Skip to main content
sharethis

ประชาชนนับร้อย ฮือบุกกระทรวงการคลัง อย่างไม่กลัวโควิด ไม่เกรง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยความไม่พอใจที่ไม่ได้รับเงินห้าพัน AI (หรือระบบราชการก็ไม่ทราบ) แจ้งกลับมาว่าเป็นเกษตรกร ทั้งที่เป็นช่างตัดผม บางคนเป็นไกด์ อยากก้าวหน้าไปเรียนเพิ่ม ก็กลายเป็นนักศึกษา บางคนเป็นแม่ค้าข้างถนน บอกว่าเป็นผู้ประกอบการ

อ่านข่าววงนอกก็เป็นตลกร้าย แต่ไม่ตลกสำหรับคนเดือดร้อน แม้พอเข้าใจคำชี้แจงว่า ถ้าหัวหน้าครอบครัวลงทะเบียนเกษตรกร แล้วมีสมาชิกช่วยงาน ก็นับเป็นเกษตรกรไปด้วย แต่นั่นคือราชการแข็งทื่อ ไม่เข้าใจความซับซ้อน คนรายได้น้อยไม่ได้ทำอาชีพเดียว ส่วนที่เห็นใครลงทะเบียนเรียน=นักศึกษา ก็ไม่น่าใช่ AI เป็นเครื่องจักรงี่เง่าเสียมากกว่า

ในภาพรวม เข้าใจได้นะ มันจะเกิด Error แต่ไม่น่าเกิดขนาดนี้ กระนั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่วิธีคิดในการบริหาร คือทำไมต้องให้คนลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” ในเมื่อเห็นอยู่ว่า ประชาชน 65 ล้านคน เดือดร้อนทั้งนั้น ทำไมไม่ให้ความช่วยเหลือตามกลุ่มไปเลย

ลวรณ แสงสนิท ผอ.สศค.แยกแยะว่า ผู้สมควรได้เงินห้าพันมีไม่เกิน 8 ล้านราย คือกลุ่มอาชีพอิสระ รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว ค้าขาย 3 ล้านราย ผู้ประกันตนมาตรา 39-40 อีก 5 ล้านราย ที่เหลือเป็นข้าราชการรัฐวิสาหกิจ 2 ล้านราย อายุต่ำกว่า 15 ปี 11 ล้านราย อายุ 60 ปี 11 ล้านราย เกษตรกร 17 ล้านราย แรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านราย คนว่างงาน เรียนหนังสือ 6 ล้านราย

แต่คนอายุเกิน 60 ยังทำงานก็มีเยอะ คนว่างงานก็ใช่ว่าไม่ได้รับผลกระทบ อย่างน้อยหางานยากขึ้น นักศึกษาก็มีที่ทำงานพาร์ตไทม์ตามห้างร้าน ฯลฯ

จะเห็นว่าประเทศไทยแยกแยะแรงงานนอกระบบได้ยากมาก เมื่อใช้วิธีนี้ ยังไงก็มีคนตกหล่น ถ้ารัฐบาลไม่คิดเล็ก วิธีที่ดีที่สุดคือ “จัดเต็ม” เหมือนหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อายุเกิน 21 ได้หมด อเมริกา รายได้ต่ำกว่า 75,000 ดอลลาร์รับไปเลย 1,200 ดอลลาร์ แจกลูกหัวละ 500

แน่ละ เราอาจจัดเต็มอย่างเขาไม่ไหว แต่ที่รัฐบาลจะให้ ก็เกือบเต็มอยู่แล้ว เพราะบอกว่าจะช่วยเกษตรกรต่างหาก 17 ล้านคน (แต่ยังคิดไม่ทัน ยังไม่เข้า ครม. ออกมาตรการทีละขยักให้โดนด่าตามเคย) งั้นทำไมไม่ช่วยคนว่างงาน และกลุ่มที่เหลือบ้าง

พูดอีกอย่าง ตัดข้าราชการ แรงงานในระบบ ที่เหลือดูรายได้จากฐานภาษี แล้วจ่ายหมด รวมคนตกงานตกหล่น เด็กอายุต่ำกว่า 15 ช่วยค่าเลี้ยงดูชั่วคราว เพิ่มเบี้ยสูงอายุชั่วคราว มันคงเพิ่มงบจากที่จะจ่าย 8+17 ล้านคนไปไม่เท่าไหร่

คิดจะทำการตลาด “เราไม่ทิ้งกัน” ต้องใจกล้าๆ หน่อย ไม่ใช่ตั้งแต่เริ่มก็ขู่เอาผิดฐานกรอกข้อมูลเท็จ ถัดมา ก็ขู่เอาผิดฐานด่ารัฐบาล แทนที่จะได้บุญคุณกลับขาดทุนยับ

นี่ยังไม่พูดถึงว่า รัฐบาลควรจะใจกล้าๆ อีกหลายเรื่อง เช่นพักหนี้ ก็พักให้จริง ไม่ใช่พักแล้วดอกเบี้ยวิ่ง ไม่มีความหมายอะไร เหมือนลดค่าไฟให้ 3%

ประกันสังคม คนก็โวย ตกงานมาตั้งนานยังไม่จ่าย คนลงทะเบียนห้าพันกลับได้ก่อน ภาคธุรกิจก็เรียกร้อง ให้รัฐออกคำสั่งปิดโรงแรม เพราะไม่งั้น ประกันสังคมไม่ช่วย ต้องเลิกจ้างสถานเดียว

ภาคธุรกิจยังเสนอ “สิงคโปร์โมเดล” ให้รัฐช่วยจ่ายค่าแรง 50% ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก แม้ควรช่วยธุรกิจที่กระทบหนัก เช่นท่องเที่ยวโรงแรมที่กว่าจะฟื้นก็อีกยาวมาก

สำคัญคือต้องวัดใจว่ารัฐบาลจะกล้าๆ “ปลดล็อก” หรือเปล่า เพราะไม่ต้องรอ 30 เม.ย.ก็น่าจะเปิดการเดินทางบางระดับ เปิดธุรกิจบางอย่างได้แล้ว

 

 

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/355083

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net