Skip to main content
sharethis

ภาพประกอบจากเว็บไซต์ http://www.akararesources.com

3 ม.ค. 2563 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งมีภารกิจดำเนินการระงับข้อพิพาททางพาณิชย์ ข้อพิพาทระหว่างประเทศ และข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2562 ได้มีพัฒนาใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า e-Arbitration ซึ่งมีการใช้ซอฟท์แวร์สร้างความสะดวกการบันทึกข้อมูลทุกอย่างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ระดับมาตรฐานระดับสากล ดังนั้นทุกวันนี้ทุกคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของสถาบันอนุญาโตตุลาการสํานักงานศาลยุติธรรม ก็ใช้ระบบ e-Arbitration เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในฐานข้อมูล ที่สร้างความสะดวกให้กับคู่ความที่ใช้บริการ โดยมีผู้เข้าใช้ระบบนี้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2562 - ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2562 จำนวน 73 คดี ตั้งแต่คดีที่ 582562 - คดีที่ 1022562 ซึ่งมีผู้ที่มาขึ้นทะเบียนใช้ระบบอนุญาโตฯ นี้ก็มีทั้งหมด 314 account ขณะที่เรามีอนุญาโต 12 คนที่พิจารณาข้อพิพาทโดยใช้ระบบซอฟท์แวร์ e-Arbitration

ประยุทธ์ มั่นใจปิดเหมืองมี ม.44 คุ้มครอง ไม่ต้องกลัว-รับผิดชอบอะไร

คิงส์เกตฯ ฟ้องอนุญาโตฯ แล้ว ม.44 ปิดเหมืองทอง

เขากล่าวต่อว่า การยื่นระงับข้อพิพาทที่เข้าสู่สถาบันอนุญาโตฯ สำนักงานศาลยุติธรรมมีอย่างต่อเนื่องเมื่อถามถึงข้อพิพาทเหมืองทองอัครา ที่รัฐบาล คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 722559 สั่งระงับการอนุญาตและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวโดยต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป ส่งผลให้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ชนะประมูล ที่ได้สิทธิสัมปทานการขุดเหมืองชาตรีใต้ (บริเวณรอยต่อ จ.พิจิตร , พิษณุโลกและเพชรบูรณ์) รวม 1,259 ไร่ ระยะเวลา 20 ปีที่จะสิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย.2563 และได้ขยายพื้นที่ทำเหมืองที่ได้สิทธิสัมปทานเพิ่มเติมใน จ.พิจิตร เหมืองชาตรีเหลืออีก 9 แปลง พื้นที่ 2,466 ไร่ระยะเวลา 20 ปีซึ่งจะครบในวันที่ 20 ก.พ.2571 ที่มีบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ที่เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกในประเทศไทย ที่ดำเนินการขุดเหมือง ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด บริษัทคิงส์เกตฯ เจ้าของสัมปทาน จึงได้นำเรื่องสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามข้อบังคับ UNCITRAL Arbitration Rules ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทยออสเตรเลีย หรือที่เรียกกันว่า TAFTA เพื่อให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายจากการปิดเหมืองเป็นจำนวนกว่า 3 หมื่นล้านบาท หลังจากเจรจากับรัฐบาลไทยแล้วไม่สามารถตกลงกันได้

สราวุธ กล่าวอธิบายว่า สำหรับคดีเหมืองทองอัครา ใช้ข้อบังคับของ UNCITRAL จึงไม่ได้ดำเนินการระบบอนุญาโตฯ ในประเทศไทย ซึ่งตามเงื่อนไขข้อตกลงสัญญานั้นให้ไปดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตในประเทศที่ 3 ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงต้องไปดำเนินการผ่านระบบอนุญาโตประเทศที่ 3 ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในประเทศสิงคโปร์ โดยการพิจารณาข้อพิพาทจะมีการนัดอีกครั้งในวันที่ 3 ก.พ. 2563 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยการระงับข้อพิพาทของคดีเหมืองทองอัคราผ่านกระบวนการอนุญาโตประเทศที่ 3 ก็จะต้องรอผลการพิจารณาต่อไป ดังนั้นการระงับข้อพิพาทนี้จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะนำคดีมาสู่กระบวนการอนุญาโตฯ สํานักงานศาลยุติธรรมไทย เพราะตามเงื่อนไขสัญญาตกลงให้ต้องไปดำเนินการในประเทศที่ 3

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net