Skip to main content
sharethis

ทำความรู้จักทีดีอาร์ไอผ่านแว่นวาทกรรมและการผ่าตัดให้เห็นกายวิภาคทางการเมืองของทีดีอาร์ไอว่าเกี่ยวพันและส่งผลต่อการเมืองและการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทยอย่างไร ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ทีดีอาร์ไอไม่เคยรู้ตัวมาก่อน

  • วาทกรรมอธิบายว่าอำนาจเป็นสิ่งที่กำหนดว่าอะไรเป็นความรู้ ทั้งยังผลิตซ้ำวาทกรรมที่คอยเบียดขับความรู้ชุดอื่นที่เป็นปฏิปักษ์
  • ประเด็นที่ทีดีอาร์ไอเลือกนำเสนอในแต่ละช่วงเวลา ปริมาณ ความถี่ของเรื่องที่พูด ท่าทีและน้ำเสียงที่ใช้ไม่เหมือนกัน ทีดีอาร์ไอมีทีท่าแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐบาล
  • ทีดีอาร์ไอเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างชั้นบนของรัฐไทย และสนับสนุนระเบียบอำนาจที่ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไรกับมูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ สิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนประการหนึ่งคือทีดีอาร์ไอมีอิทธิพลต่อนโยบายเศรษฐกิจไทย คำวิพากษ์วิจารณ์ของทีดีอาร์ไอแต่ละครั้งที่ออกมา รัฐบาลฟัง สังคมฟัง นั่นหมายความว่าคำพูดและท่าทีของทีดีอาร์ไอส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คนต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล

ในงานเสวนาวิชาการ ‘อำนาจของความรู้: ทีดีอาร์ไอ เทคโนแครต และการเมืองของนโยบายเศรษฐกิจไทย ว่าด้วยหนังสือ สถาบันคลุมสมอง: กายวิภาคการเมืองของทีดีอาร์ไอ’ โดยศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ เป็นผู้จัด เอกสิทธิ์ หนุนภักดี จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ บอกเล่าที่มา วาทกรรมของความรู้ บทบาทของทีดีอาร์ไอต่อการเมืองไทย และสิ่งที่ทีดีอาร์ไอเป็นไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

เอกสิทธิ์ หนุนภักดี จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ 'สถาบันคลุมสมอง: กายวิภาคการเมืองของทีดีอาร์ไอ’

ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกตั้งแต่ปี 2504 เราอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมา 6 ทศวรรษ คำถามของผมก็คือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือการวางแผนจากศูนย์กลางวางจากคนที่มีความรู้ความสามารถระดับมันสมองของประเทศ 60 ปีผ่านไปประเทศไทยยังมีปัญหาโครงสร้างบางอย่างที่ยังแก้ไม่ตกหรือถ้าเรามองไปในระดับโลกเราก็พบปัญหาคล้ายๆ กัน ทำไมเรายังอยู่กับปัญหาเดิมๆ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ผมคิดว่าคนฉลาดน่าจะคิดได้ แต่ทำไมจึงไปไม่พ้นจากปัญหานี้เสียที หรือปัญหามันไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติส่วนบุคคล แต่ปัญหามันไปไม่พ้นจากสติปัญญา ความสามารถ หรือความรู้

ผมยกตัวอย่างรายงานของธนาคารโลกตีพิมพ์ในปี 2012 จะเห็นว่าเรามีกรุงเทพฯ ที่มีประชากร 17 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย หาเงินได้ 26 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย แต่กรุงเทพฯ เป็นแหล่งใช้งบประมาณของประเทศไทยถึง 72 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่รู้ว่านักเศรษฐศาสตร์คิดอย่างไร แต่เมื่อมองจากมุมมองของผม ผมรู้สึกว่าผิดปกติ ทำไมเราถึงอนุญาตให้งบประมาณกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ที่เรียกว่ากรุงเทพฯ มีประชากรที่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ แถมยังหารายได้ไม่ใช่ส่วนใหญ่อีก ทำไมประเทศที่มีคนฉลาดเต็มไปหมดจึงยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้

งานวิจัยทั่วไป เวลานึกถึงคำถาม เราไม่มีปัญญาจะทำคำถามนั้นให้กระจ่างแจ้งทุกแง่มุม สุดท้าย เราต้องมาเลือกบางส่วนที่พอจะทำได้ผมจึงเลือกสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความรู้ที่สุด ในแง่นี้ผมคิดว่าทีดีอาร์ไอเป็นแหล่งรวมความรู้ที่มีบทบาทต่อสังคมไทยเป็นที่กระจ่างชัด

นอกจากทีดีไอแล้ว พื้นที่ที่ผมทำงานเป็นพื้นที่การเมืองของความรู้ ไม่ได้มองความรู้ในแง่มุมที่เป็นของที่เรายอมรับกัน แต่มองดูพลังทางการเมืองของมัน ที่มาที่ไป และเครื่องมือที่ใช้ก็เน้นไปที่วาทกรรม อธิบายสั้นๆ คือถ้าคุณอ่านหนังสือผมด้วยสายตาที่คิดว่าโลกนี้เป็นแบบประจักษ์นิยมอาจจะรู้สึกว่า สิ่งที่ผมเขียนเป็นนิยายแต่ถ้ามองด้วยแง่มุมวาทกรรมอาจจะเห็นภาพอีกอย่างหนึ่ง

วาทกรรมอธิบายว่าความรู้ไม่ได้นำมาซึ่งอำนาจ แต่อำนาจต่างหากที่กำหนดว่าอะไรเป็นความรู้หรือไม่เป็นความรู้ และสิ่งที่มันทำก็คือมันจะผลิตวาทกรรมที่คอยไล่หรือเบียดขับความรู้ชุดอื่นที่เป็นปฏิปักษ์หรือตรงกันข้ามที่จะมาแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองหรือพื้นที่ทางเศรษฐกิจของมันออกไป นิยามของวาทกรรมง่ายๆ เลยก็คือเป็นความเชื่อที่ทุกคนถือว่าจริงและความเชื่อนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของเรา การศึกษาวาทกรรมคือเวลาที่เราเห็นสิ่งที่คนเชื่อแล้วว่าจริงโดยพื้นฐาน วาทกรรมจะบอกว่าเราต้องตั้งข้อสงสัยกับมัน

ผมอยากชวนดูแง่มุมวาทกรรมของทีดีอาร์ไอในบางประเด็น เช่น ประเด็นเรื่องความเป็นกลาง ประเด็นเรื่องการใช้ความรู้ เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่ทีดีอาร์ไอประกาศตัวออกมาว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ฝักใฝ่การเมือง ไม่เลือกพรรค ไม่เลือกธุรกิจ อันนี้คือความเข้าใจตัวเองของทีดีอาร์ไอ และมักคิดว่าสิ่งที่เป็นพลังสำคัญของทีดีอาร์ไอคือความรู้

เราลองมาดูข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับทีดีอาร์ไอ ซึ่งมีชื่อเต็มว่ามูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ทีดีอาร์ไอก่อตั้งในปี 2527 ในสมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ก่อตั้งโดยอาจารย์เสนาะ อูนากูล ซึ่งผมคิดว่าเป็นบุคคลสำคัญในการคิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย อิทธิพลที่อาจารย์เสนาะมีต่อประเทศไทยจริงๆ คือท่านทำอะไรหลายอย่างที่ผลักดันให้สังคมไทยเป็นอย่างที่เป็นอยู่ จากการตีความของผม ทีดีอาร์ไอเกิดมาเพื่อช่วยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คล้ายๆ กับทีมสนับสนุนของสภาพัฒน์อีกทีหนึ่งในเรื่องข้อมูล เพราะอาจารย์เสนาะเห็นว่าเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์เป็นข้าราชการมีภารกิจมาก ไม่สามารถทำงานศึกษาวิจัยความรู้ในประเด็นที่ตนต้องทำงานอย่างต่อเนื่องมากพอ จึงควรมีหน่วยวิจัยช่วย แต่สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับโลกและเศรษฐกิจการเมืองของไทย มันผลักดันให้ทีดีอาร์ไอเป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ คือแยกขาดออกมาจากสภาพัฒน์และเติบโตขึ้นมาอย่างที่เราเห็น

นักการเมืองบางคนเข้าใจผิดว่าทีดีอาร์ไอเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล คนจำนวนมากไม่ทราบว่าเจ้าของทีดีอาร์ไอคือมูลนิธิ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ตรงนี้น่าสนใจว่าทำไมคนข้างนอกมองทีดีอาร์ไอเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ทีดีอาร์ไอมีโครงสร้างเหมือนหน่วยงานทั่วไปคือมีบอร์ดคอยกำกับทิศทาง 2 บอร์ดใหญ่คือสภาสถาบันและคณะกรรมการบริหารสถาบัน ตำแหน่งสูงสุดคือประธาน คนปัจจุบันคืออาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ถ้าเราดูรายชื่อสภาสถาบันและคณะกรรมการบริหารกรรมการสภามี 25 ท่าน ในช่วงเวลาที่ผมศึกษากรรมการบริหารสถาบันมี 17 ท่าน รายชื่อจำนวนมากทับซ้อนกัน ถ้าบอกว่าตนเองไม่ฝักใฝ่การเมือง รายชื่อที่เห็นมีแค่ 6 ท่านจาก 25 ท่านเท่านั้นที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง อย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน ก็เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เหลือก็เป็นรัฐมนตรีทั้งสิ้น บางท่านเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือคุณอิสระ ว่องกุศลกิจ เจ้าของบริษัทน้ำตาลมิตรผล เป็นกรรมการสภาหลากหลายชุด โดยเฉพาะชุดที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ส่วนคุณจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นตัวแทนที่มาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถ้าเราเชื่อว่าทีดีอาร์ไอไม่เกี่ยวกับการเมือง เราไปดูบอร์ดทีดีอาร์ไอก็จะพบว่ามีความเกี่ยวพันกับคนที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในสถาบันที่มีอิทธิพลทางการเมืองไทย รวมถึงดำรงตำแหน่งที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายบางอย่างได้

คนหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ ในจำนวนนี้มีอาจารย์เสนาะ อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานทีดีอาร์ไอที่เคยบอกว่าอาจารย์เสนาะเหมือนพ่อของทีดีอาร์ไอ ซึ่งผมคิดว่าจริงและท่านอาจจะเป็นพ่อของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยก็ได้ เพราะสิ่งที่ท่านทำยังคงขับเคลื่อนประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน แม้ว่ามันจะอ่อนแอลงไป

อาจารย์เสนาะเคยเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขาสภาพัฒน์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารเอเชีย เป็นประธานบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย กรรมการพลังงานแห่งชาติ กรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) แล้วก็เป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เราจะเห็นว่าท่านเข้าไปข้องเกี่ยวกับสถาบันทางการเมือง สถาบันเอกชน และสถาบันกึ่งเอกชนกึ่งรัฐกึ่งสถาบันประเพณี กล่าวคือท่านมีบทบาทต่างๆ ทางสังคมรวมไปถึงความรู้ด้วย

ผลงานของอาจารย์เสนาะที่โดดเด่นและเป็นหลักคือการเสนอแผนพัฒนาชายฝั่งพื้นที่ภาคตะวันออก เรื่องนี้สําคัญถึงขนาดที่ประเทศญี่ปุ่นให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์กับท่าน ปี 2525 อาจารย์เสนาะทำงานให้กับรัฐบาลเปรมและเห็นว่าประเทศไทยควรมีมอเตอร์สักอย่างหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่านจึงเสนอโครงการนี้ซึ่งสำคัญขนาดที่รัฐบาลญี่ปุ่นทนรอไม่ไหว เพราะช่วงนั้นมี Plaza Accord อุตสาหกรรมญี่ปุ่นต้องโยกย้ายฐานการผลิต บนถนนสายบางนา- ตราดจะเห็นโรงงานญี่ปุ่นเรียงราย นั่นเป็นเพราะรออีสเทิร์นซีบอร์ดไม่ไหว ต้องขอมาลงบางนา-ตราดก่อน เป็นที่มาของความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยที่งอกเงยมาจากการลงทุนของญี่ปุ่นในยุคนั้น เศรษฐกิจไทยโตขึ้นจาก 1 ล้านล้านบาทเป็น 2 ล้านล้านบาท

ถ้าเรามาดูในฟากของงานวิจัย เวลาบอกว่าทีดีอาร์ไอเป็นกลาง เราต้องดูว่าความรู้ที่ทีดีอาร์ไอผลิตและเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ถ้าทีดีอาร์ไอพูดถึงโครงการพัฒนาการเลี้ยงไก่ ผมมองว่าเป็นเรื่องเกษตร เป็นเรื่องธุรกิจ งานบางอย่างอาจจะมีคำว่าแรงงาน แต่ผมไม่มองว่าเป็นสวัสดิการแรงงาน แต่เป็นงานวิจัยเพื่อภาคเอกชนต่างหาก โดยงานวิจัยของทีดีอาร์ไอระหว่างปี 2527-2558 มีจำนวน 912 โครงการ เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับทุน 328 ชิ้น เกี่ยวกับสังคม 223 ชิ้น เกี่ยวกับรัฐ 178 ชิ้น เกี่ยวกับคนงาน 153 ชิ้น ในแง่นี้ทีดีอาร์ไอทำงานที่เกี่ยวกับแรงงานน้อยกว่าทุนมาก

ถ้าพูดถึงงานวิจัยกับการเมือง ผมคิดว่าในทางรัฐศาสตร์ เมื่อเราคิดถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจ พฤติกรรม หรือถ้อยแถลงครั้งหนึ่งของมนุษย์ มันส่งอิทธิพลทางการเมืองไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา ปริมาณ ความถี่ขึ้น ท่าทีและน้ำเสียงที่เรามี ถ้าเราติดตามทีดีอาร์ไอในช่วงเวลายาวๆ จะพบว่าทีดีอาร์ไอวิพากษ์วิจารณ์ทุกรัฐบาล แต่ประเด็นที่เลือกนำเสนอในแต่ละช่วงเวลา ปริมาณ ความถี่ของเรื่องที่พูด ท่าทีและน้ำเสียงที่ใช้ไม่เหมือนกัน เช่น ในช่วงปี 2540 ถึง 2544 ประเด็นหลักที่ทีดีอาร์ไอเชิดชูมากคือความรู้คู่คุณธรรม ทำไมออกมาเป็นอย่างนี้ เพราะว่าเพิ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในความเห็นของทีดีอาร์ไอคือการขาด Accountability ของข้าราชการ ทีดีอาร์ไอจึงทำงานวิจัยเรื่องความรู้คู่คุณธรรมเยอะหน่อย

ในช่วง 2545 ถึง 2549 ช่วงรัฐบาลทักษิณ ประเด็นที่ทีดีอาร์ไอทำเยอะคือการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนปี 2550 ถึงปัจจุบันค่อนข้างเงียบเป็นเพราะเป็นช่วงที่ทีดีอาร์ไอเข้าไปมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ปี 2550 อาจารย์ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ช่วง 2551 ถึง 2556 ผมตั้งชื่อว่าช่วงฝ่ายค้านนอกสภา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะฝ่ายค้านในสภาอ่อนแอเหลือเกิน สังคมไม่เชื่อ เพราะในแต่ละช่วงเวลาสังคมมีแหล่งรวมความรู้ไม่เหมือนกัน บางช่วงอยู่ที่เชื้อพระวงศ์ บางช่วงอยู่ที่ข้าราชการ บางช่วงอยู่ที่หนังสือพิมพ์ ในปัจจุบันผมคิดว่ามันคล้ายๆ จะขยับมาที่มหาวิทยาลัย

ผมคิดว่าสังคมหลังปี 2540 เชื่อทีดีอาร์ไอเยอะ อาจเป็นเพราะทำงานต่อเนื่องและลักษณะท่าทีบางอย่างสอดคล้องกับความคิดความเชื่อทางสังคมเรา ดังนั้น การพูดของทีดีอาร์ไอจึงมีอิทธิพลและบทบาทมากกว่าคำพูดของฝ่ายค้านในสภาจริงๆ

ส่วนช่วง 2557 ถึง 2558 พอมีรัฐประหารและมีรัฐบาลคุณประยุทธ์แล้ว ทีดีอาร์ไอพูดเรื่องทางสังคมเยอะมาก ไม่ค่อยพูดถึงประเด็นทางการเมือง การวิเคราะห์นโยบายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกตัวเลยว่าไม่ขอพูดเรื่องการเมืองเพราะไม่ถนัด

พอพูดถึงเรื่องวาทกรรมว่าด้วยความรู้ ผมอยากเสนอว่าความรู้ไม่ใช่อะไรที่เที่ยงแท้ มันไม่ใช่สัจธรรมที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่สังคมอาจจะไม่ได้เข้าใจอย่างนั้นเพราะบางทีท่าทีที่เราแสดงออก พื้นที่ หรือระยะเวลาที่เราใช้อาจจะไม่มากพอที่จะอธิบายให้สังคมเข้าใจว่าความรู้ชุดนี้เป็นแค่การตีความแบบหนึ่ง เช่น งานนำเสนอการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมที่ออกมาหลังรัฐประหาร 2549 พูดว่าถ้าประชานิยมสุดขั้วจะทำให้เกิดรัฐประหารได้ ยกตัวอย่าง 19 กันยายน 2549 ผมเป็นคนทั่วไปที่มาอ่านผมก็จะคิดในหัวว่ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกิดขึ้นเพราะประชานิยมสุดขั้วหรือ ซึ่งอันนี้ทั่วโลกอาจไม่เห็นด้วยกับทีดีอาร์ไอ คือมันมีเวอร์ชั่นที่หลากหลายของความรู้ชุดหนึ่ง ไม่มีอะไรที่เป็นสัจธรรม

หรือถ้าคิดว่าทีดีอาร์ไออยู่ฟากเสรีนิยมใหม่ ข้อเท็จจริงคือไม่จริง บางจังหวะเวลาทีดีอาร์ไอก็ไม่เสรี เช่น ถ้าเป็นการเปิดเสรีอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย อาจารย์นิพนธ์เคยบอกว่ามันยาก อย่าไปเปิดเลย ทั่วโลกเขาไม่เปิดเสรีกัน หรือโครงการจำนำข้าวซึ่งเป็นมหากาพย์ ผมแค่จะให้ดูว่าเวลาศาลไต่สวนคดีเรื่องจำนำข้าว ศาลเรียกอาจารย์นิพนธ์ไปเป็นพยาน ผมไปดูเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ มีเอกสารชุดหนึ่งที่เป็นการให้ปากคำของอาจารย์นิพนธ์และก็มีอีกชุดหนึ่งเป็นประวัติอาจารย์นิพนธ์ ส่วนที่เป็นประวัติหนาเกือบเท่ากับสิ่งที่อาจารย์นิพนธ์พูด แปลว่าที่ศาลเรียกท่านไปเป็นพยานเพราะเชื่อในผู้สวมสิทธิ์อำนาจความรู้ของอาจารย์นิพนธ์ ศาลไม่ได้เรียกอาจารย์นิพนธ์ไปเพราะเหตุผลที่อาจารย์นิพนธ์ให้อย่างเดียว แต่เลือกไปเพราะประวัติการทำงานของอาจารย์นิพนธ์และข้อมูลที่อาจารย์นิพนธ์ให้สันนิษฐานว่า เชื่อว่า ตลอดการให้ปากคำข้อเท็จจริงสำคัญๆ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นสัจธรรม มันเป็นข้อเท็จจริงที่อาจารย์นิพนธ์ก็ทราบว่ามันเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน มันอาจจะมีหลักฐาน แต่มันยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้ แต่ศาลรับฟังเสมือนว่ามันเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนัก

ทำไมถึงมีความตกห่างระหว่างความเข้าใจของทีดีอาร์ไอกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผมคิดว่าทีดีอาร์ไอเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคมส่วนบนของสังคมไทย ต่อให้ไม่ใช่องค์กรของรัฐ ต่อให้รู้สึกอิสระ แต่เป็นอิสระในฐานะที่เป็นโครงสร้างส่วนบนของรัฐอยู่ดี ดังนั้น การทำงานของทีดีอาร์ไอจึงสอดคล้องไปกับวิธีคิดและอยากให้สังคมเป็นไปอย่างไรของรัฐ รัฐในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรัฐบาล แต่หมายถึงรัฐที่เป็นศูนย์รวมของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีคนกลุ่มหนึ่งเข้าไปครอบงำและกุมอำนาจนำ และในทางด้านวัฒนธรรม ทีดีอาร์ไออิงสถานะผู้เชี่ยวชาญแบบไทยๆ คือสังคมไทยเคารพผู้เชี่ยวชาญมาก พูดอะไรออกไปมีคนเชื่อมากกว่าคนทั่วๆ ไปพูด และทีดีอาร์ไอสวมสิทธิ์ในการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพูดแต่ละครั้ง ไม่ว่าผู้พูดจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันเป็นไปตามสถานะทางสังคม

บางส่วนของสารบัญหนังสือ

การทำงานของทีดีอาร์ไอในการเมืองไทยจะมีส่วนที่เราเห็นได้ชัดในฐานะผู้ทำงานที่กำหนดนโยบาย บางจังหวะเวลา บางท่านเข้าไปเป็นผู้กำหนดนโยบายเอง เป็นรัฐมนตรี เป็นรองนายก เป็นกรรมการ และในฐานะเป็นผู้เสนอแนะเชิงนโยบายและให้คำปรึกษาอยู่วงนอก ซึ่งทำทั้งในทางสาธารณะ ในทางที่รู้จักกันส่วนตัว หลากหลายวิธี แต่มันมีส่วนที่เราไม่ค่อยมองกันก็คือส่วนที่ผลิตชุดความคิด ผมเรียกว่าชุดความคิดอัตโนมัติ หมายความว่าในสังคม ถ้าคุณเริ่มต้นคิดเองกับทุกสิ่งวันๆ หนึ่งคุณจะแทบทำอะไรไม่ได้เลย เรามีความคิดอัตโนมัติอยู่เพื่อช่วยให้เราทะลุและเข้าใจอะไรบางอย่างได้เพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับชุดความคิดนั้น

ยกตัวอย่างเช่นกลไกตลาด ผมเคยถามนักศึกษาปริญญาโทในห้อง 10 คนว่าคิดว่ากลไกตลาดดีหรือไม่ดี 9 คนครึ่งบอกว่าดี พอถามต่อว่าช่วยอธิบายหน่อยว่ากลไกตลาดคืออะไร นักศึกษาตอบไม่ได้ว่าคืออะไร คือเราสามารถตอบว่าดีโดยที่ไม่ต้องรู้จักมันก็ได้ อันนี้คือชุดความคิดอัตโนมัติ แล้วเวลาที่คุณถูกกำหนดว่าคุณเป็นใคร มันผลักดันให้คุณไปอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อนโยบายไม่เท่ากัน เช่น ถ้าคุณเป็นประชาชนที่มีความรู้น้อย คุณก็เป็นประชาชนที่เชื่อง่าย ถูกหลอกโดยนักการเมืองได้ง่าย ทำไมเราจึงรู้สึกอย่างนั้น มันมีการผลิตชุดความคิดนี้อยู่ในสังคมแล้วก็ตีความหมายแบบเลือกหน้า คือรัฐบาลนี้พูดแบบนี้ พออีกรัฐบาลหนึ่งพูดอีกแบบหนึ่ง

ยกตัวอย่างเรื่องการจัดการน้ำ เวลาเราพูดถึงชุดความคิดอัตโนมัตินี้ สิ่งที่อาจารย์นิพนธ์พูดเรื่องน้ำแล้งน้ำท่วมเพราะนโยบายรับจำนำข้าว พูดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 อีกอันหนึ่งคุณประยุทธ์พูดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 จะเป็นวิธีการพูดแบบเดียวกัน ไม่ได้บอกว่าคุณประยุทธ์ไปฟังคำพูดของอาจารย์นิพนธ์แล้วนำมาพูด แต่มันมีกระแสที่อยู่ในสังคม คุณประยุทธ์ก็จับเอามาพูด มันกำหนดมุมมองต่อปัญหาในปัญหาสังคมที่เราเจอ

วิธีแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับมุมมองของปัญหา ผมยกตัวอย่างเช่นถ้าเราอยากจะแก้ปัญหาความยากจน ถ้าเราโฟกัสว่าความยากจนเกิดจากประชากรไม่มีการศึกษา สิ่งที่เราแก้คือเราจะไปเพิ่มการศึกษาให้กับประชาชน แต่สิ่งที่ละเลยไปจากการมองแบบนี้คือเรามองไม่เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง พูดในเชิงทฤษฎี ถ้ามองแบบชนชั้น คนจนหรือคนรวยเป็นผลมาจากตำแหน่งแห่งที่ของเขาเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น คุณก็จะไปแก้ปัญหาในจุดอื่น เช่น แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อันนี้คือการกำหนดมุมมองต่อปัญหา ซึ่งสัมพันธ์กับสังคมที่เราอยู่ หรือการผลิตซ้ำวาทกรรมทางเศรษฐกิจคือจีดีพีต้องโต พอจีดีพีต้องโต ไม่ว่าคุณจะทำงานเพื่อแรงงานหรือบริษัทก็ตาม สุดท้าย จีดีพีโตมีความหมายว่าบริษัทได้ประโยชน์ก่อน ถ้าคุณอยากมีชีวิตที่ดี มีเงินเดือนสูงๆ อยากมีโบนัส คุณต้องทำให้บริษัทได้กำไรก่อน

ทั้งหมดนี้เวลาจะมีนโยบายที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีในผลลัพธ์ การทำงานของทีดีอาร์ไอจะพยายามทำให้พฤติกรรมนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ผลคือเราจะได้อำนาจการเมืองแบบเดิม เราจะได้อำนาจทางเศรษฐกิจแบบเดิม

ประเด็นเทคโนแครตกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทย นัยการทำงานของทีดีอาร์ไอสะท้อนภาพใหญ่ของประเทศไทยตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจะพบว่ามีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เราใช้กันอยู่ เช่น วินัยการคลัง โครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มผลิตภาพของประชาชน ต่อเนื่องยาวนาน 6 ทศวรรษมีจังหวะสะดุดใหญ่ของนโยบายแบบนี้ 2 ครั้งคือช่วงสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณกับช่วงสมัยทักษิณ ชินวัตรและเครือข่าย การสะดุดนั้นตามมาด้วยรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง และตามมาด้วยการที่ทีดีอาร์ไอเข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายที่มากขึ้น

ดังนั้น ถ้าให้ผมตีความ ทีดีอาร์ไอเป็นคลังสมองของชนชั้นกลาง ถ้าเชื่อทีดีอาร์ไอแล้วคนชั้นกลางจะอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย แต่ถ้าเป็นชนชั้นล่างอาจจะพบว่านโยบายไม่ค่อยเอื้อประโยชน์เท่าไหร่ เวลาเราพูดถึงประชานิยมที่เอาเงินไปแจก ทำไมไม่เอาเงินมาลงในโครงสร้างพื้นฐาน ถ้าเอาเงินมาลงในโครงสร้างพื้นฐาน คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่อยู่บนโครงสร้างพื้นฐาน เวลาทำถนน ทำเขื่อน ไม่แน่ว่าชาวบ้านจะได้รับประโยชน์เสมอไป แต่คนที่อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานนั้นได้แน่ๆ อย่างการปฏิรูปการศึกษาคนชั้นกลางก็ได้ประโยชน์

และอย่างที่บอก ทีดีอาร์ไอเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างชั้นบนของรัฐไทย ถ้าถามว่าเวลาทีดีอาร์ไอทะเลาะกับคน ทะเลาะด้วยเรื่องอะไร ผมคิดว่าทีดีอาร์ไอไม่ได้มีปัญหากับรัฐบาลทักษิณหรือรัฐบาลใดๆ เรื่องส่วนตัวไม่มี แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการกำหนดนโยบายโดยเสียงข้างมากจะเป็นจุดที่ทีดีอาร์ไอเริ่มจับตาเป็นพิเศษ ประเด็นต่อมา ถ้าเป็นนโยบายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ เช่น จำนำข้าวซึ่งทำให้โครงสร้างราคาเปลี่ยน อำนาจของชาวนาเปลี่ยน แต่ถ้าเป็นประกันราคาข้าวอำนาจชาวนาไม่เปลี่ยนเพราะส่วนเกินรัฐบาลจ่ายให้  แปลว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยชาวนา แต่ช่วยบริษัทส่งออกข้าวเพราะเขาซื้อข้าวได้ในราคาต้นทุนเท่าเดิม โดยที่ชาวนาไม่ต้องรู้สึกเดือดร้อน

ระเบียบอำนาจอย่างที่ทีดีอาร์ไอต้องการคืออะไร ถ้าเป็นสวัสดิการ ทีดีอาร์ไออยากจะได้ marginal productivity แปลว่าคุณจะได้สวัสดิการส่วนเพิ่มต่อเมื่อคุณต้องมีผลิตภาพส่วนเพิ่มก่อน ตอนนี้คุณได้ 300 บาท ถ้าคุณอยากได้ 400 บาท คุณต้องทำกำไรให้กับบริษัทขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีก 100 บาทก่อน คุณถึงจะได้สวัสดิการส่วนเพิ่มนั้น การทำแบบนี้ทำให้ไม่มีวันลดความเหลื่อมล้ำได้เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นส่วนต่างระหว่างกำไรของนายทุนกับสวัสดิการที่คนงานจะได้ คุณให้สวัสดิการคนงานเพิ่มต่อเมื่อเขาทำกำไรเพิ่มก่อน ช่องว่างความเหลื่อมล้ำจะไม่มีวันลดลง ดีสุดคือเท่าเดิม ที่แย่กว่านั้นคือมันถ่างออกไปเรื่อยๆ

ระเบียบสังคมแบบทีดีอาร์ไอจึงมี 2 อย่าง หนึ่งคือคุณจะอยู่ในระเบียบแบบปัจเจกชนแบบแลกเปลี่ยน ใช้น้ำก็จ่ายเงินซื้อน้ำ ถ้าเป็นชุมชนก็จะเป็นชุมชนแบบพลเมืองดี ถ้าคุณอยากจะเป็นประชาสังคมที่ดีคุณต้องทำตามนี้ สองคือเมื่อเป็นอย่างนี้จะส่งผลให้ไม่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจ มองไม่เห็น ทำให้ปรับเปลี่ยนลำบาก มันจะกลายเป็นสังคมที่ปลอดการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net