Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อ่านเฟสบุ๊คพระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร (https://www.facebook.com/PhramahaPaivan/posts/2638339493119251) แสดงความเห็นเชิงเปิดกว้างต่อคนหลากหลายทางเพศไว้น่าสนใจ ขอคัดมาให้อ่านทั้งหมดดังนี้

เข้าใจให้ถูกต้อง ก็ไม่ต้องดราม่า

ที่จริงก่อนที่จะมีคำถามว่า พระตุ๊ดผิดหรือไม่ผิดตรงไหน หากมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของการบวชก็ควรต้องแสวงหาความรู้ในกฎเกณฑ์และข้อบัญญัติซึ่งเกี่ยวข้องกับการบวชให้ชัดเจนเสียก่อน อาตมาว่า ถ้าแสวงหาความรู้ที่ชัดเจนแล้ว คำถามแบบนี้ก็จะไม่เกิด

ในข้อพระวินัย มีการอธิบายเกี่ยวกับคำว่าบัณเฑาะก์ไว้ชัดเจนมาก ว่าหมายถึงบุคคลประเภทไหน บัณเฑาะก์อย่างไรห้ามการบวช บัณเฑาะก์อย่างไรไม่ห้าม

เวลาตั้งคำถามต่อเรื่องพวกนี้ ต้องกลับไปดูคำที่ใช้ในข้อพระวินัย ไม่ใช่เอาคำไทยเป็นที่ตั้ง พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ห้าม ตุ๊ด เกย์ ไม่ให้บวชนะ ท่านใช้คำว่าบัณเฑาะก์ ซึ่งเป็นคำที่มีคำอธิบายมากกว่าแค่เรื่องของเพศสภาพแบบที่สังคมเราเข้าใจกัน บัณเฑาะก์ในทางพระวินัย หมายถึงบุคคลที่มีความบกพร่องทางเพศด้วย เช่น คนที่มีอวัยวะเพศไม่ปรากฎ

บวชนะบวชได้แน่ แต่การบวชไม่ใช่แค่เรื่องว่าการผิดหรือไม่ผิด เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของเพศสภาพ พฤติกรรมเสียหายและละเมิดพระวินัยหลังบวชต่างหากที่สำคัญ และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเพศสภาพนะ

การอยู่ในสังฆะ มีระเบียบและกฎเกณฑ์ที่จะต้องถือปฎิบัติร่วมกันในสังฆะ ไม่ใช่แค่อ้างสิทธิ์ในการบวชแล้วจะเข้ามาทำอะไรก็ได้

ทุกวันนี้เราก็เห็นปัญหาอยู่ ไม่ใช่บวชแล้ว จะทาปากแดงเพื่อยืนยันสิทธิในการทาปากของตัวเองก็ได้ ไม่ใช่บวชแล้วจะกรีดตาเขียนคิ้ว เพื่อยืนยันสิทธิในการกรีดตาเขียนคิ้วของตัวเองก็ได้ ไม่ใช่บวชแล้วจะทำนมหรือมีนม เพื่อยืนยันสิทธิในการมีนมของตัวเองยังไงก็ได้ ถ้าแบบนี้ พระศาสนาก็อยู่ไม่รอด ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความปสาทะเลื่อมใส

อาตมาว่าสังคมสงฆ์ทุกวันนี้ใจกว้างมากเลยนะ หากดูจากข่าวที่พระซึ่งประพฤติตัวไม่เหมาะสมในการแสดงออกทางเพศ แต่แน่นอนแหล่ะ เมื่อเข้ามาบวชแล้ว ความพระเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องของเพศสภาพ

อาตมาเห็นพระรูปหนึ่ง เป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ก ท่านเคยเป็นถึงนางงามเพศที่ ๓ แต่พอท่านตัดสินใจจะเข้ามาบวช ท่านก็ไปเอานมออก แล้วท่านก็ประพฤติตนสำรวมดีมาก อาตมายังนับถือเลย ถ้าแบบนี้ก็ไม่เป็นปัญหา และสังฆะท่านก็ยอมรับ

ผมมีบางประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยน ก่อนอื่นควรเข้าใจตรงกันก่อนว่า ผมเห็นด้วยในเจตนาของพระมหาไพรวัลย์ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า หลักการของพุทธศาสนานั้น “เปิดกว้าง” หรือต้องการให้คนร่วมสมัยเข้าใจปัญหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาถูกต้อง นี่ถือเป็น “เจตนาดี” และเป็น “ความกล้าหาญทางศีลธรรม” อย่างหนึ่งที่กล้าพูดสวนกระแสความเชื่อหลักในบางเรื่อง

แต่ไม่ได้แปลว่าเมื่อใช้เจตนาดีและมีความกล้าหาญทางศีลธรรมดังกล่าวแล้ว ความเห็นที่แสดงออกอย่างสาธารณะนั้นๆ จะไม่มีข้อบกพร่องให้โต้แย้งได้หรือไม่ควรโต้แย้ง ตรงกันข้ามกลับยิ่งต้องโต้แย้งหากความเห็นนั้นๆ มีข้อบกพร่องในเชิงหลักการ เพราะโดยวิธีนี้เท่านั้นความก้าวหน้าทางความคิดของสังคมเราจึงจะเป็นไปได้

ในสังคมพุทธที่ใครก็ตามมีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้รู้ น่าศรัทธา เวลาพูดอะไรเสนออะไรไปแล้วถ้ามีแต่คนสาธุ ขอแชร์ ไม่มีใครกล้าโต้แย้งตรงไปตรงมา ย่อมจะเป็นสังคมที่มืดมนมากกว่าที่จะเป็นสังคมที่เอื้อต่อการเกิดแสงสว่างทางปัญญา

 

ปัญหาแรกคือ การอ้างธรรมวินัยในคัมภีร์เป็นมาตรฐานตัดสินถูกผิดในเรื่องต่างๆ นั้น เป็นการอ้างที่ “สมเหตุสมผล” หรือไม่

คำตอบตรงไปตรงมาคือ ธรรมวินัยตามคัมภีร์คือหลักการพื้นฐานรองรับการสถาปนา “ระบบสังฆะ” เป็นหลักการและแนวปฏิบัติของระบบสังฆะและพระภิกษุรายบุคคล แต่ระบบสังฆะตามธรรมวินัยนั้นเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ คือไม่ใช่ระบบที่ผู้ปกครองหรือรัฐก่อตั้งขึ้นให้เป็นองคาพยพหนึ่งในโครงสร้างอำนาจรัฐ ดังนั้น จึงเป็นระบบสังฆะที่มีอิสรภาพปกครองตนเอง เช่น มีอิสระในการจัดองค์กร การบริหารจัดการ การตีความธรรมวินัยตามเหตุผลและดุลพินิจของสมาชิกแห่งสังฆะอย่างแท้จริง ไม่มีอำนาจรัฐแทรกแซงการตีความหรือการเอาผิดตามหลักธรรมวินัย และไม่มีพระสงฆ์กลุ่มใดๆ มีฐานันดรศักดิ์ที่รัฐแต่งตั้ง และมีอำนาจผูกขาดตามกฎหมายในการปกครองและการบังคับใช้เอาผิดทางธรรมวินัยตามอำนาจการตีความของพวกตน

แต่ระบบสงฆ์ไทย ดูเหมือนจะตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับระบบสังฆะตามธรรมวินัยดังกล่าว เพราะเป็นระบบที่ผู้ปกครองหรือรัฐก่อตั้งขึ้น จึงเป็นระบบที่ถูกปกครองโดยรัฐ พระสงฆ์มียศศักดิ์ฐานันดร มีอำนาจผูกขาดตามกฎหมายปกครองแบบอำนาจแนวดิ่งจากบนลงล่าง ไม่กระจายอำนาจแบบระบบสังฆะตามเจตนารมณ์ที่พุทธะก่อตั้งขึ้น ไม่ได้มีอิสระปกครองตนเอง หรือการจัดองค์กรและบริหารองค์กรตนเอง เพราะพระภิกษุสงฆ์และชาวพุทธไม่มีอิสระแม้แต่จะเลือกประมุขสงฆ์ และคณะผู้บริหารระดับต่างๆ ของสงฆ์ แม้กระทั่งเจ้าอาวาส

คำถามคือ ระบบที่ขัดแย้งกันในระดับพื้นฐานเช่นนี้ แต่อ้าง “ธรรมวินัยเดียวกัน” ย่อมสะท้อนความย้อนแย้ง (paradox) ในตัวเองอย่างยิ่ง ไม่ต่างจากระบบเผด็จการอ้างความเป็นประชาธิปไตย หรืออ้างว่าพวกตนเคารพเสียงของประชาชน เคารพเสรีภาพ เคารพสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

 

ปัญหาสำคัญที่ตามมาจากสภาวะย้อนแย้งดังกล่าวคืออะไร?

เราจำเป็นต้องจับ “แกนหลัก” ของระบบสังฆะตามเจตนารมณ์ที่พุทธะก่อตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบร่วมกันของสมาชิกแห่งสังฆะให้ได้ก่อนว่า แกนหลักคือ “ความมีอิสรภาพ” ในการปกครอง หรือการจัดองค์กร และบริหารจัดการองค์กรของตนเอง และรับฟัง “เสียง” ของประชาชนที่ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์

คำถามคือ ระบบสงฆ์ไทยยึดแกนหลักของระบบสังฆะตามเจตนารมณ์ที่พุทธะก่อตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบร่วมกันของสมาชิกแห่งสังฆะหรือไม่? หรือว่าเป็นระบบที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง?

ถ้าเป็นแบบหลัง การอ้างธรรมวินัยเพื่อตัดสินถูกผิด หรืออะไรทำได้ ทำไม่ได้มันต่างอย่างไรกับอำนาจเผด็จการอ้างกฎหมาย ที่มักจะเอาผิด หรือตัดสิทธิต่างๆ เฉพาะฝ่ายที่คิดต่าง เชื่อต่างจากฝ่ายเผด็จการเท่านั้น เราเห็นมาตลอดว่าการอ้างธรรมวินัยในระบบสงฆ์ไทยมักจะเอาผิด หรือตัดสิทธิ กีดกันสิทธิเฉพาะข้อเรียกร้องที่แตกต่างหรือขัดแย้งกับอำนาจการตีความธรรมวินัยกระแสหลัก เช่น ข้อเรียกร้องการบวชภิกษุณีในไทย สิทธิเท่าเทียมในการบวชของคนหลากหลายทางเพศเป็นต้นเท่านั้น (หากจะมีการยอมรับ “สิทธิชายขอบ” ดังกล่าวอยู่บ้าง เป็นเพียงการยอมรับจากทัศนะส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่ยอมรับโดยมติของสังฆะแต่อย่างใด)

ในแง่นี้เราก็พอจะเห็นข้อเท็จจริงคล้ายกันว่า การณรงค์สิทธิปัจเจกบุคคลของคนหลากหลายทางเพศและอื่นๆ ภายใต้อำนาจเผด็จการ ก็สามารถทำได้ หรือสังคมอาจเปิดกว้างยอมรับอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญสูงสุดคือ “สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง” ของประชาชนไม่สามารถมีได้ภายใต้ระบบเผด็จการ เช่นเดียวกันภายใต้ระบบผูกขาดอำนาจของสงฆ์ไทย อิสรภาพในการปกครองตนเองของสมาชิกแห่งสังฆะภายใต้การสนับสนุนของชาวพุทธแบบเดียวกับระบบสังฆะที่พุทธะก่อตั้งขึ้นก็มีไม่ได้ แม้คนหลากหลายทางเพศอาจรณรงค์สิทธิในการบวชได้ สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้างก็ตาม

 

ปัญหาประเพณีการอ้างธรรมวินัยแบบศาสนาชายเป็นใหญ่

เป็นปัญหาที่ยากจะสลัดให้หลุด แม้แต่ “นักปรัชญาพุทธ” บางคนยังแสดงความเห็นสาธารณะว่า การผ่อนปรนทางธรรมวินัยเข้ากับโลกสมัยใหม่ต้องดูว่า “เรื่องไหนจำเป็น ไม่จำเป็น” แล้วยกตัวอย่างว่า “เรื่องพระรับเงินเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการดำรงชีวิตในสังคมสมัยใหม่ถ้าไม่มีเงินก็เป็นไปไม่ได้ แต่เรื่องบวชภิกษุณียังไม่ใช่เรื่องจำเป็น แม่ชียังน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี” จะเห็นว่านี่คือมุมมองเรื่อง “จำเป็น ไม่จำเป็น” บนกรอบคิดศาสนาชายเป็นใหญ่ ไม่ได้คิดจากความต้องการของฝ่ายผู้หญิงที่เรียกร้องการบวชภิกษุตามสิทธิที่พุทธะอนุญาตไว้เป็นด้านหลัก

โดยสรุปคือ ภายใต้ระบบสงฆ์ไทย การอ้างธรรมวินัยไม่ว่าจะโดยอำนาจคณะผู้ปกครองสงฆ์ ไม่ว่าจะอ้างโดยปัจเจกบุคคล ผู้รู้พุทธศาสนาทั้งพระและฆราวาส ก็มักจะอ้างไปในแนวทางเดียวกัน คือแนวทางยืนยันระบบศาสนาแบบผู้ชายเป็นใหญ่ และยืนยันระบบผูกขาดอำนาจตามที่เป็นมาและเป็นอยู่ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา หรือโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

แทบไม่มีใครเลยที่จะอ้างหลักการธรรมวินัยมาตั้งคำถามต่อความถูกต้องชอบธรรมของระบบอำนาจผูกขาด และปัญหาความไม่มีอิสรภาพปกครองตนเองตามธรรมวินัยแบบระบบสังฆะที่ตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของพุทธะและโดยความยินยอมของสมชิกของสังฆะ ที่มีวัฒนธรรมฟังเสียงประชาชน

แม้แต่ที่มักอ้างกันว่า ระบบสงฆ์ไทยมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ปรับตัวตามพัฒนาการของรัฐไทย ก็มักจะอ้างเพื่อยืนยันการปรับตัวตามพัฒนาการของอุดมการณ์รัฐจารีตเท่านั้น แต่ปฏิเสธการปรับตัวตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งโดยตรงและโดยปริยาย หรือทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว หรือแสดงความเห็นที่ดูก้าวหน้า แต่ทว่าเข้าทางหรือมีนัยสำคัญสอดคล้องกับวิธีคิดของระบบล้าหลังอยู่นั่นเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net