Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยมีหลายกรณีที่เป็นที่จดจำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง อัสฮารี สามะแอ และ อิสมาแอ เต๊ะ ที่ในที่สุดศาลมีคำพิพากษาว่าเขาเหล่านั้นถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และนำไปสู่การชดเชยเยียวยาทางการเงิน แต่ก็มีอีกหลายๆกรณีที่ปรากฎในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือรายงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เช่นกรณี มะสุกรี สาและ ( prachatai.com/journal/2019/03/81625) ที่พบว่าเป็นลมหมดสติจนล้มหัวฟาดพื้นทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งมะสุกรีอ้างว่าเขาถูกบังคับไม่ให้นอนเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่มีการตรวจสอบหรือนำคดีขึ้นสู่ศาลเนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ถูกทรมาน เพราะผู้เสียหายจากการถูกทรมานโดยส่วนใหญ่คือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม อาจกล่าวได้ว่าในกลุ่มพวกเขาเหล่านั้นมีทั้งผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบและที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่ ทั้งหมดนั้นก็ควรจะต้องได้รับการคุ้มครองในเบื้องต้นตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชน 

นอกจากนี้ยังมีกรณีการเสียชีวิตในสถานที่ควบคุมตัวที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรอีก 2 กรณีคือกรณีสุไลมาน แนแซ (prachatai.com/journal/2010/05/29824) และกรณีอับดุลลายิ ดอเลาะ (https://mgronline.com/south/detail/9580000135281) ล่าสุดมีกรณีของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่เจ้าหน้าที่พบว่าเขาไม่หายใจหลังจากถูกควบคุมตัวในวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เพียงไม่กี่ชั่วโมง ต่อมาจึงได้มีคำชี้แจงของแพทย์ที่ทำการรักษาเบื้องต้นจากโรงพยาบาลปัตตานีและโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ระบุว่าเขาหยุดหายใจและมีอาการสมองบวมจากการหยุดหายใจ คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับอับดุลเลาะที่ทำให้เขาหยุดหายใจ 


หลังจากที่มีข่าวอับดุลเลาะออกสู่สาธารณะ แม่ทัพภาค 4 ได้มอบให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 คณะกรรมการมีแถลงการณ์เผยแพร่สู่สาธารณะว่ายังไม่สามารถตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียดชัดเจนได้ เนื่องจากแพทย์ผู้รักษาอาการผู้ป่วยระบุว่าอาการปัจจุบันของอับดุลเลาะนั้น แพทย์พบว่าเลือดในสมองไม่ไหลเวียน จึงไม่สามารถฉีดสีเข้าเส้นเลือดในสมองเพื่อเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ ทำให้ไม่สามารถทราบถึงปัญหาที่เกิดที่สมองได้ชัดเจน ในกรณีเช่นนี้การตรวจสอบให้ชัดเจนจะสามารถทำได้เฉพาะในกรณีตรวจร่างกายผู้ตาย ซึ่งอาจทำได้ด้วยการผ่าพิสูจน์หรือใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ขณะที่อีกด้่านมีข้อเท็จจริงทางการแพทย์ว่า การขาดอากาศหายใจหรือไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่นผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ หรือตัวผู้ป่วยหมดสติและเกิดภาวะะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร (talknewsonline.com/143624/)

เมื่อพิจารณาจากแถลงการณ์ของคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนใต้จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบทางการแพทย์เป็นประเด็นตัดสินในการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นกับอับดุลเลาะ แต่ความเจ็บป่วยของอับดุลเลาะนั้นเกิดขึ้นในระหว่างการถูกควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่เพื่อสอบปากคำ ทั้งเกิดขึ้นในสถานที่ที่ไม่มีบุคคลอื่นที่มีสถานะอิสระที่จะให้ข้อมูลได้ ในขณะที่เจ้าตัวผู้เจ็บป่วยเองก็ไม่สามารถให้ปากคำได้ หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องยอมรับความจริงว่า กรณีนี้ได้ทำให้เกิดข้อสงสัยในหมู่สาธารณะขึ้นแล้วถึงความเป็นไปได้ของการที่จะถูกทำร้าย และอันที่จริงแล้ว ต้องยอมรับว่าถึงที่สุดแล้ว เรื่องนี้ก็คือเหตุผลเบื้องต้นที่ทำให้คณะกรรมการต้องมาทำหน้าที่สอบสวนนั่นเอง 

คำว่า “การทรมาน” ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี หมายถึง การกระทำใดก็ตามโดยเจตนาที่ทำเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อประสงค์ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำสารภาพจากบุคคลนั้นหรือจากบุคคลที่สาม การลงโทษบุคคลนั้นสำหรับสิ่งที่สงสัยว่าบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามได้กระทำ หรือเพื่อข่มขู่ให้กลัว หรือเป็นการบังคับขู่เข็ญบุคคลดังกล่าวหรือบุคคลที่สาม หรือไม่ว่าเหตุผลใดใดแต่บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ เมื่อความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานนั้น กระทำโดย หรือด้วยการยุยงหรือโดยความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตัวแทนทางการ

จากนิยามดังกล่าวจะเห็นว่า การทรมานอาจจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง หรือด้วยความยินยอมหรือสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ก็ได้ แต่กฎหมายระหว่างประเทศต่างๆล้วนห้ามการทรมานโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์สงครามหรือไม่ก็ตาม

ส่วนการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีอันต้องสงสัยว่าจะเป็นการซ้อมทรมานหรือไม่นั้น มีความยากลำบากมากขึ้นในปัจจุบัน การสอบสวนประเด็นการซ้อมทรมานที่ทำโดยคณะบุคคลต่างๆล้วนมีข้อจำกัดสูง ไม่ว่าจะในเรื่องที่มาของกรรมการ ความสามารถ จุดยืน ฯลฯ ในขณะที่ผลการสอบมักมีส่วนอย่างสำคัญในอันที่จะเรียกความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวมรวม จึงได้มีผู้เสนอหลายครั้งว่า การสอบสวนเรื่องราวในทำนองนี้ ควรจะนำวิธีการที่องค์กรนานาชาติเสนอแนะเอาไว้ให้เป็นมาตรฐานการสืบสวนสอบสวนมาใช้ เพื่อจะสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับหรือไม่ วิธีการดังกล่าวบรรจุอยู่ในคู่มือที่เรียกกันสั้นๆว่า พิธีสารอิสตันบูล

พิธีสารอิสตันบูล คือคู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ( Istanbul Protocol: Manual on the Effective Investigation and Documentation of Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) เป็นสิ่งซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีทั้งนักนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักจิตวิทยา ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายในประเทศต่างๆทั่วโลกร่วมกันจัดทำและนำเสนอต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2542 เพื่อวางมาตรฐานในการบันทึกรวบรวมพยานหลักฐานกรณีการทรมาน เป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายจากการถูกทรมานเพื่อการคุ้มครองและเยียวยา และสามารถนำเสนอพยานหลักฐานอันเกิดจากการได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ 

คู่มือการสอบสวนการกระทำทรมานหรือที่เรียกว่าพิธีสารอิสตันบูลได้กล่าวถึงวิธีการทรมานหลากหลายรูปแบบที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดทั้งทางกายและจิตใจ เช่นการบาดเจ็บจากการถูกกระแทก ไม่ว่าต่อย เตะ ตบ ฟาด ตีด้วยวัตถุต่างๆ การทรมานด้วยการแขวนหรือถ่างอวัยวะ การจำกัดการเคลื่อนไหวนานๆ การทำให้ขาดอากาศหายใจไม่ว่าด้วยวิธีการเปียกหรือแห้ง การบีบหรือกดทับอวัยวะ การทิ่มแทง การใช้สารเคมีกับร่างกาย การทรมานที่อวัยวะสืบพันธุ์ การคุกคามทางเพศ การตัดอวัยวะ การทรมานต่อระบบประสาท การใช้สภาพเงื่อนไขของสถานที่ควบคุมตัวทำให้เกิดความทรมาน เช่นห้องที่แคบ อึดอัด สกปรก อุณหภูมิที่ไม่ปกติ การจำกัดความเป็นอยู่เช่นขังเดี่ยว การทรมานด้านจิตใจ ขาดการติดต่อ
การทำให้ได้รับความอับอาย บังคับให้ทำในสิ่งที่ขัดต่อความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่อของสังคม ถูกทำร้ายต่อหน้าผู้อื่นหรือบังคับให้ดูผู้อื่นถูกทำร้าย ฯลฯ รายละเอียดสามารถหาอ่านได้จากลิงค์นี้ (voicefromthais.files.wordpress.com)

สิ่งสำคัญที่น่าสนใจด้วย ก็คือในปัจจุบันผู้กระทำได้พยายามพัฒนาวิธีการเพื่อจะปกปิดหรือไม่ทิ้งร่องรอยที่จะกลายเป็นพยานหลักฐาน เช่น มีการใช้วัตถุทรงกว้างและทื่อในการทุบตี หรืออย่างในกรณีของการทุบตีเท้า (falanga) ก็อาจนำพรมหรือรองเท้าคลุมเท้าของผู้ถูกกระทำ เพื่อกระจายความรุนแรงไปยังส่วนอื่น การถ่างแขนขา การถูกบีบ กดทับและการทำให้ขาดอากาศหายใจ ล้วนเป็นวิธีการทรมานที่เจตนาจะทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างสาหัสแต่หลงเหลือพยานหลักฐานน้อยที่สุด ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ผ้าเช็ดตัวเปียกจึงถูกใช้ในการจี้ด้วยไฟฟ้า

ดังนั้นการสอบสวนเรื่องเช่นนี้ ควรจะดำเนินการตามหลักการสืบสวนสอบสวนในกรณีการทรมาน ซึ่งคณะผู้สอบสวนต้องมีองค์ประกอบที่ถึงพร้อมด้วยทักษะความสามารถ ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ที่สำคัญยังจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนในสาขาต่างๆ เช่น พยาธิวิทยา นิติเวชศาสตร์ จิตเวชศาสตร์ จิตวิทยา นรีเวชวิทยา และกุมารเวชศาสตร์ คณะกรรมการจำเป็นจะต้องมีผู้สืบสวนสอบสวนของตนเองในการติดตามเบาะแสและหาพยานหลักฐาน

หากศึกษากรณีการหยุดหายใจโดยปราศจากร่องรอยการถูกทำร้ายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ข้อค้นพบจากเอกสารทำให้ทราบว่าการทำให้ขาดอากาศหายใจมีทั้งแบบแห้งและแบบเปียก กรณีที่มีการทำให้ขาดอากาศหายใจแบบแห้ง ก็คือการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะและรัดที่คอ การกดที่ลูกกระเดือก ส่วนการทำให้ขาดอากาศหายใจแบบเปียก ก็คือการกดศีรษะลงไปในน้ำ หรือใช้ผ้าปิดหน้าและราดน้ำลงบนใบหน้า หรือการกรอกน้ำลงไปที่จมูกและปาก 

วิธีการทำให้ขาดอากาศหายใจแบบเปียกมีการนำไปใช้กันทั่วโลก เช่นในไอร์แลนด์เหนือ มีกรณีที่บุคคลชื่อโฮลเดนถูกราดน้ำที่ใบหน้าจนน้ำเข้าทางปากและจมูกทำให้ในที่สุดเขายอมสารภาพในกรณีอาชญากรรมที่เขาไม่ได้กระทำ หลังจากนั้นกระบวนการยุติธรรมตรวจสอบพบว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์และได้รับการปล่อยตัวแต่หลังจากที่ถูกจองจำนานถึง 17 ปี ยังมีกรณีการสอบสวนผู้ก่อการร้ายในสถานที่ควบคุมตัวในประเทศแถบตะวันออกกลางของสหรัฐอเมริกาที่พบว่า Khalid Sheikh Mohammed, Abu Zubaydah, และ Abd al-Rahim al-Nashiri ถูกทรมานด้วยวิธี Waterboarding หรือการกดน้ำ ระหว่างการสอบสวนโดยซีไอเอ แม้แต่ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดียก็มีการทรมานโดยวิธี Waterboarding เช่นกรณีของ Hasen Ali ซึ่งภรรยาเล่าว่าตำรวจใช้ผ้าคลุมหน้าและเทน้ำเย็นบนใบหน้าจนเขาอาเจียนและเป็นลมไปครู่หนึ่ง วิธีการนี้จะส่งผลระยะยาวเช่นทำให้เกิดการสูญเสียความทรงจำทางประสาทจิตเวช

แพทย์อธิบายว่าสมองของมนุษย์นั้นอยู่ได้ด้วยออกซิเจน เมื่อขาดออกซิเจนสมองย่อมตาย แล้วกระบวนการที่สมองตายเพราะขาดออกซิเจนอันเนื่องมาจากการใช้น้ำราดรดปากและจมูกเกิดขึ้นได้อย่างไร

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คำว่ากดให้จมน้ำ ไม่จำเป็นต้องกดเพื่อให้อยู่ใต้น้ำเสมอไป เวบไซต์หลายแห่งที่อธิบายเรื่องการซ้อมทรมานกล่าวถึงวิธีการใช้น้ำกรอกปากและจมูก อาจมีการนำผ้าหรือแม้แต่พลาสติกอย่างบางวางบนปากและจมูกเพื่อไม่ให้น้ำไหลออกและป้องกันอากาศเข้า สภาพเช่นนี้มีค่าเสมอการกดให้จมน้ำเช่นกัน 

การกดให้จมน้ำนั้น เวบไซท์หลายแห่งอ้างว่า ผู้ใช้วิธีการนี้อาจไม่ต้องการให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย แต่เจตนาจะทรมานเพื่ิอบีบคั้นเอาข้อมูล การทำให้เกิดภาวะ “เกือบจมน้ำ” เป็นภาวะที่ทรมานอย่างหนักมากเพราะผู้ถูกทรมานจะรู้สึกว่ากำลังจะตาย การใช้วิธีการนี้มีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่งในอันที่จะเกิดความผิดพลาดทำให้ผู้ถูกกระทำถึงตายได้ง่ายๆ เพราะช่วงเวลาของการสำลักน้ำและขาดอากาศหายใจไปจนกระทั่งถึงช่วงที่สมองตายเพราะขาดออกซิเจนนั้นสั้นมาก ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ตาย แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสมองจะดำรงอยู่อย่างยาวนาน หรือไม่สมองบางส่วนจะถูกทำลายลงอย่างถาวร

มีคำอธิบายทางการแพทย์ถึงปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในยามที่ถูกจับกดน้ำหรือกรอกน้ำไว้ดังนี้ เมื่อน้ำเข้าสู่ปากและจมูก ร่างกายคนเรามีกลไกป้องกันตนเองด้วยการที่ปิดกั้นทางเดินหายใจหรือกลั้นหายใจโดยอัตโนมัติ แต่การกลั้นหายใจไม่อาจทำได้นาน ก็จะต้องรีบหายใจเข้าไปใหม่ ซึ่งในกรณีนี้หากมีการกดทับ เช่นมีผ้าเปียกน้ำทับจมูกและปากไว้ ก็จะหายใจเอาน้ำเข้าไปแทนเนื่องจากไม่มีอากาศให้ น้ำที่ทะลักเข้าไปจะทำให้กล้ามเนื้อกล่องเสียงกระตุก ตามมาด้วยการที่ร่างกายปิดใช้อวัยวะส่วนที่เรียกว่าท่อลมหรือ trachea อันที่เป็นตัวที่ทำให้เกิดเสียง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่ปอด แต่ถึงกระนั้นก็อาจจะมีน้ำเข้าไปที่ปอดได้บ้างแม้ว่าจะเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการที่ท่อลมปิดก็ทำให้อากาศไม่เข้าสู่ปอดเช่นกัน เมื่ออากาศไม่เข้าสู่ปอด ออกซิเจนในเลือดจะเริ่มลดระดับลง สำหรับการที่ท่อลมปิดลงเพราะการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลมนั้น ปฏิกิริยานี้เรียกว่า laryngospasms ซึ่งแม้เกิดเพียงเล็กน้อยเช่นเพียงครึ่งนาทีแต่ผลคือจะทำให้สมองมีโอกาสขาดออกซิเจน

ในสถานการณ์เช่นนั้นร่างกายจะพยายามหายใจเข้าเพราะความต้องการอากาศ คราวนี้น้ำจะเข้าสู่ปอดและเข้าไปก่อนที่อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อจะเริ่มทำงานอีกครั้งและท่อลมปิดลงอีก ยิ่งรีบหายใจเนื่องจากตกใจ น้ำก็จะยิ่งเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น

การที่น้ำเข้าสู่ร่างกายมากๆ จะทำให้เลือดเจือจางลง เลือดที่เจือจางลงเพราะมีน้ำเข้าไปปนจะไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปสู่สมองได้ อาการออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงสมองก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ส่วนอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลมที่เป็นกลไกป้องกันตัวเองนั้นก็จะค่อยๆลดลงจนกระทั่งอ่อนกำลังไปเอง นี่เป็นกระบวนการที่เป็นผลกระทบจากการใช้น้ำราดรดปากและจมูก ซึ่งการแพทย์อธิบายเอาไว้สำหรับกรณีอื่นๆที่มีการใช้กันมาแล้ว แสดงความเชื่อมโยงระหว่างภาวะสมองบวมกับการขาดออกซิเจน 

ส่วนกรณีของอับดุลเลาะ คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนยังคงเดินหน้าหาคำตอบกันต่อไป แต่คำถามสำคัญยังคงอยู่ ว่าไทยควรนำพิธีสารอิสตันบูลมาใช้ประกอบและกำกับการทำงานหรือไม่ เพื่อให้การทำงานได้รับความเชื่อถือมากขึ้น

เหตุใดเรื่องของคนคนหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามอย่างเอาจริงเอาจังเช่นนี้ ก็เพราะเรื่องแบบนี้ส่งผลกระทบต่อภาพรวม ความเป็นกลุ่มชาติพันธ์เดียวกันก่อให้เกิดความรู้สึกความเป็นเหยื่อร่วม สิ่งนี้สามารถส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพได้หากปัญหานี้เกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้งและการเป็นเหยื่อเกิดจากการกระทำของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติพันธ์ุนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องอับดุลเลาะไม่ใช่เรื่องของคนคเดียวหรือครอบครัวเดียว แต่เป็นเรื่องระดับประเทศที่ต้องร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสม ทางออกที่ว่านั้นก็คือการค้นหาความจริง การนำคนผิดมาลงโทษ การเยียวยาผู้ที่เป็นเหยื่อและการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือหลักการของความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านนั่นเอง 
 

 

ที่มา: Patani NOTES

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net