Skip to main content
sharethis

ผู้แทนภาคประชาชนอาเซียนเข้าพบชวน หลีกภัย ประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียนปี 2562 เพื่อพบปะ ทำความรู้จัก เพราะต่างฝ่ายยังไม่รู้จักกัน หวังให้เกิดความร่วมมือมากขึ้นในอนาคต หนึ่งในผู้แทนประชาสังคมขอให้กรรมาธิการต่างประเทศตรวจสอบนโยบายการสนับสนุนประชาสังคมไทยในประชาคมอาเซียนในปีนี้ หลังความร่วมมือกับกระทรวง พม. และฝ่ายความมั่นคงมีข้อจำกัด

ภาพจากข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

27 พ.ย. 2562 เมื่อวานนี้ (26 พ.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักรักษาความปลอดภัย อาคารรัฐสภา เกียกกาย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะ ให้การต้อนรับชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน และสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ในฐานะประธานร่วมจัดงานอาเซียนภาคประชาชน ปี 2562 และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนภาคประชาชนกับสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ที่มีชวนเป็นประธานและไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้

ในการพูดคุยระยะเวลา 45 นาที ได้มีการบอกเล่าเกี่ยวกับการจัดงานประชุมอาเซียนภาคประชาชนเมื่อเดือน ก.ย. 2562 ส่งมอบแถลงการณ์ของภาคประชาชนให้กับชวนและคณะ ชลิดากล่าวว่า กิจกรรมของอาเซียนภาคประชาชนปีนี้ค่อนข้างมีความคืบหน้า ภาคประชาชนได้เข้าพบกับแทบทุกกลไกในอาเซียน แม้ไม่ได้พบกับผู้นำประเทศ แต่ก็ยังได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศและเอกอัครราชทูตบางประเทศ ในปีหน้าที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามก็รับปากว่าจะให้มีการหารือในลักษณะดังกล่าวอีก

ชลิดากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทั้งภาคประชาสังคมอาเซียนและสมัชชารัฐสภาอาเซียนต่างยังไม่รู้จักกัน จึงอยากจะใช้โอกาสนี้เพื่อทำความรู้จักและหวังว่าจะมีการพบกันต่อไปในอนาคต ให้ความร่วมมือระหว่างอาเซียนภาคประชาชน กับรัฐสภาอาเซียน การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ได้รับการรับรองตามหลักการที่ระบุในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งรับประกันว่าการทำงานของอาเซียนทุกอย่างจะมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

สุนทรีกล่าวว่า เธออยากให้กรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลไทยในการสนับสนุนภาคประชาสังคมไทยในกรณีอาเซียนภาคประชาชน สืบเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในทางความร่วมมือระหว่างคณะจัดงานอาเซียนภาคประชาชนปี 2562 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และฝ่ายความมั่นคง ที่มีปัญหาและข้อจำกัดเป็นระยะๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา

อาเซียนภาค ปชช. ถูกรัฐตัดงบ เหตุฝ่ายความมั่นคงแทรกแซงจนคณะทำงานรับไม่ได้

ชวน กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอต่างๆ ที่อาเซียนภาคประชาชนเสนอแนะกับรัฐบาลอาเซียนนั้น ขอให้เสนอผ่านคณะ กมธ. ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ออกเป็นกฎหมายต่อไป ในส่วนการพูดคุยกับสมัชชารัฐสภาอาเซียนที่ผ่านมาที่มีข้อดำริเรื่องการจัดทำกฎหมายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียนนั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยหารือ แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีถ้าจัดทำขึ้นมาได้

สำหรับผลการประชุมอาเซียนภาคประชาชนประจำปี 2562 มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลอาเซียน คือ การออกกฎหมายและดำเนินการบนพื้นฐานของสิทธิ กรอบและกระบวนการคุ้มครองทางสังคมโดยรวมถึงการประกันอัตราค่าจ้างและรายได้สำหรับทุกคน การจัดสรรทรัพยากร สนับสนุนการขยายการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ทำให้เทคโนโลยีมีความโปร่งใส มีการกำกับดูแลอย่างเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดกับสุขภาพ สังคม วิถีชีวิต และสภาพสิ่งแวดล้อมก่อนและหลังการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนความร่วมมือเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของไซเบอร์ การป้องกันข้อมูลและการเป็นส่วนตัว ยุติการตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมือง และสื่อมวลชนที่โพสต์ข้อมูลต่าง ๆ บนสังคมออนไลน์

สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly : AIPA) แต่เดิมใช้ชื่อว่าองค์การรัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter - Parliamentary Organization : AIPO) เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยการริเริ่มของรัฐสภาอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2517 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือของรัฐสภาแห่งชาติในอาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ AIPA เป็นคนละองค์กรกับรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ที่เพิ่งออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิฯแสดงความผิดหวังต่อคําตัดสินศาล รธน. ริบที่นั่ง 'ธนาธร' ในรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net