Skip to main content
sharethis

ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทยอยเดินทางมาเขียนคำร้องเรียกร้องสิทธิ์ มาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่จุดรับเรื่องบริเวณริมฟุตปาธหน้ากระทรวงการคลัง | ส.ส. เพื่อไทยแนะนำจ่ายเงินช่วยเกษตรกรก้อนเดียว หากแบ่งจ่ายจะเป็นเบี้ยหัวแตก | รมช.มท. ชี้ผู้ถือบัตรสีชมพูควรได้รับเงินด้วยเนื่องจากเป็นเกษตรกรตัวจริงเหมือนกันตามกฏหมายเพียงแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน | เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งรัฐมนตรีงดการพระราชพิธีสำคัญ 3 งาน ช่วง พ.ค. 2563


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

2 พ.ค. 2563 ตลอดช่วงบ่ายวันนี้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทยอยเดินทางมาเขียนคำร้องเรียกร้องสิทธิ์ มาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่จุดรับเรื่องบริเวณริมฟุตปาธหน้ากระทรวงการคลัง เริ่มบางตา ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว มีการตั้งโต๊ะรับเรื่องกว่า 10 โต๊ะ เว้นระยะห่าง หลายเสียงต่างพบปัญหาเงินไม่เข้าบัญชีตามที่ได้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาไว้

ขณะที่บริเวณใกล้เคียงมีจิตอาสา 'เค เยาวราช' นำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและบริการน้ำร้อนพร้อมต้มรับประทาน มาแจกจ่ายให้กับผู้ที่เดินทางมาร้องเรียนสิทธิ์ ตลอดจนผู้ที่ตกงาน คนยากไร้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ COVID-19

พลตำรวจตรีสมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางมาตรวจความเรียบร้อยด้วยตนเอง พร้อมเปิดเผยว่า ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีประชาชนเดินทางมามากประมาณ 600 คน ทางกระทรวงการคลังจึงจัดเจ้าหน้าที่มาบริการประชาชน ตอนนี้มีผู้รออยู่ไม่เกิน 100 คน ทั้งนี้ เรื่องสำคัญที่สุด ช่วงนี้เป็นช่วงที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาด พี่น้องประชาชนที่จะมาเรียกร้องสิทธิ์ สอบถาม หรือคำแนะนำต่างๆ ต้องระมัดระวัง และปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัย หากมีเฟซชิลด์คลอบใบหน้าด้วยจะดี ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยแนะนำให้เว้นระยะ และดูแลอำนวยความสะดวกด้านการจราจร

ทั้งนี้ได้หารือกับกระทรวงการคลังขอให้ย้ายจุดตั้งรับเรื่องเรียกร้องสิทธิ์จากฟุตบาทริมถนนหน้ากระทรวงการคลังไปบริเวณถนนข้างกระทรวงริมคลอง เพื่อรองรับประชาชนจำนวนมากและความคล่องตัวของรถที่สัญจร

ส่วนผู้ที่มาร้องเรียนและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก่อนหน้านี้ ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบกระทำผิด เนื่องจากมาเพียงลำพังไม่ได้นัดรวมตัวกันแต่อย่างใด

นางณัฐณิชา จินดาเสฐียร อายุ 48 ปี (คนพิการ) ขายข้าวกล่องให้นักเรียนในโรงเรียนบางขุนเทียนศึกษา ย่านพระราม 2 เล่าทั้งน้ำตา วันนี้เดินทางมายื่นเรื่องเพราะเงินยังไม่เข้าบัญชี หลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก โรงเรียนปิดไม่สามารถขายข้าวกล่องให้นักเรียนได้ ปกติขายกล่องละ 10 บาทเท่านั้นไม่ได้เอากำไรมาก ตอนนี้ประสบอุบัติเหตุรถชนกระดูกหักยิ่งทำให้ลำบากมาก ต้องนั่งวีลแชร์ เพราะไม่สามารถหาอาชีพอื่นทำได้ จึงไม่มีรายได้ ขอฝากผู้ใหญ่ให้ช่วยดูแลด้วยเพราะเงินก้อนนี้คือความหวังที่จะช่วยต่อชีวิต

นางสมจิตต์ เฟียมาลัย อายุ 64 ปี รับจ้างทั่วไป เปิดเผยว่า วันนี้ยังไปยืมเงินเพื่อนบ้านมา 100 บาท เพื่อเป็นค่ารถเดินทางมาจากบางกระดี่ เพื่อยื่นคำร้อง พร้อมกางสมุดบัญชีธนาคารให้ทีมข่าวดู ไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว มีรายได้วันละ 300 บาท จากการรับจ้างกวนกาละแม ตอนนี้ร้านค้าปิดขายไม่ได้ จึงทำให้ไม่มีรายได้ บางมื้อไม่มีก็ต้องอด หวังเงิน 5 พันมาช่วยค่ากินค่าใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนโทรศัพท์ที่ใช้อยู่ก็ไม่ใช่สมาร์ทโฟนไม่สามารถตรวจสอบได้เลย จึงต้องเดินทางมาด้วยตนเอง

นางเสาวลักษณ์ คำทอง อายุ 59 ปี เล่าว่าออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกพิการ ช่วงนี้ลำบากมาก ไปกู้หนี้นอกระบบมา 3 พันบาท ดอกร้อยละ 10 เพื่อไว้ใช้จ่าย เนื่องจากลูกชายที่พิการไม่ได้ออกไปเดินเล่นพักผ่อนตามสวนสาธารณะทำให้มีอารณ์หงุดหงิดง่าย และอยากทานขนม อาหารบ่อยขึ้น จึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขี้น ทั้งนี้ตนได้ลงทะเบียนในระบบแจ้งอาชีพแม่บ้าน แต่จนขณะนี้ยังไม่มีเงินโอนเข้ามาแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่รับคำร้องเรียกร้องสิทธิ์ มาตรการเยียวยา เปิดเผยว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่มายื่นเรื่องในวันนี้ พบมีปัญหาจากการลงทะเบียนในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องวันเดือนปีเกิด ที่บางคนไม่มีวันเกิด, หมายเลขโทรศัพท์ไม่ตรง จึงให้คำแนะนำและกรอกรายละเอียดไว้เพื่อดำเนินการต่อไป

ส.ส. เพื่อไทยแนะนำจ่ายเงินช่วยเกษตรกรก้อนเดียว หากแบ่งจ่ายจะเป็นเบี้ยหัวแตก

นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การบริหารจัดการการเยียวยาภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลยังล่าช้าและมีการตั้งเงื่อนไขมากมาย จนดูเหมือนไม่มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงจังและไม่เต็มที่ โดยเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเยียวยาเกษตรหลายรอบ ทั้งๆที่หน่วยงานรัฐมีข้อมูลเกษตรกรอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมในพื้นที่ทำการเกษตร แต่รัฐบาลกลับจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกร โดยใช้เวลานานกว่า 6 เดือน ล่าช้าจนเกษตรกรต้องกู้หนี้เพื่อมาลงทุนประกอบอาชีพ ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับการที่รัฐบาลช่วยเหลือภาคเอกชนซึ่งมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและได้กู้เงินเพื่อมาเยียวยาภาคเอกชนขนาดใหญ่ จนถูกมองว่าเกษตรกรเป็นพลเมืองชั้นสอง 

อีกทั้งมาตรการการเยียวยาภาคเกษตรของรัฐในครั้งนี้เพียงครอบครัวละ 15,000 บาท โดยแบ่งจ่าย 3 เดือนเดือนละ  5,000 บาท สุดท้ายเป็นเบี้ยหัวแตก เพราะการเยียวยาเช่นนี้เกษตรกรไม่สามารถที่จะต่อยอดได้ รัฐควรเยียวยาโดยพิจารณาความจำเป็นของเกษตรกรและเยียวยาเป็นเงินก้อน โดยจะต้องไม่มั่วข้อมูลในการพิจารณาเยียวยาประชาชน

รมช.มท. ชี้ผู้ถือบัตรสีชมพูควรได้รับเงินด้วยเนื่องจากเป็นเกษตรกรตัวจริงเหมือนกันตามกฏหมายเพียงแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดพังงา ณ หอประชุมราชสีห์ 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดพังงา ศูนย์ราชการจังหวัดพังงา

โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามนโยบาย และกล่าวว่า ในเรื่องที่ 1 ปริมาณยางพารากับการใช้ยางพาราในโลกยังไม่สมดุลกับความต้องการของตลาดโลก คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) มีนโยบายโค่นยางหนึ่งแถวไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ต้องยอมรับว่าเกษตรกรสูญเสียรายได้ แต่เป็นการลดปริมาณผลผลิตเพื่อที่จะได้ไม่ทำให้ผลผลิตล้นตลาด ทางการยางฯต้องมีเงินชดเชย ทำให้ทุกวันนี้มีนโยบายรัฐ ถ้าโค่นยางหนึ่งแถวไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นจะได้รับเงินสงเคราะห์แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะว่าให้เงินสงเคราะห์ชาวสวนยางให้เงินโค่นแถวเว้นแถวมีคนเข้าร่วมโครงการยังน้อยมาก เพราะไม่จูงใจให้เกษตรกรโค่นยางแล้วไปปลูกพืชเกษตรอย่างอื่นที่อาจจะมีอนาคตดีกว่าก็ตาม

“สิ่งที่อยากจะขอฝากท่านประธานไปช่วยคิดดูว่าเงินสงเคราะห์ที่ท่านให้ทุกวันนี้ก็ได้ละไร่ละ 16,000 บาท จูงใจพอหรือเปล่า ที่จะช่วยลดปริมาณยางในประเทศไม่ทำให้ยางล้นโลก ถ้ายังไม่จูงใจพอ เป็นไปได้หรือไม่ที่ท่านจะต้องไปเพิ่มเงินสงเคราะห์ค่าโค่นยางหนึ่งแถวไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น อาจต้องเพิ่มเป็นเท่าไหร่ขอฝากเป็นการบ้านไปช่วยคิดด้วยเพื่อให้เกิดแรงจูงใจเพราะว่าระยะยาวเราจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาทั้งระบบได้” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว 

เรื่องที่ 2 นโยบายประกันรายได้ในส่วนข้าว ปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง เกษตรกรพอใจ ราคาข้าววันนี้ไปเกวียนละ 10,000 กว่าบาทแล้ว แต่คนที่เคยได้ส่วนต่างก็ไม่ค่อยสบายใจ เพราะไม่มีเงินส่วนต่างซึ่งความจริงเกิน 10,000 ดีกว่าไม่ถึง 10,000 เพราะเกษตรกรจะได้เงินมากกว่า เข้ากระเป๋าเดียวแต่มากแทนที่จะเป็น 8,000 บวก 1,000 ได้แค่ 9,000 เป็นต้น 

สำหรับประกันรายได้ยางพารา เป็นทางออกให้อย่างน้อยมีหลักประกันในเรื่องรายได้ ยกเว้นราคาดีขึ้นจน รายได้ที่ประกัน จึงอยากฝากประธาน กนย. เรียกประชุมทั่วประเทศอีกรอบ เกษตรกรที่ตกหล่นตัวเลขอยู่ในมือของตนจำนวนมาก ทั้งบัตรเขียว บัตรสีชมพู แต่บัตรเขียวขณะนี้ได้รับเงินไปเกือบ 100% แล้ว บัตรสีชมพูยังตกหล่น จังหวัดน่าน 10,000 ราย จังหวัดเชียงรายเกือบ 10,000 ราย มีอยู่ 18 จังหวัดทั่วประเทศที่ยังตกหล่นอยู่อีกมาก และจังหวัดพังงาก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่พังงาผู้ว่าฯ ได้รับเรื่องแล้ว โดยวันที่ 8 พฤษภาคมจะทำให้เสร็จทุกจังหวัดต้องช่วยกันและประธาน กนย.ต้องไปเร่งประชุม และก็ ธ.ก.ส.ก็ต้องช่วยอำนวยความสะดวกทันทีที่จบต้องโอนย้อนกลับไปให้

เรื่องที่ 3 เรื่องเงินเยียวยาเกษตรกร รัฐบาลมีนโยบายให้เงินเยียวยาเกษตรกร เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมแล้ว 15,000 บาท เกษตรกรที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนต่างจะมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทด้วย เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ขอให้ไปดูทะเบียนอย่าให้ตกค้าง ด้วยนายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม ครม. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้เน้นย้ำแล้วว่าบัตรสีชมพูก็ควรจะได้รับเงินส่วนต่างด้วยเนื่องจากเป็นเกษตรกรตัวจริงเหมือนกันตามกฏหมาย เพียงแต่เขาไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินขออนุญาตฝากให้เร่งดำเนินการด้วย

เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งรัฐมนตรีงดการพระราชพิธีสำคัญ 3 งาน ช่วง พ.ค. 2563

นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะลิาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 เรื่อง งดการพระราชพิธีในเดือนพ.ค.2563 ถึงรัฐมนตรีทุกท่าน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศ พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และขยายระยะเวลาการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร มีผลตั้งแต่วันที่ 3-31 พ.ค. 2563 กองกิจการในพระองค์ 904 จึงงดการพระราชพิธีดังนี้

1.พระราชพิธีการพระราชกุศลทักษิณานุปทานและการพระราชพิธีเฉลิมราชสมบัติสิริรัชพรรษา วันที่ 2-4 พ.ค.2563

2.พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา วันที่ 6 และ 7 พ.ค. 2563

3.พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันที่ 10 และ 11 พ.ค. 2563

ที่มาเรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย | เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย | เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ | โพสต์ทูเดย์



 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net