปชช.ด้วยกัน ขณะที่ฝ่ายสังคมนิยมย้ำต้องเอาชนะ 'ลัทธิท้องถิ่นนิยม' ที่แบ่งแยกเชื้อชาติด้วย พร้อมมองการต่อต้านของหนุ่มสาว สู่บทบาทขององค์กรแรงงาน-ฝ่ายซ้าย นักวิชาการชี้ 'นัดหยุดงาน' เป็นการต่อสู้ที่สำคัญ เหตุลำพัง 'ยึดพื้นที่' ไม่เพียงพอในการขัดขวางการผลิตของระบบทุนนิยมทั้งระบบ 
 

ที่มาภาพ democracynow.org

ปรากฏการณ์ประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของจีนในฮ่องกงที่มีคนหนุ่มสาวเป็นกำลังหลัก ได้มาถึงจุดที่คนทำงาน 350,000 คนจาก 20 ภาคส่วนนัดหยุดงานทั่วไปเมื่อวัน 5 สิงหาคม 2562 โดยเฉพาะการนัดหยุดงานของสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานฮ่องกง และพนักงานของรัฐ จากรายงานของ Sadie Robinson ในบทความ First general strike in half a century deepens the revolt in Hong Kong (ใน Socialist Worker UK) ซึ่งนับว่าเป็นการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ในรอบครึ่งศตวรรษ

การนัดหยุดงานที่ผ่านมามีเป้าหมายเพื่อเพิ่มแรงกดดันให้นางแคร์รี่ แลม ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่การชุมนุมประท้วงยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2562 แม้ร่างกฎหมาย จะถูกระงับ แต่รัฐบาลฮ่องกงยังไม่ถอนร่างออกจากสภานิติบัญญัติอย่างเบ็ดเสร็จ การประท้วงจึงเข้มข้นขึ้นอันเนื่องมาจากผลลัพธ์ของการต่อสู้ในแต่ละวันกับการใช้กำลังปราบปรามอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จากมุมมองของนักสังคมนิยมในฮ่องกง มองว่าสิ่งที่น่าจับตามองขณะนี้คือ การนัดหยุดงานของคนทำงานและสหภาพแรงงานในฮ่องกงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน (Lam Chi Leung.  ‘The movement is at a critical point’—voice from Hong Kong.  Socialist Worker UK.  5 August 2019.) ซึ่งมีนัยถึงความสำคัญขององค์กรสหภาพแรงงานในการต่อสู้ทางการเมืองและมีนัยถึงการส่งผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ดังนี้

ร่าง กม.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของจีนละเมิดหลักปกครองตนเองของชาวฮ่องกง 

หลังจากการรำลึกครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมินของภาคประชาชนฮ่องกงเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมนับแสนคน สภานิติบัญญัติก็ได้ผลักดันการแก้ไขกฎหมายผู้กระทำผิดที่หลบหนีคดีหรือกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อให้สำเร็จภายในเดือนกรกฎาคม จากการสัมภาษณ์ของ Kevin Lin นักวิจัยและนักกิจกรรมด้านแรงงาน ซึ่งสัมภาษณ์นักวิชาการ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวแนวสังคมนิยมในฮ่องกง ในบทความ Everything You Need to Know About the Hong Kong Protests. An Interview with Au Loong Yu, Chris Chan, Lam Chi Leung, Chun-Wing Lee, Alexa, Student Labour Action Coalition (ใน Jacobin Magazine) ได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวฮ่องกง นักกฎหมาย นักศึกษา นักสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากรู้ว่า ร่างกฎหมายนี้จะเปิดโอกาสให้มีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยที่ไม่เพียงแต่กระทำผิดทางอาญาแล้ว ยังจะเหมารวมไปถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักสิทธิมนุษยชน พลเมือง นักธุรกิจที่อาจทำผิด และสามารถถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้  

Au Loong Yu นักเคลื่อนไหว ให้คำสัมภาษณ์ในบทความดังกล่าวว่า ฮ่องกงจะไม่สามารถมีระบบยุติธรรมที่เป็นอิสระได้จริง เพราะการจะทำข้อตกลงกับจีนนี้เป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนต่อเสรีภาพของชาวฮ่องกงและนักศึกษา ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 เคยเกิดเหตุการณ์จับกุมตัวเจ้าของร้านหนังสือและพนักงานเขตคอสเวย์เบย์ เพราะพิมพ์หนังสือเสียดสีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พวกเขาถูกจับและหายตัวไป อีกทั้ง มีการลักพาตัวเจ้าของร้านหนังสือ 2 แห่งในประเทศไทยและฮ่องกง  นอกจากนี้ Lam Chi Leung นักสังคมนิยมจากกลุ่ม Left 21 ในบทความ Inside the Protests Rocking Hong Kong. (ใน Socialist Worker UK) เล่าว่า จีนยังผลักดันฮ่องกงให้มีหลักสูตรการศึกษาความรักชาติจีนและกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งนักศึกษาและประชาชนไม่ต้องการและต่อต้านสำเร็จ เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดหลักการปกครอง “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

Lam Chi Leung กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เป็นครั้งแรกที่ชาวฮ่องกงนับล้านคนออกมาชุมนุมต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต่อเนื่องมาในวันที่ 12 มิถุนายนที่มีผู้ชุมนุมออกมาราว 40,000 คนและยึดอาคารสภานิติบัญญัติไว้ จนถูกผู้บัญชาการตำรวจประกาศว่าเป็นการจลาจล (riot) เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย ต่อเนื่องมาในวันที่ 16 มิถุนายน การประท้วงขยายวงไปกว่า 2 ล้านคน จากการที่ Marco Leung อายุ 35 ปี ประท้วงร่างกฎหมายด้วยการกระโดดจากหลังคาห้างสรรพสินค้าใกล้กับสภานิติบัญญัติและเสียชีวิต  ทำให้จำนวนผู้ประท้วงมีขนาด 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในฮ่องกง (7.5 ล้านคน) ถือว่าเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนเมื่อปี 2540 แต่สื่อทางการจีนกลับบอกว่าการประท้วงนี้ถูกยุยงปลุกปั่นโดยชาติตะวันตก

ผลพวงจากขบวนการปฏิวัติร่ม 57

Lam Chi Leung อธิบายต่อว่า มรดกตกทอดของการปกครองยุคจักรวรรดินิยมอังกฤษ ที่ฮ่องกงเป็นอาณานิคมขนานถึง 150 ปี คือ การที่อังกฤษได้วางระบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยและเสริมอำนาจให้แก่ตัวเอง เพราะเป็นผู้เลือกผู้ปกครอง ทั้งมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน เมื่อคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนในช่วงที่จีนมีนโยบายเปิดประเทศก็ได้ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกและเป็นประตูสู่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน

Au Loong Yu ยังให้สัมภาษณ์ในบทความ The Rebellion in Hong Kong is Intensifying (ใน Jacobin) ว่า จีนเป็นทุนนิยมระบบราชการที่ชนชั้นนำทั้งรัฐและทุนร่วมกันใช้อำนาจบังคับจากบนลงล่าง สั่งการและกำกับ สอดรับกับคำสัมภาษณ์ของ Chun-Wing Lee นักสังคมนิยมจากกลุ่ม Left21 ในบทความ Everything You Need to Know About the Hong Kong Protests (ใน Jacobin) ว่า จีนเข้ามาทำธุรกิจร่วมกับชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางในฮ่องกง โดยรัฐบาลจีนพยายามที่จะเพิ่มมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง เพิ่มทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาในฮ่องกงจนทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดและตลาดหุ้นเติบโตขึ้น จะเห็นว่าราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยสูงมากจนคนหนุ่มสาวไม่สามารถหาซื้อได้

แม้ว่าฮ่องกงจะมีข้อตกลงกฎหมายพื้นฐานที่จีนอนุญาตให้มีธรรมนูญของตัวเอง คือ ใช้ระบอบการปกครองภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศสองระบบ” มีอำนาจปกครองตัวเอง มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มีสภานิติบัญญัติ ระบบเศรษฐกิจ มีเงินสกุลของตัวเอง และระบบกฎหมายที่เป็นอิสระ แต่นับจากการมอบคืนเกาะให้แก่จีนในปี 2540 รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงการปกครองของฮ่องกง โดยเฉพาะการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ชาวฮ่องกงถูกลดทอนสิทธิ์พลเมือง ไม่สามารถเลือกตัวแทนของตัวเองได้โดยตรง จึงนำมาสู่การต่อต้านภายใต้ขบวนการปฏิวัติร่มในปี 2557

Lam Chi Leung ยังอธิบายในบทความ Inside the Protests Rocking Hong Kong (ใน Socialist Worker UK) ว่า เมื่อปี 2557 จีนเคยมีแผนให้ชาวฮ่องกงเลือกผู้ว่าการเกาะได้เองโดยตรง แต่ผิดสัญญา เพราะให้เลือกจากรายชื่อผู้สมัครที่ต้องผ่านการอนุมัติจากจีน จนทำให้นักศึกษาในตอนนั้นไม่พอใจ เนื่องจากการได้มาซึ่งคณะกรรมการเลือกตั้ง (1,200 คน) ให้เป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าการเกาะนั้นถูกมองว่าเป็นนักธุรกิจและนักการเมืองที่ใกล้ชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่ 

การเลือกตั้งผู้ว่าการล่าสุดซึ่งได้นางแคร์รี่ แลม ขัดกับการปกครองของฮ่องกงที่อนุญาตให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิพลเมืองและมีอำนาจปกครองตนเองตามกฎหมายพื้นฐาน ในปี 2557 จึงเกิดขบวนการปฏิวัติร่ม ที่ประกอบด้วยคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ยึดพื้นที่สาธารณะกดดันจีน ให้ชาวฮ่องกงเลือกผู้นำของตัวเอง อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติร่มไม่ประสบความสำเร็จ แต่นักศึกษาประกาศว่าพวกเขาจะกลับมาอีก (Au Loong Yu, Everything You Need to Know About the Hong Kong Protests, Jacobin Magazine)

การต่อต้านของหนุ่มสาว คู่ขัดแย้งหลักของชนชั้นปกครอง

จากข้างต้นที่กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองที่ผ่านมา ประกอบกับบริบททางเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย โดยเฉพาะการที่คนหนุ่มสาวไม่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ทำให้คนหนุ่มสาวตระหนักถึงอนาคตของตนเองและกลายเป็นพลังต่อต้านหลักในฮ่องกง ณ ขณะนี้ (Chun-Wing Lee, Everything You Need to Know About the Hong Kong Protests, Jacobin Magazine)

Alexa นักกิจกรรมแรงงานและสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ในบทความ Everything You Need to Know About the Hong Kong Protests ว่า ในขบวนการต่อต้านร่างกฎหมายผู้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พลังหลักคือนักศึกษา รูปแบบการต่อสู้ของพวกเขาคือ ไม่มีผู้นำอย่างเป็นทางการ ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ใช้วิธีจัดตั้งตัวเองผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ใช้วิธีการสื่อสารที่สร้างสรรค์มาก รวมตัวกันในเขตต่างๆ กระจายออกไป และปฏิบัติการร่วมกันอย่างว่องไว พวกเขารู้จักการใช้อุปกรณ์ในการประท้วง เนื่องจากเคยเรียนรู้มาจากการปฏิวัติร่ม ครั้งนี้ถือว่าเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของการมีจิตสำนึกพลเมือง การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐก็ว่าได้ กระนั้น ก็เห็นการใช้ความรุนแรงของตำรวจมากยิ่งขึ้น

ในบทความเดียวกัน Au Loong Yu เสริมว่า ที่ผ่านมาการปฏิวัติร่ม ปี 2557 สหพันธ์นักศึกษาฮ่องกงมีบทบาทการนำ แต่ขณะนี้ องค์กรมีขนาดเล็กลงและแตกแยก ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่มีบทบาทเท่าไรนักในการระดมคนครั้งนี้ 

“การระดมคนวันที่ 9 มิถุนายนและ 12 มิถุนายน ในตอนแรกมาจากแนวหน้าสิทธิมนุษยชนพลเมือง (The Civil Human Rights Front) แต่หลังจากนั้น เป็นการกระทำแบบไร้ผู้นำ กระจายอำนาจการนำไปสู่คนกลุ่มคนหนุ่มสาวต่างๆ โดยใช้ระบบการสื่อสารที่ก้าวหน้า ประสานงานกันอย่างว่องไวและยืดหยุ่นกว่าการมีองค์กรแข็งทื่อ แม้แต่พรรคเดโมซิสโต (Demosistō) ที่นำโดยโจชัว หว่องก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับความนิยมของคนหนุ่มสาวรุ่นนี้” Au Loong yu กล่าว

Au Loong Yu ยังเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างการรวมกลุ่มที่มีลักษณะการนำแบบชั่วคราวและปฏิบัติการแบบถอนรากถอนโคน คือ การบุกเข้าไปในสภานิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน กลุ่มเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มใช้กำลังต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเป็นพวกลัทธิท้องถิ่นนิยม (localism) ที่สนับสนุนการปกครองอิสระของฮ่องกง (Independence) แนวนี้ยังมีกลุ่ม Youngspiration และ Civic Passion พวกเขามีทัศนคติรังเกียจคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาในฮ่องกง ซึ่งแนวการเมืองถือเป็นพวกขวาอนุรักษ์ ข้อเรียกร้องที่เหลวไหล คือ ถ้าใครพูดภาษาจีนกวางตุ้งหรือภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็ไม่ควรเป็นพลเมืองฮ่องกง (แต่คนสูงอายุรุ่นก่อนๆ ไม่พูดภาษาจีนกวางตุ้ง)

อีกแนวหนึ่งในหมู่คนหนุ่มสาวคือ แนว Self-determinism (กำหนดตัวเอง) ไม่มีลักษณะสุดโต่งคือ ไม่ได้เรียกร้องการปกครองอิสระเบ็ดเสร็จของฮ่องกง ไม่เหยียดเชื้อชาติ กลุ่มนี้ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้า พรรคเดโมซิสโต สนับสนุนสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน คนชายขอบ สิทธิทางเพศ (เช่นเดียวกับองค์กร League of Social Democrats) และได้รับความนิยมมากกว่าแนวท้องถิ่นนิยม ถือได้ว่าเป็นแนวการเมืองปีกกลาง-ซ้าย รวมแล้วปีกนี้ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งปี 2559 มากกว่าพวกปีกขวา

บทบาทขององค์กรแรงงาน-ฝ่ายซ้าย

แนวร่วมปฏิบัติการนักศึกษา-แรงงาน ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้ง ให้สัมภาษณ์ในบทความ Everything You Need to Know About the Hong Kong Protests ว่า พวกเขาก่อตั้งเมื่อปี 2560 ทำงานร่วมกับองค์กรสหภาพแรงงานและสหพันธ์นักศึกษาด้านสังคมเพื่อร่วมเดินขบวนการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน และร่วมชุมนุมกับนักศึกษาวิทยาลัยในวันที่ 9 มิถุนายน และเรื่อยมา ทั้งนี้เชื่อมั่นในการแนวทางสร้างความสมานฉันท์แรงงานกับนักศึกษาเพื่อรณรงค์สภาพการทำงานที่ดีของแรงงาน

ในบทความเดียวกัน Lam Chi Leung มองว่า ฮ่องกงจำเป็นต้องมีองค์กรแนวทางสังคมนิยมเพื่อต่อต้านอำนาจนิยมและทุนนิยม นับตั้งแต่ขบวนการปฏิวัติร่ม ระบบทุนนิยมเสรีในฮ่องกงสร้างความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น หนึ่งในห้าของประชากรฮ่องกงหรือ 1.38 ล้านคนอยู่ใต้เส้นความยากจน ค่าสัมประสิทธิ์จินี หรือค่าความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ 0.539 ซึ่งสูงกว่าสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ นอกจากนี้ ฝ่ายสังคมนิยมยังต้องเอาชนะลัทธิท้องถิ่นนิยมที่แบ่งแยกเชื้อชาติ

ในการต่อต้านอำนาจนิยม Lam Chi Leung ยังมองว่า นับตั้งแต่ยุค 1990 นักกิจกรรมในฮ่องกงอุทิศการทำงานในด้านสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน สิทธิทางเพศ สิ่งแวดล้อมในจีนและพยายามที่จะเข้าไปผลักดันขบวนการภาคประชาสังคมในจีน แต่การที่รัฐบาลจีนเข้ามาครอบงำทางการเมืองในฮ่องกงมากขึ้น ก็ได้นำไปสู่ประเด็นการต่อต้านทางเชื้อชาติ ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน

สำหรับเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ Lam Chi Lung (ในบทความ Inside the Protests Rocking Hong Kong ใน Socialist Worker UK) สะท้อนว่า แม้ฮ่องกงจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 8 ของโลกและมีตลาดหุ้นใหญ่อันดับ 4 ของโลกอันเป็นผลมาจากการพัฒนาระบบทุนนิยมขนานใหญ่ในยุค 1950 และ 60 ผลิตเครื่องนุ่งห่ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก จนได้ฉายาเสือแห่งเอเชีย แต่ในยุคนั้น คนฮ่องกงกว่าครึ่งยังยากจน ซึ่งหมายความว่าการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ไม่ได้ประกันความเป็นอยู่ที่ดีของคนธรรมดาและการชุมนุมสาธารณะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

จากคำสัมภาษณ์ของ Chris Chan อาจารย์จากภาคสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong ใน Everything You Need to Know About the Hong Kong Protests มองการต่อสู้ของแรงงานว่า การนัดหยุดงานนับจากช่วงขบวนการปฏิวัติร่มจนถึงขบวนการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนถือเป็นการต่อสู้ที่สำคัญมากและสามารถเป็นที่ยอมรับของประชาชน เพราะลำพังการยึดพื้นที่และการชุมนุมใหญ่ไม่เพียงพอในการขัดขวางการผลิตของระบบทุนนิยมทั้งระบบ สหภาพแรงงานต้องมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ทางการเมือง พลังนักศึกษาจะต้องเข้ามาร่วมกับพลังของแรงงานซึ่งจะมีนัยยะสำคัญต่อฝ่ายซ้ายมาก เช่นเดียวกับ Au Loong Yu ที่สรุปว่า นักกิจกรรมคนหนุ่มสาวจำเป็นต้องเริ่มใช้แนวคิดชนชั้นในการต่อสู้กับระบบที่ไม่ยุติธรรมนี้

แม้ผู้ประท้วงจะถูกด่าว่าทำให้ธุรกิจร้านค้า ผู้ใช้รถใช้ถนน ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะทางอากาศที่มีการเลื่อนไฟลท์เป็นจำนวนมากเมื่อวันที่ 5 และ 12 สิงหาคม จากการนัดหยุดงานของพนักงานสายการบินต่างๆ ของฮ่องกงและการชุมนุมภายในสนามบิน เพราะพวกเขาโกรธมากที่ตำรวจยิงกระสุนถุงตะกั่วใส่ผู้ชุมนุมถูกใบหน้าเลือดอาบตาข้างขวาบาดเจ็บสาหัส ทุบตีผู้ประท้วงและยิงแก๊สน้ำตาใส่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จากรายงานของสื่อเสรีฮ่องกง (HKFP)

 

แปลและเรียบเรียงจาก : 

  1. Sadie Robinson.  First general strike in half a century deepens the revolt in Hong Kong.  Socialist Worker UK.  6 August 2019.  https://socialistworker.co.uk/art/48752/First+general+strike+in+half+a+century+deepens+the+revolt+in+Hong+Kong
  2. Lam Chi Leung.  ‘The movement is at a critical point’—voice from Hong Kong.  Socialist Worker UK.  5 August 2019.  https://socialistworker.co.uk/art/48736/The+movement+is+at+a+critical+point+voice+from+Hong+Kong?fbclid=IwAR2xVNP0csYemPnhKXyO96Mq6rR6dY7F3xJrVespnP2pnNkiVqq1VgfLK64
  3. Lam Chi Leung.  Inside the Protests Rocking Hong Kong.  Socialist Worker UK. 25 June 2019.  https://socialistworker.co.uk/art/48536/Inside+the+protests+rocking+Hong+Kong
  4. Kevin Lin.  Everything You Need to Know About the Hong Kong Protests.  An Interview with Au Loong Yu, Chris Chan, Lam Chi Leung, Chun-Wing Lee, Alexa, Student Labour Action Coalition.  Jacobin Magazine.  June 2019.  https://www.jacobinmag.com/2019/06/hong-kong-extradition-bill-protest-movement
  5. Kevin Lin.  The Rebellion in Hong Kong is Intensifying.  An Interview with Au Loong Yu.  Jacobin Magazine.  August 2019.  https://www.jacobinmag.com/2019/08/hong-kong-protest-china-carrie-lam-umbrella-movement-extradition-bill-xi-jinping
  6. All flights cancelled out of Hong Kong as thousands of protesters besiege airport over police violence. Hong Kong Free Press.  12 August 2019.  https://www.hongkongfp.com/2019/08/12/just-flights-cancelled-hong-kong-thousands-protesters-besiege-airport-police-violence/?fbclid=IwAR2-NB6sY9JyHVa37K2-wL0NrAISxr-U3yUX79v4Xw1OstaAY3IDtTtWGhE

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net