Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมพยายามร่างข้อเสนอ Roadmap ทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมที่สุดในการออกจากวิกฤติทางการเมือง ซึ่ง Roadmap นี้พยายามให้สอดคล้องไปกับข้อเสนอของทางกลุ่มนักศึกษาและภาคประชาชน

เนื่องด้วยสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ท่านคงมองเห็นแล้วว่า รัฐบาลคสช.2 หรือ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์-2 ท่ามกลางกระแสคลื่นการประท้วงของนักศึกษา ก็คงเหมือนเรือเหล็กบุโรทั่ง ท่ามกลางคลื่นสูงที่มีโอกาสจะกลายเป็นคลื่นสึนามิซัดเรือเหล็กที่รอวันล่ม

แต่คำถามสำคัญคือ คลื่นลมของความไม่พอใจในสังคมกำลังบอกอะไร หากมองผิวเผินก็จะเข้าใจว่า พวกเขาออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่หากมองให้ลึกๆ พวกเขาไม่ได้มาปกป้องอนาคตใหม่ แต่ปกป้องอนาคตของตัวเอง

การยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความไม่พอใจและความอยุติธรรมที่เกิดทับซ้อนกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไล่ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เราเห็นภาวะ #สองมาตรฐาน ระหว่างพรรคการเมืองหนุนคสช. และพรรคการเมืองที่ไม่หนุนคสช. เราเห็นความได้เปรียบทางการเมือง เช่น การใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายเลือกตั้ง ใช้สถานะรัฐบาลพิเศษอัดฉีดเม็ดเงิน โยกย้ายข้าราชการก่อนการเลือกตั้ง ใช้กองทัพเป็นช่องทางข่มขู่และรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เดินหน้าใช้ยุทธการพลังดูดดึง ส.ส. แลกผลประโยชน์ รวมถึงยุบพรรคการเมืองต้านคสช. พรรคสำคัญไปหนึ่งพรรคก่อนการเลือกตั้ง

หลังการเลือกตั้ง ประชาชนต้องแบกรับความไม่พอใจอีกครั้ง เมื่อต้องเจอกับการจัดการเลือกที่ต้องจารึกว่า ‘ห่วยแตก’ เป็นครั้งประวัติศาสตร์ เราเห็นการจัดการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด ตั้งแต่การติดชื่อคนกับพรรคผิดบ้าง มีชื่อคนตายยังปรากฎเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งบ้าง คนต้องต่อแถวเลือกตั้งจนถอดใจบ้าง เอาบัตรเลือกตั้งมานับไม่ทันบ้าง นับคะแนนผิดบ้าง คะแนนขึ้นๆ ลงๆ บ้าง หยุดนับคะแนนกลางคันบ้าง หรือการบัญญัติศัพท์ใหม่อย่าง ‘บัตรเขย่ง’

พอเลือกตั้งเสร็จ เราต้องเจอปัญหาประสาทแดกครั้งใหญ่ เพราะ กกต. ไม่แน่ใจว่า เราต้องใช้สูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบไหน และปัญหาคือ สูตรที่ กกต. ใช้ คือสูตรที่ทำให้มีพรรคการเมืองในสภาถึง 26 พรรค มากเป็นประวัติการณ์ แถมยังมี ส.ส.เอื้ออาทร ที่ได้เข้าสภา ไปเบียดบังที่นั่งพรรคอื่นๆ แม้ว่าพรรคเหล่านั้นจะได้คะแนนจากทั่วประเทศต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ควรจะได้ ส.ส. 1 คน และยิ่งไปกว่านั้น บรรดา ส.ส. เอื้ออาทร ล้วนเป็นพรรคที่ดูจะหนุนคสช. อีกต่างหาก

จนสุดท้ายด้วยระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวสุดพิสดารเราก็ได้สภาที่ไม่มีพรรคไหนครองเสียงข้างมากเด็ดขาด ส่อเค้าแววรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งแน่นอนว่า เสถียรภาพของรัฐบาลย่อมอ่อนแอ

แต่จุดพีคทางการเมืองคือ วันที่ต้องลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้มีแต่ผู้แทนประชาชน 500 คน แต่มี ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดยคสช. มาร่วมโหวต ซึ่งพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรืออย่างน้อยก็ 376 เสียง แต่ตอนนั้นเสียงของพรรคที่หนักแน่นในการต้านคสช. มีไม่ถึง 250 เสียง ต้องอาศัยพรรคแทงกั๊กเกือบทุกพรรคมาหนุน แต่สุดท้ายพรรคแทงกั๊กทุกพรรค ไม่เว้นแม้แต่พรรคไม่หนุนคสช. อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยก็ยอมกลืนน้ำลายตัวเองเพราะสู้ระบบที่ออกมาเพื่อพวกเขา (คสช.) ไม่ไหว

แต่ทว่า เมื่อคสช. กลับเข้าสู่อำนาจได้อีกครั้งผ่านพรรคแนวร่วม แต่การตั้งรัฐบาลก็ไม่ง่าย เมื่อพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐไม่สามารถครองเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภา ทำให้ต้องแบ่งโควต้ามหาศาลให้พรรคร่วมรัฐบาล ควบคู่ไปกับการสาดโคลนกันเองของพรรคร่วมรัฐบาล จนการตั้งรัฐบาล ตั้งครม. ล่าช้าไปหลายเดือนและกระทบต่อการพิจารณากฎหมายงบประมาณในท้ายที่สุด และที่แย่กว่านั้นคือ มีผู้รับตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีมลทิลร้ายแรงหลายคนเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี

เมื่อมีการเปิดประชุมสภา ทุกอย่างก็ขับเคลื่อนไปด้วยความล่าช้า ด้วยสภาวะเสียงปริ่มน้ำในสภา และในขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวยุบพรรคการเมืองปฏิปักษ์คสช. ไม่มีหยุดหย่อน ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนคสช. ทำอะไรก็ไม่ผิด ตอกย้ำภาวะ สองมาตรฐาน ยกตัวอย่าง การจัดโต๊ะจีนที่มีบริษัทที่ได้สัมปทานจากรัฐใช้บริษัทลูกที่มีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน มาบริจาคพร้อมกันหลายสิบล้าน ถูกมองว่าไม่ผิด แต่พรรคที่กู้เงินอย่างโปร่งใสเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมากับผิดมหันต์ถึงขั้นยุบพรรค

แต่ที่แย่กว่า คือ มีความพยายามซื้อตัว ส.ส. เกิด “สภาดงงูเห่า” มีการย้ายขั้วบิดเบือนเสียงประชาชนอย่างเด่นชัดและมากครั้งจนนับข่าวแถมไม่ถ้วน โดยเฉพาะหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ มีการซื้อเก้าอี้ ส.ส. ไปต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี และด้วยระบบการเมืองแบบนี้ การซื้อเสียงในคูหาอาจไม่สำคัญเท่ากับซื้อเสียงในสภา เป็นยุคตกต่ำทางศีลธรรมและประชาธิปไตย โดยที่องค์กรอิสระที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบก็นิ่งเฉย ไม่ร้อนแรงเหมือนเมื่อครั้งยุบพรรค

ด้วยความอยุติธรรมที่สั่งสมมานานพอสมควร ทำให้ประชาชนและนักศึกษาเริ่มเห็นแล้วว่า ประเทศไทยกำลังป่วย และรัฐบาลกำลังเป็นโรคหวงอำนาจ ดังนั้นการถอนพิษร้ายให้สังคมไทย จึงมีเพียงประการเดียวนั่นคือ การแก้รัฐธรรมนูญ

แต่การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ไม่ง่ายอีก เพราะบางเรื่องต้องไปทำประชามติก่อน และการเห็นชอบ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ต่อให้ใช้เสียงหมดสภาผู้แทนราษฏรก็ตาม ถ้าไม่มี ส.ว. ก็แก้ไม่ได้

ดังนั้นเพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้อย่างชอบธรรมกับทุกฝ่าย ผมจึงขอเสนอบันไดสามขั้นกลับสู่ประชาธิปไตยและสันติสุข ได้แก่ “ยุบสภา-ประชามติ-แก้รัฐธรรมนูญ”


ขั้นที่ 1 ยุบสภา

ให้รัฐบาลคสช. 2 หรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 ยุบสภาโดยเร็วที่สุด โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 และให้ กกต. จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา โดยเหตุผลในการยุบสภส ให้ระบุว่า สถานการณ์ในประเทศกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระรอกใหม่ที่มีโอกาสจะบานปลาย และรัฐบาลไม่ได้นับการสนับสนุนเพียงพอจากสภาในการเป็นผู้แก้ไขความขัดแย้ง และเพื่อพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย ให้ประเทศปกตรองโดยหลักนิติรัฐ ให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยความราบรื่นและความโปร่งใส พ้นจากข้อครหาทั้งปวง จึงเห็นสมควรให้มีการยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจในอนาคตว่าต้องการรัฐบาลและนโยบายแบบไหน


ขั้นที่ 2 ประชามติ

เมื่อจัดการเลือกตั้งเสร็จ จะใช้เวลาในประกาศผลและการจัดตั้งรัฐบาลไม่เกิน 60 วัน และขอให้รัฐบาลแถลงต่อสภาว่านโยบายเร่งด่วนคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ แนวทางเป็นไปสองรูปแบบ

แบบแรกคือ สภาผู้แทนราษฏรเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน

แต่หากยังไม่รับการสนับสนุนจาก ส.ว. แต่งตั้ง ให้ดำเนินการแบบที่สอง คือ จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ที่คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

โดยมีคำถามประชามติว่า

“ท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่”

โดยการจัดออกเสียงประชามติควรจะอยู่ในกรอบ 60 วัน จากนั้นให้รัฐสภาดำเนินการตามผลประชามติภายใน 30 วัน ในกรณีที่ประชาชนเห็นด้วย ให้ดำเนินการแก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใน 90 วัน และกำหนดกรอบการทำงาน สภาร่างรัฐธรรมนูญ สัก 240 วัน

หมายเหตุ: ในชั้นนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังมีเงื่อนไข ส.ว.แต่งตั้ง 1 ใน 3 ร่วมโหวต และมีโอกาสที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัย รวมถึงต้องประชามติซ้ำอีกครั้งก็เป็นได้


ขั้นที่ 3 แก้รัฐธรรมนูญ-ร่างใหม่ทั้งฉบับ

ขั้นสุดท้ายเป็นขั้นที่สำคัญเกือบที่สุด นี่คือ การสร้างสัญญาประชาคมใหม่ ในสังคมไทย ซึ่งต้องการการเปิดพื้นที่ เปิดใจ เคารพความคิดเห็น เคารพเสียงข้างมาก และสร้างหลักประกันให้เสียงข้างน้อย เราควรใช้โอกาสนี้มองหากติกาในการอยู่ร่วมกัน สร้างการเมืองสร้างสรรค์ การเมืองก้าวหน้า ระบบตรวจสอบเข้มแข็ง ผ่านการใช้ผู้แทนที่เป็น สสร. สร้างการมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้ของประชาชนในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ

หากนับจากเวลาที่ผมประเมินไว้ตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง เราจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งผมว่า มันไม่ช้าเกินไปสำหรับสิ่งที่เราฝันและมีฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่สูง และด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็สามารถทำในสิ่งที่ผมเสนอได้ทุกข้อ

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ประชาชนต้องไปแสดงพลังในคูหาเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญต้องวางยุทธศาสตร์การลงเลือกตั้งใหม่ ให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะถล่มทลาย เป็น Strategic Vote เพื่อฝ่ายประชาธิปไตยจริงๆ หากเราชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ชนะประชามติถล่มทลาย การใช้เสียง 84 คน 9 คน หรือแม้แต่ 1 คน ก็ไม่อาจเทียบเท่าเสียงประชาชนหลายสิบล้านที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

 

ภาพประกอบ: โปสเตอร์จากหนังเรื่อง No หนังเกี่ยวกับการรณรงค์คว่ำรัฐธรรมนูญเผด็จการ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์มาปลุกฝัน และได้รับชัยชนะในที่สุด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net