Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ

การแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและกลายมาเป็นคนสู่คนไม่ใช่เป็นปรากฎการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น หากมองย้อนไปในอดีตที่ผ่านมาโรคระบาดมักจะมีต้นตอมาจากสัตว์แล้วแพร่ระบาดมาสู่คน (zoonosis) ไม่ว่าจะเป็น วัณโรค (Tuberculosis) โรคไลม์ (Lyme) หรืออีโบล่า (Ebola)[1] ยิ่งกว่านั้น มีการประมาณกันว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา 75% ของเชื้อโรคใหม่ (emerging disease) และการกลับมาอีกครั้งของเชื้อโรคที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต (re-emerging disease) มีต้นตอมาจาก pathogens ของสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์[2]

ยิ่งในปัจจุบันนี้ เราอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่นานาประเทศทำการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น อุปสรรคการค้าลดลง การเดินทางทั้งทางเรือและทางเครื่องบินมากขึ้นและง่ายขึ้น โลกาภิวัฒน์จึงมีผลกระทบทั้งด้านการค้า การเดินทาง การท่องเที่ยว รวมถึงผลกระทบต่อการระบาดของเชื้อโรคมากขึ้นด้วย มีงานวิชาการหลายชิ้นยืนยันว่า โลกาภิวัฒน์มีผลกระทบต่อการระบาดของเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้นและการระบาดนี้มีลักษณะ  global มากขึ้น[3] ส่งผลให้การแพร่ระบาดของเชื้อโรคสามารถเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลกโดยใช้ระยะเวลาไม่นาน โดยเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายโดยการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางน้ำและทางบก (เช่น รถไฟระหว่างประเทศ) นอกจากโลกาภิวัฒน์แล้ว การแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตรและที่อยู่อาศัยของคนมีมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลเร่งให้เกิดการแพร่เชื้อโรคทั้งจากสัตว์สู่คนและกลายพันธุ์มาเป็นคนสู่คนได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


1. มาตรการทางกฎหมายภายใน

1.1 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐมีอำนาจอธิปไตยที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรได้[4] อำนาจอธิปไตยที่ว่านี้แสดงออกโดยผ่านกฎหมายคนเข้าเมือง (Immigration law) ซึ่งทุกประเทศก็มีกฎหมายเช่นว่านี้  การควบคุมคนต่างด้าวเพื่อสกัดการแพร่เชื้อโรคนี้อาจควบคุมทั้งขาเข้า (entering) และขาออก (leaving)[5] โดยหากพบคนต่างด้าวที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อก็อาจมีการกักกันผู้นั้นได้

สำหรับกฎหมายไทยคือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กฎหมายนี้จะบัญญัติคุณสมบัติของคนต่างด้าวไว้ว่าหากมีคุณสมบัติบางอย่างจะเข้ามาในราชอาณาจักรไทยไม่ได้ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องสุขอนามัย ฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการห้ามมิให้คนต่างด้าวที่เป็นโรคติดต่อเข้ามาในอาณาจักรไทย[6]

1.2 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558[7]

กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายอนุวัติการกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation: IHR) ที่ออกโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ มีการกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง การกำหนดบทบาทของหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับองค์การอนามัยโลก มาตรการแยกกักและกักขัง มาตรการสุขอนามัยเกี่ยวกับการสัญจรระหว่างประเทศทั้งทางเรือและอากาศยาน เป็นต้น

 

2.มาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศ


2.1 กฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Regulation: IHR) 2005 (พ.ศ.2548)

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เป็นองค์การระหว่างประเทศและทบวงการชำนัญพิเศษที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องสุขภาพของคนและโรคระบาดที่ติดต่อมายังคนเป็นหลัก สำหรับมาตรการทางกฎหมายขององค์การอนามัยโลกนั้น ตามธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (the Health Assembly) มีอำนาจอยู่สามอย่างหลักๆ กล่าวคือ มีอำนาจในการทำสนธิสัญญา (convention) การออกกฎ (regulation) และอำนาจทำข้อเสนอแนะ (recommendation)[8]

ในบรรดาอำนาจสามประการข้างต้น อำนาจที่สำคัญที่สุดคือ การออกกฎที่เรียกว่า  “กฎอนามัยระหว่างประเทศ” (International Health Regulation: IHR) 2005 (พ.ศ. 2548) กฎอนามัยระหว่างประเทศนี้มีผลบังคับทางกฎหมายกับรัฐภาคีขององค์การอนามัยโลก เว้นแต่รัฐภาคีนั้นจะแจ้งให้เลขาธิการขององค์การอนามัยโลกว่าตนปฏิเสธหรือรัฐนั้นได้ตั้งข้อสงวน (reservation) ไว้[9] วัตถุประสงค์ของ IHR คือเพื่อป้องกัน คุ้มครอง ควบคุมและจัดหามาตรการการตอบสนองสาธารณสุขต่อการระบาดโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยหลีกเลี่ยงการรบกวนต่อการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ (international traffic and trade) ที่ไม่จำเป็น[10] สำหรับหลักการสำคัญที่รับรองไว้ใน IHR ได้แก่มาตรการเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน การรายงาน การตั้งจุดประงานงานระดับชาติ การปรึกษาหารือกับองค์การอนามัยโลก เป็นต้น  ตาม IHR เลขาธิการองค์การอนามัยโลกมีอำนาจประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) ตามคำแนะนำของคณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน[11] ซึ่งสำหรับกรณีสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่านั้นผู้อำนายการองค์การอนามัยโลกประกาศแล้วว่าเข้าข่ายเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” แล้ว  ซึ่งก่อนหน้านั้นคณะกรรมการยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ประชาชนคนไทยต้องติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาว่าจะมีการออกคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่มีไปยังรัฐสมาชิกด้วยหรือไม่อย่างไร

อนึ่ง สำหรับประเด็นเรื่องการแจ้งเหตุ (notification) นั้น ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ มาตรา 6 กำหนดว่าให้รัฐภาคีประเมินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศและแจ้งเหตุต่อองค์การอนามัยโลกภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากตรวจสอบข้อมูลด้านสาธารณสุขและใช้เครื่องมือตัดสินใจแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆนี้ นายแพทย์ ลี่ เหวินเหลียง (Li Wenliang) ได้เสียชีวิตลง ซึ่งแพทย์ผู้นี้เป็นผู้ที่ส่งคำเตือนเรื่องเชื้อไวรัสโคโรน่าเป็นท่านแรกช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่ถูกตำรวจของประเทศจีนสั่งห้ามให้หยุดเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวและถูกสอบสวน[12] มีข้อน่าคิดว่า การเสียชีวิตของหมอลี่ทำให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลจีนได้ปฏิบัติติตามพันธกรณีมาตรา 6 มากน้อยเพียงใด แม้ว่าการแจ้งเหตุตามมาตรา 6 นี้ในทางปฏิบัติติเป็นขั้นตอนที่ไม่ง่ายเพราะต้องมีการประเมินทางสาธารณสุขหรือทางการแพทย์ การแจ้งเหตุต่อองค์การอนามัยโลกที่เร็วเกินไปอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัฐนั้นซึ่งในอดีตเคยมีตัวอย่างว่า การเปิดเผยข้อมูลเรื่องโรคระบาดต่อประชาคมระหว่างประเทศ รัฐนั้นมีความเสี่ยงที่จะโดนมาตรการบอยคอททางสินค้าและการคมนาคมระหว่างประเทศจากประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 6 ย้ำคำว่า “โดยแจ้งเหตุทุกเหตุการณ์ในประเทศที่อาจ (which may constitute) มีส่วนทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ฉะนั้น ระดับความเสี่ยงที่จะต้องรายงานให้องค์การอนามัยโลกทราบไม่ต้องถึงระดับที่ชัดเจนแน่นอนของอาการของโรค


​​​​​​​2.2 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES)

อนุสัญญาไซเตส (CITES) มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประเทศไทยก็เป็นสมาชิกอนุสัญญา CITES โดยตามอนุสัญญานี้ได้แบ่งบัญชีออกเป็นสามประเภท โดยบัญชีที่หนึ่ง ได้ห้ามค้าสัตว์ป่าและพันธุ์อย่างเด็ดขาดยกเว้นเพื่อการศึกษาและเพาะพันธุ์เท่านั้น บัญชีสอง เป็นบัญชีของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ใกล้สูญพันธุ์และยังอนุญาตค้าได้แต่จะต้องมีหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและการส่งออกนั้นจะต้องไม่มีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสัตว์หรือพรรณพืชชนิดนั้นๆ และบัญชีสาม เป็นพันธุ์สัตว์ป่าหรือพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครองอย่างน้อยในอีกประเทศหนึ่งแล้ว การค้าจะทำได้เมื่อมีหนังสือรับรองจากประเทศถิ่นกำเนิด

 คำถามก็คือ แล้วอนุสัญญา CITES มาเกี่ยวอะไรกับโรคระบาดของไวรัสโคโรน่า ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า pathogens ของสัตว์เป็นต้นตอสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคระบาดหลายโรค นอกจากนี้ แหล่งข่าวได้ยืนยันว่า ต้นตอของเชื้อไวรัสโคโรน่ามาจากการกินอาหารสัตว์ป่า ซึ่งอาจเป็นค้างค้าว หรือตัวนิ่ม (Pangolins)[13] ซึ่งสำหรับนิ่มเป็นสัตว์ที่อยู่ในบัญชีที่ 1 ของ CITES[14] จึงห้ามค้าเด็ดขาดเพราะใกล้สูญพันธุ์ โดยที่ผ่านมาของปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ไทยได้จับกุมผู้ลักลอบค้าตัวนิ่มเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนและเวียดนามหลายร้อยตัว[15] ซึ่งเป็นมูลค่าจำนวนมหาศาล ฉะนั้น หากต้องการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์ในอนาคตแล้ว ไทยจะต้องตรวจตรามิให้มีการลักลอบค้าสัตว์ระหว่างประเทศอย่างผิดกฎหมายไม่เว้นเฉพาะตัวนิ่มรวมถึง ชะมด หรือสัตว์ป่าอื่นๆที่คนนิยมบริโภคกัน


2.3 มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ (import ban): การคุ้มครองสุขภาพคน

แม้วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งองค์การการค้าโลกจะตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการการค้าเสรีแบบทุนนิยมก็ตาม เช่นหลักการการห้ามหรือจำกัดการนำเข้าสินค้า แต่บทบัญญัติของ GATT/WTO ก็อนุญาตให้รัฐภาคีสามารถละเมิดหลักการของ GATT/WTO ได้หากมาตรการนั้นจำเป็นต่อการคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์ หรือที่รู้จักกันดีว่า ข้อยกเว้นทั่วไป (General Exception) ซึ่งหมายความว่า รัฐอาจใช้มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภทหากมาตรการนั้นเป็นมาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์ และการใช้มาตรการดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือใช้อย่างอำเภอใจหรือเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างแอบแฝง มาตรการห้ามนำเข้าตามข้อที่ XX (b) จัดว่าเป็น “ยาแรง” ที่ผ่านมามีคดีที่สามารถอ้างข้อยกเว้นข้อที่ XX (b) สำเร็จมีอยู่ไม่กี่คดี เช่น คดีห้ามนำเข้าแร่ใย่หิน (Asbestos)[16] และคดีห้ามนำเข้ายางเก่าที่ใช้แล้วหรือยางหล่อดอกใหม่ (Retreaded Tyres)[17] เพราะว่าข้อยกเว้นทั่วไปเป็นมาตรการที่เป็นข้อยกเว้นองค์กรระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกจึงตีความอย่างเคร่งครัด การประสบความสำเร็จในการอ้างข้อยกเว้นตามข้อที่ XX จึงมิได้กระทำโดยง่าย

สำหรับประเทศที่เริ่มใช้มาตรการห้ามนำเข้า (import ban) สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (animal products) รวมถึงวัตถุดิบ (raw materials) จากประเทศจีนคือ ประเทศอาร์เมเนีย โดยมาตรการห้ามนำเข้านั้นเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มกราคมจนกว่าองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health: OIE) และองค์การการค้าโลก (WTO) จะประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศจีนปลอดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าแล้ว[18] อาเซอร์ไบจันเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้มาตรการชั่วคราวในการห้ามนำเข้าปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อาหารทะเล รวมถึงสัตว์ป่าเพื่อแสดงในสวนสัตว์[19] AFSA ก็ใช้มาตรการห้ามนำเข้า สำหรับประเทศในแถบเอเชียที่เริ่มมีการพูดถึงมาตรการห้ามนำเข้าหรือจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์และสินค้าเกษตรจากจีนก็คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย[20]


2.4 ทรัพย์สินทางปัญญา: สิทธิบัตรยา

การอุบัติขึ้นของโรคระบาดมักจะเกี่ยวข้องอะไรกับประเด็นเรื่องสิทธิบัตรยาและวัคซีนป้องกันโรค เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้วช่วงปลายปี 2006 ถึง  2007 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ให้ตัวอย่างเชื้อไวรัส H5N1 แก่องค์การอนามัยโลก แต่ตอนหลังพบว่าเชื้อดังกล่าวได้อยู่ในความครอบครองของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งด้านผลิตยาและวัคซีน ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียไม่พอใจอย่างมากเลยเรียกร้องให้คืนตัวอย่างเชื้อไวรัสดังกล่าว[21] ความขัดแย้งในครั้งนี้นำไปสู่การออกข้อมติปี คใศ. 2007 โดยสมัชชาใหญ่ขององค์การอนามัยโลกต่อมาเกี่ยวกับ sharing sample ของเชื้อโรค เหตุการณ์นี้ได้สร้างประเด็นข้อถกเถียงว่า องค์การอนามัยโลกควรมีแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจ (economic incentive) ที่จะให้ประเทศกำลังพัฒนาให้ความร่วมมือที่จะให้ตัวอย่างเชื้อโรคแก่องค์การอนามัยโลกเพื่อค้นคว้าวิจัยทำวัคซีนในราคาที่ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที มิฉะนั้นแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาก็อาจปกปิดข้อมูลเพราะเกรงว่าเมื่อตัวอย่างเชื้อหลุดไปอยู่ในความครอบครองของบริษัทยาแล้ว วัคซีนป้องกันหรือยารักษาจะมีราคาแพงจนประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนหรือตัวยาได้ เนื่องจากบริษัทยาเหล่านี้จะจดสิทธิบัตรยาและได้รับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาเป็นระยะเวลานานมาก นักวิชาการเห็นว่า ข้อห่วงใยเรื่องสิทธิบัตรอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอาจตัดสินไม่เปิดเผยข้อมูลได้ ฉะนั้น ประชาคมระหว่างประเทศจึงควรหามาตรการเพิ่มแรงจูงใจให้ประเทศเหล่านี้ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลหรือ sharing samples ของเชื้อโรค[22]


2.5 หลักจรรยาบรรณการท่องเที่ยวโลก

องค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) ได้ออกหลักจรรยาบรรณการท่องเที่ยวโลก (The Global Code of Ethics for Tourism) หลักจรรยาบรรณนี้ไม่ใช่สนธิสัญญาจึงไม่มีผลผูกผันทางกฎหมายในระดับระหว่างประเทศ แต่เป็นเพียงการประมวลหลักปฏิบัติที่ดีในเรื่องการท่องเที่ยว โดยข้อที่ 6 (2) ได้กล่าวว่าผู้ประกอบอาชีพการท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่รัฐควรแสดงความห่วงใยต่อการป้องกันสุขภาพ (health protection) แก่นักท่องเที่ยว ฉะนั้น ผู้ประกอบการสถานที่พักต่างๆแก่นักท่องเที่ยวควรจัดหามาตรการเชิงป้องกันแก่นักท่องเที่ยว  (รวมถึงบุคลากรของผู้ประกอบการด้วย) เพื่อลดและป้องกันการติดเชื้อโรค อาทิเช่น การทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆในโรงแรม เช่น ที่กดลิฟท์ ราวบันได ลูกบิดและที่จับประตู รวมถึงการใช้เครื่องฟอกอากาศในห้องล๊อบบี้ด้วย เป็นต้น

บทส่งท้าย

การระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรน่าในครั้งนี้เป็นบททดสอบอีกครั้งของกฎอนามัยระหว่างประเทศฉบับใหม่ ค.ศ.2005 หลังจากของเก่าที่ใช้กันมานานตั้งแต่ ค.ศ. 1969 กฎอนามัยระหว่างประเทศนี้พยายามหาความสมดุลย์ระหว่างสุขอนามัยของคนกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มาจากการค้าระหว่างประเทศ การขนส่ง รวมถึงผลกระทบด้านการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ การตัดสินใจในเรื่องนี้ก็ไม่ง่ายนัก เพราะจะต้องมีการประเมินอย่างรอบด้านแข่งกับเวลาที่มีจำกัด[23]  หากเป็นไปได้ รัฐคงอยากเลือกทั้ง “สุขภาพของคน” (Health) และ “เงินรายได้” (Wealth)[24] ไปพร้อม ๆ กัน แต่หากเกิดสถานการณ์ที่จะต้องเลือกขึ้นมาจริงๆอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง Health หรือ Wealth รัฐภาคีขององค์การอนามัยโลกจะเลือกอะไร เป็นสิ่งน่าคิดอย่างยิ่ง

 

อ้างอิง

[1] โปรดดูรายละเอียดใน Kathleen Choi, A Journey of A Thousand League: From Quarantine to International Health Regulations and Beyond, U.Pa J.Int’l L., vol.29, 2008,p.

[2] Kathleen Choi, p.989

[3]Brigit Toebes, International health law: an emerging field of public international law, Indian Journal of International Law, 2015,pp.299-300; Lance Saker, et al, Globalization and infectious diseases: A review of the  linkages,2004

[4] Oppenheim’s International Law: Vol 1, (edited by Sir Robert Jennings and Sir Arthur Watts), (USA: Oxford  University Presss,2008),pp.987-988; Maurice Kamto, Preliminary report on the expulsion of aliens, DOCUMENT A/CN.4/554,2005,p. 197

[5] Ryan Sullivan, Implementing the International Health Regulations (2005) with Search Engine-Based Syndromic Surveillance, Georgia Journal of International and Comparative Law, 2016 p.705

[6] พ.ร.บ. คนต่างด้าว พ.ศ. 2522 มาตรา 12 (4) สำหรับรายชื่อของโรคติดต่อนั้นจะปรากฎในกฎกระทรวง

[7] พ.ร.บ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นี้เป็นกฎหมายใหม่ที่ยกเลิกกฎหมายเก่าคือ พ.ร.บโรคติดต่อ พ.ศ. 2523

[8] ตามข้อ 23 องค์การอนามัยโลกยังมีอำนาจทำข้อเสนอแนะ (recommendation) ไปยังรัฐภาคีได้อีกด้วย

[9] ข้อ 22

[10] ข้อ 2 ของ IHR

[11] ข้อ 12ของ IHR

[12] https://www.bbc.com/news/world-asia-china-51409801

[14] จากการประชุมของที่ประชุมใหญ่รัฐภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 17 (CITES CoP17) ในปี 2016 มีมติให้ตัวนิ่มอยู่ในบัญชีที่ 1

[16] เป็นข้อพิพาทระหว่างแคนาดากับประชาคมยุโรป ประชาคมยุโรปได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าแร่ใยหินเนื่องจากแร่ใยหินก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง

[17] เป็นข้อพิพาทระหว่างประชาคมยุโรปกับบราซิล โดยบราซิลออกมาตรการห้ามนำเข้ายางหล่อดอกเป็นมาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์เนื่องจากยางที่ใช้แล้วเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

[21] ผู้สนใจประเด็นความขัดแย้งนี้โปรดอ่านรายละเอียดใน David Fidler, Influenza Virus Samples, International Law, and Global Health Diplomacy, www.cdc.gov/eid,vol.14, No1 January,2008,p.88;

[22]Lawrence Gostin & Benjamin Berkman, Pandemic Influenza: Ethics, Law, and the Public Health,59 AD MIN .L REV,2007,113

[23] ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ รัฐภาคีจะต้องแจ้งเหตุต่อองค์การอนามัยโลกภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากตรวจสอบข้อมูลด้านสาธารณสุขแล้ว

[24] ในอดีต การแจ้งให้องค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับโรคระบาดสร้างผลกระทบต่อการค้าและการท่องเที่ยวมากทำให้ประเทศนั้นสูญเสียรายได้มหาศาล เช่น ประเทศเปรู สูญเสียรายได้ประมาณ 700 ล้านเหรียญ$ จากการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวเมื่อแจ้งให้องค์การอนามัยโลกทราบเกี่ยวกับการระบาดของเชื้ออหิวาตกโรค (cholera) หรืออินเดียสูญเสียรายได้ประมาณ 1.7 พันล้าน$ จากกาฬโรค (plague) โปรดดู David Bishop, Lessons From SARS: Why The WHO must Provide Greater Economic Incentives for Countries to Comply With International Health Regulations,  George Journal of International Law,Vol.36 2005,p.1192

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net